xs
xsm
sm
md
lg

การตลาดกับการเมือง

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จะว่าไปแล้วการตลาดที่ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองนั้น หาได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงที่ คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาสามาทำงานประชาสัมพันธ์ให้กับรัฐบาล สุรยุทธ์ จุลานนท์ เท่านั้น ก่อนหน้านี้ก็เกิดมานานหลายปีดีดักแล้ว แต่ที่มาฮือฮาเอากับกรณีของ คุณสมคิด ก็เพราะว่า คุณสมคิด นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในทางการตลาดอยู่มาก

แต่สังเกตไหมครับว่า ตอนที่ คุณสมคิด รับอาสามาทำงานให้กับรัฐบาล สุรยุทธ์ นั้น ตำแหน่งที่ท่านได้รับกลับไม่ได้บอกตรงไปตรงมาว่าเป็น “การตลาด” แต่กลับใช้คำว่า “ประชาสัมพันธ์” แทน คือมาช่วยรัฐบาลทำประชาสัมพันธ์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

ผมจึงสงสัยว่า เศรษฐกิจพอเพียงที่ถูกยกย่องในฐานะปรัชญาการดำเนินชีวิตนั้นมิอาจดำรงฐานะที่ว่าได้จนถึงกับต้องใช้ “การตลาด” เข้าช่วยเชียวหรือ?

ประเด็นคำถามจึงน่าจะอยู่ตรงที่ว่า มีความแตกต่างกันอย่างไรระหว่างสิ่งที่เรียกว่า “การตลาด” กับสิ่งที่เรียกว่า “การประชาสัมพันธ์?”

ผมต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่ “นัก” ทั้งสองนั้น (การตลาดกับการประชาสัมพันธ์) แต่ถ้าว่าจากที่ได้สังเกตมา ผมเห็นของผมเองว่า การตลาดนั้นเขามีไว้ใช้สำหรับ “ขาย” อะไรก็ได้ที่มีฐานะเป็น “สินค้า” ถึงแม้อะไรบางอย่างที่ว่านั้นอาจจะไม่ใช่สินค้าอย่างที่เราท่านเข้าใจกันก็ได้

ส่วนการประชาสัมพันธ์นั้นจะมีไว้เพื่อ “แจ้ง” แก่กลุ่มเป้าหมายให้รู้ว่า ตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และอะไรที่ว่านั้นมีความหมายหรือความสำคัญอย่างไรกับกลุ่มเป้าหมายบ้าง ฉะนั้น การประชาสัมพันธ์ในบางด้านจึงมักจะมีสิ่งที่เป็น “สินค้า” จริงๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

ที่สำคัญคือ แม้จะมี “สินค้า” เข้ามาเกี่ยวข้องในบางครั้งก็ตาม แต่การ “แจ้ง” แก่กลุ่มเป้าหมายให้รู้จักสินค้าตัวนั้นก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเพื่อ “ขาย” เสมอไป แต่ “แจ้ง” เพื่อที่จะบอกว่า ขณะนี้โลกได้เกิดนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ขึ้นบ้าง

การตลาดจึงไม่เหมือนกับการประชาสัมพันธ์ก็ตรงนี้เอง ฉะนั้น ถ้าใครมาบอกว่า การที่รัฐป่าวร้องว่าในกลางเดือนมีนาคมนี้จะมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นกลางกรุง พร้อมกับเตือนให้พ่อแม่พี่น้องช่วยระมัดระวัง และเป็นหูเป็นตาให้รัฐด้วย ว่าเป็น “การตลาด” ไม่ใช่ “การประชาสัมพันธ์” แล้วละก็ ใครคนนั้นอาจถูกนักการตลาดตีหัวเอาได้ง่ายๆ

แต่ก็เพราะความแตกต่างดังกล่าว ชนชั้นกลางไทยจึงพอที่จะแยกออกได้ว่า อะไรคือการตลาดที่ถูกนำมาใช้ในทางการเมือง และการเมืองแบบไหนที่กำลังนำเอาการตลาดมาใช้ หาไม่แล้ว คุณสมคิด ก็คงไม่เจ๊งโบ๊งตั้งแต่ยังไม่ออกวิ่งเป็นแน่ แต่ก็เพราะการตลาดมักจะใช้ได้กับการ “ขาย” ผมจึงไม่แปลกใจที่บรรดานักธุรกิจใหญ่น้อยต่างบ่นเสียดาย คุณสมคิด เพราะถ้า คุณสมคิด สามารถมีบทบาทต่อไป นั่นก็หมายถึงการที่นักธุรกิจจะ “ขาย” อะไรต่อมิอะไรของตนไปด้วย ถึงแม้ คุณสมคิด จะ “ขาย” แต่เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็ตาม

