xs
xsm
sm
md
lg

อย่ามองข้าม

เผยแพร่:   โดย: การุณ ใสงาม

ผมได้รับเกียรติจากสมัชชาคนพิการเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เข้าร่วมอภิปราย เรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีสิทธิคนพิการ ในวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา 13.30 - 17.00 น. ณ โรงแรมแกรนด์ ทาวเวอร์ อินน์ กรุงเทพฯ

ทำให้วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 รายการตรงไปตรงมาของผมมีโอกาสต้อนรับแขกผู้มีเกียรติอย่างยิ่ง 2 คน คนแรกคือคุณอำนวย กลิ่นอยู่ เป็นประธานสมัชชาคนพิการเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ อีกคนคือคุณณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ ประธานมูลนิธิคนพิการไทยและเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาปี 2539 - 2543 เป็นสมาชิกวุฒิสภาชุดสุดท้ายที่มาจากการแต่งตั้ง

ประวัติของแต่ละคนมีความน่าสนใจไม่ใช่น้อย คุณอำนวย กลิ่นอยู่ เป็นผู้พิการทางสายตา แต่ท่านสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ทั่วโลก เคยวิ่งมาราธอนเป็นระยะทาง 42 กิโลเมตรมาแล้วที่ นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น

คุณณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ พิการทางร่างกาย กระดูกสะโพกติดกับขาอ่อน ทำให้ไม่สามารถนั่งเก้าอี้ธรรมดาได้ ตลอดเวลา 1 ชั่วโมง ในรายการตรงไปตรงมาคุณณรงค์ต้องยืนออกรายการ โดยใช้ไม้เท้าพยุงตัว คุณณรงค์บอกว่าขณะที่ปฏิบัติหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาขณะนั้นท่านก็ยืนในที่ประชุม จนประธานวุฒิสภาต้องทำเก้าอี้เฉพาะมาให้ สาเหตุที่พิการ คุณณรงค์บอกว่าเป็นโรคหมอทำ มาจากการรักษาที่ผิดพลาดของแพทย์ในสมัยนั้น

คุณณรงค์พิการตอนอายุ 18 ปี ขณะที่เรียนโรงเรียนนายร้อย ชั้นปีที่ 2 และจากการที่ต้องรักษาตัวโดยการผ่าตัด และการบำบัดก็กินเวลาไป 2 ปีกว่า ไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ ทำให้โดนปลดประจำการจากโรงเรียนนายร้อย

คุณณรงค์บอกว่าเพื่อนจบได้รับกระบี่แต่ตนเองได้รับไม้เท้าแทน แต่คุณณรงค์ก็มิได้ย่อท้อ ไปสมัครเรียน นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2501 ซึ่งธรรมศาสตร์สมัยนั้นเป็นมหาวิทยาลัยเปิด

เพื่อนร่วมรุ่นมีแต่คนดังไม่ว่าจะเป็น นายชวน หลีกภัย, นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และนายสมัคร สุนทรเวช ใช้เวลาเรียน 6 ปีจนจบ เมื่อจบแล้วไปสมัครเป็นที่ปรึกษากฎหมายที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่วันถัดมาสำนักนายกได้ตามตัวมาให้นำใบสมัครกลับไปพร้อมกับเงินค่าสมัคร บอกว่าคนพิการเข้ารับราชการไม่ได้ ทำให้คุณณรงค์เจ็บปวดกับการโดนกระทำในครั้งนี้มาก จึงเป็นการเริ่มต้นสู้เพื่อตัวเองและคนพิการเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ ความเป็นธรรมและความเสมอภาค เพื่อไม่ให้คนพิการถูกเลือกปฏิบัติ มาเป็นเวลา 50 ปี

ตอนนี้ เป็นช่วงการปฏิรูปการเมือง โดยมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2550 มาแทน รัฐธรรมนูญ 2540 ที่โดนฉีกทิ้ง กลุ่มคนพิการที่นำโดยคุณอำนวยและคุณณรงค์นี้ มองเห็นโอกาสที่เข้ามามีส่วนร่วมหรือผลักดันกฎหมายให้คนพิการได้รับสิทธิที่ควรได้ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นพลเมืองไทยเหมือนกัน ไม่เป็นพลเมืองชั้นสอง

ประเด็นที่ได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสิทธิคนพิการ น่าสนใจบางคนอาจมองข้ามไป เพราะนึกไม่ถึง หรือไม่เคยนึกถึงเลย

คำพูดของคุณณรงค์ และคุณอำนวย เป็นคำขอเป็นความต้องการสั้นๆ แต่หนัก

ทั้ง 2 คน บอกว่า ที่ผ่านมากฎหมายเกี่ยวกับคนพิการค่อยๆ ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก สิทธิต่างๆของคนพิการที่เคยอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ดีอยู่แล้วก็ให้คงไว้ แต่อยากให้เพิ่มเติมโดยมีหลักใหญ่ใจความว่า

อย่าคิดว่าคนพิการทำอะไรไม่ได้ ถ้าสังคมหรือผู้คนทั่วไปให้โอกาส พวกเขาสามารถทำได้ อย่าไปกำหนดว่าอันนั้นเราไม่ควรทำ อันนี้เราไม่ควรทำ ต้องให้เราบอกเอง

