xs
xsm
sm
md
lg

สัมภาษณ์พิเศษ....“สุรยุทธ์” : ต้นทุนยังมีเต็มกระเป๋า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สัมภาษณ์พิเศษ

นายกรัฐมนตรีเผยแนวทางการทำงานของรัฐบาลในช่วงเวลาที่เหลืออยู่เน้นลงมากำกับดูแลเอง ทำงานร่วมภาคเอกชน ตั้งเป้าผลักดันกฎหมายสำคัญ 2-3 ร่างที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำได้ ยอมรับโจทย์ใหญ่สนามบินสุวรรณภูมิคือเรื่องความปลอดภัย และ จะซ่อมอย่างไร ขีดเส้นคมนาคมศึกษาปัญหาทั้งหมดเสนอภายใน 6 เดือน ประเมินเศรษฐกิจไทยไม่วูบวาบเสียศูนย์เมื่อเทียบกับความวุ่นวายทางการเมือง เผยยังไม่มีอะไรเสียหายแม้ต่างชาติโจมตีหนักมาตรการป้องเงินบาท-พ.ร.บ.ต่างด้าวที่ผิดพลาดไปสกัดกั้นนักลงทุนของม.ร.ว.ปรีดิยาธร แย้มบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างน้อย 2 แห่งจะหอบเงินหลายพันล้านดอลลาร์มาลงทุนแน่ ขณะที่คาดกันยายนประชาชนน่าจะได้เข้าคูหาเลือกตั้ง

เมื่อวันศุกร์(16ก.พ.)ที่ผ่านมา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เปิดโอกาสให้กองบรรณาธิการ น.ส.พ.ผู้จัดการรายวันสัมภาษณ์พิเศษ โดยนอกจากเบื้องหลังการแต่งตั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์เป็นประธานกรรมการประสานงานและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ผู้จัดการรายวันได้นำเสนอไปแล้วในฉบับวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 17-18 ก.พ.2550 นายกฯยังตอบข้อซักถามในประเด็นการบริหารประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในหลายเรื่อง “ผู้จัดการรายวัน”ขอนำมาเสนอดังนี้

กรณีที่ห้วงเวลาระยะหลังดูเหมือนนายกฯจะโดดลงมาดูแลหลายปัญหาด้วยตัวเอง ล่าสุดปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง มีอีกหลายปัญหาหรือไม่ที่นายกฯจะลงมาบัญชาการเอง
นายกรัฐมนตรี- ยังมีอีกเยอะ ปัญหาที่ผมจะต้องลงมาดูแลเองในด้านที่อาจจะกล่าวว่าเป็นการเร่งรัดเรื่องของโครงสร้าง การจัดการสินค้าและบริการหรือ ลอจิสติกส์ ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคม เพราะเป็นเรื่องการที่จะต้องวางแนวทางและดำเนินการ อาจจะต้องร่วมมือกับฝ่ายเอกชน เรามีการประชุมร่วมกับภาครัฐและเอกชน ซึ่งทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดประชุมไปแล้วพบว่ามีเรื่องเร่งด่วน ซึ่งทางภาคเอกชนบอกว่า หากนายกฯไม่ลงมาทำแรงผลักดันไม่พอ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับปัญหาเขตพัฒนาพิเศษในพื้นที่ภาคใต้

เวลาที่เหลือมีการกำหนดประเด็นของเรื่องที่จะทำอย่างไร
- ผมได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยขอให้จัดลำดับความเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายสำคัญๆที่จะเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะนี้มีหลายเรื่อง ซึ่งอาจจะมองดูว่ามันไม่บูรณาการกันระหว่างกระทรวง เราจะต้องนำมาบูรณาการและดำเนินการต่อไป
จะมีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวกับปัจจัยทางการเมือง ปัจจัยนายทุนพรรค จะมีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่
-ในเรื่องเกี่ยวกับพรรคการเมือง เราคงยังไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะจะต้องดูกฎหมายหลักที่กำลังร่างกันก่อน

