xs
xsm
sm
md
lg

จากจอมพล ป. พิบูลสงครามถึงพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการดาวะห์นี้ มีผู้รับผิดชอบและผู้บริหารสูงสุด ที่น่าจะเรียกว่าเป็นประธานโครงการ

ชื่อ “กุสตาด อับดุล วาฮับ ยะลา”

เป็น 3 บรรทัดสุดท้ายของรายงาน “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” เมื่อฉบับที่แล้ว คือวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2550, การที่ต้องนำ 3 บรรทัดสุดท้ายของรายงานวันนั้นมากล่าวถึงอีก ก็เพราะรายงานในฉบับนี้มีความต่อเนื่องกันอยู่ในบางส่วนในประเด็นที่เชื่อกันว่า สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมาถึงจุดบวกได้ หลังจากที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีลงไปภาคใต้เข้าพื้นที่ของปัญหาในวันที่ 27 มกราคม 2550 และค้างคืนในพื้นที่ และลงพื้นที่อีกรอบระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์นี้ โดยมีภารกิจที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย สำหรับสิ่งที่ไม่เปิดเผย คือการได้พูดคุยแสวงหาแนวทางร่วมกับหลายฝ่าย (รวมทั้งฝ่ายที่ยังต้องปกปิดตัวตน และสถานภาพ) ที่จะทำให้เหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่เบาบาง และถอยกลับไปสู่ความสงบ ที่คาดหวังกันว่า มีความสงบระดับที่ปรากฏใน พ.ศ. 2531 ก่อน แล้วค่อยพัฒนาให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยการพูดจากันนั้น เป็นการพูดจาแบบหาแนวทางในทางกว้างก่อนสู่ทางลึก อันเป็นรายละเอียด

ด้วยลักษณะของ “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” นี้ ก็คือความเป็น วารสารศาสตร์สายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เป็นกลาง หรือวารสารศาสตร์เพื่อสาธารณะตามคำของ “เซี่ยง เส้า หลง” คือการหาความจริงให้ปรากฏ ที่แตกต่างไปจากข่าว ซึ่งมี 2 ด้าน เป็นการขุดและคุ้ยต่อเป้าหมายแบบโกยดินจึงได้แร่ จึงทำให้ภารกิจลับของนายกรัฐมนตรีในการเริ่มต้น “สันติด้วยความเข้าใจ” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกจับตามองและเป็นคำถาม โดยเฉพาะความเข้าใจของผู้ตั้งคำถามที่ว่าเป็น “การเจรจา” นั้น เป็นคำถามที่อยู่คนละประเด็นกับความเป็นจริง เพราะในปัญหานี้ถึงอย่างไรก็ไม่เป็นการเจรจาแบบมีฝ่าย แต่เป็นการแสวงหาลู่ทางของฝ่ายเดียวกัน คือ คนไทยด้วยกัน ที่จะแก้ไขปัญหาของชาติร่วมกัน ตามแนวทางความเห็น ซึ่งมิใช่เป็นการเรียกร้องต่อรอง

โอกาสที่จะเป็นอย่างที่รัฐบาลมาเลเซียมาลงนามยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ซึ่งไทยเป็นผู้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งมีการลงนามกันที่ โรงแรมเจ.บี. หาดใหญ่ สงขลา นั้น จะไม่เกิดขึ้นในกรณีนี้ โดยแนวทางและวิธีการแก้ไขต่างๆ นั้น จะเป็นโดยการประกาศมาตรการของทางรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว

บรรยากาศต่างๆ นี้ ไม่ได้เริ่มต้นเมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็นสิ่งที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้สานต่อจากเรื่องที่ทำไว้เมื่อเป็น “องคมนตรี” ซึ่งมีพื้นฐานของความเป็นจริง และเป็นไปได้อยู่ก่อนแล้ว โดยนัยแห่งการเป็นองคมนตรีนั้น เป็นเครื่องบอกได้หลายๆ คำตอบอยู่แล้ว, เมื่อได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงนำประเด็นและปัญหาต่างๆ มาเป็นนโยบายหรือการกำหนดทิศทาง “วาระแห่งชาติ” ในเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ได้อย่างต่อเนื่อง จนมีความมั่นใจว่าปัญหาอันใหญ่หลวงจะจบลงได้ในรัฐบาลนี้ ยุติการขัดแย้ง ยุติการนองเลือดได้เสียที

