xs
xsm
sm
md
lg

เขายายเที่ยง-แนวรบทางการเมือง (3) ตอน : ที่หลวงฯ “หลวงสร้างทุกข์ทวยราษฎร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตอน : ที่หลวงฯ “หลวงสร้างทุกข์ทวยราษฎร์”

ได้ขยายปมเป็นเปราะๆ ไปแล้วเกี่ยวกับอดีตและปัจจุบันของ “เขายายเที่ยง” ที่คนของพรรคไทยรักไทยสร้างแนวรบทางการเมืองกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ชี้ว่าการมีที่ดินในครอบครอง และมีบ้านอยู่เขายายเที่ยงเป็นเรื่องที่ผิด ทั้งที่ว่าบริเวณนั้นได้รับการประกาศเป็นเขตป่าต้นน้ำลำธารโซน 1A และยังเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีการประกาศไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2487

ได้รายงานถึงข้อเท็จจริงในวันนี้ว่า ที่ว่าเป็นลุ่มน้ำโซน 1A และป่าสงวนแห่งชาตินั้น การที่มีวัดซึ่งมีอุโบสถได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาอยู่ 3 วัด มีสุเหร่า หรือมัสยิดของชาวไทยอิสลามนิกายสุหนี่ ซึ่งการสร้างมัสยิด รวมทั้งการมี “กุโบร์” (ที่ฝังศพ) ก็ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยกฎหมายที่ดิน รวมทั้งการที่มีการซื้อที่ดินจากชาวบ้านเขายายเที่ยง ตั้งสถานีทวนสัญญาณของโทรทัศน์ช่องต่างๆ รวมทั้งการซื้อที่ดินเพื่อการสร้างอ่างเก็บน้ำบนยอดเขาเพื่อใช้พลังน้ำกับโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับที่เขื่อนลำตะคอง ทุกอย่างก็ดูเหมือนว่า เขายายเที่ยงไม่ได้เป็นทั้งสองอย่าง คือ ไม่ได้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำโซน 1A และหมดสภาพหรือฐานะการเป็นป่าสงวนแห่งชาติไปแล้ว และยังมีสิ่งที่ต้องนำเข้ามาพิจารณาอีก และเป็นประเด็นใหญ่ด้วย คือ มีหน่วยราชการ 2 แห่ง ได้ประกาศทับว่าเป็นที่ดินของตนไว้ใช้ในราชการ

ถ้าหากว่าเป็นลุ่มน้ำโซน 1A หรือเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ก็จะทำเช่นนั้นไม่ได้

มีความสับสนกันอย่างเหลือเกินที่เขายายเที่ยงว่าเป็นที่ดินของใคร ทั้งๆ ที่มีราษฎรอยู่เต็มพื้นที่แต่ก็ไม่มีใครคิด หรือทำให้ราษฎรเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์อย่างแท้จริง ด้วยการออกเอกสารสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็น น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก. (หนังสือรับรองสิทธิ์การทำประโยชน์ในที่ดิน) หรือการออกโฉนด

เพราะมีแต่หน่วยงานราชการแย่งกันเป็นเจ้าของ สิทธิการครอบครองของชาวบ้านจึงถูกละเลย ทั้งๆ ที่ครอบครองทำกินกันมาก่อน พ.ศ. 2485 ซึ่งได้เคยมีการรับรองว่าเป็นสิทธิครอบครองอย่างถูกต้อง เพราะมีการประกาศเป็นที่หลวงภายหลัง พ.ศ. 2485 อันถือว่าเป็นการ “รอนสิทธิ) ที่ราษฎรมีอยู่เดิม และสิทธินั้นก็เป็นสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย อันหมายความว่าการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น ย่อมเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับใช้ได้