หมายถึงการริเริ่มให้เกิดกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาหรือก่อให้เกิดการพัฒนา ซึ่งในรัฐบาลปกติจะออกยาก
-ก็ทำอยู่แล้วในเรื่องของการปรับโครงสร้างของตำรวจ เพราะรัฐบาลปกติคงจะไปแก้ลำบาก

จะมีอีกไหมในลักษณะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
-มีอีกหลายเรื่อง ซึ่งผมคงจะต้องปรึกษากับคณะที่ปรึกษาด้านกฎหมาย มันมีกฎหมายสำคัญๆ ซึ่งเราคงจะมาดูและเลือกเอาที่สำคัญสัก 2-3 ร่างมาดำเนินการ

เรื่องหวย 2-3 ตัวเกี่ยวด้วยหรือไม่
-เรื่องนี้คุณชาย ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ดูแล ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ แต่มันมีเรื่องที่จะต้องดำเนินการให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น เช่น ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักนายกรัฐมนตรี ตรงนี้ควรจะเป็นกฎหมายไหม เพราะบางครั้งการยกเลิกไม่ใช่ระเบียบ แต่เป็นมติ ครม. มันควรจะเป็นกฎหมายไหม เพื่อให้มันแก้ยากขึ้น จะได้อยู่เหนือมาตรฐานอันหนึ่งอันใด

ปัญหาสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองโจทย์ของคณะกรรมการที่จะต้องตอบให้ได้ในเร็วพลันคืออะไร
-จะซ่อมอย่างไร ซ่อมแค่ไหน เพราะมันเป็นเรื่องที่เร็ว ที่ผมพูดไปเรื่องแรกคือ ความปลอดภัยของประชาชนที่มาใช้บริการ เรื่องสองการซ่อมจะมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เราจำเป็นจะต้องนำจำนวนเที่ยวบินจากสุวรรณภูมิแบ่งเบามาที่ดอนเมืองมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ซึ่งวันคำตอบแล้วว่าประมาณ 20%ก็น่าจะพอ จึงได้ข้อยุติว่าดอนเมืองเป็นสนามบิน ซึ่งจะย้ายสายการบินในประเทศซึ่งไม่ต้องเชื่อมต่อกับสายการบินต่างประเทศมาในช่วงเวลานี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระจำนวนเที่ยวบินที่ลงสนามบินสุวรรณภูมิจะได้ทำการซ่อมได้และสนามบินทั้งสองสนามจะเป็นสนามบินนานาชาติ มันเป็นสองส่วนที่จะต้องทำร่วมกัน

การใช้สนามบินดอนเมืองได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมศึกษาข้อมูลให้ละเอียดและเสนอมาโดยใช้เวลาในการศึกษาต่างๆในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนเร็วกว่านั้นได้ก็ดี ที่เราอยากเห็นการศึกษาที่ชัดเจน เพื่อสอดคล้องกับระบบขนส่งมวลชนทางรางที่จะเกิดขึ้นภายในอีกระยะ 3 ปีข้างหน้า จะมีเชื่อมต่อระหว่างดอนเมืองกับสุวรรณภูมิ โดยทั้งสองสนามบินจะมีความเชื่อมโยงกันในด้านของการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารกลุ่มใหญ่ๆได้ และสิ่งที่เราจะดูต่อไปคือการลงทุนที่จะขยายสนามบินสุวรรณภูมิต่อไป ดอนเมืองปรับปรุงใช้ให้เติมขีดความสามารถ การท่าจะได้มีเวลาใช้หนี้กับสิ่งที่เขากู้มาทำสานามบินสุวรรณภูมิ เป็นการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าก่อนที่จะลงทุนใหม

