xs
xsm
sm
md
lg

สุวรรณภูมิกระฎุมพี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทั้งก่อนและหลังสนามบินสุวรรณภูมิจะเปิดใช้เมื่อเดือนกันยายน 2549 นั้น ไม่พียงรัฐบาลเท่านั้นที่โหมโฆษณาถึงสนามบินแห่งนี้อย่างกว้างขวาง หากแม้แต่ภาคเอกชนเองก็ไม่น้อยหน้า ซึ่งหากไม่นับโฆษณาที่ว่ากันถึงสรรพคุณต่างๆ ของสนามบินแห่งนี้แล้ว ภาพลักษณ์ของสุวรรณภูมิที่ถูกนำเสนอออกมาก็ยังนับว่าน่าสนใจไม่น้อย

ภาพลักษณ์ที่ว่านี้ถูกจินตนาการออกมาให้เห็นว่า หนึ่ง สุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรและรากฐานวัฒนธรรมเดิมของไทยที่เจริญรุ่งเรือง สอง สุวรรณภูมิได้หล่อหลอมตนเองเพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ที่มีวัฒนธรรมอื่นเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น

ข้อหลังนี้ถ้าพูดให้ชัดขึ้นมาอีกนิด ผมก็อยากจะบอกว่า ยุคสมัยใหม่ดังกล่าวก็คือยุคโลกาภิวัตน์ และวัฒนธรรมที่ว่าก็คือ วัฒนธรรมตะวันตก

เพื่อให้เห็นภาพลักษณ์ดังกล่าวให้ชัดขึ้น ผมขอยกตัวอย่างโฆษณาบางชิ้น
โฆษณาชิ้นหนึ่งใช้หญิงสาวแต่งชุดไทยกึ่งประยุกต์ที่งามวิจิตร เธอเดินอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่เป็นป่าไม้ ลำธารใส ปลา สัตว์ป่า (ที่เชื่อง) ขุนเขา และสายลม โดยทุกสภาพแวดล้อมที่เธอเดินผ่านไปนั้นจะต้องมีทองปรากฏในลักษณ์ใดลักษณ์หนึ่ง นัยว่าเพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนสุวรรณภูมิ

โฆษณาอีกชิ้นหนึ่งใช้หญิงสาวในเครื่องแต่งกายแบบชิ้นแรก เพียงแต่เป็นเครื่องแต่งกายที่ไม่ได้ถูกประยุกต์มากเท่า คราวนี้สภาพแวดล้อมของเธอเป็นสิ่งปลูกสร้างแบบไทย มีข้าทาสหรือบริวาร ที่สำคัญคือ ดูเหมือนว่าเธอกำลังมีกิจกรรมหรือพิธีกรรมอะไรบางอย่าง และกิจกรรมนั้นออกจะเกี่ยวข้องกับคนในรั้วในวัง

โฆษณาชิ้นหลังนี้ทำให้ผมอดนึกเปรียบเทียบกับโฆษณาอีกชิ้นหนึ่งไม่ได้ คือเป็นโฆษณาที่ใช้หญิงสาวกำลังทำพิธีกรรมหรือกิจกรรมบางอย่างเหมือนกัน แต่คราวนี้ดูอลังการกว่า เพราะนอกจากจะใช้หญิงสาวมากกว่าหนึ่งคนแล้ว พิธีกรรมที่ว่าหากไม่อยู่บนเรือหรู หรืออยู่ในท้องทุ่งการเกษตร และเครื่องที่ใช้ประกอบพิธีกรรมนั้นก็เห็นได้ชัดว่าเป็นของชนชั้นสูง ถึงแม้จะกำลังทำพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชาวนาก็ตาม

โดยสรุปแล้วก็เป็นไปอย่างมีผมบอกไปตอนต้น คือเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์ของสุวรรณภูมิว่าต้องมีความเป็นไทย มีความมั่งคั่งร่ำรวย (ก็ขนาดฝุ่นละอองที่ปลิวว่อนก็ยังเป็นทองก็แล้วกัน) มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และปรับตัวเข้ากันได้กับยุคสมัย

