xs
xsm
sm
md
lg

เกียร์ว่าง

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

“เกียร์ว่าง” เป็นคำที่ใช้อธิบายสภาวะหนึ่งของรถยนต์ อันเป็นสภาวะของการปล่อยให้เฟืองจักรที่ใช้ส่งกำลังจากตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่งเพื่อปรับระดับความเร็วให้ “ว่าง” หรือให้พร้อมใช้งานในการขับเคลื่อนเข้าไว้ตลอดเวลา

โดยปกติแล้วการปล่อยให้รถเกียร์ว่างเช่นนั้นมักจะเป็นไปใน 2 ทาง ทางหนึ่ง ถอย และอีกทางหนึ่ง เดินหน้า ส่วนจะเป็นทางใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่คนขับจะกำหนดตัดสินใจเอาเอง

ฉะนั้น ถ้าสภาวะเกียร์ว่างข้างต้นจะถูกนำมาอธิบายในทางการเมืองแล้ว สภาวะนั้นจึงย่อมหมายถึงสถานการณ์ที่ตัวละครทางการเมืองคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งกำลังไม่แน่ใจในสถานการณ์เบื้องหน้าของตน ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด จนทำให้ตัดสินไม่ได้ว่าจะเคลื่อนตัวอย่างไรไปด้วย

เมื่อตัดสินใจไม่ได้ ทางที่ดีที่สุดคือ ปล่อยให้การเคลื่อนตัวของตัวเองให้ “ว่าง” เข้าไว้ เพื่อพร้อมที่จะเคลื่อนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งระหว่างเดินหน้าหรือถอยหลัง

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำก็ตาม หากต้องมาประสบเข้ากับตัวละครทางการเมืองที่ทำตนด้วยการปล่อยเกียร์ว่างแล้วก็ย่อมอึดอัดเป็นธรรมดา เพราะจะใช้งานใครๆ ใครคนนั้นก็ไม่แน่ใจว่าตัวควรที่จะทำตามคำขอหรือคำสั่งหรือไม่ การงานต่างๆ ก็จะไม่บรรลุผลตามแผนที่วางเอาไว้

ประเด็นปัญหาใจกลางของสภาวะเกียร์ว่างดังกล่าวในด้านหนึ่งจึงไม่ใช่อะไรอื่น หากคือ สภาวะที่คนที่เป็นผู้นำไม่สามารถแสดงให้หลักประกันใดๆ แก่ตัวละครทางการเมืองได้เกิดความมั่นใจนั่นเอง

คือถ้าไม่เป็นหลักประกันที่ไร้ซึ่งความเด็ดขาดแล้ว ก็จะเป็นหลักประกันที่ดำรงอยู่ชั่วคราวหรือมีเวลาจำกัด อีกนัยหนึ่งคือ เป็นหลักประกันเชิงอำนาจที่ขาดซึ่งพลังและดูไม่น่าเชื่อถือ อำนาจแบบนี้ไม่ว่าที่ไหนในโลกก็ไม่มีใครยำเกรง เมื่อไม่ยำเกรงก็ไม่จำเป็นต้องฟัง เพราะหากฟังแล้วเชื่อและปฏิบัติตามก็จะปลอดภัยแก่อนาคตของตนไปด้วย

ผมไม่รู้ว่า คำว่า “เกียร์ว่าง” ตามความหมายข้างต้นเริ่มใช้กันในสังคมการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เห็นได้ชัดว่า ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เรื่อยมา คำคำนี้ถูกใช้อย่างกว้างขวางในวงจรการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารหรือ คมช. และรัฐบาล

โดยที่ไม่มีเจตนาจะยุยงส่งเสริมให้ คมช. และรัฐบาลใช้อำนาจให้เด็ดขาด (ไม่ว่าจะผิดหรือถูก) ผมอยากจะบอกว่า ตั้งแต่ที่มีคณะรัฐประหารขึ้นมาในเมืองไทยนั้น ผมไม่เคยเห็นคณะไหนจะหน่อมแน้มเท่าคณะนี้ คือไม่เพียงจะเป็นคณะรัฐประหารที่สามารถเปิดกว้างให้นักประชาธิปไตยทั้งที่ไร้เดียงสาและไม่ไร้เดียงสาออกมาประท้วงเย้วๆ และปล่อยให้กลุ่มอำนาจเก่าออกมากระแหนะกระแหนได้เป็นรายวันรายสัปดาห์ได้แล้วเท่านั้น หากยังเป็นคณะรัฐประหารที่ “บ่มิไก๊” จนผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไปโค่นระบอบทักษิณมาทำแม้วอะไรให้เปลืองงบ เปลืองพลังงาน และเปลืองทรัพยากร

