xs
xsm
sm
md
lg

ใช้ชีวิตแบบพอเพียง : ส่วนหนึ่งแห่งความเป็นไทย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ท่านที่ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับคำคม สุภาษิต หรือแม้กระทั่งนิทานโบราณของไทย ก็คงจะได้พบข้อคิดในการดำเนินชีวิตแบบไทยโบราณ เช่น นกน้อยทำรังแต่พอตัว และเห็นช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่บ่งบอกถึงแนวทางการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม โดยการนำสิ่งที่ปรากฏในธรรมชาติรอบๆ ตัวเรามาเป็นข้ออุปมาเปรียบเทียบให้เข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องยุ่งยากด้วยการใช้ภาษาทางวิชาการมาอธิบายเฉกเช่นนักวิชาการสมัยใหม่

โดยนัยแห่งข้ออุปมาทั้ง 2 ข้อจะเห็นได้ว่าผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในชนบทจะเข้าใจได้ทันที โดยอาศัยความลงตัวระหว่างความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

เริ่มด้วยข้อที่ว่า นกน้อยทำรังแต่พอตัว จะเข้าใจได้ทันทีที่เห็นนกขนาดเล็ก เช่น นกกระจิบ และนกกระจาบโพรง เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในท้องทุ่ง หรือแม้กระทั่งตามพุ่มไม้บริเวณบ้าน นกทั้ง 2 ชนิดนี้ทำรังขนาดเล็ก แต่ประณีตแข็งแรงคุ้มแดดคุ้มฝนได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ตัวเองและลูกนกรอดพ้นจากภัยธรรมชาติได้

ดังนั้น การนำข้อที่คิดเช่นนี้มาสอนก็เพื่อให้ลูกหลานได้ตระหนักว่าจะทำอะไรก็ทำให้พอเหมาะพอดี และพอเพียงแก่ความต้องการของตนเอง หรืออีกนัยหนึ่งให้ใช้ความพอเพียงแก่ตนเองเป็นตัวกำหนดในการกระทำ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ทำอะไรเกินตัว และก่อความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ตนเองโดยไม่จำเป็น

ข้อคิดประการที่สองที่ว่า เห็นช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง เป็นการสอนให้คิดว่า ถ้าเห็นใครเขาทำอะไรใหญ่โต โอ่อ่าก็อย่าได้คิดเลียนแบบหรือเอาอย่างในทันที แต่ให้คำนึงถึงความพร้อมของตัวเองว่ามีความเท่าเทียมกับเขาหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ทำอะไรเกินตัว และก่อความเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น

นอกจากผู้คนในสังคมไทยจะมีข้อคิดอันเป็นคติสอนใจในเรื่องของความพอเพียงเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตแล้ว คนไทยที่เป็นพุทธมามกะยังโชคดีที่มีคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงไว้ในเรื่องสันโดษ ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความในการถือปฏิบัติอยู่ 2 ประการ คือ

1. ให้ยินดีในสิ่งที่เป็นของตน

2. ให้ยินดีในสิ่งที่ตนเองหามาได้ด้วยความชอบธรรม

แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งข้อคิดและคำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่องสันโดษ อันถือได้ว่าเป็นแนวทางที่ทำให้คนไทยในอดีตดำเนินชีวิตอย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดมานั้น ได้ถูกคนรุ่นใหม่บางคนบางพวกที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ หรือแสร้งไม่รู้ไม่เข้าใจได้ออกมาแสดงความคัดค้านว่าทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศในยุคที่ระบบทุนนิยมกำลังเฟื่องฟู

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้คนในสังคมไทยในรุ่นต่อมาไม่สนใจ และไม่ใส่ใจแนวทางพอเพียงเท่าที่ควรจะเป็น จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้พระราชทานแนวทางการดำเนินชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง และได้พระราชทานการทำเกษตรตามทฤษฎีใหม่ อันเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียง และทำให้เกษตรกรที่ดำเนินการตามแนวทางนี้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เป็นที่ยอมรับของสังคมโลกในปัจจุบัน

