xs
xsm
sm
md
lg

GMMปรับเกมรุกมิวสิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ออกฉบับวันที่ 25-1-50

ธุรกิจเพลงสู่ภาวะจุดเปลี่ยนตามเทรนด์โลก ชี้นิวมีเดียมาแรงรับตลาด ดิจิตอลมิวสิกบูม คาดอีก 3 ปีตลาดดิจิตอลมิวสิกคอนเท้นต์ทะลุ 36,000ล้านบาท ด้านจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ปรับตัวรองรับ ทำตลาดแบบไลฟ์สไตล์มาร์เกตติ้งพร้อมต่อยอดขยายช่องทางสร้างรายได้จากคอนเทนต์เพลงเพียบ

นายมาร์เซล เฟเนซ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจบันเทิงและมีเดีย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท ไพร้ซ วอเตอร์ เฮาส์ จำกัด เปิดเผยในงานสัมนนา "The Turning Point-Trend in Global and Thai Music Industry" ว่า ธุรกิจดนตรีมีแนวโน้มการขยายตัวสูง โดยเฉพาะตลาดในเอเชียนี้ ซึ่งทิศทางการเติบโตจะเป็นในแนวของดิจิตอล ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เติบโตคือ การเพิ่มขึ้นบริการบรอดแบนด์ คอนเท้นต์ใหม่ๆและราคาที่ไม่แพง รูปแบบการคิดค่าบริการผ่านบัตรพรีเพด การบริการดาวน์โหลด ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการลักลอบจำหน่ายอย่างผิดกฎหมายหรือแผ่นผีซีดีเถื่อน

ทั้งนี้คาดว่าในปี 2553 ส่วนแบ่งการตลาดทางด้านดิจิตอลโมบายของตลาดเอเชียจะเพิ่มขึ้น 48% โดยที่ตลาดโมบายมิวสิคจะเป็นส่วนสำคัญที่มีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่า 22.8% ซึ่งเป็นรูปแบบของดิจิตอลมิวสิคคอนเท้นต์ โดยหากคิดเป็นมูลค่าประมาณ 36,000ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าตลาดโมบายมิวสิคของภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนสูงกว่าตลาดในอเมริกาประมาณ 5 เท่าและใหญ่กว่าตลาดในยุโรปและตะวันออกกลางประมาณ 30%

นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ธุรกิจเพลงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดีขึ้นแล้ว หลังจากที่หลายปีก่อนหน้านี้ไม่ค่อยดี โดยตลาดซีดีเพลงตกลงประมาณ 5%ตลาดรวม แต่บริษัทฯ ยังคงยืนยันการเป็นบริษัทผลิตเพลง ผลิตคอนเท้นต์เพลงที่มากที่สุดแข็งแรงที่สุด และเพลงยังคงเป็นธุรกิจและสร้างรายได้หลักให้กับบริษัทฯโดยเฉลี่ยจะผลิตประมาณ 150 อัลบั้มต่อปี รวมทั้งปรับตัวเพื่อรองรับกับดิจิตอลมิวสิกที่เติบโตขึ้นอย่างมากด้วย

"เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทำให้ไลฟ์สไตล์การฟังเพลง และช่องทางการเข้าถึงของผู้บริโภคเปลี่ยนไปด้วย เมื่อก่อนมีแค่ช่องทางทีวี วิทยุ แต่เดี่ยวนี้ฟังได้หลายสิบเท่าหลายช่องทาง ซึ่งจะส่งผลดีที่ทำให้เทปผีซีดีเถื่อนกลายเป็นปัญหาที่เล็กๆลง เพราะว่าปริมาณการซื้อการบริโภคของคนฟังเพลงจะมากกว่าเดิม ไม่ใช่ฟังแค่จากซีดีเท่านั้นแล้ว ซึ่งหลังจากที่บริษัทฯเปิดตัวระบบไอคีย์เป็นบริการโหลดเพลงก็ได้รับความสำเร็จอย่างดี"

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็จะเน้นการทำนิวมีเดียมากขึ้นด้วย เป็นการขยายช่องทางการสร้างรายได้จากเดิม โดยปัจจุบันเพียง 1 คอนเท้นต์ สามารถต่อยอดเป็นหลายช่องทาง เช่น ดาวน์โหลด คาราโอเกะ โชว์บิส อราทิสแมเนจเม้นท์ การขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศ เป็นต้น และในอนาคตคาดว่าจะมีช่องทางใหม่ๆเกิดขึ้นอีกมาก ซึ่งบริษัทฯต้องทำการตลาดในแนวไลฟ์สไตล์มาร์เกตติ้ง เพื่อเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคและคู่ค้าพันธมิตร สปอนเซอร์เป็นหลัก

