xs
xsm
sm
md
lg

กระชากม่าน-พบหลักฐานชัดแล้วอำนาจเก่าร่วมหนุนป่วน 3 จว.ใต้

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

การรายงานของ “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” ในสองตอนที่ผ่านมา เกี่ยวกับการทำงานใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาความสงบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พุ่งเข้าสู่ต้นตอและผู้เป็นฐานรากของขบวนการ ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “ดาวะห์” นั้น, การรายงานฉบับนี้เป็นการแยกประเด็นออกไปสู่สิ่งที่ได้พบและน่าตกใจมากกว่าเดิม ที่ทาง “การข่าว” ได้พุ่งเป้าสู่ความเป็นมา ได้มีการหารายละเอียดแบบ X-RAY ต่อพื้นฐานทั้งหมด ได้พบทั้งสิ่งที่มีอยู่เดิมแล้ว และสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ หลังการปฏิวัติโค่น ระบอบทักษิณ เมื่อ 19 กันยายน 2549 โดยพบว่า “กลุ่มอำนาจเก่าทางการเมือง” ได้เข้าเชื่อมต่อกับสถานการณ์ก่อการร้าย ดึงเอาสถานการณ์นั้นมาเป็นประโยชน์ร่วมกัน

โดยสรุปก็คือ-มีการพบว่า “อำนาจเก่า” เข้ามาเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีการปิดบังและพรางตัวอย่างมิดชิด ภาพที่ว่านั้น-จะเปิดม่านให้เห็นตามเค้าของ “การข่าว” ทางราชการ คือ

• เรื่องเดิม

ในอดีตที่ผ่านมาไม่นานนัก เขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีกลุ่มกำลังอยู่ 3 กลุ่มคือ โจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) และ ขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.) ทั้ง 3 กลุ่มแยกสายและเป้าหมายคือ จคม.มีเป้าปฏิบัติต่อมาเลเซีย ผกค.มีเป้าหมายต่อรัฐบาลไทย และ ขจก.ต้องการแยกดินแดนเป็นรัฐเอกราช การขยายมวลชนของ จคม.โดยมีที่ตั้งของ “กรมที่ 10” อยู่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นกองกำลังที่กำลังพลเป็นอิสลามมี นายราชิด ไมดิน (RASHID MAIDIN) เป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นตรงต่อ กองทัพประชาชนมลายา (MPA) ต่อมากรมที่ 10 ได้มีผู้บังคับบัญชาระดับผู้บังคับการกรมเข้ามาดูแลโดยตรง คือ วู จิท ชี (WU JIT SHIN) และย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส, กำลังพลในระยะหลังๆ มิได้จำกัดแต่เฉพาะผู้มีเชื้อสายมาเลเซีย แต่มีคนไทยเชื้อสายท้องถิ่นเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมี “กรมที่ 12” อยู่ในเขตอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นกรมที่มีกำลังพลเป็นมาเลเซียเชื้อสายจีนล้วนๆ กำลัง จคม.ทั้ง 2 กรมนี้ได้วางอาวุธและสลายตัว หลังจากการลงนามยุติการเป็นศัตรูกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย และพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2532 ที่หาดใหญ่ สงขลา โดยที่ไทยเป็นตัวกลางจัดการเจรจาดังกล่าว เพราะ จคม.เป็นปัญหาความมั่นคงของไทยด้วย เนื่องจากมีที่ตั้งกองกำลังอยู่ในเขตไทยทั้ง 2 กรม หลังจากที่มีการสลายตัวแล้ว กรมที่ 12 สลายตัวอย่างแท้จริง แต่กรมที่ 10 ซึ่งเป็นมุสลิมมีกำลังพลประมาณ 75% ปรับสภาพตัวเองเข้าเป็นพันธมิตรกับขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.) อย่างหลวมๆ โดยที่ระยะเวลานั้น การปฏิบัติของ ผกค.ได้ยุติลงแล้ว จากผลของ นโยบายที่ 66/2523 โดยเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