แต่ถ้าให้อธิบายแบบนักประชาธิปไตย (ทั้งที่ไร้เดียงสาและไม่ไร้เดียงสา) ก็คงออกมาได้ประมาณว่าเป็นเพราะการรัฐประหารเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมมาแต่แรกแล้ว ต่อให้ใช้อำนาจต่อไปอย่างไรก็ย่อมไม่ชอบธรรมอยู่ดี

พูดง่ายๆ คือ ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก

แต่ถ้าให้อธิบายตามแบบ คมช. (แบบไหนคิดเอาเองนะครับ) ก็คงพูดได้เพียงแค่คำเดียวว่า เพื่อความสมานฉันท์ อันเป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับยุคสมัยนี้ ที่แม้แต่ คุณทักษิณ เองก็ยังใช้คำนี้กันปาวๆ จากต่างประเทศ

ครับ, อย่าหาว่าพูดให้ฝ่ายที่เกลียด คุณทักษิณ ต้องใจเสียเลยนะครับ ถ้าหากผมจะบอกว่า ไม่ว่าจะอธิบายแบบไหนก็ตามใน 2 แบบข้างต้น ต่างล้วนเป็นประโยชน์ต่อระบอบทักษิณทั้งสิ้น คือถ้าอธิบายแบบนักประชาธิปไตย ระบอบทักษิณก็ได้ในแง่ของความชอบธรรม และถ้าอธิบายแบบ คมช. ระบอบทักษิณก็สบายใจเฉิบไปในเรื่องของการตรวจสอบ (อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง)

แต่ถึงกระนั้น ผมคิดว่าการอธิบายแบบข้างต้นนั้นไม่เพียงพอ เพราะเอาเข้าจริงแล้วสภาวะเกียร์ว่างดังกล่าวหาได้เกิดเฉพาะหลังการรัฐประหารเสียเลยทีเดียวไม่ ในสมัยที่ คุณทักษิณ ยังเรืองอำนาจนั้นสภาวะที่ว่าก็เกิดขึ้นเหมือนกัน

เกิดขึ้นที่ไหนล่ะหรือ...? เกิดขึ้นทั่วไปแหละครับ โดยเฉพาะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เพื่อนอาจารย์ของผมคนหนึ่งที่อยู่ทางปักษ์ใต้ ที่เป็นผู้ติดตามสถานการณ์ทางนั้นอย่างใกล้ชิดเล่าให้ฟังว่า เวลาที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นในแต่ละวันนั้น ใช่ว่าผู้นำศาสนาอิสลาม และผู้นำชุมชนที่เป็นมุสลิมจะเห็นดีเห็นงามไปด้วยกับเหตุร้ายนั้น

แต่ที่ผู้นำเหล่านี้ออกมาแสดงบทบาทได้ไม่มากไปกว่าการสวดให้เกิดสันติสุขตามหลักอิสลามนั้น ก็เพราะต่างรู้ดีว่า หากทำอะไรมากกว่านั้น เช่น ประณามการกระทำของผู้ก่อการร้าย เดินขบวนประท้วงการกระทำดังกล่าว ฯลฯ ต่างล้วนไม่ปลอดภัยแก่ตัวเองทั้งสิ้น

ผู้นำเหล่านี้รู้ดีว่า ทุกการกระทำของตนย่อมตกอยู่ในสายตาของผู้ก่อการร้ายโดยตลอด ฉะนั้น หากแสดงอะไรมากไปกว่านั้นก็ย่อมมีโอกาสที่จะถูกคุกคามหรือเด็ดชีพเอาได้ง่ายๆ ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ผู้นำเหล่านี้ทำได้ดีที่สุดจึงคือ การปล่อยเกียร์ว่าง ทั้งเพื่อความปลอดภัยของตน ครอบครัว และอาจรวมถึงชุมชนมุสลิมที่ตนสังกัดด้วย

ประเด็นก็คือว่า การปล่อยเกียร์ว่างดังกล่าวแทนที่ คุณทักษิณ และคนในระบอบทักษิณ หรือคนที่อยู่ในวัฒนธรรมคนอย่างทักษิณจะเข้าใจว่าเพราะเหตุใด สิ่งที่ปรากฏออกมากลับกลายเป็นว่า คนระบอบทักษิณกลับไประแวงสงสัยว่าคนเหล่านี้อาจเป็นพวกเดียวกับผู้ก่อการร้าย ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นปฏิกิริยาของคนกลุ่มนี้แสดงออกซึ่งความจงเกลียดจงชังพี่น้องมุสลิมแบบเหวี่ยงแหไปหมด บางคนแค้นเคืองถึงกับจะฆ่าจะแกงกันให้ได้ ในขณะที่นักการเมืองของไทยรักไทยคนหนึ่งจากอุดรธานีถึงกับเสนอให้ยุบโรงเรียนปอเนาะกันเลยทีเดียว

