xs
xsm
sm
md
lg

สั่งจับตาเครื่องในออสเตรเลียขายต่ำยันไม่ใช่ผลจากเอฟทีเอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- “กระทรวงเกษตร” สั่งจับตาเครื่องในออสเตรเลีย หลังเกษตรกรร้องขายทุ่มตลาดในไทย ต่ำกว่า 10 บาท/กก. จากราคาขายในประเทศปกติกว่า 60 บาท/กก. แต่ยกข้อมูลสถิตินำเข้าอ้าง ไม่ใช่ผลจากเอฟทีเอแน่

นายพินิจ กอศรีพร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรออกมาประท้วงสถานทูตออสเตรเลีย โดยระบุว่าประเทศออสเตรเลียส่งเครื่องในสุกรเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบความผิดปกติในด้านราคาเครื่องในสุกรจริง โดยมีราคาต่ำกว่า 10 บาท/กก. ทั้ง ๆ ที่ราคาเครื่องในสุกรในประเทศปกติจะตกราคาประมาณ 60 บาท/กก. ซึ่งถ้าหากตรวจสอบพบว่ามีการขายทุ่มตลาด เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจริง ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับข้อลงทางการค้าขององค์กรการค้าโลก ซึ่งจะต้องมีกระบวนการฟ้องร้องต่อไป

“ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามดูอยู่ ปกติราคาเครื่องในขายกัน 60 บาทขึ้นไป และราคาที่ขายกันในท้องตลาดก็มักจะขายกันในราคาที่แพงกว่าราคาเนื้อด้วยซ้ำ แต่ทำไมปัจจุบันขายกันในราคาที่ต่ำกว่า 10 บาทได้อย่างไร” นายพินิจ กล่าว

นายพินิจ กล่าวว่า สาเหตุที่ราคาเครื่องในสุกรในตลาดต่างประเทศมีค่อนข้างต่ำมาก เนื่องจากหลาย ๆ ประเทศในแถบยุโรป รวมถึงออสเตรเลีย ไม่รับประทานเครื่องในสุกร จึงมักส่งเข้ามาขายให้กับประเทศในแถบเอเชีย เพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับคน และใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ แต่ราคาเครื่องในสุกรที่นำเข้ามาขายในประเทศไทยก็ไม่ควรต่ำกว่า 15 บาท/กก.

สำหรับกรณีที่ทางเกษตรกรระบุว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการนำเข้าเครื่องในสุกรเพิ่มขึ้น อาจเป็นผลมาจากข้อตกทางการค้าแบบทวิภาคี(เอฟทีเอ) นั้น จากข้อมูลสถิติ นำเข้าเครื่องในสุกรในช่วงก่อนการเปิดเขตการค้าเสรีและช่วงหลังเปิดเอฟทีเอ พบว่า ประเทศไทยมีสถิตินำเข้าเครื่องในจากประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี จากปริมาณ 5,698 ตันในปี 2003 เพิ่มเป็น 6,517 ตัน และ 9,501 ตัน ในปี 2004 และ 2005 ตามลำดับ

โดยก่อนการทำเอฟทีเอ ประเทศไทยนำเข้าจากเบเยี่ยมมากเป็นอันดับหนึ่งในสัดส่วน 57% รองลงมาเป็น แคนาดา 14% เนเธอร์แลนด์ 5% และ ออสเตรเลีย 4% ตามลำดับ ในส่วนการนำเข้าสินค้าจากประเทศออสเตรเลียนั้นพบว่า ก่อนการทำเอฟทีเอในปี 2003 ไทยนำเข้าประมาณ 223 ตัน และเพิ่มเป็น 1,261 ตัน ในปี 2005

นายพินิจ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้าการทำเอฟทีเอกับประเทศออสเตรเลีย ไทยมีกำแพงภาษีเครื่องในสุกร ในอัตรา 42% แต่ภายหลังการทำเอฟทีเอ กำแพงภาษีลดลงเป็น 30% ในปี 2004 และ 28% ในปี 2005 ตามลำดับ แต่จากสถิติการนำเข้าจากกรมศุลกรพบว่าไทยนำเข้าเครื่องในสุกรตามกรอบเอฟทีเอ ไม่เกินกว่าปริมาณ Trigger volume ที่ไทยกำหนด

โดยปริมาณสินค้าที่นำเข้าจากออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นผลมาจากการทำเอฟทีเอ ไทย-ออสเตรเลีย เนื่องจากสถิติการนำเข้าภายใต้เอฟทีเอ ของกรมศุลกากรชี้ให้เห็นว่า การนำเข้าจากออสเตรเลียในปี 2005 จำนวน 1,261 ตันนั้น เป็นการนำเข้าตามปกติโดยออสเตรเลีย เสียภาษีนำเข้าในอัตราเดียวกับประเทศอื่น ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น