xs
xsm
sm
md
lg

จับตายุบ สบร.ปิดฉากแก๊งถลุงงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตาอนาคต"สบร."ยุบหรือไม่ยุบ หลัง"หม่อมเต่า"บุกประเมินผลการใช้งบปี 49 กว่า 2,000 ล้านบาท สมัยรัฐบาลทักษิณ แฉกรรมการฯ ยังรับเบี้ยประชุม 2 หมื่นบาทต่อครั้ง ขณะที่ผู้บริหารก็รับเงินเดือนกว่า 3 แสนบาท สอดคล้องกับที่ สตง.เตรียมเข้าไปตรวจสอบ

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลคณะกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.)กล่าวถึงการประชุมหารือกับผู้บริหารหน่วยงานเฉพาะด้านทั้ง 7 หน่วยงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ สบร.ว่า ตนได้เข้ามอบนโยบาย ร่วมปรึกษาหารือ และติดตามผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ ซึ่งตนได้เร่งรัดให้ สบร. พิจารณาการตั้งงบประมาณของปี 51 และดำเนินการตามแผนงานต่างๆ ในงบประมาณปี 50 เพื่อขยายผลไปที่ภูมิภาค และให้นำองค์ความรู้ใหม่ๆไปให้ถึงเด็กและเยาวชนในภูมิภาคให้ถึงฐานรากให้มาก และนำรูปแบบความรู้แนวใหม่ แต่ให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของพื้นที่ อย่างไรก็ตามปัญหาในบางองค์กรที่ยังมี ตนได้เน้นที่การบูรณการองค์ความรู้ในอดีตที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงบประมาณรายจ่าย ที่จัดสรรให้กับ สบร.ตั้งแต่ ปี 48-50 นั้น ปี 48 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มีการจัดสรรไปทั้งสิ้น 120 ล้านบาท ส่วนปี 49 มีการจัดสรรไป 2,251.2 ล้านบาท ขณะที่ปี 50 ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการจัดสรรไป 1,068.4 ล้านบาทเศษ จากเดิมที่ สบร.ขอไปทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท โดยจัดสรรเพื่อเป็นแผนงบประมาณสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาคนให้มีความรู้ คู่คุณธรรมและจริยธรรม

ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ได้อนุมัติในครม.ในส่วนงบประมาณที่ได้กำหนดกรอบอัตราประโยชน์ตอบแทนอื่นของกรรมการ ในลักษณะเหมาจ่ายรายเดือนในอัตราเดือนละห้าหมื่น ถึงหนึ่งแสนบาท และประธานกรรมการจะได้ไม่เกินหนึ่งเท่าของกรรมการ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีที่กำกับดูแลเป็นผู้กำหนด

ขณะที่ผู้บริหาร สบร.ชุดใหม่ กว่า 20 คน เช่น นายอภินันท์ โปษยานนท์ ประธานกรรมการบริหาร สบร. จะมีเงินเดือนกว่า 3 แสนบาท แต่นายอภินันท์ กลับเลือกที่จะรับเงินเดือนในฐานะผู้อำนายการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ในอัตราข้าราชการที่โอนมาปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ในงบประมาณดังกล่าวยังมีเบี้ยประชุมของคณะกรรมการบอร์ดและกรรมการบริหาร ที่มาร่วมประชุมจำนวน 20,000 บาท ต่อครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล ในฐานะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)และคณะ ได้เดินทางไปประเมินผล สบร.กับคณะผู้บริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.)และผู้บริหารหน่วยงานเฉพาะด้านทั้ง 7 แห่ง ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสบร.เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงาน ตามคำรับรองการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549 โดยเฉพาะโครงการของปี 2549 ที่รัฐบาลชุด พ.ต.ท.ทักษิณ อนุมัติงบให้กว่า 2,251.2 ล้านบาท

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าฯสตง.กล่าวว่า ขณะนี้ สตง.กำลังเข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณและการบริหารโครงการของ สบร.ซึ่งก่อตั้งขั้นในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อตรวจสอบถึงความจำเป็นในการตั้งองค์กรดังกล่าว เพราะจากโครงสร้างของ สบร.ที่มีการแบ่งโครงสร้างออกเป็น 7 หน่วยงาน และเป็นองค์กรที่แยกมาต่างหากแต่ทำหน้าที่คล้ายกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว เช่น กระทรวงศึกษาธิการ

