xs
xsm
sm
md
lg

รัฐธรรมนูญยุคดิจิตอลกับตอนปี 2330

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ผมตระหนักดีว่า หน้ากระดาษที่จำกัด หนึ่ง และสติปัญญาที่จำกัดยิ่งของผม อีกหนึ่ง จะทำให้ผมไม่สามารถสื่อความหมายกับท่านผู้อ่านในเรื่องรัฐธรรมนูญได้อย่างเพียงพอ เว้นแต่จะเอาสติปัญญาของท่านผู้อ่านมาเสริมของผม และมาร่วมกันถ่อมใจ ละทิ้งอุปาทานส่วนตัว เอาหลักฐานและหลักการบรรดามีมาตรวจสอบกันดู ก่อนที่จะสรุปว่า อันนี้ถูก อันนี้ดี อันนี้ไม่เหมาะ ฯลฯ

ผมไม่คาดหวังว่าสภาร่างฯ และกรรมาธิการร่างฯ จะทำอย่างนั้น เพราะท่านเป็นผู้ทรงความรู้ มีความมั่นใจในความเป็นสัพพัญญูในหมู่คณะของท่าน จึงจะพากันตัดสินใจด้วยอัจฉริยะ และวาทศิลป์ ประกอบกับการประนีประนอมแลกเปลี่ยน รักษาหน้าระหว่างกันเหมือนกับที่เคยเป็นมา ด้วยท่านทั้งหลายเคยเป็นใหญ่ มีความเด่นดังในทางราชการและวิชาการมา ท่านจึงจมไม่ลง อันเป็นเหตุหนึ่งที่ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล สรุปว่า ประชาวิจารณ์ทุกเรื่องโดยทางราชการล้วนแต่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะนอกจากท่านจะทำไม่เป็นแล้ว ท่านยังฟังเสียงประชาชนไม่เป็น ท่านพกเอาความต้องการและข้อสรุปของท่านมาล่วงหน้าแล้ว

ผมเพียงแต่หวังลมๆ แล้งๆ ว่า บทความของผมจะผ่านตาของท่านบางคนบ้าง ผมไม่หวังอะไรเกินกว่าที่จะให้ท่าน เอาหลักฐานและหลักการบรรดามีมาตรวจสอบกันดูก่อนที่จะสรุปอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่จะไปกำกับจำกัดอนาคตของประเทศชาติและลูกหลานที่จะเกิดมาในวันข้างหน้า ไม่มีใครในยุคนี้มีอำนาจสิทธิขาดที่จะไปตัดสินอนาคตของคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เกิด อย่างน้อยที่สุด ท่านจะต้องเปิดหนทางไว้ให้คนที่จะเกิดมาฉลาดกว่าท่าน

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ทำไมผมจึงเกรงว่าการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งอยู่ในยุคดิจิตอล จะแย่กว่าปี 2330 ซึ่งยังไม่มีเครื่องบันทึกเสียง ผมหมายถึงปี ค.ศ. 1787 เมื่อสหรัฐอเมริการ่างรัฐธรรมนูญของเขา 5 ปีหลังจากสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ สถาปนาราชวงศ์จักรี

ผมเห็นว่าระบบอ้างอิงของเขา ทั้งการตรวจสอบหลักฐาน-หลักการในอดีตและปัจจุบัน กับการคาดการณ์ในอนาคตมีระบบและความรับผิดชอบหรือโยนิโสมนสิการมากกว่าของเราในปัจจุบัน

ผมถือโอกาสถามศาสตราจารย์ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ว่าที่ผมสรุปเช่นนี้เป็นการ “เว่อร์” หรือขยายความมากเกินไปหรือไม่ อาจารย์สมบัติยืนยันว่าไม่ ขอให้ดูหลักฐานได้จากรายงานการประชุม หรือจากเฟเดอรัลลิสม์เปเปอร์ ซึ่งเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญอเมริกันก็แล้วกัน

ผมเป็นครูสอนวิชาการเมืองอเมริกันให้ฝรั่งได้ แต่ผมถือว่าดร.สมบัติ ซึ่งเป็นรุ่นน้องผม 10 ปี เป็นครูผมเรื่องความคิดและสถาบันการเมืองอเมริกัน มีอะไรที่สงสัยผมก็โทร.ไปหาความกระจ่างจากดร.สมบัติได้เสมอ ผมอ่านหนังสือเรื่อง “มหาชนรัฐและประชาธิปไตย : ความคิดทางการเมืองอเมริกัน ค.ศ. 1776-1800” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิวัติอเมริกัน การประกาศอิสรภาพ (1776) และการร่างรัฐธรรมนูญ (1787) ของอาจารย์สมบัติหลายเที่ยว ผมจะเสียดายอย่างยิ่ง ถ้า ส.ส.ร.หรือกรรมาธิการร่างฯ ไม่เคยมีใครอ่านหรือปรึกษาอาจารย์สมบัติเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการทำนายอนาคต พัฒนาการและรูปแบบของความขัดกันระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ร่างนั้นอเมริกายังเป็นสังคมเกษตร ปัญหาที่ถกเถียงกันเรื่องสองภาค ไม่ต่างกับปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญในปัจจุบันมากนัก

