xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังตรงไปตรงมา

เผยแพร่:   โดย: การุณ ใสงาม

หลังจากวันพฤหัสบดี 22 กุมภาพันธ์ 2550 รายการตรงไปตรงมานำน้องหมู น.ส.วาริน ไตรสนาคม มาออกรายการ พอหลังจากรายการจบ ผมต้องรับโทรศัพท์สอบถามเรื่องเกี่ยวกับน้องหมูและความสามารถพิเศษของน้องหมูที่ช่วยพิมพ์ต้นฉบับหนังสือตรงไปตรงมาไม่หวาดไม่ไหว

ยังมีอีเมลมาจากอเมริกาและจากพันธมิตรฯ หลายฉบับถามไถ่และให้กำลังใจกับน้องหมู บางคนสั่งซื้อหนังสือพร้อมกับขอลายเซ็นน้องหมูด้วย

บางท่านที่ไม่ได้ติดตามรายการในวันนั้น อาจจะสงสัยว่า น้องหมูที่ผมกล่าวถึงเป็นใคร

น้องหมูเป็นบุคคลที่พิการทางสายตา แต่เป็นคนที่มีอุตสาหะ ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาของตนเอง ช่วยเหลือตัวเองทั้งเรื่องการศึกษาและการทำงานโดยไม่คิดว่าความพิการจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

มีหลายท่านถามว่า ผมรู้จักน้องหมูได้อย่างไร

จุดเริ่มต้น มีแฟนรายการจำนวนมากที่ต้องการให้ผมนำเนื้อหาเรื่องราวที่ผมพูดในรายการตรงไปตรงมา ทางสถานีโทรทัศน์ ASTV 1 หรือ NEWS 1 มาจัดทำเป็นหนังสือ เพราะคิดว่าเรื่องที่ผมพูดนั้นเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงเวลาหนึ่ง หรือบางท่านเสนอว่า น่าจะทำเป็นจดหมายเหตุเลย

บางคนบอกว่า คุณการุณ ไหนๆ คุณก็เคยเป็นทั้ง ส.ส. และเป็น ส.ว. แถมยังเป็น พ.ม. (พันธมิตรฯ) อีกด้วย รู้ข้อมูลดีอยู่แล้ว น่าจะเรียบเรียงเรื่องราวเหล่านี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน คนรุ่นหลังให้ได้อ่านความจริงบ้าง เพราะไม่มีใครพูดได้ตรงเหมือนคุณ

เมื่อได้แรงยุ หรือแรงสนับสนุน ผมจึงเริ่มต้นหาทีมงานที่จะช่วย ต้องหาผู้ชำนาญการถอดเทปและพิมพ์ต้นฉบับออกมา

ผมเคยได้ยินว่า คนพิการทางสายตาสามารถถอดเทปและเรียงพิมพ์ได้ด้วย ผมจึงติดต่อไปที่มูลนิธิคนตาบอด ตอนแรกที่ติดต่อไปก็ไม่แน่ใจนักว่าคนพิการทางสายตาจะมาพิมพ์หนังสือได้อย่างไร ขนาดคนตาดียังพิมพ์ถูกพิมพ์ผิด

มูลนิธิแนะนำน้องหมูให้มาทำงานชิ้นนี้ เมื่อได้พูดคุยกับน้องหมูผมเองก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมอุปนิสัยใจคอของน้องหมู

น้องหมูเป็นเด็กน่ารัก รู้จักสัมมาคารวะเป็นคนที่มีจิตใจดีมาก เมื่อเพื่อนๆ เดือดร้อนน้องหมูจะเข้าไปช่วยเหลือ บางครั้งก็โทร.หาผมเพื่อปรึกษาเรื่องต่างๆ เช่น เพื่อนที่พิการทางสายตาไปทำงานกับบริษัทขายประกันรถแห่งหนึ่ง แล้วโดนหลอกลวงจ่ายเงินค่าคอมมิชชันให้ไม่ครบ น้องหมูก็เป็นธุระโทร.มาปรึกษาผม

น้องหมูพื้นเพคุณพ่อคุณแม่เป็นคนใต้ทั้งคู่ แต่น้องหมูมาเกิดที่กรุงเทพฯ เริ่มต้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนคนตาบอด และไปเรียนร่วมกับคนปกติที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่นั่นไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับน้องหมู

น้องหมูจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำงานเป็นโอปะเรเตอร์อยู่บริษัทแห่งหนึ่ง เวลาว่างน้องหมูก็ไม่หยุดอยู่บ้านเฉยๆ น้องหมูรับนวดตามบ้านและยังรับจ๊อบเป็นไกด์พาคนต่างประเทศไปเที่ยว น่าชื่นชมในความขยันนะครับ

