xs
xsm
sm
md
lg

ตัวละครในความรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หลายปีมานี้, ปัญหาความรุนแรงของสังคมไทยถูกหลายหน่วยงานหยิบยกขึ้นมาศึกษาหรือกล่าวถึงกันบ่อยมาก แต่จะถูกหยิบยกขึ้นมากี่ครั้งๆ มักจะลงเอยมาที่ครอบครัวทุกที

ผู้รู้ที่ชี้ทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้มักจะแนะนำจนแทบจะเป็นสูตรสำเร็จว่า ถ้าครอบครัวใดมีความอบอุ่นแล้ว จะช่วยป้องกันหรือแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น

เช่นว่า พ่อแม่ลูกมีโอกาสพบปะพูดคุยกันบ่อยๆ ด้วยความไว้วางใจกัน พ่อแม่ลูกมีเวลาให้แก่กันและกันในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันในบางโอกาส ฯลฯ แล้วจะช่วยได้เยอะทีเดียว

อันที่จริงแล้วข้อเสนอแนะเชิงสูตรสำเร็จดังกล่าวมันก็มีส่วนจริงอยู่หรอกครับ ว่าถ้าครอบครัวไหนทำได้ก็ช่วยป้องกันความรุนแรงได้ เพราะคนเราลงว่าได้อยู่ด้วยกันและเห็นหน้ากันทุกวัน มีความในใจอะไรก็คุยปรึกษาหารือกัน มันช่วยป้องกันได้หลายเปลาะ

เอากันง่ายๆ ว่า แค่ได้ระบายความในใจโดยที่ยังคิดแก้ปัญหาไม่ออกก็ช่วยไปโขแล้วละครับ

แต่ทุกครั้งที่ผมเห็นข้อเสนอแนะที่ว่า ผมอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า ครอบครัวอบอุ่นจะช่วยป้องกันความรุนแรงได้จริงหรือ ถ้าหากครอบครัวนั้นตกอยู่ภายใต้แวดล้อมความรุนแรงที่ล้อมรอบตัวที่เห็นได้ทุกวัน

ขอยกตัวอย่างเรื่องจริงเรื่องหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีกลายที่ผ่านมา...

วัยรุ่นหญิงคนหนึ่งนั่งรอรถเมล์พร้อมกับน้องชาย (?) ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จู่ๆ ก็มีวัยรุ่นชายเข้ามาขอเบอร์โทรศัพท์ หญิงคนนี้จึงให้เบอร์ปลอมไป พอวัยรุ่นชายรู้เข้าก็โกรธ แล้วเดินมาจะเอาเรื่องกับเธอทันที

น้องชายที่มาด้วยกันก็ช่วยปกป้อง แต่ก็ถูกวัยรุ่นชายแทงตายต่อหน้าต่อตาสาธารณชนที่ป้ายรถเมล์นั้นเอง

ตัวอย่างที่ผมยกมานี้เข้าใจว่าคงเป็นที่รู้กันกว้างขวางอยู่ เพราะสื่อต่างๆ ต่างรายงานกันไปทั่ว ซึ่งยังรายงานด้วยว่า วัยรุ่นชาย (ที่ควรจะเรียกว่าจิ๊กโก๋อันธพาลมากกว่า) ที่ถูกจับตัวได้ในเวลาต่อมาปราศจากซึ่งความสะทกสะท้าน หรือเสียอกเสียใจต่อความรุนแรงที่ตนก่อขึ้นอย่างไรบ้าง

เห็นไหมละครับว่า มันไม่เกี่ยวอะไรกับความอบอุ่นในครอบครัวเลยแม้แต่น้อย การที่วัยรุ่นหญิงที่น่าสงสารคนนั้นมากับน้องชายของเธอนั้นน่าจะบ่งบอกได้ว่าเธอมาจากครอบครัวที่อบอุ่น หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่ครอบครัวที่เต็มไปด้วยปัญหา แต่ในสถานการณ์เช่นนั้นเธอจะทำอย่างไรละครับ ผมเชื่อว่าคนดีๆ ที่ไม่เคยมีพิษมีภัย หรือไม่เคยมีเรื่องมีราวอะไรกับใครที่ไหน ถ้ามาเจอสถานการณ์แบบนั้นก็คงคิดหัวหมุนเหมือนกันว่า จะให้เบอร์โทรศัพท์แก่วัยรุ่นใจโหดคนนั้นดีหรือไม่ ถ้าไม่ให้แล้วจะทำอย่างไรดี ฯลฯ พูดง่ายๆ คือ ตั้งตัวไม่ติดหรอกครับ

