xs
xsm
sm
md
lg

เขายายเที่ยง-แนวรบทางการเมือง (1) ตอน : หุบตาแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เขายายเที่ยง” มียอดสูงสุดจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 390 เมตร มีความยาว 17 กิโลเมตร โดยหัวเขาอยู่ทางด้านทิศเหนือ ทอดตัวไปทางทิศใต้ ส่วนหัวเขาอยู่ติดกับถนนมิตรภาพช่วงสระบุรี-นครราชสีมา ริมเขื่อนตะคอง อีกฟากหนึ่งของเขื่อนเป็น “เขาเตียง” ที่เป็นส่วนหนึ่งของ ภูพังเหย ซึ่งทอดยาวเหนือ-ใต้ จากเทือกเขาเพชรบูรณ์ (น้ำหนาว) ผ่านเขตจังหวัดชัยภูมิ ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา โดยเทือกเขาพังเหยมีความสูงสุดจากระดับน้ำทะเล 980 เมตร ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ที่ตั้งของทุ่งดอกกระเจียว อันลือชื่อในเขตอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ คือบริเวณนี้มีความสูงน้อยกว่าภูกระดึงประมาณ 150 เมตร ส่วนทางด้านใต้ของเขายายเที่ยง มีภูเขาต่อไปคือ เขาเลื่อนลั่น ที่ทอดยาวไปทางตะวันออกเฉียงใต้ เข้าเขตอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา โดยเขาเลื่อนลั่น อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

บริเวณเขายายเที่ยง อยู่ในตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งครั้งหนึ่งกระทรวงมหาดไทยสมัย นายประเทือง กีรติบุตร เป็นอธิบดีกรมอัยการ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีแผนแยกออกจากสีคิ้ว เป็นกิ่งอำเภอ ชื่อกิ่งอำเภอนครจันทึก ตามชื่อเมืองโบราณ ที่ตั้งอยู่บริเวณตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่อยู่ทางด้านตะวันตกของเขื่อนลำตะคอง แต่เรื่องเงียบหายไป ไม่มีการดำเนินการต่อในเวลาต่อมา ซึ่งหากว่าเป็นกิ่งอำเภอนครจันทึก เริ่มตั้งแต่ครั้งนั้น คือประมาณ พ.ศ. 2520 ขณะนี้ “นครจันทึก” คงจะได้รับการขยายยกฐานะจากกิ่งอำเภอเป็นอำเภอนครจันทึกไปแล้ว

เขายายเที่ยงได้เป็นแนวรบทางการเมืองไปแล้ว เมื่อมีการเปิดเผยว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีที่ดินและบ้านพักอยู่บนเขายายเที่ยง มีโบกี้รถไฟอยู่ในบริเวณบ้าน มีสระว่ายน้ำอยู่ในบ้าน แต่เวลานี้, องค์ประกอบทั้งหลายนั้น เป็นเท็จไปหมดแล้ว คือไม่มีโบกี้รถไฟ ไม่มีสระว่ายน้ำ (มีแต่บ่อสำหรับเก็บน้ำไว้ใช้อยู่หน้าบ้านของเพื่อนบ้าน) และบ้านของพล.อ.สุรยุทธ์ ก็เป็นหลังเล็กๆ ราคาไม่เกิน 2 แสนบาท มีห้องนอนห้องเดียว มีหลังติดๆ กันเป็นห้องครัว มีต้นลิ้นจี่ และลำไย ที่บางส่วนเริ่มตกผลแต่ปีที่แล้ว
ประเด็นใหญ่ที่เหลืออยู่คือที่ดินนั้นครอบครองโดยชอบหรือไม่? แม้ว่าจะครอบครองมาก่อนจะเป็นนายกรัฐมนตรี หมิ่นเหม่ต้องการล้ำเส้นจริยธรรม ความโปร่งใส และทางพรรคไทยรักไทยได้นำมาเป็นประเด็นทางกฎหมาย โดยมีนักกฎหมายของพรรคไทยรักไทยได้ออกมาแถลงอย่างน้อย 2 ครั้งว่า บริเวณนั้นเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาเตียง เขายายเที่ยง เขาเลื่อนลั่น ที่กรมป่าไม้ได้ประกาศไว้เมื่อ พ.ศ. 2487

