xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธวิธี “กินทีละคำ” ในชายแดนใต้ น่าเสียดายที่ “ทักษิณ” เตะชามข้าวหก

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

การลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีความแตกต่างจากสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เห็นว่าการไปในเขตนั้นคือ การเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ เป็นการเสี่ยงภัยและถือเป็นบุญคุณ, เพราะ พล.อ.สุรยุทธ์ ลงพื้นที่อย่างทหารหลายสมรภูมิ ถือเป็นหน้าที่ตามปกติ แม้ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม

เป็นไปเหมือนกับว่า มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับชุดปฏิบัติการพิเศษ (ชุด ชป.) หรือเป็นผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 หรือเป็นผู้บัญชากองพลรบพิเศษที่ 1 เหมือนกับว่ายังเป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พล.อ.สุรยุทธ์ รู้ลึกซึ้งมากว่า “ทักษิณ” เหมือนหัวกับหาง เพราะการอยู่หน่วยรบพิเศษนั้น ใช่ว่ารบพิเศษไม่เคยเข้าพื้นที่ภาคใต้ แต่ได้มีการปฏิบัติการในพื้นที่มานานแล้ว โดยกองพลรบพิเศษที่ 2 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็นหน่วยเข้าพื้นที่ในยุทธวิธี หรือการปรับไปตามสภาพของสถานการณ์ มีคนของรบพิเศษจำนวนไม่น้อย ที่อยู่ในพื้นที่อย่างพรางตัวและฝังตัวอยู่นานนับปี หรือที่เป็นสิบๆ ปีก็มี โดยไม่มีใครรู้ว่า นั่นคือทหาร และเป็นทหารจากหน่วยรบพิเศษ

พล.อ.องค์กร ทองประสม อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหน่วยรบพิเศษที่มาอยู่ในตำแหน่งนี้ เมื่อสถานการณ์มีความรุนแรง มีทหารหน่วยรบพิเศษจำนวนมากที่เข้าพื้นที่ โดยการปรับกระบวนยุทธ์ให้เข้าสู่การเป็นรบนอกแบบ และดูเหมือนว่าจะเป็นการใช้ยุทธวิธีรบนอกแบบอย่างเต็มรูปเป็นครั้งแรก อันมิใช่การรบแบบประจันหน้า หรือเอาแพ้ชนะกันโดยตรง แต่มีการทำหลายๆ อย่างประกอบกัน เพื่อนำไปสู่ชัยชนะที่ยั่งยืน ในยุทธวิธี “กินทีละคำ” ที่ต้องปรับแก้อุทธรณ์กันอยู่ตลอดเวลา โดยมีแนวรบอยู่รอบตัว หรือ 360 องศา และไม่มีแนวรบที่ถาวร เป้าหมายไม่คงที่

ในฐานะที่เคยเป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็นผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้ร่วมปฏิบัติมาด้วยตนเอง เมื่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงมีการฝากความหวังไว้ว่า จะแก้ไขสถานการณ์เลวร้ายให้เป็นสันติสุขได้ดีกว่ารัฐบาลก่อนๆ เพราะเป็นผู้ที่รู้ลึกซึ้งในปัญหามากกว่า และจิตใจของการเป็นทหารก็ย่อมเหนือกว่าด้วย

สิ่งแรกที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ทำ-เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี คือการกล่าวคำขอโทษแทนรัฐบาลที่ผ่านมา แต่คำขอโทษนั้น กลับมีผลย้อนมาว่า-ขอโทษไปก็เท่านั้น ยังมีการฆ่า มีเหตุร้ายรายวัน คำขอโทษนั้นอาจจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ใจ รวมทั้งมีการแปลความหมายไปถึงคำว่า ยอมแพ้-ยอมจำนน ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในความลึกซึ้งของคำว่า ขอโทษนั้น ทำให้แนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนลดลง สามารถที่จะแยกแยะบุคคล-หมู่บ้าน-ตำบลออกมาได้ แม้ว่าสมาชิกของขบวนการจะไม่ได้ลดน้อยลง แต่ก็จะไม่มีการเพิ่มขึ้น

