xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาไฟใต้ฉุดธุรกิจก่อสร้างชะงัก "CPAC"เผยยอดขาย3ปีไร้ผลกำไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผู้จัดการ CPAC ภาคใต้เผยเป้ายอดขายภาคใต้ปี 2550 เพียง 1.8 พันล้านบาท ยอมรับปัญหาการเมือง-ไฟใต้ฉุดธุรกิจผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้างชะงัก โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่โรงงานทั้ง 4 แห่งต้องประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี แต่พนักงานยังไม่ขอถอนตัวกลัวทำภาพลักษณ์แย่

นายพิสิทธิ์ จิรธนานันท์ ผู้จัดการ CPAC ภาคใต้ 4 บริษัทผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง จำกัด หนึ่งในบริษัทของเครือซิเมนต์ไทย เปิดเผยว่าในปี 2549 CPAC มีผลประกอบการผลิตและจัดส่งสินค้าคอนกรีตผสมเสร็จทั้งประเทศ 14,000 ล้านบาท คอนกรีต 12.5 ล้านคิว

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ มียอดจำหน่ายประมาณ 1,800 ล้านบาท และปี 2550 ตั้งเป้าไว้ 1,500-1,800 ล้านบาท หรือ 1.2 ล้านคิว ซึ่งใกล้เคียงกับยอดขายปีที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดเริ่มทรงตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาและตั้งเป้าคอนกรีตผสมเสร็จโตประมาณ 8% ด้วยจุดแข็งที่มีโรงงานกระจายทั่วภาคใต้รวม 32 แห่ง มีแฟรนไชส์ 20 แห่งที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 4 แห่ง ประกอบด้วย อ.สุไหงโก-ลก, อ.เมืองนราธิวาส, จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ทำให้โครงการลงทุนทั้งของรัฐและเอกชนหยุดชะงักชั่วคราว รวมถึงสถานการณ์ไฟใต้เป็นปัจจัยลบ ซึ่งในช่วงนี้ตลาดของภาคใต้ ที่มีศักยภาพนั้นอยู่ในแถบอันดามันที่ถูกผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ เช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟู การพัฒนาควบคู่ไปกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเกาะสมุย เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งการก่อการร้ายยังเข้าไปไม่ถึง

สำหรับผลประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ทั้ง จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาสนั้น นายพิสิทธิ์กล่าวยอมรับว่า มีผลกระทบต่อธุรกิจมาก กล่าวคือสินค้าที่ขายได้แต่ละโรงงานมีกำไรนิดหน่อย แต่เมื่อรวมค่าบริหารจัดการทั้งบริษัทแล้วขาดทุน เดิมโรงงานแต่ละแห่งมียอดจำหน่ายคอนกรีตประมาณ 3,000-4,000 คิว/แห่ง แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 2,000 คิว แต่เมื่อเทียบกับโรงงานในกรุงเทพฯ ต่อวันจ่ายเป็นหมื่นคิว ตัวเลขจึงลดลงไม่มาก และหากเปรียบเทียบทั้งภาคใต้แล้วถือว่าไม่มาก

"จริงๆ แล้วใน 3 จังหวัดนั้นมีโครงการอยู่แล้ว มีเงินแล้วแต่ยังไม่มีคนทำเท่านั้นเอง ทั้งถนนเลี่ยงเมือง ด่านสุไหงโก-ลก อาคารมหาวิทยาลัยของ มอ.ปัตตานี และค่ายทหาร ซึ่งประมูลไปแล้วหลายโปรเจกต์แต่ไม่กล้าทำ ทำให้มีปัญหาเพราะบางโครงการเกิดมาแล้ว 2 ปี แต่เมื่อยังทำไม่เสร็จราคาน้ำมันก็ขึ้น หินขาดแคลนและแพงเพราะระเบิดไม่ได้ ลูกค้าจึงเจอปัญหาว่าสัญญาเก่าไม่สามารถขึ้นราคาได้ วัตถุดิบก็ขาดแคลน ขณะที่จ.สงขลามีโครงการใหญ่แค่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ และตึกใน มอ.หาดใหญ่เท่านั้น เพราะทุกอย่างมาสะดุดเมื่อมีเหตุก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนใต้" นายพิสิทธิ์ กล่าวและว่า

ที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงจะห่วงใยในความปลอดภัยของพนักงาน และพร้อมที่จะปิดโรงงาน แต่โรงงานก็ยังอยู่ได้ด้วยเชื่อมั่นในนโยบายสร้างสัมพันธ์กับชุมชนที่จะเป็นเกราะคุ้มกันในระดับหนึ่ง และคนในพื้นที่ก็ไม่อยากที่จะปิดกิจการ เพราะส่งผลกระทบต่อภาพรวมยิ่งเลวร้ายลง จึงต้องเปิดกิจการเพื่อรอวันที่สถานการณ์ไฟใต้คลี่คลายในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น