xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาซุ่มแก้กฎใหม่ให้สิทธิหมอปฎิเสธคนไข้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทยสภาซุ่มเงียบออก “ข้อบังคับใหม่” หนักกว่าเดิม ให้หมอปฏิเสธคนไข้ได้ ถ้าไม่ฉุกเฉินและไม่มีผลต่อชีวิต แม้เสียอวัยวะหมอก็ปฏิเสธได้ แถมมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ธ.ค.49 จวก กก.แพทยสภาโดยตำแหน่ง ทั้งปลัดสธ. อธิบดีกรมอนามัย-กรมการแพทย์ ทำอะไรอยู่ หรือเห็นด้วยกับแพทยสภา ทำไมไม่เอาข้อมูลมาเปิดเผย ด้านนักกฎหมายยันข้อบังคับไม่ใช่กฎหมาย ร้องสคบ. หรือขอให้แพทยสภาทบทวนได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ข้อบังคับแพทยสภาฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับเดิมในมาตรา 28 โดยระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ปฏิเสธการช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในระยะอันตราย จากการเจ็บป่วยเมื่อได้รับคำขอร้องได้ เว้นแต่ผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาวะฉุกเฉิน อันจำเป็นต้องเร่งด่วน และเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยต้องให้คำแนะนำที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ข้อบังคับดังกล่าวเป็นการลดมาตรฐานและลดบทบาทมากกว่ากฎหมายอาญา เพราะในกฎหมายอาญาเรื่องลหุโทษบุคคลมีหน้าที่ในการช่วยเหลือคน แต่ข้อบังคับแพทยสภาที่มีจุดประสงค์ที่ต้องควบคุมเรื่องจริยธรรมและต้องละเอียดอ่อนกว่ากฎหมายอาญา กลับตรงกันข้าม

แหล่งข่าวกล่าวว่า โดยปกติหากอยู่ในอันตรายแพทย์ไม่สามารถปฏิเสธคนไข้ได้ แต่ข้อบังคับนี้แก้ไขแล้วเท่ากับว่า แม้คนไข้อยู่ในภาวะอันตรายจากการเจ็บป่วย แต่ไม่เร่งด่วน ไม่ฉุกเฉิน ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต อาจพิการหรือเสียอวัยวะเท่านั้น แพทย์ก็สามารถปฏิเสธคนไข้ได้ แปลว่าต่อไปนี้ประชาชนไม่สามารถพึ่งแพทยสภาได้ ข้อบังคับนี้สธ.ก็ไม่ทราบ เนื่องจากไม่มีใครสนใจ

“สิ่งที่ต้องไปทวงถามกับบุคคลที่ต้องเข้าไปพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะจากกระทรวงสาธารณสุขว่า ทำอะไรกันอยู่ ซึ่งเป็นกรรมการของแพทยสภาโดยตำแหน่ง 3 ท่าน ได้แก่ ปลัดสธ.อธิบดีกรมการแพทย์ และอธิบดีกรมอนามัย หากเคยทราบมาก่อนว่ามีข้อบังคับฯเช่นนี้ออกมา เห็นด้วยกับกรรมการแพทยสภาคนอื่นหรืออย่างไร หรือว่าแพ้คะแนนเสียงข้างมาก ซึ่งควรนำเรื่องนี้เปิดเผยสู่สาธารณะ ให้สาธารณชนได้รับทราบและช่วยกันแก้ไข ทางออกคือการให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในแพทยสภา” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ข้อบังคับฉบับดังกล่าวจะทำให้แพทย์มีน้ำใจสำหรับผู้ป่วยที่ใกล้จะตายหรือไม่รู้สึกตัวแล้วเท่านั้น ส่วนคนป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถถูกปฏิเสธจากแพทย์ได้ และเท่ากับว่าข้อบังคับฉบับนี้ไม่เอื้อต่อการบริการทางการแพทย์ที่ภาครัฐต้องการให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์อย่างถ้วนหน้า ส่วนกรณีที่แพทย์ไม่ชำนาญในด้านที่ผู้ป่วยไม่ขอร้องให้รักษาและแพทย์มีสิทธิในการปฏิเสธผู้ป่วยนั้นเป็นอีกเรื่อง ซึ่งประชาชนเข้าใจดีว่า แพทย์ต้องปฏิเสธอยู่แล้ว

“ข้อบังคับของแพทยสภาไม่ใช่กฎหมาย เป็นเพียงกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ขององค์กรวิชาชีพ ที่บังคับแพทย์ด้วยกันเอง กรณีที่เป็นการไม่คุ้มครองผู้บริโภคนั้น สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับข้อบังคับฉบับใหม่นี้ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทราบ หรือควรส่งเรื่องให้แพทยสภาทบทวนข้อบังคับฉบับดังกล่าว เพราะถ้าผู้ป่วยไม่เร่งด่วน ไม่ฉุกเฉิน ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต และแพทย์สามารถปฏิเสธคนไข้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรมแล้วหรือ” นายเจษฎ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น