แล้วผลจากการปฏิบัติต่อสภาวะเกียร์ว่างที่ปักษ์ใต้เป็นอย่างไรหรือ? ครับ, จนถึงเดี๋ยวนี้ความรุนแรงก็ยังไม่ได้ผ่อนบรรเทาลงไปอย่างที่รู้กัน โดยสรุปก็คือ การใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อตอบโต้ความรุนแรงอย่างไม่ดูตาม้าตาเรือเช่นที่ คุณทักษิณ นิยมใช้ (ไม่เฉพาะแต่ปัญหาปักษ์ใต้) นั้นไม่ได้ผล

ดังนั้น ถ้าหากให้ คมช. หรือรัฐบาลใช้อำนาจในทำนองนี้กับข้าราชการที่ปล่อยเกียร์ว่างดังที่ระบอบทักษิณได้ทำบ้างแล้ว ผมเชื่อว่าผลที่ออกมาจะไม่ต่างกัน คือไม่ได้ผลเช่นกัน แต่ผมก็ควรกล่าวด้วยว่า ที่ไม่ได้ผลนั้นตั้งอยู่บนสถานการณ์ความเป็นจริงที่ต่างกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน

ในกรณีของข้าราชการพลเรือน ทหาร หรือตำรวจที่ถูกมองว่าปล่อยเกียร์ว่างนั้น กล่าวกันว่าเพราะข้าราชการเหล่านี้รู้ว่ารัฐบาลของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จะอยู่ไม่นานแล้วก็ไป จากนั้นก็เชื่อว่าคนในระบอบทักษิณจะกลับมา

ดังนั้น หากทำอะไรไปตามที่ คมช. หรือรัฐบาลให้ทำ ภัยข้างหน้าก็อาจจะมาถึงตัวในแบบที่เรียกว่า มีรายการตามเช็กบิลเกิดขึ้น

สาเหตุของสภาวะเกียร์ว่างข้างต้นน่าจะจริง แต่ก็จริงโดยภาพรวมเท่านั้น เพราะจะเข้าใจความจริงทั้งหมดได้ก่อนอื่นเราต้องแยกให้ได้ก่อนว่าข้าราชการที่ปล่อยเกียร์ว่างนั้นมีอยู่กี่กลุ่ม ซึ่งสำหรับผมแล้วคิดว่าน่าจะแยกได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่เต็มใจรับใช้ระบอบทักษิณอย่างเต็มอกเต็มใจ กลุ่มที่ถูกบังคับให้รับใช้ด้วยเงื่อนไขที่ยากจะหลีกเลี่ยงและไม่เป็นธรรม และกลุ่มที่รับใช้เพราะเจ้านายสั่งมาอีกชั้นหนึ่ง และเชื่อว่ายังไงเสียภัยก็ไม่มาถึงตัว (เจ้านายรับไป)

กลุ่มที่สำคัญคือ 2 กลุ่มหลัง เพราะถือเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก และเป็นกลุ่มที่มีทั้งที่รู้ตัวจริงๆ ว่าหากมีการสอบสวนกันขึ้นมาตนอาจมีสิทธิ์ผิดวินัยและถูกลงโทษแบบอดีตอธิบดีกรมสรรพากรได้ กับทั้งที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองผิดหรือไม่ และก็เพราะทั้งสองกลุ่มนี้มีพื้นฐานทางพฤติกรรมเช่นนั้น การปล่อยเกียร์ว่างจึงเกิดขึ้น

หาก คมช. และรัฐบาล ตลอดจนองค์กรอิสระต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร โดยเฉพาะ คตส. เข้าใจตรงนี้ แล้วหาทางให้ความมั่นใจแก่ข้าราชการทั้งสองกลุ่มตามความเป็นจริงและอย่างเหมาะสม ก็น่าเชื่อได้ในระดับหนึ่งว่าอาจจะช่วยผ่อนคลายสภาวะเกียร์ว่างได้ไม่มากก็ไน้อย

ว่าแต่ว่าเท่าที่ผมเห็นนั้น พบว่า แม้แต่กับข้าราชการกลุ่มแรก ผมก็ยังไม่เห็นว่า คมช. และรัฐบาลจะจัดการได้อย่างไรเลยด้วยซ้ำ ฉะนั้น จึงมิพักจะต้องมาพูดถึงสองกลุ่มหลังให้เมื่อยตุ้ม

ครับ...จะมีอะไรมั่นใจได้เท่ากับการปล่อยเกียร์ว่างอีกละครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น