อย่าเลือกปฏิบัติกับคนพิการ คนพิการมิได้รังเกียจที่จะให้เรียกว่าคนพิการ เพียงแต่อย่าเรียกเราว่า เป๋ ว่าบอด และสามารถระบุไปตรงๆ ได้เลยไม่ต้องใช้คำอ้อมๆ ว่าบุคคลที่สุขภาพไม่ดี เพราะคนพิการที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงมีอยู่ทั่วไป ดังนั้นการเลือกปฏิบัติกับคนพิการจะทำไม่ได้ ตรงนี้ต้องชัดเจน

การได้รับบริการทั่วไปจากรัฐจะต้องเท่าเทียมกัน กรณีรถไฟฟ้า BTS คุณณรงค์ได้เรียกร้องให้มีลิฟต์สำหรับผู้พิการตั้งแต่อยู่ในขั้นตอนของการเซ็นสัญญา แต่เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จกลับไม่มี เมื่อสอบถามไป BTS บอกว่ามีการกันพื้นที่ไว้แต่เป็นในอนาคต และบอกว่าถ้าจะต่อเติมหรือสร้างเพิ่มต้องเป็นหน้าที่ของ กทม. ไม่ใช่ BTS พอถาม กทม. กทม. ก็บอกว่าไม่มีงบประมาณในส่วนนี้

กว่าจะได้ลิฟต์สำหรับคนพิการ ต้องเดินขบวนทั้งเรียกร้องทั้งผลักดัน จนได้มา 5 สถานีจาก 23 สถานี แต่ก็มีเสียงตำหนิตามมาว่ามีลิฟต์ให้แล้วแต่ทำไมคนพิการไม่ขึ้น หรือขึ้นน้อยมาก คุณณรงค์บอกผมว่า ก็มีลิฟต์อยู่ 5 สถานี สถานีที่ขึ้นมีลิฟต์แต่สถานีที่จะลงไม่มีลิฟต์ ขึ้นได้แล้วลงไม่ได้ จะให้ทำอย่างไง

แม้แต่การใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำแห่งหนึ่ง ที่ไม่อนุญาตให้คนพิการทางสายตาขึ้นเครื่องบิน และไม่ขายตั๋วให้ ขณะนี้เรื่องนี้คุณอำนวยได้ร้องเรียนและเรื่องก็เข้าสู่กรรมาธิการยุติธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่มีคุณปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์เป็นประธาน อยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนข้อเท็จจริง

รัฐต้องให้สวัสดิการแก่คนพิการ ไม่ควรใช้คำว่าสงเคราะห์ เพราะหมายถึงการให้ รัฐมีหน้าที่ที่ต้องจัดสรรปันส่วนให้ถูกต้องให้เหมาะสม เป็นเรื่องที่ต้องทำไม่ใช่การให้ทาน ต้องทำให้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

คนพิการต้องได้รับสิทธิในการเข้าถึง ทั้งในเรื่องของการบริการและเรื่องข้อมูลข่าวสาร

กฎหมายที่บัญญัติไว้เกี่ยวกับสิทธิคนพิการควรจะปฏิบัติได้จริง ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น สถานประกอบการต้องรับคนพิการเข้ามาทำงานด้วยสัดส่วนเท่าไหร่ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ สิทธิการรักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วยต้องรักษาได้ทุกที่ในโรงพยาบาลของรัฐ ถ้าคนพิการอยากเรียนหนังสือเขาต้องได้เรียน ไม่ถูกกีดกัน อย่าทำให้เขาเป็นคนด้อยโอกาสโดยรัฐ โดยอ้างเพียงแต่คำว่า ยังไม่พร้อม

คำขอข้อสุดท้ายคือ ขอเป็นพลเมืองไทยเหมือนกัน

เราอย่ามามัวแต่เถียงกันว่า ส.ส. จะจำนวนเท่าไหร่ นายกฯ จะมาจากไหน ปารตี้ลิสต์จะมีหรือไม่ สิ่งเหล่านี้มีแต่การพูดเรื่องการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองทั้งนั้น ไม่ได้สนใจความเป็นอยู่ของประชาชนหรือสิทธิที่ประชาชนพลเมืองไทยจะได้รับ ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป อาจติดหล่มการเมือง และนำไปสู่การไม่ผ่านประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังที่หลายๆ คนเริ่มออกมาวิตกกังวลถึง

หรือถ้าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมก็ไม่แปลกใจ เพราะ ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ 100 คน ไม่มีตัวแทนจากคนพิการเลย คุณณรงค์บอกว่า ตอนที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา จะผ่านกฎหมายแต่ละฉบับ คุณณรงค์ต้องดูเรื่องลักษณะต้องห้ามในการรับราชการหรือการเข้าสู่ตำแหน่ง ให้ตัดคนพิการออกไปให้มีสิทธิเท่าเทียมกันคนอื่นๆ เพราะส่วนใหญ่จะเขียนว่า ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ทุพพลภาพ และจะต้องต่อว่าไม่เป็นคนพิการ

แล้ว กฎหมายที่จะทยอยออกมาตอนนี้ ใครจะเป็นคนที่ทำหน้าที่แทนคนพิการเหล่านี้ได้

ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะช่วยกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องในสิทธิที่พวกเขาควรจะได้ ผมจึงอยากเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมสัมมนาในวันดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นเหล่านี้ให้กว้างขวางมากขึ้น และผมจะทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลเหล่านี้เข้าไปในสภาร่างรัฐธรรมนูญครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น