การฟื้นตัวของ ศอ.บต. และ พตท. 43 ได้กลับเข้ามาสู่ยุทธศาสตร์/ยุทธวิธี “กินทีละคำ” ได้ดังเดิม แต่ก็เหมือนกับเป็นการเริ่มต้นกันใหม่ เพราะ “ทักษิณ” คนเดียว ที่เตะชามข้าวหก ด้วยการยุบ ศอ.บต. และพตท. 43 เพียงเพื่อจะแสดงศักยภาพของตำรวจ และจึงตามมาด้วยคำพูดแบบตำรวจ ที่ว่าสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องของโจรผู้ร้ายธรรมดา และเป็น “โจรกระจอก” ด้วย, โดยที่เขาคิดว่า การใช้อำนาจอย่างเดียวจะแก้ไขปัญหาได้ “ทักษิณ” ไม่รู้เลยหรือว่า ขบวนการนี้มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2490 เป็นเวลานานครึ่งศตวรรษที่แผนการแบ่งแยกดินแดนนี้ ได้มีมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีมาแล้วกี่คน หรือว่าคนอย่าง “ทักษิณ” คิดว่าตนเองมีความสามารถเหนือกว่า นายกรัฐมนตรีทั้งหมดในอดีต

การแก้ไขปัญหาทีละปม ทั้งมาตรการเบาของยุทธการ “กินทีละคำ” นั้น ทุกรัฐบาลได้ถือเป็นแนวปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง จะมีแต่สมัย พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เท่านั้น ที่จะกินทีละคำเหมือนกัน แต่ขอเปลี่ยนสำรับกับข้าวใหม่ มีการชะลอยุทธวิธีปราบปรามลง โดยหวังผลว่าจะมีการเจรจา แต่ช่วงเวลาของการเป็นนายกรัฐมนตรีของ “หม่อมป้าสวนพลู” นั้น ค่อนข้างจะสั้นจึงไม่บรรลุผล

มีทหารหน่วยรบพิเศษท่านหนึ่งคือ พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ อดีตผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งทหารรบพิเศษ” ได้เข้าสู่สถานการณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเต็มตัว ในขณะที่เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 และได้เป็นผู้อำนวยการ ศอ.บต.ด้วย, พล.อ.เทียนชัย ได้วางรากฐานเรื่องการรบพิเศษ สงครามนอกแบบไว้มาก และถือปฏิบัติกันสืบมา โดยมีหลักการอยู่ 3 หลักคือ หลักทางการเมือง หลักทางมวลชน และหลักทางทหาร โดย 3 หลักนี้จะต้องผสมผสานก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน จะใช้อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เช่น การเมืองพร้อม และทางทหารก็พร้อม แต่ทางมวลชนไม่ได้เป็นของฝ่ายเราก็ไร้ผล หรือมาถึงช่วงของมวลชนพร้อม ทางทหารก็พร้อม แต่นโยบายทางการเมืองผิดพลาดก็จะเป็นปัญหา เช่น ในกรณีที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เอาการเมืองมาทำให้อีก 2 หลักนั้นเกิดความโยกคลอน

คำขอโทษของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้น เป็นไปตามหลักของการรบพิเศษ ที่ใช้สมองก่อนจะใช้อาวุธ โดยหลักของอิสลามนั้น เมื่อมีการขอโทษก็ต้องมีการให้อภัย การกล่าวคำขอโทษโดยนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นไปตามคำสอนของศาสนาอิสลามที่สอนให้ไม่ให้ฆ่ามนุษย์ แม้ว่าเป็นศัตรู ถ้าเลิกคิดร้ายต่อกัน ก็ต้องให้อภัยกัน