นอกจากทางป่าไม้จะอ้างการเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้ว ทหารก็ได้เข้ามาประกาศว่าเป็นเขตหวงห้ามทางทหาร โดยที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นั้น มีทั้งกรมพลาธิการทหารบก กรมการสัตว์ทหารบก และกรมสรรพาวุธทหารบก เช่น แผนกที่ 4 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบกที่เกิดระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อปีก่อน ก็ตั้งอยู่ในอำเภอปากช่อง และทหารก็ได้ประกาศเขตทหารไว้ มีเนื้อที่จำนวนมาก คือเชิงเขาทางด้านตะวันตกของเขายายเที่ยง และบางส่วนของเขายายเที่ยงใต้ เป็นเขตที่ดินของกองทัพบก ตั้งแต่ริมเขื่อนลำตะคอง ไปจนถึงหนองสาหร่าย ค่ายฝึกรบพิเศษที่หนองตากู ของศูนย์สงครามพิเศษ มีเนื้อที่รวมเกือบแสนไร่ ที่เวลานี้ได้ทำประโยชน์ในที่ดินจริงๆ คือการย้ายแผนกที่ 4 กองคลังแสง ไปอยู่ที่เชิงเขายายเที่ยง โดยมีศูนย์สุนัขสงครามตั้งอยู่ก่อนแล้ว

นี่เป็นเขตทหารทางตะวันตกของเขายายเที่ยง คือทางด้านอำเภอปากช่อง และส่วนหนึ่งของอำเภอสีคิ้ว นครราชสีมา

ทางด้านตะวันออกของเขายายเที่ยงนั้น เป็นเขตอำเภอสีคิ้ว ได้มีการประกาศเขตที่หลวงหวงห้ามทับลงไปอีก โดยกรมราชทัณฑ์สมัยขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศเขตหวงห้ามของกรมราชทัณฑ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2 แสนไร่ คลุม 5 ตำบลของอำเภอสีคิ้ว คือ ตำบลคลองไผ่ ตำบลหนองน้ำใส ตำบลลาดบัวขาว ตำบลดอนเมือง และตำบลหนองหญ้าขาว โดยประกาศเขตสงวนของกรมราชทัณฑ์ไว้เมื่อปี 2505

คือทั้ง 5 ตำบลที่กล่าวนี้เป็นของทางราชการ หรือที่ดินของหลวงทั้งหมด ไม่มีที่ดินของราษฎรเลย

เขตป่าสงวนแห่งชาติก็เป็นที่หลวง เขตทหารก็เป็นที่หลวง เขตราชทัณฑ์ก็เป็นที่หลวง เพียงเท่านั้นยังไม่พอ การสร้างเขื่อนลำตะคอง เมื่อ พ.ศ. 2510 ของกรมชลประทาน ก็มีเขตที่หลวงของกรมชลประทานเพิ่มเข้าอีก หมู่บ้านหลายแห่งต้องอพยพจากเขตน้ำท่วม และรอบๆ เขตน้ำท่วมก็เป็นเขตชลประทานอีก

เพราะการที่ตรงไหนๆ ก็เป็นที่หลวงเสียทั้งนั้น จึงมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ คือที่ดินของตนเป็นที่หลวงไปหมด จึงเรียกว่า “ที่หลวง” นั้น คือหลวงอะไร? คำตอบก็คือเป็นที่หลวงของ “หลวงสร้างทุกข์ทวยราษฎร์”

กรมราชทัณฑ์ได้สร้างเรือนจำกลางคลองไผ่ขึ้นที่บริเวณบ้านคลองไผ่ ที่อยู่ริมคลองไผ่หรือลำตะคอง เป็นเรือนจำขนาดใหญ่ สำหรับกักขังนักโทษเด็ดขาดคดีอุจฉกรรมจ์ศาลพิพากษาให้จำคุกด้วยบทลงโทษสูง ในเขตภาคอีสาน เรือนจำแห่งนี้อยู่ห่างถนนมิตรภาพไปทางเหนือประมาณ 4 กม. และเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมานี้ ก็สร้างเรือนจำขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งที่ริมถนนมิตรภาพ ติดกับทางเข้าวัดคลองไผ่ เป็นเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังคดียาเสพติดที่มีโทษรุนแรงโดยเฉพาะ เรือนจำแห่งนี้อยู่คนละฝั่งถนนมิตรภาพกับบ้านเขายายเที่ยงเหนือ