ผมคิดว่า การที่ คุณสมคิด ต้องมีอันเลิกล้มบทบาทของตนในรัฐบาล สุรยุทธ์ ไปก่อนที่จะเริ่มงานนั้นในด้านหนึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นคำถามที่นักธุรกิจจะต้องถามตนเองต่อไปว่า การตลาดควรนำมาใช้กับการเมืองได้หรือไม่ หรือถ้าได้ได้กี่มากน้อย หากแม้แต่กับนักการเมือง (ที่ในชั้นหลังมานี้ต่างก็นิยมเอาการตลาดมารับใช้การเมืองด้วย) ก็ควรถามตัวเองด้วยเหมือนกัน

ถึงตรงนี้เราก็ต้องยอมรับกันว่า พรรคการเมืองที่นำเอาการตลาดมารับใช้ในทางการเมืองอย่างจริงจังนั้นก็คือ ไทยรักไทย หลังจากนั้นพรรคอื่นๆ ก็เอาเยี่ยงอย่างบ้าง เพราะเห็นว่าไทยรักไทยทำแล้วได้ผล แต่เราก็พบเช่นกันว่า พรรคการเมืองอื่นต่างก็สู้ไทยรักไทยไม่ได้ แม้จะหลังรัฐประหาร 19 กันยายนไปแล้วก็ตาม

แต่แม้จะเห็นอยู่ว่าไทยรักไทยเก่งเรื่องการตลาด แต่ก็เก่งในภาพกว้างที่สะท้อนผ่านนโยบาย เพราะถ้าเจาะกันเป็นคนคนไปแล้วก็ใช่ว่าไทยรักไทยจะเก่งไปเสียทุกคน

ในความเห็นของผม ผมว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นคนหนึ่งที่เก่งในการนำการตลาดมารับใช้การเมือง ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ว่าเธอจะมีตำแหน่งอะไร เธอไม่เพียงแต่จะนำเสนอภาพของตัวเองผ่านคัตเอาต์ หน้าจอทีวี หรือแม้กระทั่งเอกสารสิ่งพิมพ์ พร้อมกับผลงานของเธอเท่านั้น

หากแม้แต่งานอื่นๆ ที่ดูไม่เกี่ยวอะไรกับตำแหน่งของเธอแท้ๆ เธอก็สามารถนำตัวเองเข้าไปเกี่ยวจนได้ ไม่ว่าจะเป็นงานเปิดร้านลูกชาย คุณทักษิณ หรืองานประกวดนางงามจักรวาล และทุกภาพที่ปรากฏเธอก็มักจะส่งยิ้มให้กับกล้องอยู่เสมอ เป็นรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยไมตรี บางครั้งบางงานก็เป็นรอยยิ้มที่ดูมีเมตตา

แต่ในขณะเดียวกัน พอเกิดความตึงเครียดทางการเมืองขึ้นมา เธอกลับเป็นผู้ที่แสดงความเห็นน้อยกว่านักการเมืองคนอื่นในไทยรักไทย ยิ่งหลังรัฐประหารด้วยแล้วเธอไม่เพียงจะหายหน้าหายตาไปเหมือนหายเข้ากลีบเมฆเท่านั้น หากแม้แต่ตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค (ที่จะว่าไปแล้วควรจะเป็นเธอ) ก็มีข่าวว่าเธอปฏิเสธ แล้วปล่อยให้ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง รับเอาไป

ซึ่งจนถึงเดี๋ยวนี้ผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าที่ คุณจาตุรนต์ รับไปนั้นเป็นความกล้าหาญ (อย่างที่มีการชมกัน) หรือเป็นคราวเคราะห์กันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ ลอยตัวสบายใจเฉิบ