ได้กล่าวไว้ในตอนแรกว่า ความคาดหวังที่คาดว่า อย่างน้อยสถานการณ์จะกลับไปอยู่ในระดับที่เป็นอยู่ใน พ.ศ. 2531 นั้น ซึ่งเป็นปีที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนตกต่ำเสื่อมโทรม ในปีนั้น ประชาชนในหลายท้องถิ่นออกมาต่อต้านไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่ามีการกระทำที่ “เกินไป” แม้ไทยมุสลิมด้วยกันเองก็ยอมรับไม่ได้ คือการวางระเบิดพระพุทธทักษิณที่เขากง เผาโรงเรียนและสถานีอนามัยในจังหวัดนราธิวาส 11 แห่ง การเผาสถานีอนามัยทำให้เกิดความแค้นเคืองว่าเป็นการทำลายชีวิต แหล่งพึ่งพายามเจ็บป่วยของผู้คน, ขบวนการจึงได้ประกาศว่า ประชาชนต้องเสียสละเช่นเดียวกับที่พวกเขาได้เสียสละเป็นอย่างสูงแล้ว คือการจัดตั้งขบวนการ “มูจาฮีดีน” (นักรบของพระเจ้า) โดยสมาชิกจากกลุ่มพูโล และบีอาร์เอ็น.ได้รวมกันเป็นขบวนการใหม่ภายใต้ชื่อนี้ แต่ก็แก้ไขความรู้สึกของประชาชนได้ไม่มากนัก แม้ว่าจะประกาศตัวเข้าสู่การรบขึ้นสูงสุดแล้วก็ตาม และในปีนั้น ทางรัฐบาลประสบความสำเร็จใน “โครงการมุสลิมสันติ” มีโจรก่อการร้าย และผู้สนับสนุนมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย 652 คน ที่เหลือแปรสภาพจากเดิมเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ หรือโจรผู้ร้ายธรรมดา ที่ต่างคนต่างปฏิบัติการก่อการร้ายอยู่บ้างตามแต่โอกาส

ผู้นำของขบวนการที่มีอยู่ 4 องค์กร คือ พูโล ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่และเก่าแก่ที่สุด บีอาร์เอ็น. เบอร์ซาตู และ มูจาฮีดีน (ซึ่งเดิมเป็นการรวมตัวกันในทางปฏิบัติระหว่างพูโลกับบีอาร์เอ็น. แต่ภายหลังถือว่าเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง) ได้ประชุมกันที่รัฐกลันตัน มาเลเซีย เรียกว่าเป็นการประชุมร่วมต่อสู้เพื่อเอกราชรัฐปัตตานี มีพรรคฝ่ายค้านในมาเลเซียเป็นผู้สนับสนุน หรือเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม, การประชุมในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2534 นี้ ได้ลงมติในการที่จะมีเอกภาพในการทำงานร่วมกันทั้งนโยบายและการปฏิบัติ จัดตั้งเป็นโครงการร่วมกันชื่อ “โครงการดาวะห์” เพื่อเข้าเผชิญและขัดขวาง “โครงการมุสลิมสันติ” ของทางรัฐบาลที่กำลังก้าวหน้ามาก ที่ประชุมได้เลือกให้มีประธานผู้รับผิดชอบโครงการ หรือเป็นผู้นำสูงสุด คือ นายกุสตาด อับดุล วาฮับ ยะลา ตั้งแต่บัดนั้น

ได้เป็นรายงานไปในฉบับที่แล้ว แต่ขอนำกลับมาทบทวน และกล่าวซ้ำอีกครั้งในฉบับนี้

คือหลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2534 เริ่มโครงการดาวะห์แล้ว โครงการนี้ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นรูปธรรม ด้วยการตั้งสภาต่อสู้แห่งชาติปัตตานี (ทำนอง กระทรวงกลาโหม) มีสมาชิกจาก 4 ขบวนการเข้าฝึกร่วมที่เขาลิแป อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และอีกพื้นที่ในจังหวัดยะลา ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2534

ให้มีสภาสูงสุด สภาร่วมต่อสู้แห่งชาติปัตตานี โดยนายกุสตาด อับดุล วาฮับ ยะลา เป็นประธานฯ

ให้สภาร่วมต่อสู้แห่งชาติปัตตานี พยายามในทุกทางที่จะเข้ามีที่นั่งในการประชุมองค์การมุสลิมโลก (OIC) ให้มีการประกาศตัวเป็นองค์กรทางสากล โดยผ่านสื่อมวลชนต่างประเทศ โดยกลุ่มพูโล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไคโร อียิปต์ เป็นผู้รับผิดชอบ

ให้เตรียมความพร้อมทุกทางอย่างเป็นเอกภาพ คือการตั้งสภาร่วมต่อสู้แห่งชาติปัตตานี การมีที่นั่งในองค์การมุสลิมโลก เพื่อการประกาศตั้งรัฐบาลแห่งชาติปัตตานี ในพ.ศ. 2535 ซึ่งคาดว่าจะมีประเทศมุสลิมยอมรับฐานะของรัฐบาลนี้ทันที 18 ประเทศ จากสมาชิก 53 ประเทศ