• เปลี่ยนสีและแนวทาง

การขยายมวลชนของการก่อการร้ายจึงทำได้เต็มที่ เพราะ จคม. และ ผกค.ยุติบทบาทแล้ว และ จคม.ในส่วนของกรมที่ 10 ก็ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางจากเดิมที่เป็นผู้ปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา มาเป็นแนวร่วมกับ ขจก. และถือว่ามีบทบาทมาก เพราะกำลังของกรมที่ 10 (เดิม) นี้ ผ่านการปฏิบัติการรบ มีความชำนาญในการใช้อาวุธมียุทธวิธีอย่างทหาร มีเอกภาพในการบังคับบัญชา และเชี่ยวชาญในการผลิตระเบิด ทั้งขนาดใหญ่และระเบิดแสวงเครื่องในลักษณะกับระเบิด, ขบวนการก่อการร้ายจึงได้รับกำลังเพิ่มเติมโดยไม่ต้องออกแรง และพื้นที่ก็ปลอดจากอำนาจมืดของกองกำลังอื่นๆ คือทั้ง จคม. และ ผกค.โดยที่อดีตของกำลังพลกรมที่ 10 (จคม.) ไม่ได้อยู่อย่างกระจุกตัวเหมือนในอดีต แต่กระจายอยู่กับกลุ่มกำลังต่างๆ ในพื้นที่ในฐานะที่ปรึกษาซึ่งมีประสบการณ์ และยากที่จะแยกว่าใครเป็น จคม.เก่า และใครเป็น ขจก.

• พวกเขาอยู่ตรงไหน?


ไทยและมาเลเซียมีพรมแดนติดต่อกัน 647 กิโลเมตร เป็นพรมแดนบก 552 กิโลเมตร และเขตน่านน้ำ 95 กิโลเมตร มีช่องทางเข้าออกถึง 29 ช่องทาง, จังหวัดนราธิวาสติดกับรัฐกลันตันและรัฐเปรัค ทางด้านอำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอตากใบ และอำเภอแว้ง มีแม่น้ำโก-ลกเป็นเส้นกั้นเขตแดน และทางรถไฟข้ามแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียอยู่ที่สุไหงโก-ลก, ส่วนจังหวัดยะลาติดกับรัฐเคดาห์ และรัฐเปรัค ทางด้านอำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา และอำเภอยะหา โดยมีภูเขาเป็นแนวเขตแดน

ตามการข่าวว่า “ที่ปรึกษา” ซึ่งเป็นกำลังพลของกรมที่ 10 (จคม.) เดิมนั้น จะอยู่ตามแนวเขตแดนในยะลาเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีความชำนาญในพื้นที่ และมีมวลชนซึ่งมีอยู่เดิมนั้นสนับสนุนอยู่

“ดาวะห์” อ้าแขนรับกำลังส่วนนี้อย่างเต็มที่ เพราะมีเชื้อสายเดียวกัน เป็นที่จับตาดูอยู่ว่าการปรับเปลี่ยนทัศนคติแนวทางการเมืองจากสังคมนิยมจะทำได้มากเพียงใด ในการที่จะยอมรับแนวทางของรัฐปัตตานี แต่ที่ผ่านมานั้น “การข่าว” พบว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหามาก เพราะถูกกลืนไปด้วยกำลังและมวลชนส่วนใหญ่

• ปรากฏการณ์ใหม่

แต่เมื่อไม่นานมานี้เอง, ก็พบว่าสิ่งที่จับตามองอยู่นั้น มีการเคลื่อนไหวอย่างผิดสังเกต มีการจับทิศทางได้ว่า โจรคอมมิวนิสต์มลายา ที่มีการปลูกฝังความเป็นสังคมนิยมค่อนข้างจะอึดอัดกับบรรยากาศใหม่ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เมื่อมีโอกาสที่จะเข้าสู่อุดมการณ์เดิมได้ จึงอ้าแขนรับทันที