ในทางตรงข้าม คนที่ล้มเหลวเรื่องการตลาดในทางการเมืองมากที่สุดกลับคือ คุณทักษิณ ชินวัตร

ใหม่ๆ นั้น คุณทักษิณ ก็ใช้การตลาดไม่ต่างจากคนอื่นมากนัก แต่ด้วยความอหังการและอวดเก่งอวดรู้ คุณทักษิณ กลับใช้การตลาดแบบผิดๆ ด้วยการดูถูกการตลาดจนคนเขาจับได้ไล่ทันว่า คุณทักษิณ โกหก

คุณทักษิณ ถูกจับโกหกหลายเรื่องด้วยกัน และทุกครั้งที่ถูกจับได้ก็จะไม่ยอมตอบ หรือไม่ก็โบ้ยและบิดเบือนข้อเท็จจริงไป แต่ที่ผมเห็นว่าการตลาดที่ คุณทักษิณ หมายมั่นปั้นมือจะเอามารับใช้การเมืองมากที่สุดและล้มเหลวครั้งใหญ่ที่สุดก็คือ การตลาดเรียลิตี้โชว์วิธี “แก้จน” ที่ อ.อาจสามารถ ซึ่ง คุณทักษิณ ทุ่มสุดตัวเพื่อแสดงให้คน (ที่เขาคิดว่า) จนได้เห็นถึงความมุมานะบากบั่น เป็นคนตีนติดดิน นอนกลางดินกินกลางทราย และไม่กลัวความยากลำบาก ฯลฯ เพื่อให้เห็นถึงความจริงใจและจริงจัง

แต่ใครเลยจะรู้ว่า การตลาดครั้งนั้นแท้ที่จริงแล้วก็กลายเป็น “หมาก” ตาหนึ่งของ คุณทักษิณ เอง ที่ซึ่งในขณะที่เรียลิตี้โชว์กำลังดำเนินไปจนเหงื่อไหลไคล้ย้อยกันอยู่นั้น ที่กรุงเทพฯ กลับมีคนกลุ่มหนึ่งกำลังทำธุรกรรมในการขายหุ้นชินคอร์ปของ (ลูกๆ) คุณทักษิณ อยู่อย่างขะมักเขม้น โดยมีวันที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการให้ต่างชาติถือหุ้นได้มากกว่าเดิมเป็นหลักหมายสำคัญ

การตลาดทางการเมืองผ่านเรียลิตี้โชว์ที่ อ.อาจสามารถจึงล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เพราะหลังจากวันนั้นจนถึงวันนี้แทบจะไม่มีคนไทยคนไหนจะจดจำสิ่งที่ คุณทักษิณ ทำที่ อ.อาจสามารถ (ผมไม่แน่ใจด้วยว่าคนที่ อ.อาจสามารถจะจดจำได้ในแง่มุมไหนด้วยซ้ำไป) ทุกคนต่างจดจำแต่เรื่องที่ คุณทักษิณ ขายหุ้นเท่านั้น

ผมคงไม่ต้องสาธยายว่าหลังจากนั้นชีวิตของ คุณทักษิณ เป็นอย่างไร และถ้าให้เปรียบเทียบการใช้การตลาดในทางการเมืองแล้ว ผมว่า คุณทักษิณ สู้ คุณหญิงสุดารัตน์ ไม่ได้หรอกครับ คุณหญิงเธอเนียนกว่ากันตั้งเยอะ

แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้แล้ว วันที่การตลาดในทางการเมืองถูกตั้งข้อสงสัยขึ้นเรื่อยๆ นั้น อนาคตของการตลาดในทางการเมืองคงจะถูกลดความสำคัญลงไป ทั้งนี้โดยมีผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอัน สัมผัสจับต้องได้ มีความเสมอภาคและยั่งยืน จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จมากกว่าการใช้การตลาด

คล้ายกับที่ คุณบรรหาร ศิลปอาชา สามารถทำให้ “สุพรรณบุรี” กลายเป็น “บรรหารบุรี” โดยที่ไม่ต้องใช้การตลาดหรือการประชาสัมพันธ์ใดๆ จนคนในจังหวัดอื่นอยากให้จังหวัดของตัวสวยอย่างที่บรรหารบุรีบ้างนั่นแหละครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น