xs
xsm
sm
md
lg

ตามขุดตามค้น-รถดับเพลิงฉาวโฉ่เปิดลายแทงพบประตูห้อง “สมบัติ”

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

ถือได้ว่าเป็นการเสริมความสมบูรณ์ของการรายงาน “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” นี้เมื่อฉบับวันศุกร์ของสัปดาห์ที่ผ่านมา, เมื่อได้ร้อยเรียงลำดับความเรื่องที่มาและทางไปของการจัดหารถดับเพลิง-เรือดับเพลิงอื้อฉาว โดยให้เห็นภาพของการเคลื่อนไหวอย่างชัดตา และเข้าใจง่ายที่สุด เมื่อ “สมัคร สุนทรเวช” อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แถลงข่าวชี้แจงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา มีเอกสารหรือคำชี้แจงรวม 6 หน้า โดยชี้มาหลายประเด็น และที่สำคัญยิ่งคือการบอกว่า “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันสามารถที่จะล้มโครงการ หรือระงับการเปิดแอลซีค่าสินค้าผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้-แต่ก็ไม่ทำ

เป็นการเสริมให้กับรายงานชิ้นนี้ จากการที่รายงานตอนที่หนึ่ง-เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ได้จบอยู่ตรงจุดนี้พอดี คือการเปิด L/C เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2547 โดย นายสมัคร สุนทรเวช ลงนามในหนังสือ กท 1800/4322 เรียน กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ขอเปิด L/C กับธนาคาร โดยมอบอำนาจให้ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้ดำเนินการเปิดและลงนามใน L/C แทนกรุงเทพมหานคร

ขอบคุณต่อคุณสมัครที่ได้ปูทางและเปิดประเด็นเรื่องนี้ไว้ให้ โดยข่าวออกเผยแพร่วันเดียวกับรายงาน “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” ได้ปรากฏที่ตรงนี้

ก่อนจะเข้าประเด็นลึกในกรอบที่สองของเรื่องนี้, ต้องขอทบทวนเป็นการนำไว้เพื่อความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น จะได้สอดรับกับการรายงานต่อไปว่า วันที่ 27 สิงหาคม 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อนุมัติให้จัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงมูลค่า 133,749.780 ยูโร หรือเงินไทยประมาณ 6,687,489,000 บาท “โดยวิธีพิเศษ” วันที่ 27 สิงหาคม 2547 เป็นวันทำข้อตกลงซื้อขายประกอบบันทึกข้อตกลงระหว่างกรุงเทพมหานครกับบริษัท สไตเออร์ฯ วันที่ 30 สิงหาคม 2547 มีการขออนุมัติเบิกจ่ายค่าธรรมเนียมในการเปิด L/C กับธนาคาร วันที่ 29 สิงหาคม 2547 มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับเลือกตั้ง คือหลังจากที่รู้ผลเลือกตั้งแล้ว ก็ยังมีการดำเนินการต่อไป และวันที่ 31 สิงหาคม 2547 นายสมัคร สุนทรเวช ทำการขอเปิด L/C การชำระเงินซื้อขาย

เข้าสู่ประเด็นของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เมื่อเข้ารับหน้าที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 6 กันยายน 2547 และวันเดียวกัน ได้มีคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 3388/2547 ตั้งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบอำนาจมอบหมายงานรับผิดชอบในส่วนต่างๆ ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และงานแรกที่ทำคือการเข้าตรวจสอบโครงการนี้ ในวันที่ 9 กันยายน 2547 โดยไปรับฟังเรื่องราวการบรรยายสรุปโครงการที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และมีคำสั่งให้ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ จัดทำรายละเอียดของโครงการทั้งหมดเสนอมาให้ทราบโดยเร็ว ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2547 การสรุปรายละเอียดทั้งหมด มีการเสนอต่อนายอภิรักษ์, วันที่ 16 กันยายน 2547 มีการประชุมเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยมีผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ทุกคนเข้าประชุม พล.ต.ต.อธิลักษณ์ แจ้งกับที่ประชุมว่า ขั้นตอนการดำเนินการมีการทำข้อตกลงซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนก่อนคือนายสมัคร สุนทรเวช ได้มอบอำนาจให้ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ เป็นผู้มีอำนาจในการเปิด L/C และดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2547 โดยอยู่ระหว่างการรออนุมัติจากธนาคากรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ต่อจากนั้น-หลังจากที่นายอภิรักษ์ เข้านั่งทำงานได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ เอกอัครราชทูตออสเตรีย ได้เข้าพบ มีสาระในการพูดจากัน นอกจากการแสดงความยินดีตามธรรมเนียมแล้ว ยังขอให้ทางกรุงเทพมหานคร เร่งรัดการอนุมัติ L/C ของธนาคารกับบริษัท สไตเออร์ฯ ด้วย, จากนั้น-วันที่ 20 กันยายน 2547 ทางกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เชิญอุปทูตฝ่ายพาณิชย์ของสถานเอกอัครราชทูตออสเตรียพบ เพื่อหารือรายละเอียดในการจัดซื้อและเรื่องของราคาอีกครั้ง โดยมอบหมายให้ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ประสาน

ขั้นตอนสำคัญมาถึง...และถึงตรงที่นายสมัคร สุนทรเวช ได้แถลงข่าวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า นายอภิรักษ์ มีสิทธิที่จะระงับการเปิด L/C ได้-แต่ทำไมจึงไม่ทำ?

