xs
xsm
sm
md
lg

แนะยกเครื่ององค์กรอิสระ ทบทวนอำนาจหน้าที่ กกต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการเสนอทบทวนอำนาจ กกต.แยกหน้าที่ตัวเองให้ออก ปรับปรุงสถานะองค์กรอิสระให้ชัดเจน อิสระตามรธน.หรือ พ.ร.บ.และการถูกตรวจสอบตามกฎหมาย แก้ปัญหาการสรรหา กก.ให้โปร่งใส แสดงคุณสมบัติ และให้เห็นว่าใครเป็นคนเลือก

เมื่อวานนี้ (24ม.ค.)ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.มีการเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 3: องค์กรอิสระ 2550 ว่าด้วยการปฏิรูปองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ"โดยมี นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาส อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายยุวรัตน์ กมลเวชช อดีต กกต. นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และเลขานุการคตส. นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.ร่วมเสวนา

นายวรเจตน์ กล่าวถึงภาพรวมขององค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญปี 40 ว่า มีองค์กรอิสระจำนวนมากแต่มีปัญหา ในเรื่องอำนาจหน้าที่ สถานะองค์กร การตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กร การถูกแทรกแซงทางการเมืองในการสรรหา อย่างไรก็ตาม องค์กรอิสระ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอิสระได้ทุกเรื่อง เพราะต้องมีผลผูกพันตามกฎหมาย แม้ว่าจะไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชากำกับดูแลจากครม.และรัฐบาล แต่ก็ยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบการทำงาน โดยศาลปกครองในกรณีที่องค์กรอิสระ ได้รับอำนาจจากพ.ร.บ. หรือถูกตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่องค์กรอิสระได้รับอำนาจจากรัฐธรรมนูญ

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือองค์กรอิสระของไทยคือ มีความสับสนเชิงสถานะ ว่าใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ หรือใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ทั้งนี้พบว่า รัฐธรรมนูญปี 40ไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงมีปัญหาเกิดขึ้นว่าใครจะเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ

นายวรเจตน์ เสนอว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรกำหนดสถานะองค์กรอิสระว่า อิสระโดยอำนาจรัฐธรรมนูญ หรืออิสระโดยอำนาจทางการบริหารปกครองตามพ.ร.บ. ทั้งนี้ ถ้าอิสระโดยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องบัญญัติหน้าที่ในรัฐธรรมนูญไม่ใช่ใช้จาก พ.ร.บ. ในขณะเดียวกันถ้าเป็นองค์กรอิสระโดยพ.ร.บ.ก็เขียนอำนาจหน้าที่ในพ.ร.บ. เพื่อในชั้นของการออกแบบอำนาจจะไม่ทับกัน อย่างไรก็ตาม หากไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญมีการเขียนยาวเกินความจำเป็น ก็ควรจะกำหนดให้องค์กรอิสระเป็นอิสระจากการบริหารปกครอง เพื่อที่จะได้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในพ.ร.บ. เท่านั้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญควรบัญญัติเพียงเพื่อประกันการตั้งองค์กรโดยให้รายละเอียดอยู่ในพ.ร.บ.

นายวรเจตน์ ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว แม้มีการกีดกันนักการเมืองออกจากการร่วมร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ไม่ได้กีดกันคนขององค์กรอิสระในการเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียเช่นเดียวกัน หากจะมีอคติกับนักการเมืองก็ต้องมีอคติกับคนในองค์กรอิสระเช่นเดียวกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นที่ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ทางอำนาจ ดังนั้นต้องให้ทุกส่วนเข้ามามีสิทธิร่วมกัน

นายแก้วสรร กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่ผ่านมา ใช้อำนาจเกินกว่าวัตถุประสงค์ของการตั้งองค์กร เพราะเดิมมีหน้าที่เพียงควบคุมให้การเลือกตั้งให้มีความสมบูรณ์ ตามการแสดงเจตนาของประชาชน ซึ่งเป็นการตรวจการกระทำในข้อเท็จจริง เช่น การเลือกตั้งมีการทุจริตโดยจำนวนบัตรเกินความเป็นจริงหรือไม่ มีการเวียนเทียนไปกากบาทในคูหาหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา กลับตีความ กลายเป็นว่ากกต.ต้องพิจารณาความบริสุทธิ์ของบุคคล เช่น มีการซื้อเสียงหรือไม่ ทั้งที่ในส่วนความผิดของบุคคลส่วนนี้ ควรจะให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ กกต.เป็นผู้ตัดสินความผิดดังกล่าว ทั้งนี้เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้ กกต.มีอำนาจ เป็นผู้ตัดสินใจแทนประชาชนในการเลือกผู้แทน