นอกจากนั้น ฝ่ายกฎหมายของพรรคไทยรักไทยได้เปิดแนวรบทางการเมืองซ้ำอีก นอกเหนือไปจากเรื่องเป็นที่ดินในป่าสงวนแห่งชาติ โดยบอกว่าเป็น ป่าต้นน้ำลำธาร ชั้นป่าโซน A ซึ่งการจำแนกประเภทที่ดินนี้ เป็นไปตามที่กรมอนุรักษ์ทรัพยากรฯ ได้ทำกันเมื่อ พ.ศ. 2534 ในการจำแนกและสงวนป่าลุ่มน้ำ เท่ากับว่าตั้งข้อหาต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ ไว้ทั้ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และพ.ร.บ.การจัดป่าลุ่มน้ำ และยังมีการให้คณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้าดำเนินการตรวจสอบด้วย ทำให้เรื่องเขายายเที่ยงกลายเป็นแนวรบทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ โดยพรรคไทยรักไทยเป็นฝ่ายรุก และรัฐบาล/คมช. โดยเฉพาะพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นฝ่ายรับ

“รายงานพิเศษ” ชุดนี้ จะพาไปดูแนวรบทางการเมืองที่เขายายเที่ยง อย่างผู้สังเกตการณ์รบ คือให้ความเป็นจริงที่มีอยู่ และให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย โดยในตอนแรกคือตอนที่ 1 นี้ ขอรายงานในสภาพที่ตั้ง และภูมิประเทศของเขายายเที่ยงให้ชัดเจนเสียก่อน โดยที่ผู้เคยเดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งทางรถไฟ และใช้ทางรถยนต์คือ ถนนมิตรภาพ ก็อาจคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยไปทางนั้น เป็นผู้อยู่ในภาคอื่นๆ จะได้มีความเข้าใจก่อนที่จะได้อ่านรายงานพิเศษตอนต่อๆ ไป จะได้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

เขายายเที่ยง อยู่บริเวณที่แผ่นดินยกสูงขึ้นเป็นที่ราบสูงโคราช คือทางด้านทิศตะวันตกอยู่ทางด้านอำเภอปากช่อง ที่มีพื้นที่ต่ำกว่า คือเป็นที่ราบเชิงเขา เมื่อมองทางด้านตะวันตก จะเห็นเขายายเที่ยงทั้งเทือกเขาอยู่สูงมาก เพราะเป็นการมองจากที่ต่ำไปหาที่สูง แต่เมื่อนั่งรถยนต์ผ่านเข้าใกล้ตัวเขายายเที่ยง ไปตามถนนมิตรภาพที่ลาดชันขึ้นทีละน้อย ก็จะเห็นว่า ยอดเขายายเที่ยงต่ำลงๆ และเมื่อถึงจุดทางเข้าเขื่อนลำตะคอง พื้นที่บริเวณนั้น เป็นเกือบพื้นที่ราบ คือเป็นที่ราบสูงโคราชแล้ว จากพื้นที่จุดนี้ถึงยอดเขายายเที่ยงมีความสูงนิดเดียว ดังนั้น การมองเขายายเที่ยง เมื่อมองจากทางทิศตะวันออกไปตะวันตก คือมองทางด้านอำเภอสีคิ้ว จะเห็นเขายายเที่ยงเป็นเนินเขาเตี้ยๆ

แต่ถ้าหากมองจากทางตะวันตกคือจากทางอำเภอปากช่องไปทางทิศตะวันออก จะเห็นว่าเป็นภูเขาสูง ที่บริเวณยอดเขามีเสาอากาศที่เรียกว่า สถานีทวนสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ สูงขึ้นจากยอดเขาอยู่หลายเสา โดยสถานีทวนสัญญาณนี้ เป็นของสถานีโทรทัศน์ทุกช่องยกเว้นไอทีวี เนื่องจากจุดที่ตั้งของเขายายเที่ยง อยู่ในพิกัดที่เหมาะสมในการตั้งสถานีทวนสัญญาณ

เขายายเที่ยงทางซีกตะวันตก คือทางด้านอำเภอปากช่อง มีความสูงชันกว่าทางด้านตะวันออก พื้นที่ซีกนี้ยังไม่มีบ้านเรือนผู้คน เพราะเป็นที่ชันมีโขดหินทำกินไม่ได้ ต่างกับทางด้านตะวันออก คือทางเขตอำเภอสีคิ้ว ซึ่งมีบ้านเรือนหนาแน่น เป็นที่ทำกินของชาวบ้าน มีความแตกต่างกันระหว่าง 2 ซีกนี้ โดยทางทิศตะวันตกยังเป็นป่า และมีการปลูกป่าเสริมโดยกรมป่าไม้ แต่ทางด้านตะวันออก เป็นที่ครอบครองทำกินของชาวบ้านทั้งสิ้น เพราะเป็นที่ดินมีหินน้อย

ที่ยอดเขายายเที่ยง มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 1 พันไร่ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำนี้ ไม่ใช่น้ำที่เกิดจากต้นน้ำลำธาร หรือตาน้ำที่อยู่ยอดเขายายเที่ยง ดังที่ฝ่ายกฎหมายของพรรคไทยรักไทยพยายามจะให้เข้าใจว่าเป็น “พื้นที่ต้นน้ำลำธาร”

