xs
xsm
sm
md
lg

เต้นกินรำกิน

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

คงรู้กันนะครับ ว่าเดี๋ยวนี้คนไทยเรามีค่านิยมที่เปลี่ยนไปจากเดิมมากมาย ที่เด่นเรื่องหนึ่งซึ่งถกเถียงกันมาหลายปีแล้วก็คือ ค่านิยมเรื่อง “โกงแต่มีผลงาน”

แต่จากการสังเกตของผม พบว่า นอกจากค่านิยมในเรื่องที่ว่าแล้ว เรื่อง “เต้นกินรำกิน” ก็เป็นอีกค่านิยมหนึ่งที่คนไทยหันมายอมรับกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นหรือคนหนุ่มสาว

ค่านิยมเรื่องเต้นกินรำกินนี้มีความซับซ้อนมากกว่าค่านิยมโกงแต่มีผลงาน เพราะลงว่าได้โกงกันแล้วก็ไม่ต้องอธิบายในเชิงจริยธรรมให้มากมายยาวเหยียด แต่กับเรื่องเต้นกินรำกินนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

เบื้องต้นสุดก็คือ คนที่มีอาชีพเต้นกินรำกินนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าไม่ใช่คนเลวแบบคนโกง แถมอาชีพที่ทำยังถือเป็นอาชีพที่สุจริตอีกด้วย ฉะนั้น การที่อาชีพเต้นกินรำกินถูกปฏิเสธในแง่ค่านิยมจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจอยู่ไม่น้อย

กล่าวคือว่า เราต้องแยกให้ได้ก่อนว่า ที่ว่า “เต้นกินรำกิน” นั้นกินความกว้างขนาดไหน เพราะถ้าแยกไม่ได้เราจะตอบคำถามหลายๆ คำถามไม่ได้

เช่นตอบไม่ได้ว่า ทำไมคนที่เล่นดนตรีไทยหรือคลาสสิกจึงได้รับการเคารพยกย่อง ในขณะที่ดนตรีที่เรียกว่าป๊อป-ร็อกของบางวงหรือบางคนกลับถูกวิจารณ์อย่างสาดเสียเทเสีย ทั้งๆ ที่คนที่ร้องที่เล่นต่างก็หล่อก็สวยกันทั้งนั้น

หรือตอบไม่ได้ว่า ทำไมบางคนถึงได้รับการยอมรับในฝีมือการแสดง แต่อีกบางคนกลับไม่ จนทำให้วงการบันเทิงต้องแยกเรียกคนกลุ่มแรกว่า “นักแสดง” และเรียกคนกลุ่มหลังว่า “ดารา” เพื่อสื่อให้เห็นถึงการยอมรับ (หรืออีกนัยหนึ่งคือการเหยียดหยาม)

หรือตอบไม่ได้ว่า ทำไมนางแบบบางคนถ่ายภาพนู้ดแล้วได้รับการยอมรับจากผู้ที่เป็นเกจิ แต่กับบางคนกลับถูกเกจิวิจารณ์อย่างสาดเสียเทเสีย ทั้งๆ ที่นางแบบทั้งสองคนนั้นต่างก็สวยไม่แพ้กัน เป็นต้น

อันที่จริงแล้วอาชีพเต้นกินรำกินแต่เดิมนั้น สังคมไทยหมายที่จะอธิบายเอาเฉพาะกับลิเกเท่านั้น หาได้กว้างขวางอย่างที่ผมยกเป็นตัวอย่างผ่านคำถามไม่ แต่ผมเชื่อว่า หลายสิบปีมานี้คนไทยคงเข้าใจอาชีพนี้ไม่ต่างจากผมสักกี่มากน้อย

ครับ, จะให้เข้าใจเฉพาะลิเก เราก็คงต้องยกเลิกคำว่าเต้นกินรำกินไปนานแล้ว เพราะรู้กันอยู่ว่าลิเกแทบจะสูญพันธุ์ไปจากสังคมไทยอยู่รอมร่อ และที่เห็นมีการแสดงกันอยู่บ้างนั้น ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นการแสดงแบบ “สืบทอด” หรือ “อนุรักษ์” กันแน่ ถ้าเป็นอย่างแรกก็พอใจชื้นบ้าง แต่ถ้าเป็นอย่างหลังก็วังเวงล่ะครับ ฉะนั้น ถ้าเข้าใจร่วมกันอย่างที่ว่าแล้ว เราก็จะพบว่า เดี๋ยวนี้สิ่งที่เรียกว่าเต้นกินรำกินนั้นกว้างขวางมากกว่าตัวอย่างที่ผมยกมาอยู่อีกไม่น้อย

