xs
xsm
sm
md
lg

‘โทรทัศน์สาธารณะ’ พันธกิจส่องสว่างสังคม

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

อย่าว่าแต่การแปรเปลี่ยนทางแฟชั่น วัฒนธรรม สังคมจะได้รับอิทธิพลจากโทรทัศน์เลย เพราะแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ไม่ใช่แค่การสลับขั้วอำนาจเก่าใหม่ แต่ขยับเข้าใกล้กับการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการเมืองจากอำนาจ ‘เงิน-ระบบอุปถัมภ์-วงศ์วานว่านเครือ’ มาสู่ ‘คุณธรรมจริยธรรม-ความซื่อสัตย์’ ยังได้แรงกระเทือนจากโทรทัศน์มหาศาล ดังปรากฏการณ์การเมืองไทยในช่วงขวบปีที่ผ่านมา

เพราะเพียงสถานีโทรทัศน์เดียวยังสร้างผลกระทบ (Impact) ต่อสังคม จนเปลี่ยนแปลงการเมืองที่เคยได้ชื่อว่าเข้มแข็งมากสุดนับแต่เป็นประชาธิปไตยไทยๆ ได้อย่างถึงแก่นแกนปัญหา...

แล้วถ้าทุกสถานีโทรทัศน์ผนึกกำลังกัน จะมีคุณูปการต่อเมืองไทยมากมายขนาดไหน

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ทุกสถานีจะต้องขับเคลื่อนมุมมองหรืออุดมการณ์การเมืองไปในทิศทางเดียวกัน หากอย่างน้อยที่สุดก็ควรกลับมาตั้งมั่นบน ‘ผลประโยชน์สาธารณะ’ มากกว่าอำนาจทางธุรกิจและการเมืองดั่งในปัจจุบัน

ครั้นจะไปช่วงชิงพื้นที่ออกอากาศของแต่ละสถานีให้หันกลับมาตอบสนองผลประโยชน์สาธารณะอย่างจริงจัง ก็รังแต่จะเป็นการเรียกร้องที่ (ค่อนข้าง) ไร้การตอบรับ หรือไม่ก็ถูกมองเป็นการแทรกแซงสื่อไปเสีย อันเนื่องมาจากสถานีโทรทัศน์ส่วนใหญ่ในฟากเอกชนจะมุ่งประโยชน์เชิงพาณิชย์ รายการคุณภาพแต่ต้นทุนสูง เช่น รายการเด็กและเยาวชน หรือสารคดีจะไม่ถูกผลิต ขณะที่สถานีฝั่งรัฐไร้อิสระ ถูกแทรกแซงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นสมัยรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ หรือเผด็จการ

ยังมิพักจะเอ่ยอ้างถึงเนื้อหารายการจำนวนมากที่หมิ่นเหม่ศีลธรรมจรรยา ขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งกอบโกยแต่เรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณา

ฉะนั้น หากวาดหวังว่าสถานีโทรทัศน์จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนแล้ว แม้จะไม่ถึงกับสิ้นหวังในการปรับเปลี่ยนสถานีเอกชน แต่การตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะ (Public service broadcasting: PSB) ขึ้นใหม่ โดยใช้คลื่น UHF-VHF รวมถึงเทคโนโลยีทางเลือกอย่างโทรทัศน์ดาวเทียม IPTV หรือไม่ก็กล้าหาญมากพอจะจัดการสถานีรัฐที่ย่อหย่อนละเลยเจตนารมณ์เดิมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ อาจเป็นไปได้มากสุดในทางปฏิบัติ

แม้โดยหลักการ ทุกภาคส่วนจะเห็นพ้องกันมานานแล้วว่าสังคมไทยควรมีสถานีโทรทัศน์สาธารณะเสียที ทว่าห้วงยามเกือบทศวรรษในการปฏิรูปสื่อที่รัดร้อยอยู่กับหัวใจมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกลับไม่อาจผลักดันให้เกิดโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาสาระเช่นนั้นได้

ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะดูจะเป็นเนื้อเดียวกับความต้องการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการอย่างอิสระ ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองและธุรกิจ ไม่แสวงหาผลกำไร ไม่แข่งขันกับเอกชน แต่มุ่งส่งเสริมการสื่อสาร และผลิตรายการสารประโยชน์ ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสาร เรียนรู้ร่วมกันระหว่างประชาชน ชุมชน โดยยึดมั่นความรับผิดชอบต่อสังคม และจริยธรรมของสื่อมวลชนไว้ได้มากสุด

โดยคุณภาพของรายการจะเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และประชาชน ป้องกันปัญหาความรุนแรงและยั่วยุทางเพศ ส่วนรายการข่าวจะเป็นกลางทางการเมือง ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่อิงแอบกับอำนาจรัฐและผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านรูปแบบการเป็นเวทีสื่อกลางในการอภิปรายประเด็นสาธารณะต่างๆ

บทบาทข้างต้นของโทรทัศน์สาธารณะจึงเป็นคุณลักษณะพิเศษที่ต่างไปจากโทรทัศน์ภายใต้กลไกตลาดเสรี ทั้งฟรีทีวีหรือโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ที่ไม่คิดค่าบริการ และเคเบิลทีวีหรือโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ที่เกือบทั้งหมดไม่ตอบสนองความต้องการด้านข้อมูลข่าวสารของชุมชน และประชาชนหลากหลายกลุ่มได้ โดยเฉพาะชายขอบที่มีอัตลักษณ์แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่มักจะไม่ได้รับการ ‘ใส่ใจ-เข้าใจ’ จากโทรทัศน์กระแสหลัก ดังปรากฏชัดจากสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ที่สุดท้ายแล้ว ‘เหยื่อ’ ที่ถูกทำร้ายทั้งจากผู้ก่อการและรัฐอยู่แล้ว ยังถูกทำร้ายซ้ำซ้อนจากโทรทัศน์กระแสหลักอีกต่อหนึ่ง

