xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่ม VAT เป็น 10% … ต้องมีเงื่อนไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เราเห็นด้วยกับความริเริ่มและความพยายามผลักดันของนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะให้ปรับปรุงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบันอัตรา 7% เป็นอัตรา 10%

แต่ความเห็นด้วยนี้ไม่ใช่ความเห็นด้วยเดี่ยว ๆ โดด ๆ หากมีเงื่อนไขบางประการ ซึ่งหากดำเนินการได้แล้วก็มีแต่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นส่วนรวม

เรายังมีข้อกังขาต่ออดีตของนายสมหมาย ภาษี และเราก็รู้ว่านายสมหมาย ภาษี ไม่ค่อยชอบใจเรา แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชน ย่อมอยู่เหนือความกังขาในตัวบุคคล ตลอดจนความชอบใจและความไม่ชอบใจทั้งปวง

ก่อนอื่นต้องบอกกล่าวเพื่อความเข้าใจแก่พี่น้องร่วมชาติทั้งปวงว่าสิ่งที่เรียกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นคือภาษีที่เรียกเก็บเอาจากผู้ซื้อหรือผู้ใช้บริการ หรือที่เรียกว่าเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากคนจ่ายเงิน คือใครจ่ายเงินเป็นค่าซื้อสินค้าก็ดี เป็นค่าบริการใด ๆ ก็ดี ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

และนับแต่ประเทศไทยนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาใช้แล้ว ได้เรียกเก็บในอัตรา 7% ของยอดซื้อหรือยอดค่าบริการ ทั้ง ๆ ที่หลักการเดิมนั้นกะกันว่าจะเรียกเก็บในอัตรา 10% เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเพื่อเป็นในอัตราเดียวกันกับประเทศส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเอเชีย

แต่รัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่าประเทศไทยเพิ่งนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาใช้ใหม่ ๆ จะเรียกเก็บกันถึง 10% ก็ออกจะโหดร้ายเกินไป เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงจัดเก็บกันเพียง 7% และจัดเก็บในอัตรานี้มาจนถึงปัจจุบันนี้

ผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตลอดมาปรากฏว่าทำให้รายได้แผ่นดินเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับมา จนขณะนี้กล่าวได้ว่ารายได้ของแผ่นดินจากภาษีมูลค่าเพิ่มคือรายได้ที่สูงที่สุดในบรรดารายได้ทั้งปวง

พูดกันให้ชัดๆก็คือรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายได้หลักของแผ่นดินที่รัฐบาลนำมาใช้จ่ายเป็นงบประมาณแผ่นดินของประเทศ

นายสมหมาย ภาษี เคยพูดเรื่องนี้มาสองครั้งแล้วเมื่อสองเดือนมานี้ และทุกครั้งก็ถูกทักท้วงชนิดตบหน้าจากหม่อมอุ๋ย โดยเฉพาะครั้งหลังที่หม่อมอุ๋ยยัวะนายสมหมาย ภาษี ในเรื่องนี้ ถึงกับตอกหน้าเอาทางหนังสือพิมพ์ เพราะนายสมหมาย ภาษี ไปเปรยเรื่องการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยที่ไม่ผ่านการปรึกษาหารือในกระทรวงการคลังและในคณะรัฐมนตรี

คนแบบหม่อมอุ๋ยก็เป็นเช่นนั้นแหละ ไปถือสาหาความอะไรไม่ได้ และความจริงรัฐบาลหรือรัฐมนตรีใด ๆ ก็ไม่ควรไปพูดเรื่องการปรับอัตราภาษีก่อนที่จะมีการกำหนดอัตราให้มีผลบังคับแล้ว

เพราะมีเรื่อง 3 เรื่องที่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีทั้งหลายจะพูดต่อสาธารณะออกไปก่อนไม่ได้เลย คือเรื่องการประกาศสงคราม เรื่องการปรับปรุงอัตราภาษี และเรื่องการปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนเงิน

ทำไมนายสมหมาย ภาษี จึงกล่าวถึงเรื่องนี้? ทั้ง ๆ ที่ควรจะรู้ว่าเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้

เราพยายามทำความเข้าใจในทางที่ดีว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่หลวงของบ้านเมือง หากจะผลุนผลันผลีผลามให้รัฐบาลทำการไปเลย รัฐบาลก็อาจจะพังหรืออาจจะถอยหลังแบบยูเทิร์นเช่นเดียวกับเรื่องหวยบนดิน หรือเรื่องกฎหมายต่างด้าว หรือเรื่องไอทีวี

เพราะเหตุนี้นายสมหมาย ภาษี จึงอาจยอมพลีตัวเองเข้าเสี่ยงโยนก้อนหินถามทางโดยแอ่นอกรับก้อนหินก้อนดินเอาเสียเอง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้การตัดสินใจแบบนี้ต้องถือว่าเป็นการทำการด้วยความเสียสละ ขอให้เราเข้าใจเรื่องนี้ได้ถูกต้องเถิด

แต่ถ้านายสมหมาย ภาษี ออกมาพูดเรื่องนี้โดยมีวาระอย่างอื่นในใจ การพูดเช่นนั้นก็ควรถูกตำหนิติเตียน แต่ก็ต้องคอยดูผลบั้นปลายว่าจะกลายเป็นฉันใด

