xs
xsm
sm
md
lg

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

“ปรัชญา” และ “แนวคิด ทฤษฎี” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เศรษฐกิจพอเพียง” นั้น กลับมากล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์จากอดีตนักการเมืองคนหนึ่งที่ยัง “ระหกระเหิน-เร่ร่อน!” พูดโจมตี “นโยบายเศรษฐกิจ” รัฐบาลปัจจุบันที่ก่อให้เกิดปัญหากับสภาวะเศรษฐกิจที่ “นิ่ง-ว่าง!” เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ “นโยบายเศรษฐกิจ” ที่เรียกขานว่า “ทักษิโณมิกส์ (Thaksinomics)”

“แสงแดด” จึงต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านที่คงได้ผ่านหูผ่านตา พร้อมศึกษากันมาบ้างแล้วว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็น “ทฤษฎีใหม่” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนะแนวทางของการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดกว่า 25 ปีแล้ว ก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เสียด้วยซ้ำ

แต่ตลอดสิบกว่าวันที่ผ่านมา “แนวคิดทฤษฎีและปรัชญา” ของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้มีการกล่าวถึง และนำมาเผยแพร่ใหม่แก่สาธารณชน จน “แสงแดด” ต้องขอร่วมนำเสนออีกครั้งเพื่อความกระจ่าง และคงไม่สำคัญเท่ากับว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” นี้เป็นปรัชญาเป็นทฤษฎี มิใช่เป็น “นโยบายเศรษฐกิจ” แต่ประการใด

ส่วน “นโยบายเศรษฐกิจ-ทักษิโณมิกส์” นั้นเป็นเพียง “นาม” และ “สัญลักษณ์” ของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดที่แล้วเท่านั้น จะดีจะร้ายอย่างไร เราก็ทราบๆ กันดีอยู่ว่า “ผลกระทบ-ผลสะท้อน”ที่ค่อยๆ โผล่มาขณะนี้เป็นเช่นไร อาทิ “หนี้สินภาคครัวเรือน-หนี้สินประชากร” ตลอดจน “หนี้สินประเทศชาติ” เป็นต้น

เนื้อหาสาระและใจความสำคัญของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ “พระอาทิตย์สาดส่อง” ครั้งนี้ นำมาจากเอกสารและเว็บไซต์ต่างๆ
ที่มีการอธิบายอยู่ทั่วไป ซึ่งบางตอนจะเป็นการคัดลอกนำมาเผยแพร่ในคอลัมน์ครั้งนี้

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน “ทางสายกลาง” โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง “ความพอประมาณ” ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”

ข้อความข้างต้นเป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานในวโรกาสต่างๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำมาเผยแพร่ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2542 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป

การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง “ความพอประมาณ-ความมีเหตุผล” การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผนการตัดสินใจและการกระทำ

หลักในการพิจารณาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีอยู่ทั้งสิ้น 5 ส่วนสำคัญ ดังนี้

1. กรอบแนวคิด
เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจาก “วิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย” สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา มุ้งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤต เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา

2. คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน

3. คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อมๆ กันดังนี้

3.1 “ความพอประมาณ” หมายถึง “ความพอดี” ที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

3.2 “ความมีเหตุผล” หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ

3.3 “การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว” หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

4. เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรม เป็นพื้นฐาน กล่าวคือ “เงื่อนไขความรู้” ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ และ “เงื่อนไขคุณธรรม” ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

5. แนวทางปฏิบัติ และผลที่คาดว่าจะได้รับจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี

เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่ โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ ในขณะที่ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม

ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ได้ดังนี้

ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว โดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน เทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่นๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชน ราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม

ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือการที่ธุรกิจต่างๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ

กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรต่างๆ มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้วก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตน ซึ่งจะสามารถทำให้ ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้นๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง

ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ ธนาคาร สถาบันวิจัย เป็นต้น

การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา หรือร่วมมือกันพัฒนา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่อันประกอบด้วยชุมชน องค์กร และธุรกิจต่างๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงกลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลักไม่เบียดเบียน แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด

“ข้อความ-เนื้อหาสาระ” ข้างต้นนี้ “แสงแดด” หยิบยกมาอธิบายนั้นเป็นการคัดลอกมาจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์เพื่อปรารถนาให้ท่านผู้อ่าน อาจได้เก็บไว้เพียงหนึ่งหน้ากระดาษจากคอลัมน์หรือติดแปะใส่ข้างฝาไว้เพื่อเอาไว้ศึกษาให้กระจ่างแจ้งชัดว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นั้นเป็นเช่นนี้นี่เอง!

ประเทศชาติบ้านเมืองของเราเป็นประเทศเล็ก มีทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ที่เพียงพออยู่ได้ด้วยลำพัง คงมิต้องพึ่งพามากมายนักจากสังคมโลกที่มีแต่การ “แข่งขัน-เอารัดเอาเปรียบ” และปัจจุบันเน้นที่สุดคือ “เสรี” แต่อาจ “ไม่เป็นธรรม”

อย่างไรก็ตาม เราคงหลีกหนีที่จะหลุดพ้นจากสังคมยุคโลกาภิวัตน์ได้ เพียงแต่ว่าเราจะอยู่อย่างไรที่ “อยู่ได้อย่างสายกลาง พอมี พอกิน พอประมาณ” ไม่ต้องเดือดร้อน ดิ้นรน จนมี “หนี้สินล้นพ้นตัว!”

ขอย้ำอีกครั้งว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่ “ในหลวง” ทรงพระราชทานชี้แนะแก่พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริปรัชญานี้มายาวนานถึง 20 กว่าปี เพื่อเป็นการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข ซึ่งมิใช่นโยบาย และ/หรือมาตรการทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น ไม่ควรที่ใครก็ตามที่จะอาจเอื้อมนำไปเปรียบเทียบได้ ดั่งว่าเป็น “นโยบายเศรษฐกิจ” เพราะขอย้ำว่า “ไม่ใช่!” และไม่สำคัญเท่ากับว่า “ไม่ได้!”

จะเป็น “ชื่อใคร” หรือ “อะไรโณมิกส์” นั้น เป็นแค่ “วิธีการคิด-วิธีการทำงาน” เท่านั้น เฉพาะสถานการณ์ใด ยุคใดยุคหนึ่งเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่ “หวือหวา” และ “ปราศจากความพอดี พอเพียง” ก็ได้

แต่ที่แน่ๆ ปรากฏชัดแล้วว่า “นโยบายเศรษฐกิจ” เช่นนั้น ก่อปัญหามากมายมหาศาล “หลุดโลก-หลุดแกนสายกลาง” ไปเรียบร้อยแล้ว!
กำลังโหลดความคิดเห็น