"กกต.ต้องแยกให้ออกว่ากำลังตรวจสอบอะไร เพราะกกต.มีสิทธิอยู่ตรงที่ช่วยจัดการเลือกตั้งให้คะแนนที่ออกมาเชื่อถือได้ว่าเป็นเสียงประชาชนจริงๆ แต่ไม่มีสิทธิมาทำลายผู้แทนที่ถูกเลือก ใครโกงก็ไป เป็นอีกคดีที่ศาลเป็นผู้ตัดสิน ถ้าไม่แยก แล้วเอามาใส่ในองค์กรเดียวกันจะทำงานไม่ได้ เช่น กรณีซื้อเสียงระบุว่า ชายไม่ทราบชื่อให้เงินชายไม่ทราบชื่อ ดังนี้กกต.จะจะเอาอะไรมาชี้ว่าประชาชนถูกซื้อ ซึ่งไม่สามารถไปดำเนินการตัดสินได้ ต้องแยกประเภทกลไกขององค์กร มิเช่นนั้นการกระทำผิดของคนหนึ่งคนจะไปลบล้างการแสดงเจตนาของคนทั้งหมด "

นายแก้วสรร เสนอว่า กกต.ควรจัดวาระแห่งชาติ เสนอปัญหาระดับชาติกับกับพรรคการเมืองทุกพรรคขณะหาเสียงเพื่อให้ตอบปัญหาระดับชาติแก่ประชาชน เพื่อมิให้การปฏิรูปการเมืองเป็นเพียงแค่ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเท่ากับผ่านการปลุกเสกบอกว่าศักดิ์สิทธิ์

นายแก้วสรร กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญในส่วนองค์กรอิสระว่า ไม่ควรคาดหวังความยุติธรรมจากตัวบุคคลแต่ต้องสร้างบรรทัดฐานแนวทางปฏิบัติในเชิงสถาบันให้มีการเคารพต่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ว่าให้อำนาจผู้มีหน้าที่รับผิดชอบใช้ได้แค่ไหนและถูกควบคุมอำนาจอย่างไร

"องค์กรอิสระเป็นนวัตกรรมที่อันตราย อย่านึกว่าเปาบุ้นจิ้นจะมีอยู่ในโลก การร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่ยึดติดกับคน แต่ต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ชัดแจ้ง เช่น ถ้าให้สิทธิอุทธรณ์ได้ก็ต้องให้อุทรณ์ ไม่ใช่เป็นผู้ตัดสินใจสุดท้ายโดยไม่เปิดโอกาสให้มีการคัดค้าน "นายแก้วสรร กล่าว

ด้านนายยุวรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาของคณะกรรมการองค์กรอิสระคือ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญในงานที่รับผิดชอบทั้งที่ลักษณะการทำงานเป็นการเฉพาะ ดังนั้นจึงเสนอให้มีการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญการ ในส่วนการแก้ไขปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง ก็ควรจะมีอำนาจพิเศษเบ็ดเสร็จ คือใช้กฎอัยการศึกเข้าไปจัดการเฉพาะพื้นที่และในช่วงเวลาที่มีปัญหาการเลือกตั้ง จากนั้นจึงยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก

ส่วนนายอิสระ กล่าวว่า ระบบประชาธิปไตยล้มเหลว เพราะไม่คิดเรื่องสังคมวิทยา ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญและเสนอว่าต้องทำให้ชาวชนบท มีความรู้ความเข้าใจสิทธิของตัวเอง แทนที่จะแบมือขอเงินจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นควรจัดให้มีองค์กรของรัฐ ไปเผยแพร่ ความรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย เพราะระบบการศึกษาล้มเหลว ทั้งนี้มีสถาบันการศึกษาบางแห่งทำลายประเทศโดยทำหน้าที่เป็นเพียงแหล่งแจกปริญญา
กำลังโหลดความคิดเห็น