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยข้อมูลต่างชาติมีประเด็นเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการสกัดค่าเงินบาท ยืนยันจะทำต่อหรือ ไม่และมีการประเมินผลงานการดูแลนโยบายเศรษฐกิจในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมาอย่างไรเพราะดูเหมือนยังไม่ไปไหน กลับมีแนวโน้มแย่ลง
-ในเรื่องของการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทเห็นด้วยที่จะต้องทำ แต่จะมีวิธีปรับอย่างไร เป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท)ที่จะรักษาเสถียรภาพตรงนี้ รัฐบาลมองดูว่าเราจำเป็นจะต้องมีเสถียรภาพ ในทางเศรษฐกิจก็เหมือนกันเราคาดการแล้ว แม้บางสำนักจะบอกว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจน้อยลง แต่ก็ไม่ได้ถึงกับวูบวาบอะไรมากมาย มันก็ลดลงมานิดหน่อย ซึ่งถ้ามองในฐานะที่เรามองภาพทางการเมืองทางเศรษฐกิจของเราหากเรารักษาในระดับ 4 กว่าๆไว้ได้ ผมคิดว่าเทียบกับความวุ่นวายทางการเมืองที่เรามีอยู่ถือว่าเราเก่งแล้ว

ตอนนี้เราไม่ได้มีอะไรเสียหาย เรื่องการลงทุนก็ไม่ได้มีใครถอนออกไป สิ่งที่เรากำลังดูคือเรื่องของบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนแนวโน้มที่เขามองประเทศเรายังน่าจะเข้ามาดำเนินการ เขามาพบและบอกกับผมว่ามีอีก 2 แห่งคือในยุโรปตะวันออกและอเมริกาใต้ที่เขาจะขยายการลงทุน ซึ่งก็เป็นเงินพันๆล้านยูเอสดอลล่าร์

บรรยากาศการการลงทุนในลักษณะการเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นยังไม่กระเตื้อง
-ตลาดหุ้นตอนนี้ยังไม่ถือว่าเสียหาย

ต่างชาติมองว่ารัฐบาลไม่สนใจเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในตลาดทุน
-เราจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพ ในส่วนของเม็ดเงินในตลาดหุ้นมันเป็นการลงทุนในระยะสั้นเราต้องการลงทุนในระยะยาวมากกว่า

นโยบายเศรษฐกิจพอเพียงที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม
-เราทำในเรื่องของการที่จะสร้างเศรษฐกิจยั่งยืน โดยทำใน 2 ระดับจากบนลงล่างมีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลจากบนลงล่าง ส่วนจากล่างขึ้นสู่บนมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแล เราเพิ่งประชุเรื่องบนลงล่างโดยได้รับงบประมาณสนับสนุน 5 พันล้านบาท จากล่างสู่บน 3 พันล้านบาท ผมอยากให้บรรดาผู้เกี่ยวข้องได้มีโอกาสคุยกับนายไพบูลย์บ้าง ผมพบกับผู้นำชุมชน ลงไปทุ่งกุลาร้องไห้ ทุกๆส่วนมีความเข้าใจในเรื่องนี้ เขาเข้าใจดีกว่าคนกรุงเทพฯเรื่องการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
 
นโยบายจากบนลงล่างทำอย่างไร
-เราจะทำในลักษณะที่เป็นการทำงานร่วมกันของทุกกระทรวงที่จะลงไปสู่ระดับอำเภอเป็นการบูรณาการจากทุกกระทรวงโดยเฉพาะกระทรวงหลักๆในเรื่องที่เกี่ยวกับสังคม เรื่องอยู่ดีมีสุขส่วนใหญ่กระทรวงมหาดไทยจะเป็นตัวสำคัญ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข การทรวงศึกษาธิการ ที่พูดนี้เป็นภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว เป็นเรื่องการยกระดับการศึกษาด้วย เราไม่ได้มองจีดีดีมากนัก แต่เรามองภาพรวมของประชาชนอยู่ในฐานะที่อยู่ดีมีสุขมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่

