xs
xsm
sm
md
lg

มติครม.ให้ทักษิณคายเรดาร์จากยุทธศาสตร์ชาติคือสินค้า...

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา มีมติของคณะรัฐมนตรีออกมาเรื่องหนึ่ง ซึ่งดูภายนอกแล้วเห็นว่าไม่เป็นเรื่องใหญ่โต หรือมีความสำคัญอะไรนัก แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องใหญ่ และมีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นมติที่โค่นล้ม “ยุทธศาสตร์ทักษิณ” ทีเดียว

ยุทธศาสตร์ทักษิณนั้น ได้ถูกคว่ำลงและถือว่าสิ้นสุดไปเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะเป็นหัวขบวนของเรื่องต่อไปทางทหาร ซึ่งตนไม่มีความรู้อะไรเลย แม้ว่าจะผ่านการศึกษามาจากโรงเรียนเตรียมทหาร ได้เข้าเกาะกุมไปเสียทุกส่วน แม้กระทั่งงานยุทธศาสตร์เตรียมคนเตรียมสมองไว้สำหรับการเข้าโรงเรียนนายทหารต่อไป แต่ “ทักษิณ” ไปทางตำรวจ ความรู้ทางด้านทหารนั้นก็เป็นเพียงความรู้แบบการเตรียมเท่านั้น ที่เลวร้ายโสมมกว่านั้น ก็คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ของชาติ เพื่อสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจ ที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนเหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่ทำอยู่ โดยไม่คิดว่า นี่เป็นเรื่องของความมั่นคง เป็นการดำรงอยู่ของชาติ มิใช่การดำรงอยู่ของระบอบทักษิณ เมื่อความมั่นคงของชาติถูกกำหนดด้วย “ราคาค่าตอบแทน” ก็เท่ากับว่า “กิน” ความมั่นคงของชาติ

ก็เท่ากับว่าเป็นระบอบ “ทักษิณ” นั้นเอง

นอกเหนือไปจากการเป็นมนุษย์กินคน กินประชาชนทั้งหลาย


ในช่วงเบ่งบานของระบอบทักษิณนั้น ตัวนายกรัฐมนตรีมีเงินงบประมาณที่อยู่ในมือปีละไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท อันเป็นจำนวนสูสีกับงบประมาณของบางกระทรวง โดยตั้งไว้ในฐานะงบประมาณกลางที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาใช้ อ้างว่าเพื่อเป็นการสร้างความคล่องตัว โดยงบประมาณส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับงบกลางสำหรับการแก้ปัญหาฉุกเฉิน

การพิจารณาใช้งบประมาณของนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นได้เคยจ่ายเป็นงบประมาณทางทหารอยู่หลายครั้ง ทั้งส่วนที่จัดเป็นอาวุธ แต่ส่วนใหญ่จะไปทางยุทโธปกรณ์ คือไม่ใช่อาวุธโดยตรง โดยการอนุมัติจ่ายจากงบประมาณส่วน นายกรัฐมนตรีนี้ ก็ผ่านคณะรัฐมนตรีเหมือนกับพอเป็นทางผ่าน ตัวนายกรัฐมนตรีมีความต้องการหรือมีเป้าประสงค์ใดก็ไม่มีการขัดข้องอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ยุทโธปกรณ์บางอย่างนั้น ถ้าหากว่าเข้าสู่กระบวนการจัดหาตามความต้องการของกองทัพ ก็จะต้องเข้าระบบตั้งโครงการ มีคณะกรรมการพิจารณาเป็นแต่ละโครงการ มีกรรมการตั้งแต่การพิจารณาจัดหา คณะกรรมการจัดซื้อ คณะกรรมการตรวจรับมอบพัสดุ ต้องประสานกับทางสำนักงบประมาณในการจัดวงเงินไว้ให้ ต้องได้รับความเห็นจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ ว่าเป็นสิ่งที่เกินขีดความจำเป็นหรือไม่สำหรับการรักษาความมั่นคง ต้องผ่านการพิจารณาของกองบัญชาการทหารสูงสุด ที่บังคับบัญชาเหล่าทัพอยู่ และต้องส่งไปทางกระทรวงกลาโหม ฝ่ายการพิจารณาของสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ซึ่งเป็นหน่วยที่เหมือนกับเป็นฝ่ายเสนาธิการของกระทรวง ผ่านสายงานของปลัดกระทรวงกลาโหม และไปอนุมัติที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีที่ต้องมีรายละเอียด และได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีชุดย่อมๆ ตามสายงานเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ต้องเตรียมข้อมูลและคำตอบ รวมทั้งตัวบุคคลที่จะชี้แจงกับคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณา

ทั้งหมดนี้ จะต้องเป็นไปตามกระบวนการที่จะต้องลื่นไหลไปไม่ให้มีการติดขัด

กว่าจะได้อะไรมาสักอย่างก็ต้องเหนื่อย

จากนั้นก็เข้าสู่การจัดซื้อ ต้องร่างสัญญาที่ต้องประสานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานอัยการสูงสุด โดยเฉพาะกรมที่ปรึกษา ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง

ระบอบทักษิณ ได้ทำให้วิธีการดังกล่าวเปลี่ยนไป โดยขั้นตอนทั้งหมดจากกองทัพสู่นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีงบประมาณส่วนตัวได้ทันที สามารถเปิดจ่ายงบประมาณส่วนนี้ได้โดยง่าย ด้วยการติดต่อสายตรงกันกับเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 ก็สามารถเข้าถึงตัวเงินได้เลย ซึ่งนั่นเป็นการจัดหาที่อาจจะขัดต่อหลักยุทธศาสตร์โดยรวม แต่เป็นการเข้ายุทธศาสตร์ทักษิณ ที่จะต้องให้กองทัพหรือทหารเกรงใจแล้วต้องเข้าพึ่งพา และในขณะเดียวกัน บางอย่างก็เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน คือคนในพรรคหรือญาติพี่น้องเป็นเจ้าของโครงการ สั่งให้กองทัพดำเนินการจัดซื้อจัดหาตัวสินค้าที่ “พ่อค้า” ไปเสนอไว้กับทางพรรคหรือคนแวดล้อมที่มีการตอบแทนกันอยู่ เท่ากับว่าเป็นการสั่งให้ซื้อ แล้วมาเอาเงินไป มีเงินรอไว้ให้แล้ว และเงินนั้นส่วนหนึ่งก็ย้อนกลับมาเป็นคอมมิชชัน

“ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” ได้เคยมีรายงานเกี่ยวกับการเลือกแบบเรดาร์สำหรับโครงการป้องกันภัยทางอากาศระยะที่ 2 หรือ อาร์เทด เฟส 2 (RATADS PAHSE 2) ว่าได้มีการเดินเข้าไปถึงกองเงินงบประมาณของ “ทักษิณ” แล้วด้วยการที่จะได้เรดาร์แบบหนึ่งมาใช้ในโครงการนี้ เกิดความสับสนกันอยู่ว่า จะได้เรดาร์ในระบบ X หรือ L ที่มีความแตกต่างกัน คือเป็นระบบประจำที่อยู่กับสถานีเรดาร์ถาวร และเรดาร์แบบเคลื่อนที่ ทำการเคลื่อนย้ายได้ โดยการที่ระบบเคลื่อนที่ได้สามารถเดินเข้าไปสู่ “ทักษิณ” และคนรอบข้างได้ โดยที่ทางกองทัพอากาศเจ้าของโครงการนั้น มีคณะกรรมการพิจารณาโครงการและอื่นๆ ได้พิจารณากันมาเป็นที่ยุติ และเป็นการพิจารณาแบบเป็นหลักยุทธศาสตร์ด้วยว่า เรดาร์จะต้องเป็นระบบที่อยู่กับสถานีเรดาร์ถาวร ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายกับสถานีเรดาร์หลักของ RTADS ระยะที่ 1 และระยะที่ 3 ซึ่งเสร็จเรียบร้อยแล้วได้ เช่น สถานีเรดาร์ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ สถานีเรดาร์เขาเขียว บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สถานีเรดาร์เขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ และอื่นๆ

ดังนั้น การที่ระบอบทักษิณ จัดเงินให้กับเรดาร์ระบบเคลื่อนที่ได้ จึงไม่ตรงความประสงค์ของการใช้งานที่กองทัพอากาศกำหนด การเตรียมเงินไว้เพื่อการจัดซื้อเรดาร์ระบบนี้จากงบประมาณในส่วนของ “ทักษิณ” กำไว้ จึงเป็นการมุ่งหวังผลประโยชน์ทับซ้อน โดยไม่คำนึงถึงยุทธศาสตร์เหมือนกับว่าเมื่อเป็นเจ้าของเงิน จะอนุมัติเงินให้ไปจัดหา ก็ต้องเป็นการล็อกสเปกไว้อย่างนี้ หากไปซื้อหรือมีความต้องการเรดาร์แบบอื่นก็ไม่มีเงินให้