เป็นที่ยอมรับกันว่ารัฐธรรมนูญอเมริกันเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีและยืดหยุ่นที่สุด แม้กระนั้นรัฐธรรมนูญฉบับดั้งเดิม ยังถูกโธมัส เจฟเฟอร์สันโจมตีอย่างหนัก “ประการแรก ที่ข้าพเจ้าไม่ชอบในรัฐธรรมนูญฉบับบี้ ก็คือ การละเว้นไม่บรรจุกฎบัตรว่าด้วยสิทธิที่กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งโดยปราศจากข้อโต้แย้ง ว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ การป้องกันภัยจากกองทัพประจำการ การห้ามผูกขาด การควบคุมอำนาจจับกุมคุมขังของเจ้าหน้าที่ ฯลฯ”

ในที่สุด เรื่องต่างๆ ดังกล่าว ก็ได้ถูกต่อเติมลงไปในบทผนวกหรือ Amendment 10 บทแรกเรียกว่า Bill of Rights หรือกฎบัตรว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ มีข้อความกะทัดรัด ครอบคลุม ไม่เยิ่นเย้อ ยืดยาด เหมือนกับของเรา

ในหัวข้อบทความนี้ ผมอ้างถึงยุคดิจิตอล ด้วยความประสงค์ที่จะมุ่งเน้นว่า ส.ส.ร.และคณะกรรมาธิการร่างฯ นอกจากจะต้องใช้วิชาบรรณารักษ์เบื้องต้นให้เป็นประโยชน์แล้ว ยังสามารถใช้เทคโนโลยีข่าวสารสำหรับอ้างอิง ตรวจสอบและตัดสินใจในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้

เทคโนโลยีดิจิตอลทำให้ (1)สามารถสื่อสารและเรียกข้อมูลจากทุกมุมโลกได้ในเวลาพร้อมๆ กัน หรือที่เรียกว่า real time เช่น การเปิดดูจากจอคอมพิวเตอร์ จากวิดีโอคอนเฟอเรนซิงหรือการประชุมข้ามแดนกับผู้เชี่ยวชาญ (2) เรียกหาและเก็บข้อมูลได้จากทุกแหล่งโดยไม่จำกัดจำนวนหรือเวลา (3)เปรียบเทียบ ทดสอบ คำนวณหาข้อและค่าที่เหมือนกัน แตกต่างกัน จากคำพูด หัวข้อ สถิติได้ทุกชนิดตามหลักวิทยาศาสตร์ (4) ภาคประชาชนอาศัยหรือร่วมกับที่ประชุม อบต. ที่ประชุมอำเภอ ที่ประชุมจังหวัด หรือที่ประชุมเทศบาลทุกระดับ สามารถใช้เทคโนโลยีทั้ง 3 ข้างต้นได้พร้อมๆกับ ส.ส.ร. กรรมาธิการร่าง สนช.หรือรัฐบาล หรือจะเก็บข้อมูลไว้ศึกษาในเวลาที่กำหนดให้ทันท่วงทีหรือไปพร้อมๆ กันได้

ผมไม่ทราบว่าสมาชิกผู้ทรงเกียรติจำนวนกี่ท่านเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าว แต่รู้ว่าท่านประธานมีชัยผู้หนึ่งละที่ช่ำชอง แต่นี่มิใช่ปัญหาเลยเพราะท่านสามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีข่าวสาร และจัดตั้งระบบเทคโนโลยีใช้ง่ายให้ใช้ตามวัตถุประสงค์ทั้งหมดได้ นอกจากนั้นรัฐยังสามารถปล่อยข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างง่ายดายอีกด้วย

เมื่อผมเสนอในบทความฉบับที่แล้วว่า ส.ส.ร. เราสมควร จะต้องเขียนอะไร ไม่ต้องเขียนอะไร และต้องไม่เขียนอะไร ลงไปในรัฐธรรมนูญบ้าง ผมมิได้บอกส่งเดชว่าแล้วแต่กรรมาธิการร่างกับ ส.ส.ร.

ผมมีความเห็นว่าประชาชนทุกคน องค์กรภาคประชาชน สถาบันศึกษา องค์กรภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ข้าราชการ ทหารตำรวจทั่วไป รวมทั้งคนที่เป็นแฟนและบริวารอดีตนายกฯทักษิณ ต่างก็มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมอย่างง่ายๆ ทั่วถึงและเป็นระบบด้วยวิธีดังกล่าว ด้วยการเขียนสิ่งที่ตนต้องการอย่างละ 10-15 ข้อลงไปในหัวข้อ (1) ท่านอยากให้ใส่อะไร (2) อะไรที่ใส่ก็ได้ไม่ใส่ก็ได้ (3) อะไรที่ใส่ลงไปไม่ได้เลย