ทำไมรัฐบาลไม่พลิกวิกฤติกองทุนหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง หนี้สินกองทุนเป็นหนี้ศูนย์อย่างไรในเวลานี้
-ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเพิ่งสรุปว่าเสียหายพอสมควร แต่ผมไม่อยากจะพูดตรงนี้อาจจะถูกมองว่าไปทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกอะไรต่างๆมันต้องมองดูด้วยว่าถ้าเราจะไปทำอะไรในส่วนข้างล่างนั้นจะทำกันอย่างไร เราจะมีการจัดใหม่ข้างล่าง จัดเป็นระบบที่เรียกว่ามีลักษณะของการดูแลกันในทางสังคมมากขึ้นแทนที่จะดูแลกันเรื่องเศรษฐกิจ โดยดูแลเรื่องสวัสดิการสังคมมากขึ้นแทนเน้นเรื่องกองทุนลักษณะทางเศรษฐกิจ เราให้ผู้นำชุมชนได้นำเงินที่เราดำเนินการไปใช้ลักษณะสวัสดิการไม่ให้ใช้ลักษณะที่ไม่มีผลกลับมา
มีการรณรงค์สื่อสารสร้างค่านิยมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร
-ต้องบอกสื่อว่าเป็นปรัชญา การใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการใช้ผิด ปรัชญาคือแนวคิดในการบริหารจัดการ สิ่งที่ผมอยากเรียนคือขอให้นำไปปฏิบัติมีความพอเพียง มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน ไม่ประมาท ซื่อสัตย์ ทั้งหมดอยู่ในคำสอนของศาสนาทั้งพุทธ-อิสลาม

ในภาพรวมคิดว่าจะมีการเลือกตั้งช่วงไหน
-ยังไม่ทราบ ต้องถามคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมตั้งตัวเลขไม่ได้ เพียงแต่มองตัวเลขคราวๆและคุยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะนี้รัฐบาลเตรียมงบประมาณสำหับการที่จะทำประชามติภายในปีงบประมาณนี้ซึ่งคือสิ้นเดือนกันยายน หากจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนกันยายนนี้ก็ขอให้มาพูดจากันเพื่อที่จะจัดงบประมาณไว้มันก็ตกประมาณ 2 พันกว่าล้าน ซึ่งเราจะต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า แต่ถ้าหากการเลือกตั้งจะหลักกันยายนเราจะได้ตั้งงบประมาณสำหรับปี 2551 เผื่อไว้ล่วงหน้า แค่นั้นคงไม่มีอะไรมาก หากดูตามกรอบเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญมันจะลงอย่างนั้นคือก่อนสิ้นปีงบประมาณน่าจะมีการลงประชามติกันได้

ทัศนคติของนายกฯในเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คิดว่าที่มาของ ส.ส.และ ส.ว.ควรเป็นอย่างไร มีจำนวนเท่าใด
-ผมไม่อยากพูดอีกแล้ว ครั้งที่แล้วผมบอกว่ารับมาจากนักการเมืองก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ฉะนั้นอยู่ในฐานะตรงนี้ไปพูดอะไรลำบาก ตอนนี้มีคณะกรรมาธิการที่ร่างแล้วก็เป็นห้าที่ของท่านที่จะดำเนินการไป มีพรรคการเมืองหลายพรรคได้ให้ข้อคิดเห็นไปแล้ว ผมคิดว่าความคิดเห็นผมไม่ได้มีน้ำหักอะไร

นายกฯเป็นคนที่มีต้นทุนสูง 4 เดือนที่มาบริหารประเทศท่านใช้ต้นทุนไปเยอะหรือไม่
-ผมคิดว่าผมไม่ได้มีต้นทุนอะไรเลย ผมมีต้นทุนอยู่อย่างเดียวคือความซื่อสัตย์ซื่อตรงซึ่งผมคิดว่าผมยังมีเต็มประเป๋า ผมไม่ได้ใช้อะไรไปและยังไม่มีข้อเสียหายในเรื่องของความซื่อสัตย์ซื่อตรง

เวลานี้มีบางฝ่ายจ้องหาประเด็นเล่นงานท่าน
-มายืนตรงนี้คนก็พูดกันว่าอยู่บนที่สูงลมย่อมพัดแรงเป็นธรรมดา ซึ่งผมก็ไม่มีอะไรเพียงแต่ทำหน้าที่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านตรงนี้ให้สำเร็จลุล่วงไป ผมไม่ได้มีผลประโยชน์และไม่ได้คิดที่จะแสวงประโยชน์จากการเข้ามาทำห้าที่ตรงนี้ ผมทำงานให้ลุล่วงไปโดยที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และผมส่งไม้ให้เขาก็ถือว่าผมจนภาระหน้าที่ของผม