นี่คือความชัดเจนว่า ระบบทักษิณได้มองแต่ผลประโยชน์ทับซ้อน และเข้ามาครอบงำยุทธศาสตร์ของกองทัพที่จัดเตรียมไว้ เป็นการมองผลประโยชน์จากการจัดหาจัดซื้อมากกว่าผลทางยุทธศาสตร์ แม้ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอากาศ อันเป็นเรื่องสำคัญก็ยังไม่วายจะไล่งับ

การรายงานของ “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” ได้ตีแผ่เรื่องนี้ออกมารวม 2 ครั้งในช่วงที่ระบอบทักษิณยังบริบูรณ์อยู่ ทำให้เกิดการชะงักและซุกเรื่องไว้ก่อน เพื่อรอเวลากันต่อไป โดยอาจจะคิดว่า หากเดินหน้าต่อไปอาจจะถูกเปิดเผยกันอย่างลากไส้ เหมือนเรื่องเครื่องบินขับไล่ไอพ่น ซู-30 ของรัสเซียก็ได้

หลังจากนั้นก็มีการปฏิวัติโค่นล้มระบอบทักษิณ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

การปฏิวัติที่เกิดขึ้น มีผลให้กองทัพอากาศได้รับผลบุญเต็มๆ และเป็นบุญของประเทศชาติ/ประชาชนด้วย ที่มีโอกาสได้กลับเข้าสู่แผนยุทธศาสตร์เดิมที่วางไว้ ไม่ต้องใช้ยุทธศาสตร์ทักษิณ ที่แฝงด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน

โครงการป้องกันภัยทางอากาศ RTADS ระยะที่ 2 ซึ่งมีโครงการยาวนานกว่าสิบปีจะได้เสร็จสมบูรณ์ และเป็นไปตามที่กองทัพอากาศต้องการ คือเป็นไปตามความต้องการของคนใช้ ไม่ใช่เป็นไปตามคำสั่งคนกำเงิน ที่มาคอยแบ่งเงิน

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีมติครม.ให้กองทัพอากาศดำเนินการ RTADS ระยะที่ 2 ตามที่กองทัพอากาศต้องการดังกล่าว โดยมติของครม.นั้น เท่ากับเป็นการโดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของชาติเลย

กระทรวงกลาโหมได้เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เป็นไปตามขั้นตอนของความต้องการการจัดหาของ RTADS ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ ตะวันตก อ่าวไทย อันดามันให้เสร็จตามโครงการ RTADS ที่มี 3 ส่วน คือ ระยะที่ 1 คลุมพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ระยะที่ 2 ยังคงค้างอยู่ แต่ระยะที่ 3 สำหรับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนนั้นเสร็จไปแล้ว โดยโครงการทั้ง 3 ระยะนี้ จะต้องประสานกับศูนย์ป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก (ศปอ.ทบ.) ที่มีอยู่ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับระยะที่ 2 ต้องประสานกับหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งของกองทัพเรือด้วย

คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการสร้างถนนขึ้นสถานีเรดาร์เขาใหญ่ บนเทือกเขาตะนาวศรี เป็นเงิน 450 ล้านบาท การจัดซื้อเรดาร์แบบประจำที่ติดตั้งที่สถานีเรดาร์แห่งนี้ พร้อมกับค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงาน ทั้งการอบรมภายนอกและภายในประเทศเป็นเงิน 725 ล้านบาท

สถานที่ตั้งเรดาร์นั้น ได้บรรลุข้อตกลงกับทางด้านป่าไม้ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมจากหลายฝ่ายในการศึกษาเรื่องนี้

เมื่อได้รับอนุมัติจากครม. ทั้งการทำถนนขึ้นเขาใหญ่ ที่กาญจนบุรี และตัวเรดาร์แบบประจำที่แล้วเช่นนี้ ก็ทำให้หมดปัญหาที่ระบอบทักษิณเขาเคยก่อไว้ ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ตามโครงการเดิม

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติการจัดระบบสื่อสารโทรคมนาคมเครือข่ายการแจ้งเตือน การประสานงานระหว่างสถานีเรดาร์อีก 2 ระยะ ทำให้เครือข่ายการตรวจจับเป้าหมายทางอากาศครอบคลุมไปได้ทั้งประเทศเหมือนร่างแห โดยไม่มีช่องโหว่หรือจุดอ่อนอีก โครงการ RTADS ทั้ง 3 ระยะที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2527 จะได้เสร็จสมบูรณ์กันเสียที ในปี พ.ศ. 2552 นี้