และที่มันกว้างขวางเช่นนั้นได้ก็เพราะต่างก็มีประเด็นร่วมเหมือนกันอยู่อย่าง นั่นคือ การแสดง

“การแสดง” ที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงการแสดงให้เห็นในทางบันเทิงเฉพาะ เช่น ถ้าเล่นดนตรีแบบในอดีตก็เล่น (แสดง) ด้วยการนั่งอยู่กับที่ และระหว่างเล่นก็จะมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก แต่ “การแสดง” ในที่นี้หมายถึงการแสดงออกในทางเคลื่อนไหวที่มากกว่านั้น คืออาจจะมีกระโดดโลดเต้นบ้าง หรือแสดงออกทางสีหน้าท่าทางบ้าง เป็นต้น

พูดง่ายๆ ก็คือว่า มีการแสดงออกในทางที่เป็นแอ็กติ้ง (acting) มากขึ้นกว่าแต่ก่อน หรือพูดอีกอย่างก็คือ ไม่ว่าจะมีอาชีพเต้นกินรำกินประเภทไหน ผู้ที่มีอาชีพในทางนี้จะต้องสอดใส่ความเป็นนักแสดงหรือที่เรียกว่า “แอ็กเตอร์” (actor) เข้าไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่างานเพลงในชั้นหลังๆ ของ คุณเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ จะถูกนักวิจารณ์สับจนเละยังไง คุณเบิร์ด แกก็ยังครองใจสาวแก่แม่หม้ายหรือแม่ยกเอาไว้ได้อยู่ดี เพราะว่ากันว่าตัวแกเองมีความเป็นแอ็กเตอร์อยู่สูง

จะเห็นได้ว่า อาชีพเต้นกินรำกินที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นอาชีพที่เปลี่ยนไปจากเดิมมากมายทั้งรูปแบบและเนื้อหา คือเปลี่ยนไปโดยการรับเอาทัศนคติของตะวันตกมาใช้นั่นเอง

ถึงตรงนี้เราก็พอเข้าใจได้ว่า แต่ก่อนที่สังคมไทยดูถูกอาชีพเต้นกินรำกินนั้น การดูถูกจะตีวงจำกัดอยู่แต่การแสดงของพวกไพร่หรือชนชั้นล่าง ที่ซึ่งอาชีพเต้นกินรำกินต้องขึ้นอยู่กับคนที่ว่าจ้างเป็นส่วนใหญ่ ที่จะให้มีผู้อุปถัมภ์จากชนชั้นสูงนั้นออกจะยากอยู่ เพราะชนชั้นสูงมี “เวที” ของตนอยู่ในรั้วในวัง และมีความมั่งคั่งเพียงพอที่จะอุปถัมภ์การแสดงที่ตนเห็นว่าดีเห็นว่างาม

ที่สำคัญคือ ที่ดีที่งามนั้นยังต้องถือว่า “สูง” กว่าใครอื่นที่อยู่นอกรั้วนอกวังด้วย และ “สูง” ที่ว่านี้ในสายตาและความเชื่อของชนชั้นสูงก็คือ ศิลปะ

ด้วยเหตุนั้น อาชีพเต้นกินรำกินของชนชั้นล่างหากจะมีฐานที่มั่นเป็นของตัวเองแล้วก็แสดงว่า การเต้นกินรำกินของตนมีแม่ยกที่เหนียวแน่นจริงๆ หาไม่แล้วก็ต้องรอคอยให้มีผู้ว่าจ้างดังที่กล่าวไปแล้ว หรือไม่ก็ระเหเร่ร่อนหางานไปเรื่อยๆ สุดแท้แต่โชคชะตา และก็เพราะหาความแน่นอนไม่ได้ อาชีพเต้นกินรำกินจึงไม่มีใครอยากจะยึดถือ และถ้าใครยึดถือก็ต้องทำใจให้ได้จากการดูถูก