“การข่าว” ได้พบเบาะแสว่า กลุ่มอำนาจเก่า ได้แทรกตัวเข้ามาในสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีกลุ่มที่เป็นสังคมนิยมเดิมในพรรคการเมืองหนึ่ง มีการเคลื่อนไหวประสานกับอดีตกรมที่ 10 ของ จคม.จะเป็นด้วยการเร่งสถานการณ์ สุมไฟใต้เร่าร้อน เพื่อเป็นการเคลื่อนไหวแบบเฉพาะกิจ เพื่อลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นการตอบโต้กับ การปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ได้มีการรวบรวม จคม.ของกรมที่ 10 เข้ามาปลุกกระแสใหม่ นักการเมืองของพรรคนั้นที่เป็นสายสังคมนิยม เข้าแฝงตัวซ่อนอยู่เบื้องหลัง เพื่อที่จะถอนตัวผละออกไปได้โดยง่าย เมื่อภารกิจป่วนเมือง/แก้แค้นผ่านไปแล้ว และจะเป็นการรักษาความลับได้ดีกว่าการเข้าแทรกหรือปรากฏตัว มีการเคลื่อนไหวต่อสถานการณ์ผ่านกลุ่มอื่นๆ

อีกทั้งเป็นการเข้าทำลายบรรยากาศในสถานการณ์วันนี้, ที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ก้าวเดินสู่การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบและเบ็ดเสร็จ

โดยความลับได้ถูกเปิดเผยออกมาว่า การพบปะพูดคุยกับแกนนำของผู้สร้างสถานการณ์ ได้รับการชี้ออกมาว่า สถานการณ์ต่างๆ นั้น ไม่ได้มาจากการแบ่งแยกดินแดนแต่เพียงฝ่ายเดียว ยังมีฝ่ายอื่นๆ เข้าสวมรอยซ้ำเติมด้วย

• อาศัยรังเก่า

ต้องมองย้อนกลับไปถึงในอดีตว่า เมื่อมีการเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 2516 และ 2519 แล้ว มีคนส่วนหนึ่งเข้าคุมพื้นที่และสภาพมวลชนที่ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยมีพลพรรคส่วนใหญ่เป็นไทยมุสลิมขบวนการโจรก่อการร้าย และโจรคอมมิวนิสต์มลายาได้ใช้โอกาสนี้ดึงคนที่เข้าป่ามาเป็นกองกำลังร่วม โดยให้ชื่อว่า “กองทัพปลดแอกมุสลิมไทย” โดยมีเขต “ค่ายที่ 2” อยู่บนเทือกเขาโต๊ะเจะเด๊ะ บ้านบาโหย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยเริ่มการตั้งค่ายประกาศตัวเป็นกองทัพปลดแอกมุสลิมไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2521 มีการเคลื่อนไหวและปฏิบัติการร่วมกับ ขบวนการบีอาร์เอ็น. และ ขบวนการพูโล แต่การผสมกำลังโดยอุดมการณ์แตกต่างนั้น ทำให้บีอาร์เอ็น. และพูโลอยู่กับกองทัพปลดแอกมุสลิมไทยได้ไม่นาน ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน หลังจากที่อยู่ร่วมกันได้เพียง 3 เดือน ทั้งบีอาร์เอ็น. และพูโลก็ถอนตัวออกจากกองทัพปลดแอกมุสลิมไทย ประกอบกับบีอาร์เอ็น.ระดับหัวหน้าเสียชีวิตจากการปะทะกับทหาร

ดังนั้น กองทัพปลดแอกมุสลิมไทย จึงเหลือแต่เพียงกลุ่มสังคมนิยมไทย และ จคม.กรมที่ 10 เท่านั้น และสลายตัวในเวลาต่อมาในปี 2525

การที่ จคม.กรมที่ 10 ได้กลับมาในเขตนั้นอีก โดยการสนับสนุนอย่างลับๆ ของกลุ่มสังคมนิยมการเมืองเก่า จึงเป็นการย้อนกลับไปสู่สิ่งที่เคยเป็นมาเมื่อ พ.ศ. 2421 ซึ่งทางการข่าวเชื่อว่าจะไม่มีการเติบโตไปมากกว่านี้ เพราะเป็นภาระ “เฉพาะกิจ” เท่านั้นจากกลุ่มอำนาจเก่าที่ต้องการแทรกตัวเข้าเติมไฟสถานการณ์