นอกจากนี้ ครม.ยังได้อนุมัติการปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพอากาศ กับศูนย์ป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก และหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศและรักษาฝั่งของกองทัพเรือ ในระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่เชื่อมต่อเป็นเครือข่ายร่วมกัน ในวงเงินงบประมาณ 144 ล้านบาท และมีงบประชากรสำหรับการสร้างอาคาร ห้องควบคุมสั่งการระบบการปฏิบัติการต่างๆ รวม 12 รายการเป็นเงิน 335 ล้านบาท โดยระบบที่นำมาใช้นี้เป็นระบบที่ทันสมัยที่สุด ติดตั้งในกองบินต่างๆ ทั่วประเทศ, ทั้งหมดนี้เป็นไปตามแผนการป้องกันประเทศโดยรวมของกองทัพ คือแผนจักรี 1 จักรี 2 และแผนยอดฟ้า ซึ่งเป็นแผนสนธิกันระหว่าง 3 เหล่าทัพที่สมบูรณ์ แม้ว่า RTADS ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ จะต้องช้ากว่าแผนเดิมที่ตั้งกันไว้ 2 ปี แต่ก็อยู่ในห้วงเวลาที่รับได้

RTADS ระยะที่ 2 มาเริ่มต้นช้ากว่าระยะที่ 1 และ 3 ก็เพราะในระยะที่เริ่มโครงการคือใน พ.ศ. 2527 นั้น มีความกังวลกันว่า ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทิศทางด้านที่ ถ้าหากจะมีภัยทางอากาศก็จะมาทางด้านทิศทางนี้ก่อน ส่วนทางภาคใต้ อ่าวไทย และด้านตะวันตกคือทางด้านพม่า และมาเลเซีย เป็นทิศทางที่มีความจำเป็นรองลงไป

แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาคเป็นอย่างมาก ทิศทางของภัยทางอากาศกลับเปลี่ยนแปลง โดยมองว่าอันตรายจะมาทางอ่าวไทย ทางทิศใต้และตะวันตก

หากว่าการจัดยุทโธปกรณ์เป็นไปโดยที่ระบอบทักษิณเป็นผู้กำหนด การสร้างเครือข่ายป้องกันภัยทางอากาศทางด้านทิศใต้และตะวันตก ก็จะยังเป็นจุดอ่อนต่อไป เพราะไม่มีสถานที่เรดาร์หลัก ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า รัฐบาลทักษิณนั้นต้องการจะ “เอาใจ” พม่า เพราะทางพม่าเฝ้ามองเรื่องการตั้งสถานีเรดาร์ที่เขาใหญ่ กาญจนบุรีด้วยความไม่สบายใจนัก และมีความรู้สึกว่าไทยหวาดระแวงพม่า ทั้งๆ ที่ระบบเรดาร์การแจ้งเตือนภัยทางอากาศนั้นเป็น “ยุทธศาสตร์เชิงรับ” สำหรับการป้องกันตัวเอง มิได้เป็นภัยคุกคามต่อผู้ใด

การที่รัฐบาลทักษิณต้องการเอาอกเอาใจพม่าเป็นพิเศษ ก็เพื่อประโยชน์ในการพูดจากับพม่าที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มธุรกิจพรรคพวกเพื่อนพ้องหรือของตัวเอง ที่ไปทำอยู่ในพม่าที่มองกันลึกๆ แล้วทางพม่าก็มองออกว่า สิ่งที่จากไทยไปพม่านั้น ที่จริงแล้วส่วนหนึ่งก็เป็นการไหลผ่านของสิงคโปร์ โดยมีไทยเป็น “นอมินี” ให้กับสิงคโปร์ มิใช่จากไทยโดยตรง ด้วยเหตุนี้ พม่าจึงจับมือกับทางสิงคโปร์โดยตรงเสียจะดีกว่าให้ไทยเป็นตัวแทน และเมื่อพม่าคิดอย่างนี้, ทางระบอบทักษิณ จึงต้องเอาใจพม่ามากขึ้น แม้ว่าจะต้องลงทุนด้วยความปลอดภัยของประเทศ ก็ยังยอมทำ

เขาทำเพื่อเงินได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “เกาะกูด” กับเขมร, บ้านเหล่ากอหกกับลาว และเรื่องการที่มีทหารพม่าเข้ามาอยู่ที่บ้านท่าตอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ควบคุมดินแดนไทยไว้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น