อ่างเก็บน้ำเขายายเที่ยง เป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ อยู่ที่ริมเขื่อนลำตะคอง ทางด้านล่างในเขตอำเภอปากช่อง, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โดยใช้พลังน้ำแบบสูบกลับขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2540 ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำไว้บนยอดเขายายเที่ยง คืออ่างเก็บน้ำที่จะส่งน้ำมาจากข้างบน รับน้ำที่ใช้กระแสไฟฟ้าที่เหลือใช้ในเวลากลางวัน สูบน้ำไปตามอุโมงค์ที่เจาะลอดถนนมิตรภาพและภูเขาขึ้นไป เอาไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำ ในตอนกลางคืนที่มีความต้องการใช้กระแสไฟฟ้ามาก ก็ปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำมาทางอุโมงค์เข้าเครื่องกังหันไฟฟ้าพลังน้ำ ที่ริมเขื่อนลำตะคอง ผลิตกระแสไฟฟ้า, และปิดเครื่องในตอนกลางวัน ใช้กระแสไฟฟ้าที่เหลือใช้อย่างมากมายในตอนกลางวัน สูบน้ำจากเขื่อนลำตะคองกลับขึ้นไปใส่ไว้ในอ่างเก็บน้ำยอดเขายายเที่ยงใหม่ หมุนเวียนกันอย่างนี้โดยใช้ปริมาณน้ำเท่าเดิม เป็นพลังที่ไม่สูญเสียเลย

ที่บริเวณใกล้ๆ กับแนวอุโมงค์สูบกลับของโรงไฟฟ้าพลังน้ำนี้ มีหุบเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งทางก้นหุบเป็นที่ราบไหล่เขาอยู่ประมาณ 12 ไร่ ได้มีชาวบ้านคนหนึ่งไปถือครองทำการเพาะปลูกอยู่เมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว แต่การเพาะปลูกไม่ได้ผล เนื่องจากดินไม่ดี พื้นดินเป็นหินอยู่มาก เจ้าของจึงได้ทิ้งร้างไป และเวลานี้ไม่รู้ว่าชาวบ้านคนนั้นไปอยู่เสียที่ไหน หากว่ายังคงอยู่จนบัดนี้ ก็คงจะเป็นที่ฮือฮากันมาก เพราะชายผู้นั้นชื่อ “แม้ว” ชาวบ้านจึงได้เรียกหุบนั้นว่า “หุบตาแม้ว”

การที่มีสถานีทวนสัญญาณของโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่ตั้งกันอยู่ที่นั่นหลายสิบปีมาแล้ว ตามอายุของสถานีโทรทัศน์นั้นๆ เพื่อแพร่คลื่นเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสถานีต่างๆ ก็เป็นของหน่วยราชการทั้งสิ้น, การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสร้างอ่างเก็บน้ำไว้บนยอดเขายายเที่ยง มีพื้นที่เป็นพันไร่ จุดที่ตั้งของสถานีทวนสัญญาณและอ่างเก็บน้ำนั้น ก็เป็นการซื้อที่ดินมาจากชาวบ้านผู้ครอบครองแต่เดิมมา, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ก็ซื้อจากชาวบ้านในราคาที่สูงพอสมควร มิใช่การขับไล่หรือยึดคืน น่าจะเป็นการยืนยันได้ในประการแรก คือ พื้นที่นั้นมิใช่พื้นที่ลุ่มน้ำโซน A อย่างที่ฝ่ายกฎหมายของพรรคไทยรักไทยระบุ คือไม่ใช่ป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ จัดเป็นโซน A ได้

เพราะป่าโซน A นั้น คือป่าที่ต้องรักษาสภาพความเป็นป่าสมบูรณ์อย่างเข้มงวด ใครจะแตะต้องทำอะไรไม่ได้เลยในป่าโซน A ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือทางราชการ แม้ว่าในเขตป่าโซน A จะมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในดิน ไม่ว่าจะเป็นแร่ทอง แหล่งเพชร บ่อน้ำมัน อะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่สามารถจะไปใช้ทรัพยากรนั้นในป่าโซน A ได้, สถานีทวนสัญญาณโทรทัศน์ หรือการสร้างอ่างเก็บน้ำของไฟฟ้าสูบกลับของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ย่อมจะใช้พื้นที่ของป่าโซน A ไม่ได้

นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏมาแล้วประเด็นหนึ่งในเรื่องป่าโซน A และยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายมุมหลายประเด็นที่จะเป็น “รายงานพิเศษ” ในวันพรุ่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น