xs
xsm
sm
md
lg

เรากำลังมีชีวิตอยู่ในระบอบสังคมที่เงินงอกได้ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: อมร อมรรัตนานนท์

นายทุนอุตสาหกรรม เป็นผู้บริหารการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งมูลค่าส่วนเกิน เมื่อได้มูลค่าส่วนเกินแล้ว ชนชั้นนายทุนอุตสาหกรรม ก็มักจะไม่ได้กินแต่ผู้เดียว ตามธรรมดาในการดำเนินการผลิต นายทุนอุตสาหกรรม มักจะเกี่ยวโยงกับผู้มีทรัพย์สินกลุ่มอื่นๆ อีกอย่างน้อย 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก ได้แก่ เจ้าที่ดิน เพื่อเช่าที่สำหรับปลูกโรงงาน สถานที่ทำการ โรงเก็บสินค้าและลานจอดรถ

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารและทรัสต์ กลุ่มนี้มีไว้สำหรับกู้เงินมาลงทุน หรือขยายทุน

กลุ่มที่สาม ได้แก่ พวกพ่อค้าใหญ่ ที่รับซื้อสินค้าในปริมาณมากๆ เรียกว่าผู้ซื้อเหมา

กิจการอุตสาหกรรมมักหนีไม่พ้นที่จะต้องติดต่อกับคนสามกลุ่มนี้ ดังนั้น เมื่อได้มูลค่าส่วนเกินมา ก็นำมาแบ่งปันให้แก่คนสามกลุ่มนี้ด้วย
ส่วนที่แบ่งให้เจ้าที่ดิน เรียกว่า “ค่าเช่า” ส่วนที่แบ่งให้สถาบันการเงินเรียกว่า “ดอกเบี้ย” ส่วนที่แบ่งให้แก่นายทุนพาณิชย์ เรียกว่า “กำไร” ส่วนที่แบ่งปันให้แก่ผู้ถือหุ้น ที่ร่วมกิจกรรมของตน เรียกว่า “เงินปันผล” ส่วนที่แบ่งให้แก่พนักงานระดับบริหารของตนเรียกว่า “โบนัส” หรือ “เงินรางวัลประจำปี”

ดังนั้น ที่มาของเงินงอกได้ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่า, ดอกเบี้ย, กำไร, เงินปันผล, เงินรางวัลประจำปี พูดให้ถึงที่สุดแล้ว ก็คือ “มูลค่าส่วนเกิน” ที่เกิดจากแรงงานกินเปล่าของชนชั้นกรรมกรนั่นเอง

ดังนั้น ในสังคมทุนนิยม ชนชั้นกรรมกร จึงเป็นเสมือนปลาอานนท์ ที่แบกโลกไว้ทั้งโลก


2. พวกชนชั้นหากินคล่อง มักเข้าใจว่า การทำมาหากินของตน มิได้เกี่ยวข้องกับผู้หากินฝืด มิได้เอารัดเอาเปรียบผู้หากินฝืด เงินที่งอกของตน เป็นสิ่งที่พวกเขาเข้าใจว่า หามาได้จากน้ำพักน้ำแรงของพวกเขาเอง มิได้ขูดรีดใครเลย

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจว่า ผู้หากินคล่องทั้งปวง โดยทั่วไปมักเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือเจ้าของปัจจัยการผลิตเป็นส่วนใหญ่ บุคคลเหล่านี้ โดยทั่วไป มักมิได้ประกอบชีพโดยลำพัง พวกเขาจำเป็นต้องมีลูกมือลูกตีนมาทำงานให้ เรียกว่า “ลูกจ้าง” ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับลูกจ้าง เรียกตามภาษากฎหมายว่า เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง “นายจ้างกับลูกจ้าง”

แต่เคราะห์ร้ายเหลือเกิน พวกหากินฝืดทั้งปวง มักเป็นบุคคลที่ไม่มีทรัพย์สิน และไม่มีปัจจัยการผลิตเป็นของตนเอง มีทรัพย์สินในตัวอยู่เพียงอย่างเดียว คือ ความสามารถที่จะทำงานได้ เราเรียกเป็นศัพท์ว่า “แรงงาน” (Labour) หรือถ้าจะให้ถูกจริงๆ ต้องเรียกว่า “พลังสำหรับทำงานได้” (Labour power)