แต่ถ้าผู้รู้แย้งผมว่า ถึงครอบครัวของวัยรุ่นหญิงเคราะห์ร้ายคนนั้นจะอบอุ่นจริง แต่ครอบครัววัยรุ่นใจโหดคนนั้นก็ไม่อบอุ่น เขาจึงสามารถก่อความรุนแรงขึ้นมาอย่างที่เห็น ผมก็อยากจะบอกว่า ผมไม่ได้เจาะจงมาที่วัยรุ่นชาย เพราะคำถามของผมไม่ได้ถูกตั้งขึ้นบนฐานคิดที่ไม่เห็นด้วยกับฐานคิดเรื่องครอบครัวอบอุ่น แต่ตั้งขึ้นบนฐานคิดที่จะทำยังไงให้ครอบครัวที่อบอุ่นปลอดภัยจากความรุนแรงที่ประชิดตัวเช่นนั้น

ที่สำคัญคือ ที่ผมตั้งประเด็นคำถามดังกล่าวขึ้นมาเช่นนั้นก็เพื่อจะถามต่อไปว่า ที่ว่าครอบครัวอบอุ่นแล้วจะปลอดพ้นจากปัญหาต่างๆ หรือความรุนแรงได้นั้น ผมคิดว่าเราน่าที่จะหันมามองว่า ที่ว่าอบอุ่นนั้นมันอบอุ่นอย่างไรกันบ้าง คือเป็นความอบอุ่นที่แฝงความรุนแรงเอาไว้ด้วยหรือไม่ เพราะบ่อยครั้งไปที่เราพบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นบางทีก็มาจากครอบครัวที่อบอุ่นเหมือนกัน

อย่างเช่นวัยรุ่นคนหนึ่งกับพรรคพวกในจังหวัดใกล้ๆ กรุงเทพฯ จี้ตัวนักศึกษาหญิงคนหนึ่งไปข่มขืนในแบบรุมโทรมเมื่อหลายปีก่อน พอเจ้าหน้าที่ได้ตัวเจ้าวัยรุ่นคนนั้นมา เราก็พบว่า ครอบครัวของวัยรุ่นคนนั้นไม่เพียงจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่นเท่านั้น หากแม้แต่ตอนที่เจ้าหน้าที่ไปสอบถามแม่ของเขาเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมนั้น ผู้เป็นแม่คงยังปกป้องลูกชายของตนด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมลูกตัวเองได้ในเกือบจะทันที และเจ้าลูกตัวร้ายก็สารภาพไปแล้ว

ฉะนั้น รูปแบบความอบอุ่นของครอบครัวจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรถูกตั้งคำถาม ว่าเป็นรูปแบบที่สามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้หรือไม่เช่นกัน

พ้นไปจากครอบครัวอบอุ่นแล้ว ผมมักไม่ค่อยพบเห็นว่าท่านผู้รู้จะหยิบยกการนำเสนอความรุนแรงในลักษณะต่างๆ โดยคนที่เป็น “ผู้ใหญ่” สักกี่มากน้อย

“ผู้ใหญ่” ในที่นี้ผมหมายถึงผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ปกครองบ้านเมือง นักการเมือง ชนชั้นนำของสังคมไทยที่มีอาชีพแตกต่างหลากหลาย ข้าราชการระดับสูง หรือแม้แต่คนชั้นกลางบางกลุ่มผมก็อยากจะจัดให้เป็นผู้ใหญ่ในความหมายของผมด้วย ฯลฯ

ถ้าว่ากันเฉพาะผู้ปกครองบ้านเมืองหรือนักการเมืองแล้ว ผมคิดว่า คุณทักษิณ ชินวัตร น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่สามารถทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติได้อย่างประสบผลที่สุด