วัดคลองไผ่ที่กล่าวถึง คือ วัดพิสิฐบูรณาราม ที่มี พระครูพิศาลพัฒนาภิรัต เป็นเจ้าอาวาส, ท่านพระครูพิศาลพัฒนาภิรัต หรือที่ชาวบ้านและลูกศิษย์เรียกว่า “หลวงพ่อน้อย” เป็นผู้ทรงวิทยาคุณอย่างยิ่ง มีลูกศิษย์ลูกหามาก โดยเฉพาะทหาร ตำรวจ โดยเฉพาะทหารในกองทัพภาคที่ 2 นั้น เป็นลูกศิษย์ของ “หลวงพ่อน้อย”ทั้งสิ้น

การประกาศคลุมว่าพื้นที่ 5 ตำบล เนื้อที่ 2 แสนไร่เป็นที่ดินของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งรวมทั้งเขายายเที่ยงในตำบลคลองไผ่ รู้สึกว่าจะเป็นปัญหาต่อชาวบ้านมากกว่าหน่วยงานอื่น เพราะทางกรมราชทัณฑ์ได้ตั้งท่าคัดค้านการออกหนังสือรับรองสิทธิในที่ดินของผู้ครอบครองตลอดมา ทำให้ออกเอกสารสิทธิ์กันไม่ได้ และกรมราชทัณฑ์ก็พยายามจะใช้ประโยชน์ในที่ดิน นอกจากจะมีเรือนจำใหญ่ 2 แห่งแล้ว ยังตั้งทัณฑสถานเปิดโดยการจัดแบ่งที่ดินเป็นล็อกๆ ตามแผนเดิมมีถึง 9 ล็อกด้วยกัน แต่ดำเนินการไม่ได้ทั้งหมด เพราะราษฎรคัดค้านและลุกฮือเป็นม็อบเรียกร้องกันมาหลายครั้ง จนถือว่าเมื่อมีการชุมนุมเคลื่อนไหวใดๆ จะมีปัญหาเรื่องที่ดินราชทัณฑ์กับราษฎรถูกจัดเป็นปัญหาเรียกร้องรวมอยู่ด้วยทุกครั้ง

เคยมีชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ นายพรหมา บุญแท้ มีที่ดินทำไร่อยู่ 200 ไร่ได้ต่อสู้คดีกับทางกรมราชทัณฑ์ เพื่อจะเอาที่ดินของตนที่ครอบครองมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าคืนมา

ในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เคยมีบัญชาให้เจ้าหน้าที่มาสำรวจว่าที่ดินผืนใดที่ราษฎรครอบครองมาก่อน พ.ศ. 2485 ได้มีการพิสูจน์สิทธิกัน และให้ออกเอกสารสิทธิ์ให้กับราษฎรที่ถือครองอยู่ โดยยึดถือหลักที่ว่า ผู้ครอบครองมาก่อน พ.ศ. 2485 และผู้ได้รับมรดกตกทอดย่อมเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ยังไม่ทันจะลุล่วง พล.อ.ชาติชาย ก็ถูก รสช.ปฏิวัติเสียก่อน

ที่ดินซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไปซื้อจากชาวบ้าน และปลูกบ้านหลังเล็กๆ อยู่นั้น มีเนื้อที่ 20 ไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับที่ดิน 5 ตำบล จำนวน 2 แสนไร่ที่ชาวบ้านมีปัญหากับ “หลวงสร้างทุกข์ทวยราษฎร์” นั้น เป็นเพียงจุดๆ เดียวในปัญหาทั้งหมด

แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่จนเป็นแนวรบทางการเมืองขึ้นมา ก็เพราะพล.อ.สุรยุทธ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ปัญหาเรื่องที่ดินบริเวณนั้นสั่งสมกันมานานแล้ว จนไม่รู้ว่าที่จริงแล้ว บริเวณนั้นเป็นที่ดินของใคร? หากบอกว่าเป็น “ที่หลวง” ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า หน่วยราชการไหนเป็นผู้ที่ได้สิทธิในการใช้ประโยชน์ หรือได้เป็นตัวแทนของการใช้ที่หลวง...มันสับสนเสียจนต้องบอกว่าเป็นของ หลวงสร้างทุกข์ทวยราษฎร์

“รายงานพิเศษ” ฉบับวันพรุ่งนี้เกี่ยวกับเขายายเที่ยงจะลึกลงไปอีก ความจริงต้องปรากฏจนได้ เพราะเขายายเที่ยงไม่ได้มีคนเคลื่อนย้ายยกหนีไปไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น