xs
xsm
sm
md
lg

อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ : ภาวะที่ผู้นำพึงเป็น

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่แสดงออกทางวาจา และท่าทีเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนได้รับการสั่งสอนให้เรียนรู้ และถือเป็นสิ่งพึงปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่งของความเป็นไทย

ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ผู้คนในสังคมได้เห็นใครคนใดคนหนึ่งซึ่งมีสถานะทางสังคมสูงกว่าคนทั่วไป มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทั้งด้วยการพูดจา และแสดงอากัปกิริยาต่อผู้คนในสังคมนั้น โดยไม่เลือกว่ามีสถานภาพทางสังคมสูงหรือต่ำกว่าตนเอง แต่กระทำไปด้วยจิตใจที่อ่อนโยนอันเกิดจากความเป็นผู้มีเมตตาธรรม ก็จะให้ความเคารพนับถือในฐานะเป็นผู้มีสัมมาคารวะควรค่าแก่ความเป็นปูชนียบุคคล

ในทางตรงกันข้าม ถ้าได้เห็นใครสักคนมีความแข็งกระด้าง ทั้งทางวาจาและอากัปกิริยาที่แสดงออกต่อผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วๆ ไป ก็จะแสดงความไม่พอใจ ถึงแม้จะไม่ถึงกับแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ให้ปรากฏเป็นรูปธรรมเพราะเกรงกลัวในอำนาจหรือเป็นเพราะมีขีดความอดทนสูง ก็จะนึกดูหมิ่นดูแคลนในใจ และจะไม่ให้การยอมรับนับถือบุคคลที่ว่านี้

ในห้วงแห่งกาลเวลา 6 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ผู้คนในสังคมไทยได้มีโอกาสเห็นผู้นำประเทศที่มีพฤติกรรม 2 ประเภทดังที่ว่ามานี้

เริ่มด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เป็นรัฐบาลจากปี 2544 ถึง 19 กันยายน 2549 เป็นเวลา 5 ปีกว่า และเพียงระยะเวลาแห่งการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ทำให้คนไทยได้รับรู้ถึงสัจธรรมที่ว่า ผู้มีนิสัยแข็งกระด้างและมีพฤติกรรมก้าวร้าวในลักษณะเป็นเผด็จการทางความคิด ประกอบกับมีพฤติกรรมไม่โปร่งใสได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมไทย โดยทำให้ผู้คนในสังคมไทยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายต่อต้าน และฝ่ายที่สนับสนุน ขยายกว้างออกไปจนเกือบจะนำไปสู่การปะทะ และได้จบลงด้วยการถูกยึดอำนาจจากคณะปฏิรูปฯ ต้องระเหเร่ร่อนอยู่ในต่างแดนจนบัดนี้

หลังจากมีการปฏิรูป คนไทยก็มีโอกาสสัมผัสกับผู้นำที่สุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน และมีบุคลิกภาพสันโดษตามแบบอย่างของศาสนิกชนผู้เคร่งในศาสนา ทั้งในส่วนของผู้นำรัฐบาล คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และผู้นำ คมช.คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

แต่เพียงเหตุการณ์ผ่านไป 3 เดือนกว่า ความเป็นคนสุภาพอ่อนโยน และไม่ก้าวร้าวของทั้ง 2 ผู้นำก็ตกเป็นจุดอ่อนในการหยิบยกมาเป็นจุดโจมตีทางการบริหารบ้านเมืองว่า หน่อมแน้ม แก้ปัญหาไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ 2 ประการดังต่อไปนี้

1. เหตุการณ์ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่มีผู้นำแข็งกร้าว และมีการเชื่อกันว่าส่วนหนึ่งแห่งความรุนแรงของปัญหาเกิดจากมีท่าทีอันก้าวร้าวนี้

ดังนั้น เมื่อมีผู้นำคนใหม่ที่มีอุปนิสัยแตกต่างกันในทางตรงกันข้ามได้เริ่มการแก้ไขปัญหาด้วยท่าทีโอนอ่อนเข้าหามวลชน และใช้ความอดทนอดกลั้นในการแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาก็ยังไม่มีทีท่าสงบลง ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งที่นิยมชมชอบแนวทางของรัฐบาลชุดก่อน หรือแม้กระทั่งผู้คนที่นิยมชมชอบผู้นำรัฐบาลปัจจุบัน ก็เริ่มหยิบยกการแก้ไขปัญหาตามแนวทางนี้ขึ้นมาเป็นจุดโจมตีว่าอ่อนข้อให้ผู้ก่อการไม่สงบมากเกินไป

2. เหตุการณ์วางระเบิดใน กทม. และการเผาโรงเรียนที่เพิ่มขึ้นในจังหวัดอื่นนอกเหนือจาก 3 จังหวัดภาคใต้ ผู้คนที่ผิดหวังกับการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้อยู่แล้วตามข้อ 1 ก็ยิ่งปักใจเชื่อว่าการอ่อนโยนของผู้นำไม่สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงได้ และนี่คือข้อหาที่ว่าหน่อมแน้มประการที่ 2

แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้และเวลานี้ดูเหมือนว่าเสียงบ่นด้วยความผิดหวังของประชาชนที่ออกเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ประการที่กล่าวมาได้รับการแก้ไขด้วยความเด็ดขาดและรวดเร็วได้ไปถึงหูของผู้นำแล้ว ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่ คมช.หลายท่านได้ออกมาแสดงจุดยืนและท่าทีที่เอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหามากขึ้น ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ส่วนว่าการแสดงท่าทีจริงจังของ คมช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธาน คมช.จะทำให้ข้าราชการอันเป็นกลไกสำคัญในระดับปฏิบัติการหันมาให้ความร่วมมือกับรัฐบาล และ คมช.ในการแก้ไขปัญหาร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหนนั้นคงจะต้องรอดูต่อไปอีกระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในทันทีที่ คมช.ได้แสดงท่าทีจริงจังในการแก้ไขและป้องกันปัญหา ไม่ว่าจะด้วยการออกมาคาดโทษข้าราชการที่ไม่ให้ความร่วมมือกับ คตส. และ ป.ป.ช.ในการสอบสวนการทุจริตหรือในส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามจับกุมผู้กระทำผิดในการวางระเบิด กทม. ทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นอย่างน้อย 2 ประการดังต่อไปนี้

1. ตามปกติเมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ครองอำนาจมาแล้ว ผู้ก่อการจะต้องใช้อำนาจการปฏิวัติออกกฎหมายที่เรียกว่า “ประกาศคณะปฏิรูป” จัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เป็นเหตุอ้างในการปฏิวัติให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อเห็นว่าถึงเวลาที่จะให้มีการปกครองตามรูปแบบประชาธิปไตยได้แล้ว

แต่คณะผู้ก่อการปฏิรูปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มิได้ดำเนินการเช่นที่คณะปฏิวัติก่อนได้กระทำ แต่ได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว และมีการตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาบริหารประเทศ แถมจัดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่ออกกฎหมาย และกลั่นกรองนโยบายรัฐเช่นทำนองเดียวกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเท่ากับโยนความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาตามที่ได้ถือเป็นเหตุอ้างในการปฏิรูปให้รัฐบาลแก้ไข โดยมีคณะผู้ก่อการปฏิรูปเองได้ถอยออกไปเป็นคณะมนตรีความมั่นคงฯ ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศโดยตรง แต่ดำรงตนในฐานะเป็นพี่เลี้ยงรัฐบาล และนี่เองคือจุดเริ่มต้นความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหา

2.เมื่อรัฐบาลที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยรัฐมนตรีผู้มากด้วยอายุ และประสบการณ์แบบข้าประจำ คือทำงานเชิงรับมากกว่าเชิงรุก แต่ปัญหาของประเทศในขณะนี้ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจะต้องแก้ด้วยปฏิบัติการเชิงรุกทั้งสิ้น ดังนั้นจึงพูดได้ว่าไม่เหมาะกับบุคลิกภาพของคนวัยปลดเกษียณจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะคงมีท่านผู้ที่ทำงานเชิงรุกได้ก็ส่วนน้อย เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เป็นต้น ก็คงไม่พอที่จะเป็นภาพพจน์ให้แก่รัฐบาล เมื่อเทียบกับการทำงานที่เชื่องช้าของรัฐมนตรีหลายๆ กระทรวง

ด้วยเหตุนี้น่าจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้มีการเรียกร้องให้มีการปรับ ครม. เพื่อนำบุคคลที่ทำงานเชิงรุกเข้ามาสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวกให้แก่รัฐบาลโดยรวม และดูเหมือนเสียงเรียกร้องนี้จะเป็นความจริงเมื่อทำการปรับ ครม.เริ่มปรากฏทางสื่อ

ส่วนว่าข่าวนี้จะเป็นความจริงหรือไม่เมื่อใดนั้น ผู้เขียนในฐานะเป็นโหรสมัครเล่นขออนุญาตคาดเดาโดยใช้ดวงดาวเป็นตัวบอกว่า น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 18 ก.พ.-30 มี.ค. 2550 เพราะช่วงนี้ดาวอังคารในตำแหน่งมหาอุจจ์เรือนกัมมะของดวงเมืองจะส่งอิทธิพลให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจทำอะไรอย่างเด็ดขาด เพื่อเป็นการยืนยันว่าท่านเป็นคนไม่อ่อนแอดังที่หลายๆ คนเข้าใจ

แต่การดูเพียงดวงดาวอย่างเดียวยากจะบอกได้ว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จะเด็ดขาดในเรื่องใดบ้าง และความเด็ดขาดที่ว่านี้จะส่งผลกระทบในเชิงลบถึงความอ่อนแอของรัฐมนตรีหรือข้าราชการประจำท่านใดบ้าง และหนักเบาอย่างไร

ในขั้นนี้ ผู้เขียนบอกได้คำเดียวว่า โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าผู้นำทั้งในส่วนของรัฐบาล และ คมช. เป็นเพียงอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ ไม่เชื่อขอให้ลองติดตามต่อไปอีกระยะหนึ่งแล้วจะได้เห็นว่า อันว่านักการเมืองควรต้องเด็ดขาดแล้วจะเด็ดขาดแค่ไหนและเพียงไร
กำลังโหลดความคิดเห็น