ฉะนั้น การผลักดันโทรทัศน์สาธารณะ นอกจากจะลดปัญหาเหยื่อซ้ำซ้อนดังกล่าวได้แล้ว ยังจะนำมาสู่ความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกันในสังคมได้ ด้วยหนึ่งในเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ พ.ศ. ... โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ คือ การมุ่งสร้างกลไกในการสนับสนุนผู้จัดทำรายการโทรทัศน์อิสระทั้งระดับผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนให้สามารถสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์เพื่อการสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มคนต่างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ภาษา

โดยมาตรา 9 (9) ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ระบุว่า จะแพร่ภาพหรือกระจายเสียงรายการที่มีความหลากหลายสำหรับประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันที่ถูกต้อง และสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์และคนส่วนน้อยมีโอกาสผลิตรายการ...

และมาตรา 26 (7) ว่าด้วยข้อกำหนดด้านจริยธรรมของวิชาชีพสื่อมวลชน ที่เน้นว่า โทรทัศน์สาธารณะจะต้องไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา... ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง

นอกจากนั้น โทรทัศน์สาธารณะยังมุ่งมาดมอบความรู้ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน และธำรงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรมอันงดงามของชาติด้วยในขณะเดียวกัน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปรากฏในโทรทัศน์กระแสหลักน้อยมาก จนไม่มีนัยสำคัญต่อการรับรู้ของผู้ชมมากพอจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต!

อย่างไรก็ตาม โทรทัศน์สาธารณะยังร้อยรัดกับเจตจำนง (Political View) ของผู้มีอำนาจเป็นสำคัญ หากเขาไม่ตระหนักถึงความสำคัญ ก็ยากที่เมืองไทยจะได้สัมผัสคุณประโยชน์ของโทรทัศน์ประเภทนี้ เพราะแม้แต่สถานีโทรทัศน์ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งก่อนและหลังรัฐประหารยังสุ่มเสี่ยงในสถานภาพ อันเนื่องมาจากถูกฟ้องร้องว่าผิดกฎหมาย และกำลังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมของศาลปกครอง

กระนั้น นอกจากเจตจำนงของผู้กุมอำนาจรัฐแล้ว หนึ่งขวากหนามแหลมคมคอยทิ่มแทงความหวังสังคมไทยที่จะมีโทรทัศน์สาธารณะ ใช่ใครอื่น หากเป็น ‘สื่อมวลชน’ เอง ที่ไม่ยอมออกจากความคุ้นเคยของพันธนาการ ด้วยแฝงฝังอยู่กับระบบทุนและอำนาจการเมืองมานานเนิ่น จนขลาดกลัวจะโลดแล่นอิสระโดยไร้ผู้กุมบังเหียนลงแส้ และที่สำคัญยังร้างราจิตสำนึกสาธารณะที่เห็นคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม

ขณะที่ภาคประชาชนเองก็ยังไม่ตระหนักในสารัตถะสำคัญของโทรทัศน์สาธารณะว่าจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตตนเองและสังคมอย่างไร เพราะเคยคุ้นอยู่กับความบันเทิงมากกว่าสาระ

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจร่วมกันเป็นเบื้องต้นก่อนว่า โทรทัศน์สาธารณะไม่อาจตอบโจทย์ได้ทั้งหมด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่ดลบันดาลสิ่งไร้สาระ เลวร้ายมลายหายไปได้ เพียงแต่จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการเติมเต็มความพร่องของเนื้อหาสาระรายการ รวมทั้งอุดช่องโหว่ในประเด็นที่โทรทัศน์กระแสหลักไม่สนใจ หรือไม่กล้าพูดความจริง ความถูกต้อง เป็นธรรม

ทั้งนี้ คงจะเป็นแนวโน้มดี ที่ปัจจุบันบางสถานีโทรทัศน์ได้ขยับตัว เรียนรู้การดำรงตนอย่างมีคุณประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าปัจเจก ด้านประชาชนก็ไม่น้อยหน้า เริ่มตั้งคำถามกับการนำเสนอข่าวสารของโทรทัศน์กระแสหลักว่าเป็นไปตามหลักจริยธรรมของสื่อมวลชนและยืนหยัดอยู่บนผลประโยชน์สาธารณะหรือการอยู่รอดของตนเอง รวมถึงเจตจำนงของนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ว่า

“...เรื่องนี้อยู่ในใจผมมาตลอดว่า เราน่าจะมีสถานีซึ่งทำหน้าที่เสนอข่าวและเรื่องที่เป็นสาระจริงๆ เหมือนกับ NHK หรือ BBC หรือแย่ลงไปหน่อยก็ CNN... เราจะได้รับข่าวสารที่ชัดเจนด้วยมุมมองหลายๆ มุม ไม่ใช่มุมมองเดียว...”

เมื่อหน้าต่างทุกภาคส่วนเปิดกว้างเช่นนี้แล้ว เราจะไม่ ‘ฉกฉวยโอกาส’ ส่องสว่างสังคมไทยในภายภาคหน้าไว้เชียวหรือ หรือจำเป็นต้องรอรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่อาจหวังอะไรไม่ได้มากกว่าคำสัญญา?

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ
แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กำลังโหลดความคิดเห็น