การเข้าสู่สากลอย่างเป็นขั้นตอน จนกระทั่งเตรียมการประกาศตั้งรัฐบาลนี้ ไม่บรรลุผลตั้งแต่ขั้นแรก คือการเข้าเป็นสมาชิกองค์การมุสลิมโลก โดยผู้แทนมาเลเซีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ตุรกี และอียิปต์ เป็นผู้คัดค้าน, ทั้งนี้จะต้องกล่าวถึง นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการที่ทำให้แผนงานของโครงการดาวะห์นี้ล้มเหลว ไม่สามารถประกาศตั้งรัฐบาลแห่งชาติปัตตานีได้ เพราะถ้าหากว่ามีการประกาศรัฐบาลได้ และมีประกาศมุสลิม 18 ประเทศให้การรับรอง การแยกดินแดนอย่างเป็นรูปธรรมก็เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2535 และปัญหาก็จะมิใช่ปัญหาภายในประเทศดังปัจจุบันนี้ โดยการจัดตั้ง รัฐบาลปัตตานี นั้น เป็นความคิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2490 และดำเนินการสืบต่อกันมา โดยในระยะแรกนั้น มีความคิดที่เป็นแผนใหญ่กว่านี้ คือการสถาปนาเป็น “รัฐเอกราช สาธารณรัฐมลายูเหนือ (REPUBLIC MALAYU UTARA) มีอาณาเขตตั้งแต่คอคอดกระ จังหวัดระนอง ไปจนถึงสุไหงโก-ลก คือเฉือนภาคใต้ของไทยทั้งหมด ยกเว้นชุมพรไว้จังหวัดเดียว โดยอ้างทางประวัติศาสตร์ว่า บริเวณนี้เป็น อาณาจักรลังกาสุกะ ก่อนถูกสยามเข้ายึดครอง เป็นความคิดที่เกิดมาก่อนมาเลเซียจะได้รับเอกราชจากอังกฤษเสียอีก โดยมีความคิดว่า เมื่อมลายู (มาเลเซีย) ได้รับเอกราช ก็จะเกิดประเทศใหม่พร้อมๆ กันไป โดยสาธารณรัฐมลายูเหนือ เป็นประเทศเกิดใหม่พ่วงท้ายไปด้วย, แต่ความคิดนี้ ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือเห็นดีเห็นงามจากบรรดาผู้ที่ดำเนินการ เพื่อเอกราชของมลายู (มาเลเซีย) เพราะเห็นว่าเป็นการตั้งความหวังกันเกินจริง และจะเป็นปัญหารุงรังกับการได้เอกราชของมลายูด้วย ที่เกิดมีมลายูเหนือและมลายูใต้เช่นนี้, มิหนำซ้ำผู้นำในการได้มาซึ่งเอกราชของมลายูจากอังกฤษ คือ ตวนกูอับดุลเราะห์มาน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังได้รับเอกราช (วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2500) ยังแสดงท่าทีรังเกียจการแบ่งแยกดินแดนจากการที่กล่าวว่า ตราบใดที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องแยกดินแดนอย่างนี้ จะไม่มีเด็ดขาด แต่หากว่าพ้นไปจากเขาแล้ว ก็ไม่รับรอง, การที่ตวนกูอับดุลเราะห์มาน ผู้เป็นบิดาแห่งเอกราชมาเลเซียกล่าวเช่นนั้น ก็เพราะว่า ท่านเป็นผู้มีเชื้อสายเป็นคนไทยทางฝ่ายมารดา ท่านมีชีวิตอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลาช้านาน โดยเป็นศิษย์เก่าของ โรงเรียนมัธยมเทพศิรินทราวาส

เมื่อความคิดเรื่องอาณาจักรลังกาสุกะ จะแปรมาเป็นสาธารณรัฐมลายูเหนือ เป็นไปไม่ได้ กรอบของการดำเนินการโดยยึดพื้นฐานปัจจันอันแท้จริงแทนการอ้างประวัติศาสตร์ ทำให้กรอบลดลงมาเป็น 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส แต่ก็ไม่ประสบผลที่จังหวัดสตูล ซึ่งลักษณะทางสังคมของจังหวัดนี้ ชาวไทยมุสลิม และไทยพุทธมีความรักใคร่ปรองดองกัน ไม่มีปัญหาต่อกันอันเป็นเงื่อนไข จึงได้ลดกรอบลงมาเป็นเพียงยะลา ปัตตานี นราธิวาส