เมื่อคุยกับน้องหมูและตกลงที่จะช่วยกันผลิตหนังสือตรงไปตรงมานี้แล้ว น้องหมูก็รีบถอดเทปแล้วทยอยส่งมาที่อีเมลผมเพื่อให้ผมทำการขัดเกลาภาษา และดูคำถูกคำผิด เท่าที่ผมตรวจดูแล้ว ปรากฏว่าแก้ไขน้อยมาก

น้องหมูพิมพ์งานโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และใช้โปรแกรมสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ คือโปรแกรมตาทิพย์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก เวลาพิมพ์ก็พิมพ์สลับหน้าจอระหว่างโปรแกรมวินแอมป์กับวินเวิร์ด สำหรับคนธรรมดาแล้วคงเป็นเรื่องปกติที่จะพิมพ์สลับหน้าต่างไปมา แต่นี่คนพิการนะครับแล้วยังต้องกด play กด pause อีก

สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมาก ไม่เพียงแต่น้องหมูคนเดียวที่ช่วยเหลือผม ยังมีน้องๆ คนพิการอีกหลายท่านที่ช่วยกันถอดเทปและส่งต้นฉบับจนมาเป็นหนังสือตรงไปตรงมาที่ท่านผู้อ่านหลายท่านคงได้เป็นเจ้าของจับจองไว้บ้าง

หนังสือหนาขนาด 430 หน้า ท่านลองนึกดูว่า ถ้าคนปกติพิมพ์ต้องใช้เวลานานขนาดไหนแล้วนี่คนพิการทางสายตาเป็นคนพิมพ์ด้วยแล้ว เวลาไม่นานกว่านั้นหรือ คงหลายเดือนเลยสิ

น้องหมูและทีมใช้เวลาในการทำต้นฉบับ หนังสือตรงไปตรงมา เฉพาะส่วนที่ถอดเทป 35 บท รวมเข้ากับภาคบทความอีก ใช้เวลาทั้งสิ้น 1 เดือนผมจึงส่งโรงพิมพ์

ทุกท่านครับ ที่ผมเล่าเรื่องน้องหมูไม่ใช่อยากจะเยินยอพวกกันเอง แต่อยากให้ทุกท่านได้มองในเรื่องการให้โอกาสแก่คนพิการในสังคมด้วยครับ

ไม่ว่าจะเป็นคนที่พิการทางร่างกาย พิการซ้ำซ้อนหรือพิการสมอง ให้เขาได้มีที่อยู่ในประเทศไทยบ้าง เราควรสนับสนุนคนพิการให้เขาทำงานได้อย่างเต็มความสามารถของเขา ไม่เช่นนั้นเขาจะกลายเป็นภาระแก่สังคม

น้องหมูยังเคยเล่าให้ฟังว่า เคยโดนคนตาดีอย่างเรานี่แหล่ะดูถูกดูหมิ่นอย่างไร ผมก็ได้แต่ปลอบใจน้องหมูไปว่า คนเราเป็นอย่างนี้แหล่ะ ต้องทำใจ ถ้ามีอะไรที่หนักหนาสาหัสหรืออยากให้ช่วยเหลือก็บอก ถ้าผมเองพอจะช่วยได้บ้างก็ยินดี

รายการตรงไปตรงมาหรือบทความที่ผ่านมา ผมก็ได้เขียนถึงบุคคลที่เป็นคนพิการ ในตอนอย่ามองข้าม เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 มาแล้วว่าคนพิการมีความสามารถและอุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่ประเทศได้อย่างไร

คนพิการได้พยายามที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ติดขัดด้วยว่าเขาไม่มีตัวแทนอยู่ใน ส.ส.ร. 100 คนเลย ได้แต่อาศัยโอกาสจัดเวทีข้างนอก ซึ่งผมเองก็เคยไปเป็นวิทยากรมาแล้วหนึ่งครั้ง ที่โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา

เราคงต้องร่วมกันผลักดันให้คนพิการมีสิทธิที่เขาควรจะได้รับ หรือดังที่อาจารย์ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ เคยกล่าวว่า ขอแค่ปฏิบัติต่อคนพิการเสมือนเป็นพลเมืองไทยคนหนึ่งก็เพียงพอแล้ว

คนเราเกิดมาใช้ชีวิตในโลกนี้ ถ้าเทียบกับอายุของจักรวาล เรามาอาศัยโลกนี้เพียงระยะเวลาสั้นๆ นิดเดียว แล้วเราจะเอาอะไรกันหนักหนา ลาภ ยศ สรรเสริญ ทรัพย์สินศฤงคารปล่อยวางเสียบ้าง โลกนี้คงจะสดชื่นน่าอยู่มากกว่านี้ไม่น้อยเลย

อยู่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีเมตตาอารี ความรักความเข้าใจที่ดีต่อกัน เราจะปฏิเสธหลีกหนีความจริงได้อย่างไร ในเมื่อโลกนี้ยังคงต้องมีผู้พิการในหลายๆ ด้านอยู่

เราควรจะมาทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ร่วมกัน แล้วอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข จะไม่ดีกว่าหรือ

กำลังโหลดความคิดเห็น