โดยขณะที่กรุงเทพมหานครที่นายอภิรักษ์ เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กำลังอยู่ในระหว่างตั้งตัวไม่ติด เพราะเพิ่งเข้ามารับงานนั้น, วันที่ 23 กันยายน 2547 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือแจ้งมายังนายอภิรักษ์ว่า การทำ L/C ที่นายสมัคร ขอเปิดไว้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2547 นั้น ทางธนาคารได้พิจารณาอนุมัติวงเงินแล้ว ทางธนาคารขอให้กรุงเทพมหานคร ยืนยันการจ่ายดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายที่ธนาคารจ่ายไปก่อนแล้ว

นายอภิรักษ์ ได้สั่งการให้ปลัดกรุงเทพมหานคร สั่งไปทางผู้อำนวยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ขอขยายเวลาการเปิด L/C กับทางธนาคารออกไปอีก 1 เดือน แต่ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ทำหนังสือที่ กท 1800/1228 ลงวันที่ 23 กันยายน 2547 แจ้งกลับมาว่า ไม่สามารถจะชะลอหรือขยายเวลาการเปิด L/C ต่อไปได้ โดยยืนยันว่า วันที่ 26 กันยายน 2547 เป็นวันครบกำหนดที่จะต้องเปิด L/C ตามข้อตกลง

กรณีนี้เกิดขึ้นในวันเดียวกัน คือวันที่ 23 กันยายน 2547 คือ


1. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีหนังสือแจ้งกับกรุงเทพมหานครว่า ได้อนุมัติวงเงิน L/C แล้ว และถามเรื่องเงินดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมที่ธนาคารฯ จ่ายไปก่อน 2. นายอภิรักษ์ สั่งการให้ขยายเวลาการเปิด L/C ไปอีก 1 เดือน 3. ทางสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตอบกลับมาในวันเดียวกันว่า ไม่สามารถจะทำได้ และกำหนดเส้นตายว่า ภายในวันที่ 26 กันยายน 2547 จะต้องเปิด L/C

ยังมีประเด็นที่ตรวจสอบพบ คือในวันเดียวกัน คือวันที่ 23 กันยายน 2547 พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ได้มีหนังสือ กท 1800/596 แจ้งกลับไปทางธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้เร่งดำเนินการเปิด L/C โดยด่วน หากพ้นกำหนดจะเกิดความเสียหายแก่รัฐบาล เพราะข้อตกลงนี้เป็นการซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ

วันที่ 23 กันยายน 2547 เป็นวันที่มีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง


เวลาประมาณ 17.00 น. วันนั้น, นายอภิรักษ์ ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อหารือเรื่องการเปิด L/C ซึ่ง นายสุวิทย์ ศิลาทอง ผู้อำนวยการกองกฎหมายและคดี ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องเปิด L/C ภายในวันที่ 26 กันยายน 2547 ตามข้อตกลง, หากไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องขอขยายเวลากับผู้ขาย

นายอภิรักษ์ได้มอบหมายให้ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าฯ กทม. โทรศัพท์ประสานไปยังนายพงศธร ศิริโยธิน ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในเย็นวันเดียวกัน ขอให้ระงับการเปิด L/C ไว้ก่อน โดยทางกรุงเทพมหานคร จะมีหนังสือยืนยันตามมา ซึ่งเท่ากับว่านายอภิรักษ์ได้ดำเนินการยับยั้งการเปิด L/C ไว้แล้ว, และวันที่ 27 กันยายน 2547 กรุงเทพมหานคร ได้มีหนังสือที่ กท 0405/4721 ไปยังธนาคารฯ ให้ระงับการเปิด L/C

ในวันเดียวกัน คือวันที่ 27 กันยายน 2547 นายอภิรักษ์ มีคำสั่ง “ยกเลิกการมอบอำนาจที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายสมัคร สุนทรเวช) ได้มอบอำนาจให้ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการดำเนินการเปิดและลงนามใน L/C กับธนาคารฯ แทนกรุงเทพมหานคร”