สิ่งที่ชนชั้นกรรมกร ขายให้แก่ชนชั้นนายทุนจริงๆ ก็คือ “พลังสำหรับทำงานได้” เช่นว่านี้ ซึ่งเรามักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า “พลังแรงงาน”

ดังนั้น ที่เรียกว่า “ลูกจ้าง” ของพวกหากินคล่องนั้น แท้จริง ก็คือ พรรคพวกของฝ่ายที่หากินฝืดนี้เอง

เราได้กล่าวแล้วว่า ในปริมาณแรงงานที่กรรมกรทำไปภายในหนึ่งๆ วันนั้น ส่วนหนึ่ง เป็นแรงงานที่ได้รับค่าจ้าง (Paid labour) อีกส่วนหนึ่ง เป็นแรงงานที่ไม่จ่ายค่าจ้าง (Unpaid labour)

แรงงานส่วนนี้เอง ที่เราเรียกว่า ส่วนที่ถูกเอาเปรียบ หรือส่วนที่ขูดรีดกรรมกร ดังนั้น ผู้ที่หากินคล่องทั้งปวง จึงมิใช่เป็นผู้มีอาชีพที่สุจริตนัก ไม่อาจกล่าวได้ว่า เป็นผู้ประกอบสัมมาอาชีพอย่างแท้จริง

ถ้าพูดอย่างไม่เกรงใจ จะต้องกล่าวว่า ผู้หากินคล่องทั้งปวง เป็นผู้เอาเปรียบผู้อื่นโดยพวกเขาไม่ค่อยรู้ตัว

เพื่อให้สามารถมองเห็นกลไกการเอาเปรียบของสังคมทุนนิยม เราควรพิจารณากระบวนการผลิตของชนชั้นนายทุนสักเล็กน้อย

กระบวนการผลิตของชนชั้นนายทุน

นายทุน ก็คือ กลุ่มบุคคลที่มีเงินก้อนหนึ่ง พวกเขาจะต้องนำเงินก้อนนี้ออกไปหมุน (หรือลงทุน) เพื่อให้เงินก้อนนี้ขยายตัว เป็นปริมาณเงินมากกว่าเดิมขึ้นเรื่อยๆ จากทุกๆ รอบ ที่ทำการหมุนหรือทำการลงทุน

ปัญหามีว่า พวกเขา จะจ้องนำเงินไปลงทุนในกิจการอะไร เงินทุนจึงจะเพิ่มขึ้น หรืองอกเงยมากกว่าเดิมอยู่เรื่อยๆ

โครงสร้างของทุน โดยทั่วไป มักประกอบด้วย ทุนคงที่ และทุนเปลี่ยนได้

1.ทุนคงที่ (Constant capital) หมายถึง ทุนที่ลงไปในการซื้อปัจจัยการผลิต และค่าเช่าที่ดินสำหรับปลูกสร้างอาคารที่เกี่ยวกับการดำเนินการผลิต โดยปกติ เงินที่ลงไปในการซื้อสินค้าเหล่านี้ มักมิใช่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุนงอกได้ จึงเรียกกันว่า ทุนคงที่

2. ทุนเปลี่ยนได้ (Variable capital) หมายถึง ทุนที่ใช้ในการซื้อพลังแรงงานของพวกกรรมกร หรือพวกหากินฝืด

ทุนก้อนนี้ เป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้เกิดการงอกเงยอย่างแท้จริง


ในการดำเนินการผลิต วัตถุดิบจะถูกแปรสภาพไปเป็นสินค้าใหม่ มูลค่าของวัตถุดิบ จะไปปรากฏตัวอยู่ในมูลค่าของสินค้าใหม่ ด้วย