เวลาที่เหลืออยู่ไม่มากรู้สึกอย่างไร
-รู้สึกจะต้องพยายาม ต้องรักษาเสถียรภาพ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ส่วนที่ผมทำไปในการแก้ไขปัญหาภาคใต้คือว่าจะส่งผลในระยะยาวข้างหน้าว่าจะมีโอกาสสมานฉันท์พูดจากันได้ ผมเชื่อเช่นนั้น

มีสัญญาณอะไรที่ทำให้เชื่อเช่นนั้น
-เป็นความร่วมมือระห่างประเทศด้วยกัน พูดกันแล้วว่าถ้าเราไม่แก้สถานการณ์ทางภาคใต้ซึ่งเป็นจุดร่วมระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงอาเซียน ความพยายามตรงนี้เป็นความพยายามที่ตรงกันร่วมกันตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นแรงผลักดันในการแก้ไขปัญหา

ความรุนแรงรายวันยังมีมาก
-เป็นธรรมดา ฝ่ายที่เขาพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็พยายาม ต่อต้านนโยบายนี้ เขาพยายามทำให้เห็นว่าสิ่งที่ผมทำมันไม่ได้ผล แต่ถ้าเราไปดูพื้นที่การทำงานของเขานั้นเริ่มแคบลง ความร่วมมือของพี่น้องประชาชนที่ให้กับทางภาครัฐเริ่มมากขึ้น

เงินทุนสนับสนุนที่ผ่านมาทางมูลนิธิต่างๆในพื้นที่ภาคใต้เราได้เข้าไปตรวจสอบ หรือไม่
-เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเขาก็บ่นกับผมมาว่ามีการกระทำในลักษณะที่สร้างให้เกิดความเดือดร้อนทั้งไทยพุทธ-ไทยมุสลิม โดยการข่มขู่เรียกเงิน ผมคิดว่านี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ชาวบ้านเขามาบอกผมว่าทนไม่ไหวจะต้องรวมตัวกัน มันไม่ใช่เงินทุนจากที่อื่น แต่เรียกเก็บจากแถวๆนั้น ชาวบ้านทนไม่ไหว

ความสำเร็จอยู่ที่การเจรจาหรือตรงไหน
-อยู่ที่การสร้างความเข้าใจและให้ประชาชนส่วนใหญ่หันมาให้ความร่วมมือกับเรา คนส่วนน้อยก็อยู่ไม่ได้ ผมอยากให้สื่อได้ลองไปทำวานในพื้นที่กันอย่างจริงจัง สิ่งที่ผมเห็นคือเราไม่ได้มองภาพสองด้านคือมองด้านเดียวคือด้านความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ได้มองงานที่เราทำให้เกิดความเข้าใจ ความร่วมมือว่ามันเกิดมากน้อยเพียงใด

เรื่องนี้มีประเทศที่สามที่ไม่ใช่มาเลเซียเข้ามาแทรกแซงหรือไม่
-คิดว่าในระดับประเทศไม่มี ถ้าใช้คำว่าประเทศไม่มี แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องคอยติดตาม แม่กระทั่งคนๆเดียวก็มีปัญหา

รู้สึกอย่างไรกับใบปลิวโจมตีท่าน ที่ไปประกาศปูผ้ากราบ แต่เขาอยากให้มีการเผด็จศึกกันเร็วๆ ซึ่งมันผิดพลาดแน่นอน
-ไม่ได้รู้สึกอะไรคิดว่าผมยืนอยู่ในจุดที่น่าจะได้รับความร่วมมือจากหลายภาคหลายส่วนรวมทั้งมิตรประเทศด้วย ความร่วมมือตรงนี้มันสำคัญกว่า ต่อไปในระยะยาวมันมีโอกาสที่จะทำอะไรกันอีกเยอะ
กำลังโหลดความคิดเห็น