xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.สภาอุตฯจี้เลื่อนSSBสู่ใต้ตอนล่าง ช่วยดับไฟใต้-โวรับปิโตรเคมีได้สบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - "ประธานสภาอุตฯภาคใต้" ลั่นเห็นด้วยที่จะปัดฝุ่นโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด แต่เสนอให้เลื่อนจากใต้ตอนบนลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ระบุจะสร้างอานิสงส์ให้ไฟใต้ดับได้เร็วขึ้น ชี้พื้นที่มีศักยภาพรองรับการขยายฐานอุตฯปิโตรเคมีจากอีสเทิร์นซีบอร์ดได้อย่างสบาย นิคมอุตฯของ กนอ.ก็มีอยู่แล้ว แถมยังสามารถขยายครอบคลุมได้ถึง 9 จังหวัด ขณะที่รัฐเองมีแผนจะสร้างท่าเรือน้ำลึกเชื่อมสงขลา-สตูล อีกทั้งในพื้นที่ก็มีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย รวมถึงโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน

นายทวี ปิยะพัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด (PFP) ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลมีแผนจะรื้อฟื้นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด (SSB) ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่โครงการนี้ถูกเก็บเข้าลิ้นชักไปนาน เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแหล่งใหม่ ซึ่งที่ผ่านมานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด (ESB) ได้มีการขยายตัวจนเต็มพื้นที่ไปนานแล้ว

ทั้งนี้ ตามแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของรัฐ นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเฟส 1 และเฟส 2 อยู่ในพื้นที่โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด (ESB) ซึ่งเฟส 1 อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ส่วนเฟส 2 อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยทั้ง 2 เฟสที่ผ่านมามีการขยายตัวเต็มพื้นที่แล้ว และได้ก่อให้เกิดปัญหามลพิษอย่างหนักตามมา รัฐบาลจึงปัดฝุ่นโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดในภาคใต้ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเฟส 3 ขึ้นมาใหม่ในเวลานี้

นายทวีกล่าวว่า แม้โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดแต่เดิมจะกำหนดเอาพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงาและภูเก็ต โดยมีสะพานเศรษฐกิจที่ประกอบด้วย ถนนมอเตอร์เวย์ เส้นทางรถไฟ ท่อน้ำมัน ท่อก๊าซ และท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยที่นครศรีธรรมราช ส่วนฝั่งอันดามันอยู่ที่พังงา และมีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่ด้วยนั้น แต่ในความเห็นของตนแล้วเวลานี้รัฐบาลควรจะเลื่อนโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดจากภาคใต้ตอนบนลงมายังพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างน่าจะเหมาะสมกว่า

ในส่วนของเหตุผลที่จะรองรับการเลื่อนโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดลงสู่พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง นายทวีกล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนที่จะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย และอันดามันอยู่แล้ว คือ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันที่ ต.ปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งมีร่องน้ำลึกถึงประมาณ 13 เมตร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบและมีการเตรียมจัดงบประมาณรองรับไว้แล้ว กับท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยที่ ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีร่องน้ำลึกประมาณ 9 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการ และก็มีระบุไว้ในผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ที่กำลังจะประกาศใช้ในปีนี้แล้วด้วย

นอกจากนี้ ในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ปัจจุบันก็มีได้มีการก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 1 ขึ้นมาแล้ว และกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ตามมาอีก ซึ่งพื้นที่นี้ในผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาได้กำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ด้วย

ในส่วนของถนนเชื่อมท่าเรือหัวท้ายก็มีการขยายเป็นสี่เลนแล้ว ด้านพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ก็สร้างนิคมฯขึ้นใน จ.สงขลาแล้วคือ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ อีกทั้งพื้นที่ที่จะรองรับนิคมฯยังสามารถขยายครอบคลุมทั้ง 9 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างได้เลยคือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี

"หากรัฐบาลเลื่อนโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดลงมาภาคใต้ตอนล่างตามที่ผมเสนอ คุณูปการมหาศาลที่จะตามมาก็คือ จะสามารถช่วยเร่งให้เกิดการดับไฟใต้ ที่กำลังเป็นปัญหาวิกฤตของประเทศชาติอยู่ในเวลานี้ด้วย ซึ่งหากมองในระยะยาวพื้นที่ใต้ตอนล่างอย่างไรก็เหมาะสมที่สุด จากท่าเรือที่สตูลนี่ใช้เวลาเพียงประมาณ 6 ชั่วโมง ก็สามารถเข้าสู่เส้นทางเดินเรือสากลได้แล้ว ต่อไปสินค้าจากภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะยางพาราที่มีปีละกว่า 3 แสนตันก็ไม่ต้องขนส่งไปลงเรือที่รัฐปีนัง ของประเทศมาเลเซีย สามารถที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มและให้เม็ดเงินตกอยู่ในประเทศไทยเราได้เลย" นายทวีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น