แต่การฝังรากลึกในความรู้สึกสืบทอดกันมา ก็ยากที่จะให้มีความเข้าใจกันอย่างครบถ้วนในเวลาอันรวดเร็ว เพราะนับตั้งแต่ระหว่าง พ.ศ. 2322-2333 ก็เกิดกบฏปัตตานีแล้ว เมื่อ “โต๊ะ ซาเหยด” ผู้อ้างตัวว่ามีเวทย์มนต์คาถา เป็นผู้วิเศษ เพราะว่าเขาสืบเชื้อสายมาจากศาสดา นบีมูฮัมหมัด ได้เดินทางจากอินเดียมาอยู่ที่ปัตตานี และต่อมา พระยาปัตตานี ได้ประกาศตั้งตัวเป็นเอกราช กองทัพจากพระยาสงขลาไปจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อย พระยาปัตตานีที่ถูกจับโดนส่งตัวมาอยู่กรุงเทพฯ

ต่อมาก็เกิดเหตุทางปัตตานีด้วยเหตุผลเดียวกันอีกหลายครั้ง จนมาถึงยุคหลังๆ ที่มี ตวนกู ปัตตาเดเซร์ และ ตวนกู ยะลานาเซร์ เป็นผู้นำการแข็งข้อ และเริ่มต้นใช้วิธีก่อการร้ายแทนที่จะเป็นการประกาศเอกราชตรงๆ แล้วมาถึงยุคของ หะยีสุหรง หะยีอามีน ยุคของ เปาะสู วาแมติชา

ในเดือนมิถุนายน 2535 ได้มีการตั้ง “สภาต่อสู้แห่งชาติปัตตานี” มีสมาชิกจาก 4 กลุ่มเข้าฝึกที่เขาลิแป อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส จัดเป็นกองทัพแห่งปัตตานี และมีการเปิดเผยเรื่องการต่อสู้ที่ปัตตานีอย่างเป็นระบบ โดยมีประธานสภาสูงสุด สภาต่อสู้แห่งชาติปัตตานี จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติปัตตานีใน พ.ศ. 2535

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายนักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมา ก็ใช้วิธีการสร้างความเข้าใจต่อกัน ประคับประคองสถานการณ์มิให้เลวลง ในสมัยรัฐบาล อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้เริ่มมีการใช้สงครามจิตวิทยาเป็นหลัก ซึ่งได้ผลเป็นที่พอใจ แต่ขบวนการที่ตั้งขึ้นใหม่ คือ “พูโล” ก็ใช้วิธีเดียวกัน เป็นการแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังเป็นเบี้ยล่าง ด้วยการทำสงครามจิตวิทยาเช่นกัน เพราะเกรงว่าประชาชนจะถอยห่าง อุดมการณ์จะเสียไป

เป็นการปฏิบัติการอย่างเป็นขั้นตอน คือ “กินทีละคำ” เช่นเดียวกัน

เมื่อมาถึงยุคระบอบทักษิณ มีการประเมินค่าของฝ่ายตรงข้ามต่ำเกินไป และคิดว่าตนมีอิทธิฤทธิ์อย่างเกินจริง เห็นว่าการกินทีละคำนั้น ใช้เวลามากเกินไป จึงจัดยุทธศาสตร์ กินอย่างทักษิณ โดยไม่กินทีละคำ

การกินอย่างทักษิณ คือไม่กินทีละคำนั้น เป็นเหตุใหญ่ของดินแดนแถบนี้ในปัจจุบัน เป็นมรดกบาปที่คนหน้าเหลี่ยมผู้นี้ทำไว้กับบ้านเมืองอย่างฉกรรจ์อีกเรื่องหนึ่ง

การเริ่มต้นกันใหม่ของรัฐบาลนี้ อาจจะได้เห็นผลสัมฤทธิ์ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อการกินทีละคำ และการใช้หลัก 3 ประการที่ พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ วางไว้ก็เป็นรูปร่างขึ้นมาในชั่วเวลาไม่กี่เดือนของการเป็นรัฐบาล คือหลักการเมืองพร้อมอยู่แล้ว หลักทางการใช้กำลังทางทหารก็พร้อม และพร้อมมานานแล้ว เหลือแต่หลักทางมวลชน ซึ่งเขยิบมาอยู่ในสถานการณ์ค่อนข้างสดใสขึ้น

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่มีความหมายมาก เพราะมีข่าวลับแต่รั่วออกมาว่า จะมีการพบกับผู้นำของขบวนการ ได้พูดคุยกันด้วยความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกัน คือมีความรู้สึกที่ต้องการความสงบ เกิดสันติสุข และประกอบกันด้วยความพึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่ายในแนวทางที่ตั้งขึ้น ถ้าหากแนวทางนั้นเป็นที่ยอมรับกันได้ ก็จะมีการเจรจากันต่อไป บนพื้นฐานของการไม่มีใครเสียเปรียบหรือเสียหน้า

พล.อ.สุรยุทธ์ ได้พบกับใคร?