"เวลานี้การใช้สื่อเราจะไม่ยิงสาดเป็นปืนกล แต่จะยิงน้อยๆให้แม่นตรงเป้า สร้างรายได้หลายจุดที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นจะมุ่งรวบรวมพันธมิตรที่คบหากันมานานถึงระดับกลยุทธ์ให้ครบวงจรธุรกิจ โดยเฉพาะพาร์ทเนอร์ทางเทคโนโลยีและลูกค้า แกรมมี่จะไม่ทำเองทุกเรื่อง แต่จะเป็นทำสิ่งที่ถนัด"

นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจโชว์บิซถือเป็นเทรนด์ของธุรกิจเพลงทั่วโลก และเป็นการต่อยอดรายได้ของธุรกิจเพลงที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งแต่เดิมการจัดโชว์คอนเสิร์ตนั้นจะทำเมื่อมีการเปิดอัลบั้มใหม่ แต่ปัจจุบันสามารถทำได้ตลอดไม่จำเป็นต้องมีอัลบั้มใหม่ก็ได้

การจัดโชว์หรือคอนเสิร์ตนี้ยังมีรายได้อื่นอีกนอกเหนือจากการขายบัตรด้วย คือ สปอนเซอร์ ซึ่งแนวทางการร่วมมือกับสปอนเซอร์ทำได้ในหลายวิธี การจัดบู้ธหน้างาน การทำไทน์อินสินค้า การรวบรวมทำเป็นอัลบั้มซีดี ดีวีดี การออกอากาศทีวีแล้วขายโฆษณาได้อีก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของการทำธุรกิจโชว์บิซในไทยคือ 1.สถานที่ ซึ่งสถานที่ใหญ่ๆและพร้อมจัดคอนเสิร์ตใหญ่มีน้อย และเรื่องของราคาบัตร ซึ่งในไทยถือว่าเป็นราคาที่ต่ำมากในโลก แต่คนไทยยังบอกว่ามีราคาสูง ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการลงทุน เพราะผู้จัดไม่กล้าลงทุนมาก ดังนั้นจึงต้องมีกลยุทธ์ใหม่ๆเข้ามาช่วยกัน ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในความรู้สึกของผู้ฟังที่จะมาซื้อบัตรชมคอนเสิร์ต เช่น คอนเสิร์ตของใหม่ -เจริญปุระ ที่ผ่านมา บัตรใบละ 5,000 บาท แต่จะมีสิทธิพิเศษที่ได้รับมากมายเช่น ที่จอดรถพิเศษ ที่นั่งพิเศษ เครื่องดื่มบริการ มีปาร์ตี้กับศิลปินหลังเลิกงาน เป็นต้น

นายสุรชัย เสนศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ในเสียงเพลงที่เราได้ยินกันนั้นมีลิขสิทธิ์ใหญ่ๆแฝงอยู่คือ สิทธิ์ของค่ายเพลงและสิทธิ์ของผู้ประพันธ์เพลง ซึ่งในปัจจุบันสามารถจัดเก็บได้ 2 ทางคือ 1.การนำเพลงไปใช้ในเชิงการค้า ในธุรกิจต่างๆ เช่น คาราโอเกะ ธุรกิจวิทยุ ธุรกิจร้านอาหาร สายการบิน โรงแรม ศูนย์การค้า เป็นต้น

ช่องทางที่ 2. คือ ดิจิตอลมิวสิค ที่มีหลายแบบทั้งริงโทน ริงแบคโทน ดาวน์โหลดแบบเต็มเพลง แบบทั้งอัลบั้ม ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 2 ช่องทางนี้มีนัยสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯประมาณ 15% ของรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเพลงและค่าลิขสิทธิ์ของแกรมมี่ โดยอนาคตเตรียมที่จะรุกจัดการเก้บค่าลิขสิทธิ์ของแกรมมี่ในต่างประเทศด้วย

นายกิติกร เพ็ญโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูบีซีแฟนเทเชีย จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯมองว่าการออกเทปเพลงเป็นการลงทุนส่วนหนึ่งทำให้ศิลปินเป็นที่รู้จัก หลังจากนั้นเมื่อมีมูลค่าเพิ่มขึ้นก็สามารถที่จะต่อยอดธุรกิจได้ เช่น การทำโชว์บิซ ละคร เป็นต้น

นายอาจกิจ สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไป บริการมัลติมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คนไทยนิยมดาวน์โหลดเพลงผ่านมือถือมากที่สุดกว่า 90% ตรงนี้ทำให้ผู้ประกอบการมือถือมีรายได้มากขึ้น และแม้ว่าเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิ์ง่ายขึ้น แต่มักเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว แต่รัฐควรมีวิธีกำจัดเทปผีซีดีเถื่อนและการดาวน์โหลดที่ผิดกฎหมาย และส่งเสริมการลงทุนด้านสาธารณูปโภคกการสื่อสารอย่างจริงจังเช่นที่เกาหลีทำ กระทั่งทำให้ธุรกิจดิจิตอล มิวสิกของเกาหลีเติบโตกว่า 50% ของรายได้เพลงทั้งระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น