โดยก่อนหน้านี้ สตง.ในฐานะหน่วยรับตรวจได้เคยตรวจสอบ สบร.เบื้องต้นแล้ว พบว่าเป็นองค์กรที่จัดตั้งมาโดยการใช้อำนาจทางการเมือง และมีการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย เช่น การกำหนดเงินเดือนและเบี้ยประชุมของผู้บริหารจำนวนสูงมาก รวมถึงการใช้จ่ายต่างๆ เช่น การเช่าตึกใหญ่ทำสำนักงาน ซึ่งมีราคาค่าเช่าสูงทาง สตง.กำลังดูว่าองค์กรนี้ก่อตั้งแล้วคุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้จ่ายไปหรือไม่ หากพบว่าองค์กรนี้ไม่มีความจำเป็น สตง.จะทำบันทึกถึงผู้บริหารให้พิจารณาว่าสมควรคงองค์กร สบร.ต่อหรือไม่

"สบร.เป็นองค์กรเชิงการเมือง ถามว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องมี สตง.กำลังเข้าตรวจสอบ เพื่อจะทำรายงานถึงเหตุผลความจำเป็นที่ตั้ง คุ้มค่าหรือไม่ และซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นหรือไม่ ซึ่งเวลานี้กำลังตรวจสอบงบบัญชีการเงินการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพื่อนำมาประเมินต่อไปว่าควรจะคงไว้ หรือต้องปฏิรูปหรือจะยุบทิ้ง ซึ่งความจริงแล้วหน่วยงานที่มีอยู่ก็สามารถทำงานได้ดูแลเป็นการสร้างอาณาจักรหรือไม่"รองผู้ว่าฯ สตง.กล่าว

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ รอง ผอ.สบร.กล่าวถึงกรณีที่ สตง.จะไปตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สบร. ว่า งบประมาณปี 49 และปี 50 ทาง บอร์ด สบร.มีการคณะกรรมการตรวจสอบภายในอยู่แล้ว ดังนั้นในเรื่องของการปรับลดองค์กร จึงยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องรีบดำเนินการเพราะกระบวนการต่อไป สบร.จะต้องวางยุทธศาสตร์การทำงานก่อน เพื่อให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์นี้สามารถพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นและเกิดประโยชน์ได้

ดังนั้น เรื่องนี้มีทั้งระบบการตรวจสอบภายใน และการตรวจสอบภายนอก ถ้าเกิดทำงานมาเปิด เปิดทุกสายแจ้งดำเนินงานให้มีผลงาน ก็ต้องยอมรับในการตรวจสอบ เพื่อทำให้เป็นตัวอย่างแก่องค์กรที่มีระบบธรรมมาภิบาล ตนคิดว่าต้องทำให้เป็นตัวอย่างของสังคม อันนี้ เป็นเรื่องที่มากกว่าเรื่องที่ถูกต้องขององค์กร เพราะเขาให้เงินมาทำงานในเชิงรุก เราก็ต้องสามารถทำให้เขาตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบภายในตรวจสอบภายนอก อันนี้เป็นสิ่งที่สังคมเขาคาดหวัง องค์กรที่เอาเงินมาเยอะและก็ทำงานมีผลงานต้องตรวจสอบได้ ถ้าเรามีผลงานก็ไม่ต้องกลัว

ส่วนปัญหาของการใช้งบประมาณปัจจุบันในแต่ละหน่วยงานที่หลายๆ ฝ่ายมองว่า เป็นการใช้อย่างฟุ่มเฟือยนั้น นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ช่วงนี้ สบร.ยังอยู่ในช่วงของการประเมินและการทบทวนต่างๆว่า ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ดังนั้นเราจึงต้องเข้าไปศึกษาและทบทวนผลงาน เพราะว่าการทำงานแต่ละแท่ง มีนโยบายการทำงานมีผู้บริหารของตัวเอง ตรงนี้เราต้องสรุปและประเมินผลก่อน ถ้าเราสามารถวางยุทธศาสตร์ร่วมตรงนี้ออกมาได้ให้ทุกแท่งเข้าใจ เป็นเรื่องของการปรับการทำงานของแต่ละแท่งเขา กับยุทธศาสตร์กลาง ที่ทำให้ทุกคนเข้าใจจะปรับเรื่องงานและเงินอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานของ สบร.มีการควบรวม ทีเค ปาร์ก เข้ากับศูนย์กลางการเรียนรู้ไอซีทีแห่งชาติ (NICT Learning Center) โดยเป็นการโอนย้ายศูนย์กลางการเรียนรู้ไอซีทีฯ มาสังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)หรือ สบร. เพื่อให้อยู่ภายใต้การบริหารของบอร์ดชุดเดียวกัน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มีขอบข่ายของการให้บริการที่ครบวงจร โดยที่สามารถประหยัดกำลังคน และงบประมาณของทั้ง 2 หน่วยงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น