นอกจากนี้ มูลค่าของพลังงานในระหว่างดำเนินการผลิต, ค่าแรงของชนชั้นกรรมกร, ค่าสึกหรอของเครื่องมือการผลิต, ตลอดจนค่าจ้างของฝ่ายจัดการ จะรวมอยู่ในสิ่ง ที่เรียกว่า “ต้นทุนการผลิต” (Cost production) ด้วย

ปัญหามีว่า ลำพังสิ่งเหล่านี้ ยังไม่สามารถเป็นที่มาของกำไร สินค้าที่ผลิตออกมาแต่ละหน่วย จะต้องขายตามมูลค่าที่แท้จริงของมัน

ชนชั้นนายทุน ไม่อาจอาศัยกลยุทธ์แบบ “ซื้อถูกขายแพง” เป็นนโยบายทางการค้าของตนฝ่ายเดียวอยู่ตลอดไป ไม่มีใครจะเป็นผู้ผูกขาดความเป็นผู้โชคดีไว้ตลอดกาล


ดังนั้น ในปริมณฑลของการแลกเปลี่ยนสินค้า จึงไม่มีใครสามารถชิงความเป็นผู้ชนะไว้ได้ตลอดกาล ทุกฝ่ายล้วนแต่ผลัดกันได้ ผลัดกันเสีย ด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในปริมณฑลของการแลกเปลี่ยนสินค้า จึงไม่มีต้นตอของกำไร อย่างแท้จริง

ต้นตอของกำไร อย่างแท้จริง อยู่ที่ปริมณฑลของการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อยู่ที่ทุนเปลี่ยนได้ นั่นก็คือ ทุนที่ใช้ไปในการซื้อพลังงานของกรรมกร นั่นเอง

พลังแรงงานของกรรมกร ก็มีต้นทุนการผลิต เช่นเดียวกัน
ในการมีแรงและมีความสามารถในการทำงาน กรรมกรต้องมีทุนในการกินอาหาร มีที่พักอาศัย ยารักษาโรค และสิ่งจำเป็นอื่นๆ เพื่อรักษาสุขภาพให้ปกติ นอกจากนี้ การจะมีความชำนาญ และมีความสามารถในการทำงาน กรรมกรต้องผ่านการศึกษา และฝึกอบรมมาในระดับหนึ่ง

ดังนั้น ต้นทุนการผลิตแรงงานกรรมกร จึงได้แก่มูลค่าของปัจจัยดำรงชีพอันจำเป็นสำหรับหล่อเลี้ยงกรรมกร และครอบครัว รวมทั้งค่าฝึกฝนอบรม ด้วย

การที่ชนชั้นนายทุนต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูครอบครัว ให้แก่กรรมกรด้วย ก็คือ ค่าเพาะพันธุกรรมกรรุ่นใหม่นั่นเอง
ถ้าแรงงานของกรรมกรไม่มีการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง กรรมกรก็จะเป็นเหมือนสวนยางที่ไม่มีการเพาะพันธุ์ยางไว้สำรอง เมื่อหมดสวนยางรุ่นนี้แล้ว ก็จะไม่มีสวนยางรุ่นอื่นไว้กรีดยางอีกต่อไป

ดังนั้น การมีค่าสืบพันธุ์ให้นิดหน่อย ก็เพื่อผลดี อันยาวไกลของชนชั้นนายทุนเอง หาใช่ความเมตตาการุณ แต่ประการใดไม่

ค่าปัจจัยดำรงชีพอันจำเป็นทั้งปวง ในอัตราที่มีชีวิตอยู่คล้ายวัวควายก็ประมาณ 145 บาท นี่เป็นการประเมินของกรรมการปรับปรุงค่าแรงของกรรมกรในปัจจุบัน

ปัจจุบัน ถ้าเราจะผลิตสินค้าให้มีมูลค่าประมาณ 145 บาท เราจะใช้แรงงานอันจำเป็นทางสังคมกี่ชั่วโมง

โดยทั่วไป ก็ใช้ประมาณ 4 ชั่วโมง หรือ 5 ชั่วโมงเป็นอย่างสูง
ดังนั้น ในการจ้างกรรมกรวันละ 145 บาท ถ้านายทุนใช้กรรมกรทำงานวันละ 4 หรือ 5 ชั่วโมง แล้วปล่อยกลับบ้านไป ก็จะเป็นการจ่ายค่าแรงที่ยุติธรรม และไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน

แต่ในทางเป็นจริง กรรมกรคนหนึ่งทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ดังนั้น จึงมีชั่วโมงแรงงานที่มิได้จ่ายค่าแรงอยู่อย่างต่ำ วันละ 3 ชั่วโมงต่อกรรมกรหนึ่งคน ถ้าโรงงานแห่งนั้นมีกรรมกรอยู่ 1,000 คน วันหนึ่งๆ ชนชั้นนายทุนก็ โกงชั่วโมงแรงงานของกรรมกร เหล่านั้น วันละ 3,000 ชั่วโมง เดือนหนึ่งก็ประมาณ 15,000 ชั่วโมง (สมมติว่าทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน) ปีหนึ่งก็ 180,000 ชั่วโมง

นี่คือที่มาของ มูลค่าส่วนเกิน และที่มาของ กำไร ของชนชั้นนายทุน!

คือ ที่มาของความสุขสบายของผู้หากินคล่อง ทั้งปวง!

ในสภาพเช่นนี้ ถ้าจะกล่าวว่า ชนชั้นนายทุนมีบุญคุณต่อชนชั้นกรรมกร ในฐานะที่รับเข้าทำงาน ทำให้มีงานทำ มิได้เอาเปรียบหรือขูดรีดกรรมกรเลย เห็นจะฟังได้ยาก

เหตุนี้ ความชอบธรรมของกำไรทั้งปวงของชนชั้นนายทุน จึงเป็นสิ่งที่มีปัญหา!

ความเป็นอาชีพสัมมาอาชีวะ ไม่เบียดเบียนใครของชนชั้นนายทุน จึงเป็นสิ่งมีปัญหาด้วย เช่นกัน!

บุคคลที่อ้างตนว่า เป็นผู้มี “มันสมอง” หรือมี “วิสัยทัศน์” จะมีการรับรู้เรื่องนี้ หรือไม่?, มีการคิดแก้ปัญหานี้อย่างแท้จริง หรือไม่?

เป็นเครื่องวัดว่า บุคคลผู้นั้นมีภูมิปัญญาอย่างแท้จริงหรือไม่? และมีความรัก, ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง หรือไม่? เช่นกัน !


นี่คือ หนังตัวอย่างเพียงสั้นๆ เท่านั้น

ล้อมกรอบ

ในวาระที่สังคมไทย กำลังอยู่ในภาวะแสวงหา เพื่อการปรับทิศเปลี่ยนทาง เพื่อหาจุดของความสมดุล ว่าเศรษฐกิจ การเมือง ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา เดินหน้าต่อไปอย่างไร

ที่สำคัญ จะดำรงอยู่ร่วมกับประชาชาติต่างๆ ในโลกของทุนโลกาภิวัตน์ ซึ่งกำลังแผ่ซ่านและทรงอิทธิพลครอบงำ ประเทศต่างๆ

การศึกษา โลก เรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน เพื่อมุ่งมันสร้างสรรค์ สังคมประเทศไทย จึงเป็นภาระความจำเป็นอย่างรีบด่วน

ต้องยอมรับว่า เป็นงานของนักต่อสู้ในอดีตแม้จะเก่าเก็บ แต่คุณค่าซึ่งดำรงอยู่ในตัวของชิ้นงานนั้นๆ เป็นสัจธรรมที่สมควรนำมาเผยแพร่ งานเขียนของ เปลว สัจจาภา เรื่อง เรากำลังมีชีวิตอยู่ในระบอบสังคมที่เงินงอกได้ เขียนไว้เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา

เป็นงานที่ท่านเขียนไว้ เพื่อให้เข้าใจระบอบทุนนิยมอย่างง่ายๆ ส่วนรายละเอียดที่เป็นปัจจุบัน เป็นภาระของผู้อ่านจะได้นำไปแลกเปลี่ยน อภิปรายให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น