นั่นเป็นแนวทางหนึ่งที่แจ้งกันว่า จะเกิดสาธารณรัฐมลายูเหนือไปพร้อมๆ กับที่มลายู (มาเลเซีย) ได้รับเอกราชจากอังกฤษ, ซึ่งในความคิดเรื่องการแบ่งแยกเช่นเดียวกัน แต่มีลักษณะแตกต่างกันก็มีอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้ปรากฏตัวออกมา คือพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ในสายที่เป็นมุสลิม ภายใต้การนำของ อับดุลราซิค ไมยิดดิน นำกองกำลัง “กรมที่ 10” จากมลายูเข้ายึด หมู่บ้านดุชงยอ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2491 ซึ่งต่อมากำลังทหารเข้ายึดคืนกลับมาได้ แม้ว่ากรมที่ 10 ของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา จะมีเป้าหมายทางการเมืองต่อมลายา ภายใต้การนำของ “จินเป็ง” เลขาธิการพรรค แต่ด้วยความเป็นมุสลิมด้วยกัน อับดุลราซิค ไมยิดดิน ได้เป็นผู้ประสานการติดต่อให้คนไทยดำเนินการเรื่องแบ่งแยกดินแดนไปด้วย เป็นการคู่ขนาน โดยมี “หะยี สุหรง” ประธานกรรมการอิสลาม ปัตตานี ซึ่งเป็น “โต๊ะครู” มีศิษย์ผู้เลื่อมใสมากเป็นผู้นำ ดำเนินการแต่เฉพาะในส่วน 4 จังหวัดภาคใต้ ต่อมา หะยี สุหรง ถูกจับพร้อมพวก 3 คน เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 พร้อมหลักฐานเอกสารการแยกดินแดน ทางการได้นำตัวไปดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลตัดสินจำคุก 7 ปี

การที่ “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” นำเรื่องราวของ หะยี สุหรง มากล่าวนี้ มีความเกี่ยวข้องกันอยู่กับการ “พูดจากัน” ในปัจจุบัน...เพราะได้มีกระแส หรือการกล่าวถึงว่า มีข้อเสนอหรือความต้องการที่มีความคล้ายกับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลของ หะยี สุหรง เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2490 ที่มีอยู่รวม 7 ข้อ ซึ่งยื่นกับรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม

โดยที่ทุกอย่างเป็นความลับที่สุด มีการเปิดเผยออกมาน้อยที่สุด คือ เรียกว่า ยังจับประเด็นที่ชัดเจนไม่ได้ เมื่อมีแต่เพียงกระแสข่าวที่ว่า มีการลอกเลียนหรือคล้ายๆ กับข้อเรียกร้องของ หะยี สุหรง เมื่อ 7 เมษายน พ.ศ. 2490 นั้น จึงต้องเข้าหาข้อเท็จจริงในครั้งนั้น เพื่อเป็น “กรณีศึกษา” คือรับรู้กันไว้ก่อนว่าเป็นอย่างไร?

ข้อเรียกร้องของ หะยีสุหรง ในครั้งนั้นรวม 7 ข้อคือ

1. ขอให้รัฐบาลแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่ มีอำนาจปกครอง 4 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ผู้ที่จะรับตำแหน่งข้าหลวงใหญ่นี้ ต้องเป็นคนนับถือศาสนาอิสลาม เกิดใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต 2. ขอให้เงินรายได้จากภาษีอากรใน 4 จังหวัดนี้ มาใช้บำรุงใน 4 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น 3. ขอให้รัฐบาลสอนภาษามลายูในโรงเรียนตามตำบลต่างๆ จนถึงชั้นประถมปีที่ 4 4. ขอให้รัฐบาลแต่งตั้งชาวพื้นเมืองใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นข้าราชการไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 5. ขอให้รัฐบาลใช้ภาษาท้องถิ่น (มลายู) ในสถานที่ราชการไปพร้อมกับภาษาไทย 6. ขอให้รัฐบาลให้อำนาจแก่คณะกรรมการอิสลามออกกฎหมายเองได้ โดยความเห็นชอบของข้าหลวงใหญ่ 7. ขอให้รัฐบาลแผนกศาลพิจารณาคดีแพ่งเกี่ยวกับศาสนาอิสลามออกต่างหาก และให้มีอิสระในการพิจารณาคดี

เพราะกระบวนการที่ดำเนินอยู่เป็นความลับ หัวข้อของการพูดจากันยิ่งเป็นความลับไปอีกชั้นหนึ่ง ซึ่ง “หัวข้อ” ในอดีตสมัย หะยี สุหรง นั้น ก็เป็นไปตามภาวะและยุคสมัยของ พ.ศ. 2490 คือเมื่อ 60 ปีก่อน ย่อมมีความแตกต่างจากปัจจุบันอย่างแน่นอน การนำเสนอนี้เป็นไปในเชิงประวัติศาสตร์ของการรับรู้ว่า สถานการณ์ภาคใต้ได้เคยเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง เพื่อจะได้เป็นข้อพิจารณาและติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ใน พ.ศ. 2550 นี้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น