เพราะเหตุที่ความคิดประชาธิปไตยเฟ้อในประเทศไทยเกิดขึ้นและลุกลามขยายตัวไป รายจ่ายแผ่นดินจึงสูงตามเพราะมีการจัดตั้งองค์กรอิสระจำนวนมาก รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนก็เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ซึ่งล้วนมีค่าใช้จ่ายประจำและเป็นภาระแผ่นดิน จนรายได้ปกติหรือที่เรียกเก็บกันตามปกติแทบไม่มีเงินเหลือไปพัฒนาประเทศ

คนที่รับผิดชอบหน้าที่งานด้านการคลังจึงมีหน้าที่ต้องจัดหาเงินมาจับจ่ายใช้สอยให้พอเพียง เพราะเหตุนี้จึงไม่มีทางเลือกอย่างอื่นที่จะเกิดความเป็นธรรมทั่วทั้งประเทศ นอกจากการปรับปรุงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้เป็นมาตรฐานคืออัตรา 10%

บางคนเคยตำหนิว่าภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เป็นธรรม เพราะคนรวย คนจน ถูกเรียกเก็บในอัตราเท่ากัน นี่คือการพูดด้านเดียวโดยไม่ได้พูดให้หมดว่าคนจนมีเงินจับจ่ายใช้สอยน้อย แม้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จำนวนเงินรวมก็ไม่มาก เป็นการเสียน้อยตามฐานะ ในส่วนคนร่ำรวยจับจ่ายใช้สอยมาก ถึงถูกเก็บ 7% ในอัตราเท่ากัน แต่จำนวนเงินก็ไม่เท่ากัน ตรงนี้คือความเป็นธรรมในระบบภาษีอากรที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจให้เกิดขึ้น

แต่เรื่องนี้จะพูดหรือทำแต่ด้านเดียวไม่ได้ กระทรวงการคลังจะต้องพูดให้หมดและต้องทำให้ครบถ้วน มิฉะนั้นก็จะเป็นการซ้ำเติมภาระให้แก่ประชาชนเป็นส่วนรวม ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งที่กระทรวงการคลังจะต้องพูดและจะต้องทำเพื่อให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรมแก่ส่วนรวม เห็นจะมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

ประการแรก กระทรวงการคลังต้องร่วมกับสำนักงบประมาณในการควบคุมรายจ่ายประจำไม่ให้เพิ่มเกินกว่า 72.25% ของงบประมาณแผ่นดิน หน่วยงานใดมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จะต้องหาทางตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือที่ฟุ่มเฟือย หรืองบประเภทที่ตั้งไว้เพื่อใช้จ่ายแบบอีลุ่ยฉุยแฉก หรืองบประเภทแดกด่วนเพื่อเอาเงินมาทดแทนรายจ่ายประจำที่เพิ่มขึ้น

หากไม่จัดการเรื่องนี้ ถึงจะเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มก็มีแต่จะทำให้เกิดโอกาสเพิ่มรายจ่ายประจำสูงขึ้นไปอีก และถึงวันหนึ่งก็แก้ไขอะไรไม่ได้

ประการที่สอง เมื่อจะเพิ่มภาษีที่เก็บจากการใช้จ่ายเงินก็ต้องลดอัตราภาษีที่เก็บจากการได้เงินหรือที่เก็บจากเงินรายได้ หรือที่เรียกว่าภาษีเงินได้ ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเรียกเก็บในอัตราแทบจะสูงที่สุดในเอเชียอยู่แล้ว

จะปรับปรุงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่ลดอัตราภาษีเงินได้ ย่อมไม่เป็นธรรมและเป็นการซ้ำเติมภาระแก่ประชาชน

ขณะนี้สิงคโปร์หรือจีนหรือประเทศอื่น ๆ ในเอเชียได้ลดอัตราภาษีเงินได้ เหลืออย่างสูงสุดก็ไม่เกิน 25% แล้ว แต่ของไทยเรายังเรียกเก็บถึงอัตรา 37% สำหรับบุคคลธรรมดา และ 30% สำหรับนิติบุคคล

การเรียกเก็บในอัตราสูงเช่นนี้จูงใจให้มีการหลีกเลี่ยงภาษี และไม่ส่งเสริมต่อการลงทุน ไม่เอื้ออำนวยต่อการค้าขายหรือการทำธุรกิจ

กระทรวงการคลังจึงต้องตัดสินใจเลือกเอาสักขาหนึ่งว่าจะเน้นจากฐานเงินได้ หรือจากฐานรายจ่ายของประชาชน

เราเห็นว่าเพื่อนำพาประเทศไทยสู่ความเป็นมาตรฐานสากล เพื่อขยายฐานภาษี และเพื่อความเป็นธรรม สมควรที่จะต้องลดอัตราภาษีเงินได้ลงให้เหลือจัดเก็บสูงสุดไม่เกิน 25%

ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ เราสนับสนุนให้มีการปรับปรุงภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นอัตรา 10%.


กำลังโหลดความคิดเห็น