วันต่อมาคือวันที่ 28 กันยายน 2547 นายอภิรักษ์มีหนังสือ กท 0405/6487 ถึงกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ขอทราบว่า บริษัท สไตเออร์ฯ ได้ทำสัญญาการค้าต่างตอบแทน (COUNTER TRADE) เต็มมูลค่าการซื้อขาย 100% แล้วหรือไม่? ระหว่างที่รอคำตอบอยู่นั้น ก็เกิดเหตุขึ้น 2 ด้านคือ ในวันที่ 30 กันยายน 2547 นายอภิรักษ์ มีหนังสือที่ กท 0200/1047 เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่า ขอทบทวนการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงตามโครงการดังกล่าว และวันเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศ ได้แจ้งว่า วันที่ 30 กันยายน 2547 มีการลงนามในสัญญาการค้าต่างตอบแทน มีผลสมบูรณ์ตามสัญญาแล้วในวันเดียวกัน

การทำหนังสือที่ กท 0200/1047 เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของนายอภิรักษ์ ที่ “ขอทบทวนฯ” จึงทำไม่ทัน เพราะวันเดียวกัน ข้อตกลงต่างๆ ก็ดำเนินการไปเสร็จสิ้นตามสัญญา ยังเหลือแต่ประเด็นที่ทางกรุงเทพมหานคร ได้ขอให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระงับการขอเปิด L/C ไว้ก่อน


ในประเด็นที่ คตส.ได้ชี้มูลความผิดระบุความเกี่ยวข้องของ นายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ และ นายสมศักดิ์ คุณเงิน ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (เลขานุการของนายประชา) นั้น

ความต่อเนื่องที่ได้ร้อยเรียงลำดับเหตุการณ์มานั้น ปรากฏความเกี่ยวข้องของบุคคลต่างๆ มาตามลำดับ ว่างานนี้เริ่มต้นมาจากทางกระทรวงมหาดไทย และทางกรุงเทพมหานคร (สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ) ได้เห็นชอบและดำเนินการต่อตามแนวนโยบาย, ซึ่ง คตส.ก็ได้ชี้ประเด็นเกี่ยวกับบุคคลว่าได้ทำความเสียหายแก่รัฐ เมื่อได้พิเคราะห์ดูตามรูปเหตุการณ์ และการเคลื่อนตัวแล้วเห็นว่า เรื่องนี้ต้องแยกเป็นสองส่วน คือที่เกี่ยวกับบุคคลมีการปฏิบัติเช่นใด มีความผิดจริงหรือไม่-เป็นส่วนหนึ่ง, แต่การกระทำนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งการซื้อขาย และเป็นสัญญาผูกมัดมาถึงกรุงเทพมหานคร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาที่มีความถูกต้องอยู่ เมื่อเป็นสัญญาแบบ G TO G หรือรัฐต่อรัฐ ก็พึงต้องปฏิบัติตามสัญญาที่สมบูรณ์แล้ว หากมีการบิดพลิ้วก็จะเกิดความเสียหายแก่รัฐ ที่ต้องแยกออกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ให้มีความชัดเจน

เมื่อเกิดความเสียหาย ก็ต้องคิดบัญชีกับผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหาย โดยไม่เกี่ยวกับทางประเทศออสเตรียคู่สัญญาคือทางผู้ขาย

ความต่อเนื่องทางด้านบุคคลที่ คตส.ระบุนั้น ตามรายงาน “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” ทั้งในวันนี้และตอนที่แล้ว, ได้มีการกล่าวถึงอยู่ นอกจาก นายสมศักดิ์ คุณเงิน ที่มีความเกี่ยวข้องอย่างไร?

ย้อนกลับไปสู่วันที่ 30 กันยายน 2547 ที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ทำหนังสือไปทางมหาดไทย “ขอทบทวนโครงการ” นั้น, ทางมหาดไทยก็ปฏิบัติรายการโดยฉับไว คือในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 นายสมศักดิ์ คุณเงิน เลขานุการของ นายประชา มาลีนนท์ ได้มีบันทึกแจ้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า “โครงการดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และมีการลงนามใน AOU สัญญาจัดซื้อและสัญญาการค้าต่างตอบแทนแล้ว ทางกรุงเทพมหานคร จึงควรเร่งรัดการเปิด L/C (LETTER OF CREDIT) เพื่อให้เป็นไปตาม AOU และสัญญาจัดซื้อ” เท่ากับว่าเป็นการ “ตีกลับ” หนังสือการขอทบทวนโครงการฯ ของ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน วันที่ 30 กันยายน 2547

ได้ร้อยเรียงลำดับความมาถึงจุดนี้แล้ว แต่ยังมีอีก 2-3 ประเด็นใหญ่ที่จะเป็นการเปิดเผยทางลึกของ “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” ในฉบับวันศุกร์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น