พูดอีกอย่างก็คือว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหน้า คุณทักษิณ ที่สังคมมองว่าเป็นเรื่องแปลกแยกและทนไม่ได้ และคนที่เห็นว่าไม่แปลกแยกและสามารถ (ทน) ทำได้อย่างน่าตาเฉยก็คือคนที่ก่อความรุนแรงนั้น คุณทักษิณ ได้ทำให้เห็นว่า ความรุนแรงเป็นเรื่องที่พึงเกิดได้และเข้าใจได้

ทั้งนี้เราสามารถเห็นได้จากเวลาที่ คุณทักษิณ ถูกวิจารณ์เรื่องฆ่าตัดตอนอย่างหนัก เขาก็จะออกมาตอบโต้คนที่วิจารณ์ว่าไม่เข้าใจหัวอกของคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติด หรือเวลาที่ถูกวิจารณ์ถึงวิธีการแก้ปัญหาความรุนแรงที่ 3 จังหวัดปักษ์ใต้ เขาไม่เพียงจะยืนยันถึงนโยบายแบบแรงมาก็แรงไปเท่านั้น หากแต่ยังได้ตอบโต้คนที่วิจารณ์เขาอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ คุณทักษิณ ทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติหรือไม่ใช่เรี่องที่แปลกแยกอะไรนั้นมี 2 ระดับด้วยกัน ระดับหนึ่ง เป็นการใช้ความรุนแรงผ่านวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เป็นปัญหาระดับชาติ ส่วนอีกระดับหนึ่ง เป็นการใช้ความรุนแรงผ่านวาจาการตอบโต้ของเขาเอง ระดับหลังนี้สัมพันธ์กับวิธีคิดของเขาด้วยว่า คงไม่ใช่สักแต่พูดเอามันอย่างเดียว แต่พูดอย่างที่ใจคิดจริงๆ

อันที่จริงแล้วทัศนะความรุนแรงของ คุณทักษิณ สอดคล้องกับทัศนะของ “ผู้ใหญ่” (และผู้น้อยอีกจำนวนมาก) ที่ผมหมายถึงอีกไม่น้อยทั้งยุคก่อนหน้าเขาและร่วมสมัยเดียวกับเขา เป็นอยู่แต่ว่าผู้ใหญ่ในกลุ่มนี้มีจริตมากเกินไปจนไม่กล้าแสดงออก

และพอ คุณทักษิณ แสดงออกมามันจึงโดนใจผู้ใหญ่เหล่านี้ และแน่นอนว่า ผู้ใหญ่เหล่านี้ยังคงรักษาจริตแห่งความรุนแรงที่มีอยู่แต่เดิมต่อไป (โดยปล่อยให้ คุณทักษิณ แสดงไปคนเดียว-ฮา)

ที่ผมพูดเช่นนั้นไม่ได้ประชดนะครับ เพราะถ้าใครไม่เชื่อก็ลองย้อนกลับไปดูในช่วงที่ คุณทักษิณ ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาซิครับ ผมเห็นมี “ผู้ใหญ่” ในกลุ่มที่ว่าเชียร์กันสุดใจขาดดิ้น จนแทบกล่าวได้ว่าไม่เคยมียุคใดสมัยใดที่คนที่ยึดแนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาจะถูกดูถูกเหยียดหยาม และถูกทำให้ตกต่ำมากเท่ากับยุคของ คุณทักษิณ อีกแล้ว

ครับ, ถ้าไม่นับประเด็นครอบครัวอบอุ่นแล้ว ผมก็เพียงแต่จะบอกว่า ความรุนแรงที่ผู้รู้ (ที่มักจะเป็นผู้ใหญ่เสียโดยมาก) วิตกกังวลกันนั้น ไม่สามารถแก้ได้จริงหรอกครับ ถ้าเราไม่แก้ที่ผู้ใหญ่พร้อมกันไปด้วย

ผู้ใหญ่ในฐานะที่เป็นทั้งผู้สร้าง ผู้นำเข้า และผู้ใช้ความรุนแรงทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น