เป็นความลับ และการปล่อยให้คงเป็นความลับเช่นนั้น จะเป็นผลดีกว่าการเปิดเผย

“ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” มิอาจจะไปล่วงรู้ความลับในระดับนั้นออกมาได้ แต่ก็มีข้อสันนิษฐานบางอย่างมาประกอบกัน เพื่อจะให้เข้าใกล้ความเป็นจริง


การปรับเปลี่ยนวิธีการยุทธศาสตร์ และอื่นๆ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น มีอยู่เป็นประจำ เพราะมีอยู่หลายกลุ่ม หลายองค์กร, เราคงจะเคยได้ยินชื่อของกลุ่มการเมืองภาคใต้ ซึ่งเดิมอยู่กับพรรคความหวังใหม่ และเวลานี้อยู่กับพรรคไทยรักไทย คือ“กลุ่มวาดะห์”

มีชื่อของอีกองค์กรหนึ่ง จากการที่ 4 องค์กรร่วมกันต่อสู้ ได้เห็นว่า การต่างคนต่างทำไม่มีการขึ้นแก่กันนั้น ทำให้การต่อสู้ไม่เป็นเอกภาพ จึงควรจะมีการปรับแนวทางเสีย ด้วยการจัดตั้งเป็น “โครงการ” และให้ชื่อโครงการนี้ว่า “โครงการดาวะห์” ซึ่งขอให้ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มวาดะห์กับโครงการดาวะห์นั้นเขียนไม่เหมือนกัน แต่ออกเสียงคล้ายๆ กัน ระหว่าง วาดะห์กับดาวะห์ โดยที่กลุ่มวาดะห์นั้นเป็นกลุ่มการเมืองที่เปิดเผย มีตัวตนไม่เร้นลับอะไร ใครๆ ก็รู้จัก แต่สำหรับโครงการดาวะห์นั้น มีชื่อปรากฏอยู่ใน “บางแฟ้ม” ของหน่วยงานทางข่าวกรองบางหน่วยเท่านั้น

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2534 ผู้แทนจาก 4 องค์กรร่วมต่อสู้ ประชุมกันที่รัฐกลันตันในมาเลเซีย ผลของการประชุมให้มีการจัดโครงการชื่อดาวะห์ เป็นศูนย์กลางสำหรับการประสานงาน ให้ถือว่านโยบายที่ออกมาจากดาวะห์เป็นนโยบายสูงสุด คำสั่งที่ออกมาจากดาวะห์ เป็นคำสั่งสูงสุดที่ 4 กลุ่มต้องรับไปปฏิบัติ ทั้งนโยบายและคำสั่งที่ออกมาจากดาวะห์นี้ จะต้องผ่านความเห็นชอบของผู้แทนทั้ง 4 กลุ่ม หากว่าในอนาคตจะมีผู้จัดตั้งกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมาร่วมแนวทางเดียวกัน ก็ให้พยายามลบล้างการจัดตั้งนั้นเสีย หรือให้เข้าร่วมกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใน 4 กลุ่มนี้ และตั้งแต่นั้นมา การเกิดกลุ่มใหม่ๆ ก็ไม่มี สถานการณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นอยู่กับ 4 กลุ่มที่ให้สัตยาบันกันไว้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2534 ดังกล่าว

โครงการดาวะห์นี้ มีผู้รับผิดชอบและผู้บริหารสูงสุด ที่น่าจะเรียกว่าเป็นประธานโครงการ

ชื่อ “นายกุสตาค อับดุล วาฮับ ยะลา”
กำลังโหลดความคิดเห็น