• พบ “ราก” ของไฟใต้

ในการเข้าปฏิบัติการแบบต้องสร้างสันติอย่างยั่งยืน ด้วยการพูดคุยกันนี้ ยังได้พบว่า มีความโยงใยออกไปสู่ต้นตอหรือ “ราก” ที่อยู่ต่างประเทศ คือ สมาคมอาดูน (นักศึกษาหนุ่ม) สมาคมชาวปัตตานี และ สมาคมปัตตานี-ซาอุดีอาระเบีย โดยทั้ง 3 สมาคมนี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการดำเนินการ การตัดสินใจเชิงนโยบายระดับสูง เพราะมีความเกี่ยวข้องกับประเทศโลกมุสลิม

ความเดิมของเรื่องนี้มีอยู่ว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2505 มีไทยอิสลามไปแสวงบุญที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นจำนวนมาก และได้จัดการประชุมขึ้นโดยไทยอิสลามซึ่งไปศึกษาอยู่ที่อียิปต์เป็นผู้ดำเนินการได้ตกลงให้มีการตั้งสมาคมขึ้นในต่างประเทศขึ้น 2 สมาคมคือ สมาคมอาดูน และสมาคมปัตตานี เป้าหมายของการประชุมในครั้งนี้ คือการแยก 4 จังหวัดคือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล เป็นรัฐอิสระหรือเข้ารวมกับมาเลเซีย โดยการตั้งกองกำลังชื่อ “กองทัพปลดปล่อย หน่วยกู้อิสรภาพแห่งชาติรัฐปัตตานี” ซึ่งจะไม่เริ่มต้นด้วยการใช้อาวุธ แต่จะเข้าทำลายทางด้านเศรษฐกิจให้เกิดความอ่อนแอก่อน ด้วยการปิดสวนยาง การทำเกษตรกรรม และการขัดขวางการขยายตัวของอุตสาหกรรมทุกชนิด และให้ถือว่า-การปฏิบัติการ ณ บ้านปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ เมื่อครั้งตวนกู ปัตตารอ และ ตวนกู ยาลา นาแซร์ เป็นผู้นำขบวนการในช่วง พ.ศ. 2490 เป็นวันสำคัญของการต่อสู้ และให้ยกเอาเหตุการณ์บ้านปะลุกาสาเมาะ เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการ-ให้หมู่บ้านนี้มีความสำคัญต่อขบวนการ ถือว่าเป็นหมู่บ้านทางประวัติศาสตร์ โดยสมาคมทั้ง 3 แห่งนี้เป็นผู้กำหนดในเวลาต่อมา ซึ่งมีการประชุมปรับแผนและนโยบายกันอยู่ทุกปี และในปี 2550 นี้ จะมีการประชุมกันในเดือนหน้า ซึ่งคาดว่าจะเป็น วันที่ 7 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่ขบวนการถือว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง คือเป็นวันที่ 4 องค์กรได้ประชุมกันที่รัฐกลันตัน ในมาเลเซีย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2534 ตั้งโครงการ “ดาวะห์” ขึ้น โดยมีกุสตาด อับดุลวาฮับ ยะลา เป็นประธานดาวะห์

มีอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญอันเป็นการปรับยุทธศาสตร์ของทางราชการให้ตรงและทันกับสถานการณ์ โดยได้พิจารณาเห็นว่า ทางทหารนั้น มีแต่กฎอัยการศึกเป็นอำนาจรองรับ แต่อำนาจทางกฎหมายโดยตรงนั้นไม่มี อำนาจนั้นเคยมีอยู่แต่ดูจะยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2535 ในการยกเลิกพระราชบัญญัติผู้อำนวยการรักษาความสงบภายในประเทศ พ.ศ. 2519 ที่ได้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้อำนวยการ คำสั่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปสู่กำลังผู้ปฏิบัติการทั้ง 3 เหล่าทัพนั้น มีกฎหมายรองรับ จึงควรจะมีการรื้อฟื้นกฎหมายในลักษณะนี้ออกมาใช้ใหม่ เพื่อให้ทหารได้มีอำนาจการปฏิบัติการอย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น