แต่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงก็ยังมีอุปสรรคในการนำไปปฏิบัติ เมื่อนโยบายในภาครัฐมุ่งเน้นการนำพาประเทศไปในกรอบแห่งระบบทุนนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่รัฐบาลมีความเข้มแข็งทางการเมือง และผู้นำมีความเป็นเผด็จการทางความคิดในช่วง พ.ศ. 2544-2548 อันเป็นช่วงที่พูดได้ว่าทุนนิยมแบบสุดขั้ว ทุกอย่างวัดผลความสำเร็จด้วยตัวเลข และเป็นความก้าวหน้าทางวัตถุแบบสุดโต่ง ถึงกับทำให้ความสำนึกในเรื่องคุณธรรม และจริยธรรมหลงเหลือในจิตใจของนักการเมือง และข้าราชการประจำที่รับใช้อำนาจรัฐในยุคนี้น้อยเต็มที ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่มีการออกนโยบายเกื้อหนุนให้มีการก่อหนี้ในภาคเกษตรกรรม โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพในการใช้คืน และไม่คิดแก้ไขป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่มีอยู่อย่างดาษดื่นในหลายส่วนของภาครัฐในยุคที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ในที่สุด รัฐบาลที่เทิดทูนระบบทุนนิยมก็มีอันต้องจบลงเมื่อคณะปฏิรูปฯ ได้ยึดอำนาจ แต่งตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ในทันทีที่รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้าบริหารประเทศ ได้แถลงนโยบายทางด้านเศรษฐกิจว่าจะดำเนินการโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

บัดนี้ล่วงมาแล้วเกือบครึ่งปี อันถือได้ว่าครึ่งหนึ่งของอายุรัฐบาลชุดนี้ที่กำหนดไว้ 1 ปี แต่ยังไม่มีอะไรให้เห็นได้อย่างเด่นชัดว่าได้ดำเนินการอันใดที่เรียกได้ว่าเป็นแนวเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม จึงยังพูดไม่ได้ว่าการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาลชุดนี้ได้ผลหรือไม่มากน้อยเพียงใด ในทางตรงกันข้าม กระทรวงการคลังภายใต้การบริหารจัดการของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้หยิบยก พ.ร.บ.หวยบนดินขึ้นมาแก้ไขเพื่อหวังให้การขายหวย 2-3 ตัวที่เกิดขึ้นอย่างผิดกฎหมายในรัฐบาลชุดก่อนกลับมาขายใหม่อย่างถูกกฎหมาย แต่โชคดีที่ สนช.คัดค้าน และมีอันต้องถอนร่าง พ.ร.บ.ออกไป มิฉะนั้นแล้วสังคมไทยคงจะได้เห็นรัฐบาลที่ใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินการมอมเมาประชาชน อันถือได้ว่าสวนทางกับความพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นการส่งเสริมให้ยินดีในสิ่งที่มิใช่ของตน และถ้าได้มาก็เป็นการได้ที่ไม่ชอบธรรมด้วย จึงเกิดกระแสกังขาเกี่ยวกับพูดอย่างทำอย่างของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเกิดขึ้น

ในเวลาเดียวกันนี้ อดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินสายให้สัมภาษณ์โจมตีการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันว่าไม่ดี สู้รัฐบาลของตนเองไม่ได้ นั่นก็เท่ากับบอกว่าระบบเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาลนี้ใช้อยู่สู้ระบบทุนนิยมไม่ได้ และนี่เองที่นำไปสู่เหตุการณ์สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้นำรัฐบาลปัจจุบันคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เหตุการณ์ที่ว่านี้ก็คือ การแต่งตั้ง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตผู้กุมชะตากรรมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดทักษิณ ในตำแหน่งประธานกรรมการประสานงาน และกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อความสมานฉันท์ โดยมุ่งหวังให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งทำความเข้าใจกับต่างประเทศในเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง

แต่ในทันทีที่ข่าวนี้แพร่ออกไป ได้มีกระแสคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ ในเชิงลบจากกลุ่มที่คัดค้านอดีตนายกฯ ทักษิณ และมีการตั้งเงื่อนไขให้ ดร.สมคิดแสดงจุดยืนชัดเจนใน 2 เรื่องคือ ให้พูดถึงระบบเศรษฐกิจภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าไม่ดีอย่างไร และในแง่เกี่ยวกับให้พูดถึงเศรษฐกิจแบบพอเพียงว่าแตกต่างจากระบบทักษิโณมิกส์อย่างไร

แต่ในที่สุด ดร.สมคิดก็ไม่ได้แสดงจุดยืนทั้ง 2 ประเด็นที่ชัดเจน และได้ยื่นใบลาออกไปเรียบร้อยแล้วพร้อมกับทิ้งปมแห่งความกังขาว่าทำไม ดร.สมคิดจึงไม่ยอมแสดงจุดยืน และทำไมจึงขอลาออก ทั้งๆ ที่ภารกิจที่ได้รับมอบหมายยังไม่ลุล่วงไป

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้คนไทยได้รับบทเรียนอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ

1. การให้ใครสักคนพูดถึงความผิดพลาดบกพร่องของตัวเอง และกล่าวคำขอโทษเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในสังคมไทย

2. เพียงคำพูดหรือการรับคำว่าใครจะทำอะไรและอย่างไร ไม่มีน้ำหนักพอให้เชื่อ และทำในสิ่งที่เสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์ในเชิงลบที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่เชื่อและทำตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น