ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ ขอนแก่น โอ่ผลงาน ช่วยเหลือรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจมากที่สุดของประเทศ เผยผลผ่าตัดหัวใจปี 2549 สูงสุดเป็นอันดับ 1 กว่า 1,293 ราย เหตุเป็นสถานบริการเฉพาะทาง ทั้งปริมาณผู้ป่วยในภาคอีสานเพิ่มขึ้น พร้อมพัฒนาศักยภาพการรักษาให้เต็มศักยภาพ ชี้ไม่เกิน 3 ปี เปิดให้บริการรักษาครบ 200 เตียงคนไข้ เล็งขยายการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วภาคอีสานและจากประเทศเพื่อนบ้าน
รองศาสตราจารย์สมภพ พระธานี ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ปี 2549 ที่ผ่านมา ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ สามารถให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและทรวงอก มากที่สุดของประเทศ เมื่อเทียบกับสถานพยาบาลของรัฐบาลที่ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งหมด
ทั้งนี้จากสถิติปี 2549 ที่รวบรวมโดย สมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย รายงานสถิติการผ่าตัดหัวใจพบว่า มีการผ่าตัดโรคหัวใจทั้งสิ้น 11,289 ราย เป็นการผ่าตัดโดยสถานพยาบาลของรัฐ 9,542 ราย โดยศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ ผ่าตัดหัวใจได้สูงที่สุดคิดเป็นจำนวน 1,293 ราย แยกเป็นผ่าตัดชนิดเปิด 1,133 ราย รองลงมาคือโรงพยาบาลศิริราช ผ่าตัดหัวใจ 1,224 ราย ผ่าตัดชนิดเปิด 1,077 ราย สถาบันโรคทรวงอก 944 ราย เป็นชนิดเปิด 936 ราย
ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ เปิดดำเนินงานครั้งแรกเมื่อปี 2547 ซึ่งยังไม่พร้อมในการให้บริการหลายด้าน ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ สามารถผ่าตัดหัวใจได้ 691 ราย คิดเป็นลำดับที่ 7 ส่วนการดำเนินงานในปี 2548 ทำการผ่าตัดหัวใจจำนวน 1,226 ราย คิดเป็นลำดับที่ 2 รองจากโรงพยาบาลศิริราช ที่ผ่าตัดหัวใจ 1,340 ราย และล่าสุดปี 2549 ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯผ่าตัดหัวใจได้มากที่สุดของประเทศ
รศ.สมภพ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจ และผ่าตัดหัวใจได้มากที่สุดของประเทศ เนื่องจาก เป็นสถานพยาบาลที่ให้บริการรักษาโรคหัวใจและทรวงอกเป็นการเฉพาะ อีกทั้งผู้ป่วยโรคหัวใจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรทางแพทย์ และมาตรฐานการรักษา เมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจจะเดินทางมารักษาที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ มากขึ้น
ปัจจุบันศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ ยังไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้เต็มศักยภาพ เปิดให้บริการรักษาเพียง 70 เตียง จากทั้งหมดที่มี 200 เตียง โดยศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ จะพัฒนาศักยภาพการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจให้สูงขึ้นจนครบทั้ง 200 เตียงภายในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้านี้ พร้อมกับขยายขอบเขตพื้นที่ให้บริการไม่จำกัดเพียงแค่ประชาชนในภาคอีสานเท่านั้น แต่จะให้บริการรักษาแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจจากประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม อีกด้วย
"บทบาทการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่ผ่านมา ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ ได้สร้างเครือข่ายการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจกับโรงพยาบาลของรัฐ 4 แห่งประกอบด้วย ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นเครือข่ายที่ให้บริการรักษาและให้ความร่วมมือพัฒนาศักยภาพการรักษาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับริเริ่มโครงการผ่าตัวหัวใจเฉลิมพระเกียรติ 8,000 ดวง"ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์กล่าวและว่า
ถือเป็นต้นแบบที่ดีของการช่วยเหลือรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจได้ประสบผลสำเร็จ โดยรูปแบบความร่วมมือที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯริเริ่มขึ้น ได้ถูกนำไปขยายผลสร้างเครือข่าย การรักษาผู้ป่วยโรคในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ และล่าสุดกำลังจะดำเนินการในพื้นที่ภาคกลางภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 นี้
ทั้งนี้โรคหัวใจ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของไทยมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิต แนวโน้มผู้ป่วยโรคหัวใจของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทั้งประเทศ มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นฐานความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น การบริโภคอาหารมีไขมันสะสมในหลอดเลือดมาก ขณะที่โรคลิ้นหัวใจกลับมีแนวโน้มลดต่ำลง