xs
xsm
sm
md
lg

อยากได้ผู้นำแบบ อ.ป๋วย

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

งานรำลึกถึงเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปีนี้ จัดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน เป็นความบันดาลใจที่ผมขอจุดประกายต่อ

ผู้มีโอกาสไปร่วมงานได้ชมนิทรรศการและวิดิทัศน์หรือได้รับทราบถึงเนื้อหาจากงานนี้น่าจะเกิดความซาบซึ้งและโหยหาอยากให้นักบริหารและผู้นำทุกวงการมีจิตสำนึกและดำรงตนอย่างอาจารย์ป๋วย

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 10 ปีนี้ ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้รับคัดเลือกเป็นองค์ปาฐกด้วยคุณสมบัติที่มีผลงานดีเด่นด้านสังคมศาสตร์ และมีเกียรติประวัติที่ประจักษ์ชัดว่ามีคุณธรรม และมีจิตสำนึกที่ดีต่อปัญหาสังคม

ปาฐกถาเรื่อง “จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม” ของ ศ.รังสรรค์พร้อมทั้งหนังสือชื่อเดียวกันที่แจกในงานมีการศึกษาและข้อคิดที่ช่วยให้สังคมไทย น่าจะได้สติในยามที่กำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขณะนี้

นับเป็นปาฐกถาที่เชิดชูให้เห็นวิสัยทัศน์ด้านการเมืองการปกครองของอาจารย์ป๋วย ซึ่งเป็นเป้าหมายการ “ปฏิรูป” โดย ศ.รังสรรค์ กล่าวตอนหนึ่งว่า....

“สันติประชาธรรม” เป็นระบอบการเมืองการปกครองที่อาจารย์ป๋วยต้องการเห็นในสังคมไทย อาจารย์ป๋วยจงใจใช้คำว่า “ประชาธรรม” แทน “ประชาธิปไตย” เพราะระบอบประชาธิปไตยที่ขาดหลักธรรมย่อมยากที่จะอำนวยให้เกิดศานติสุขในสังคมได้”

อาจารย์ป๋วยเห็นความจำเป็นในการสร้างสันติธรรมให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในสังคมไทย และยังต้องส่งเสริมให้มีธรรมาภิบาล (Good Governance) ในสังคมทุกระดับ

อาจารย์รังสรรค์ ระบุว่าฝรั่งเพิ่งชูหลักธรรมาภิบาลเข้าสู่นโยบายของฉันทมติวอชิงตัน หลังทศวรรษ 2520 แต่อาจารย์ป๋วยกล่าวถึงธรรมาภิบาลตั้งแต่เริ่มรับราชการในทศวรรษ 2490 และปฏิบัติเป็นเยี่ยงอย่างแก่ข้าราชการตลอดมา

หลักธรรมาภิบาล 3 ประการแรก ก็คือ ความโปร่งใส (Transparency) การมีส่วนร่วม (Participation) และความรับผิดชอบ (Accountability)

อีก 2 ประการ คือความซื่อสัตย์ สุจริต (Honesty) และการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflicts of Interest) ก็เป็นเรื่องที่อาจารย์ป๋วยให้ความสำคัญ


อาจารย์ป๋วยเรียกร้องให้ข้าราชการและผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบาลหลีกเลี่ยงปัญหานี้โดยกล่าวว่า

“...เจ้าหน้าที่ที่มีผลประโยชน์ส่วนตัวในหน้าที่การงานของตนขัดกับประโยชน์ส่วนรวม ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติผิดหลักธรรมะในด้านเศรษฐกิจ อาทิ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล บุคคลนั้นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนในขอบเขตแห่งนโยบายรัฐ ถ้าในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไปมีตำแหน่งหน้าที่และรับผิดชอบส่วนงานของเอกชน ไม่ว่าจะเป็นแห่งเดียวหรือหลายแห่งก็ตาม อาจเป็นประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการ ผู้ถือหุ้น ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แม้จะสุจริตเพียงใด บุคคลภายนอกย่อมจะระแวงสงสัยและตั้งข้อรังเกียจ

ฉะนั้น ทางที่สมควรคือ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นควรจะต้องลาออกจากหน้าที่หรือตำแหน่งต่างๆ เสีย ทำงานแต่เพียงประเภทเดียวโดยไม่ขัดกับประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเป็นไปได้ถือว่าบุคคลนั้นได้ทำถูกหลักธรรมะทางเศรษฐกิจ...”


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป้าหมายการปฏิรูปการเมืองอยู่ที่การสร้างหลักการสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และให้ระบบการบริหารมีหลักธรรมาภิบาล อาจารย์รังสรรค์ชี้ว่าการจะให้บรรลุเป้าหมายจะต้องเริ่มที่การปฏิรูปจารีตการเขียนรัฐธรรมนูญ ให้สลัดออกจากอิทธิพลของ “วัฒนธรรมอำนาจนิยม” ไม่เช่นนั้นการปฏิรูปการเมือง ก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

มีปัญหาการบริหาร ฟังแล้วก็น่าหดหู่นะครับ

นี่ขนาดรัฐบาลยุคที่ผ่านมาบริหารขาดหลักธรรมาภิบาลจนเกิดวิกฤติชัดแจ้งและเป็นที่มาของการรัฐประหาร

ช่วงนี้ก็น่าจะเป็นโอกาสให้ทุกภาคส่วนเห็นปัญหา แต่เพราะผู้กุมอำนาจรัฐจัดการสื่อสารข้อเท็็จจริงเพื่อปรับความเข้าใจสู่เป้าหมายการปฏิรูปการเมืองในแนวทางเดียวกัน

ความสับสนและสงสัยในหลักธรรมาภิบาลของรัฐบาลชุดเฉพาะกิจกลับเกิดขึ้นในสังคมอย่างไม่น่าเกิด ไม่ว่าจะเป็นกรณีการจัดการหลังยกเลิกสัมปทานโทรทัศน์ไอทีวี เพราะเบี้ยวหนี้ค่าสัมปทาน ขณะที่การดำเนินคดีทุจริตในโครงการต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนไม่กล้าทุจริตก็ดูล่าช้า

ทั้งๆ ที่การเอาจริงเอาจังกับการลงโทษคนผิดและเชิดชูคนดีให้เป็นตัวอย่าง เพื่อสร้างค่านิยมให้สังคมใฝ่ดีจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทำ

อย่างการที่สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดงานมอบรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2550 ก็เป็นวิธีการกระตุ้นเชิงบวกให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) บริหารธุรกิจอย่างมีคุณภาพและคุณธรรม เสียภาษีถูกต้อง รับผิดชอบต่อผู้บริโภคดูแลพนักงานและ ไม่สร้างความเสียหายต่อสังคม

ปีนี้กิจการที่ได้รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น คือ บริษัทบาธรูม ดีไซน์ จำกัด รางวัลธรรมาภิบาลเด่นต่อพนักงาน คือบริษัทบี โปรดักส์อินดัสตรี จำกัด และรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นด้านการปฏิบัติต่อผู้บริโภคคือ บริษัทไดเนติคส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

แนวปฏิบัติที่อาจารย์ป๋วยบอกกล่าวไม่ใช่แค่พูดแต่ทำเป็นเยี่ยงอย่างตลอดชีวิต

ด้วยความซื่อสัตย์ กล้ายืนหยัดเพื่อความถูกต้องเป็นธรรม และคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ

เป็นแบบอย่างผู้นำ ผู้บริหารที่สังคมไทยต้องการ
กำลังโหลดความคิดเห็น