ส.ส.ร.กับกรรมาธิการร่างฯ จะต้องออกแบบฟอร์มที่จะลงข้อมูลแบบดิจิตอลในคอมพิวเตอร์ได้ ในขณะเดียวกันก็โฆษณาแนะนำให้ประชาชนทราบเพื่อจะได้ใช้แบบฟอร์มชนิดเดียวกัน เพื่อจะได้ตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลได้รวดเร็วอย่างเป็นระบบ

ส.ส.ร.กับกรรมาธิการร่างฯ จะต้องมีความถ่อมตัวถ่อมใจ อย่านึกว่าท่านเป็นผู้รอบรู้ วิเศษกว่าผู้อื่นที่ไม่มีฐานะเช่นเดียวกับท่าน จะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ท่านจะต้องเปิดทางไปสู่การมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน อย่าพูดแต่ปากแต่ต้องมีโยนิโสมนสิการในภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงจะไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ยโสโอหัง เป็นต้นเหตุให้ประชาพิจารณ์ทุกแห่งทุกเรื่องล้มเหลวอย่างที่ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลสรุป เพราะว่าท่านถือตัวว่าเหนือกว่าผู้อื่น และมีธงอยู่ในใจเรียบร้อยแล้ว

ผมขอเรียนตรงๆ ว่า ผมได้เห็นวิธีการร่างฯ และประเด็นต่างๆ ที่ท่านนำมาสรุป จนถึงตอนที่ท่านไปสัมมนาอยู่ที่ชะอำแล้ว ผมรู้สึกสงสารท่านและสงสารประเทศไทยที่ท่านยังพากันวนเวียนอยู่ในอ่าง ตั้งโจทย์ผิด และสรรหาคำตอบสารพัดที่ไม่ต่างจากการร่างทุกครั้งที่ผ่านมาเลย และเหตุผลที่ท่านได้คำตอบมา 2 ข้อ (เพื่อจะเลือกทีหลัง) หรือข้อเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนผู้แทน วิธีการเลือกตั้ง ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่มาจากอัจฉริยะส่วนตัวหรืออุปาทานของท่านทั้งสิ้น หาได้มีหลักฐาน หลักการ หรือวิธีการคำนวณถึงผลที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความสอดคล้องทางอุดมการณ์ ทฤษฎีการเลือกตั้ง หลักประชาธิปไตยหรือข้อเท็จจริงแท้ๆ ของการเมืองไทยไม่

ผมจึงต้องขอโทษ และกราบเท้าวิงวอนท่านว่าให้รีบรวบรวมประมวลความคิดในทุกเรื่องของทุกคนมาเสียก่อน อย่าเพิ่งถืออะไรเป็นข้อยุติ จนกว่าจะได้นำมาตรวจสอบกับหลักต่างๆ รวมทั้งหลักฐาน แล้วจึงสรุปรวมความไปสู่การประนีประนอมและเห็นพ้องต้องกันให้มากที่สุดที่จะมากได้ เท่าที่ไม่ขัดกับหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ผมขอยกตัวอย่าง เรื่องเลือกตั้งพวงเล็ก เลือกผู้แทนได้สามคน ผมเคยคัดค้านตั้งแต่ปี 2516 มาแล้ว ว่า ขัดกับทฤษฎีเลือกตั้งอย่างน้อยก็ 3 ข้อ กล่าวคือ (1) ประชาชนทั่วประเทศมีสิทธิไม่เท่ากัน ผู้ที่อยู่ในเขตเล็กอาจเลือกผู้แทนได้เพียง 2 คนหรือคนเดียว (2) ผลของการเลือกตั้งไม่แน่นอน กล่าวคือผู้ที่อาจจะเป็นที่นิยมได้เลือกเป็นลำดับที่หนึ่งในบัตรเลือกตั้ง สองหมื่นใบ อาจจะมิได้รับเลือกเพราะผู้ที่ได้รับเลือกอันดับสามของบัตรเลือกตั้ง (ซึ่งได้อันดับหนึ่งในบัตรเลือกตั้งแค่ห้าพัน) ได้คะแนนรวมมากกว่า เมื่อรวมลำดับอื่นๆ ที่ทั้งสองคนได้รับเข้าด้วยกัน (3) อาจมีคะแนนโดดและคะแนนบล็อก ซึ่งทำให้อุดมคติของการมีตัวแทนคลาดเคลื่อนไป ฯลฯ

ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ผมได้อ่านรายงาน ถึงผมจะเคารพในความคิดเห็นของท่าน แต่ผมก็ยังรู้ว่ามีความเห็นแย้งทั้งที่เป็นของผู้อื่นและของผมเองอยู่มากมาย ซึ่งผมจะพูดถึงต่อไป ก่อนที่จะสรุปในวันศุกร์หน้าว่า ขอท่านได้โปรดเถิด อย่าได้ทำลายราชประชาสมาสัยหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพียงเพราะความมักง่ายหรือถือตัวว่าเป็นผู้วิเศษเลย

โปรดหัดฟังประชาชนให้เป็นและด้วยความจริงใจด้วยเถิด.
กำลังโหลดความคิดเห็น