ที่ชัดๆ ก็คือ คนที่มีอาชีพเต้นกินรำกินนี้จะหาผัวหรือเมียสักคนจากคนต่างอาชีพก็ช่างหาได้ยากเย็นเสียจริงๆ เพราะพ่อแม่ของคนที่ตนหมายปองไม่ไว้ใจในอนาคต ว่าลูกของตนจะไปตกระกำลำบากกับคนที่มีอาชีพที่หาหลักประกันแน่นอนไม่ได้อย่างเต้นกินรำกินหรือไม่ ดังนั้น พ่อแม่ในครอบครัวไทยในอดีตจึงแทบอกแตกตายถ้าหากลูกสาวของตนหนีตามพระเอกลิเกไป หรือลูกชายไปได้เมียที่เป็นนางเอกลิเก เพราะไม่ว่าจะเป็นสะใภ้หรือเขย (ที่มีเป็นลิเก) ก็ตาม ต่างล้วนมือไม้อ่อนและดูหยิบโหย่งทั้งนั้น สู้ความคล่องแคล่วว่องไวแบบชาวนาไม่ได้ ที่ถึงแม้มือไม้จะหยาบกร้าน แต่ก็มีหลักประกันที่เชื่อถือได้ดีกว่าการเต้นกินรำกินแน่นอน

แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปแล้วครับ แถมยังเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังตีนอีกด้วย เพราะการเต้นกินรำกินไม่เพียงจะเป็นที่ไขว่คว้าของวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวเท่านั้น หากแม้แต่คนที่เป็นบุพการีในบางครอบครัวยังส่งเสริมลูกหลานของตนให้มีอาชีพนี้อีกด้วย บางครอบครัวถึงกับดิ้นรนกันเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น บางครอบครัวที่ลูกหลานของตน “ดัง” ในการเต้นกินรำกินไปแล้ว หากไปมีเรื่องอื้อฉาวคาวโลกีย์ขึ้นมา บุพการียังออกมาปกป้องและตอบโต้แทนลูกหลานของตัวอีกต่างหาก

บางรายถึงกับเปิดเผยอย่างน่าชื่นตาบานว่า บทโป๊ๆ เปลือยๆ ที่ตนแสดงในระดับเรตอาร์หรือเรตเอ็กซ์นั้น ได้รับความเห็นชอบจากบุพการีแล้ว

ที่เห็นได้ชัดล่าสุดก็คือ “คุณเอมี่” นักศึกษาจากธรรมศาสตร์ที่ออกมาเปิดเผยเองว่า ชุดที่เธอแต่งแบบไม่ใส่ชุดชั้นในงานแจกรางวัลตุ๊กตาทองจนเห็นหย่อม “สาหร่าย” นั้น ได้รับความเห็นชอบจากพ่อแม่แล้ว

ค่านิยมเต้นกินรำกินที่เปลี่ยนไปนี้ หามองให้ลึกลงไปแล้วก็จะเข้าใจได้ว่า ทำไมมันถึงได้เปลี่ยนไปมากมายขนาดนี้

คำตอบก็คือ เป็นเพราะ ณ บัดนี้การเต้นกินรำกินได้กลายเป็นอาชีพที่สร้าง “กำไร” ให้แก่ดาราและนักแสดงได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เป็น “กำไร” ที่ไม่ได้หมายถึงตัวเงินตัวทองอย่างเดียว หากยังรวมถึงชื่อเสียง การยอมรับ เซ็กซ์ ชีวิตที่หรูหรา ฯลฯ อีกด้วย

และที่เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิงก็คือ การมุ่งไปสู่ “กำไร” ที่ว่านั้นเป็นการมุ่งไปโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ไม่ว่าจะต้องด่าใคร ชวนทะเลาะหรือมีเรื่องกับใคร จะแกล้งสร้างข่าวลวงๆ อย่างไร หรือจะแก้ผ้าหรือมีเซ็กซ์กับใคร ฯลฯ ล้วนสามารถหยิบยกขึ้นมาใช้ได้ทุกเมื่อ ถ้าหากมันคือวิธีที่สร้าง “กำไร” ให้แก่ตนและครอบครัว

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมองกรณีของ “คุณเอมี่” ที่กำลังเป็นข่าวด้วยความเข้าใจตามที่ผมว่าข้างต้น นั่นคือเข้าใจว่า มันก็คล้ายๆ กับค่านิยมเรื่อง “โกงแต่มีผลงาน” นั่นแหละครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น