ก็รู้อยู่นะครับว่านั่นเป็นโฆษณา ที่ยังไงๆ ก็จะไปเอาจริงเอาจังไม่ได้ เพราะคนทำเขาทำเพื่อต้องการเปรียบเปรยเช่นนั้นเอง และคงทำไปตามกระแสของสนามบินสุวรรณภูมิทั้งก่อนและหลังเปิดใช้ไปแล้ว จะว่าไปแล้ว การโหนกระแสตามกันไปเช่นนี้ก็นับว่าสอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาล คุณทักษิณ ชินวัตร อยู่ด้วย และโดยไม่จำเป็นว่าการโหนกระแสครั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลร้องขอหรือไม่ เพราะยังไงเสียบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาก็ได้อยู่แล้ว อย่างน้อยก็ภาพลักษณ์ขององค์กร

ผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่า โฆษณาที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างนั้นเป็นของใครบ้าง แต่ที่ควรบอกก็คือว่า ยังมีโฆษณาในทำนองดังกล่าวอยู่อีกมากมาย และโฆษณาทั้งที่ผมยกมาหรือไม่ได้ยกมาเหล่านี้หลายชิ้นก็ไม่ได้บอกตรงๆ ว่า ภาพที่เห็นอยู่หน้าจอนั้นคือ สุวรรณภูมิ

เอาเป็นว่า พอเห็นโฆษณาปุ๊บ ก็รู้ปั๊บว่านั่นคือ สุวรรณภูมิ
ใครว่าการโฆษณาชวนเชื่อจะเป็นกิจกรรมที่ขาดเสียมิได้ของประเทศคอมมิวนิสต์เท่านั้น ประเทศทุนนิยมก็ไม่ต่างกันหรอกครับ ซ้ำเมื่อทำออกมาแล้วยัง “ชวนเชื่อ” ได้ดีกว่าและเนียนกว่าประเทศคอมมิวนิสต์เสียอีก หาไม่แล้วพวกคอมมิวนิสต์คงไม่แพ้มาจนทุกวันนี้หรอกครับ

ส่วนใครจะเถียงว่ายังมีจีนอยู่นั่นไง ผมก็ต้องขอให้ดูดีๆ ด้วยว่า ที่จีนยังยืนหยัดอยู่ได้นั้นเพราะทุนนิยมหรือคอมมิวนิสต์กันแน่

แต่ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่านั่นเป็นโฆษณา ผมก็อดไม่ได้ที่จะคิดต่อไปว่า ภาพลั
กษณ์สุวรรณภูมิที่เห็นจากโฆษณานั้นเป็นภาพลักษณ์ในสายตาของกระฎุมพี

และแม้ว่าภาพลักษณ์เช่นนี้จะถูกโหมกระพืออย่างหนักในสมัยรัฐบาล คุณทักษิณ ก็ตาม แต่ผมก็เชื่อว่า ถึงจะเป็นรัฐบาลอื่น ภาพลักษณ์ที่ออกมาก็คงไม่ต่างไปจากนี้ เป็นแต่ยอมรับว่ารัฐบาล คุณทักษิณ โหมได้หนักกว่า ดีกว่า และเนียนกว่าเท่านั้น

อย่างน้อยรู้กันอยู่ไม่ใช่หรือว่ารัฐบาล คุณทักษิณ นั้นเก่งเรื่องการตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ถ้าใครจะคิดว่าการตลาดของ คุณทักษิณ กับการโฆษณาชวนเชื่อจะเป็นสิ่งเดียวกัน

การที่สุวรรณภูมิในสายตาของกระฎุมพีมีภาพลักษณ์เช่นนั้นออกจะเป็นเรื่องที่ขัดๆ กันยังไงอยู่ เพราะแม้สุวรรณภูมิจะเป็นดินแดนที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์หรือดำรงรักษาความเป็นไทยมายาวนานแค่ไหน อย่างไร แต่ความจริงก็ฟ้องเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์นั้นได้ถูกกระฎุมพีแย่งชิงเอาไปเป็นเจ้าของมาตั้งนานแล้ว

ครั้นจะว่ากันถึงความเป็นไทย หรือความเป็นไทยที่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยใหม่แล้ว ผมก็แทบมองไม่เห็นว่ากระฎุมพีจะมีบทบาทในการอนุรักษ์มากนายอะไรนัก ตรงกันข้าม กระฎุมพีต่างหากที่เป็นผู้นำในการนำเข้าและผู้นำในการเสพวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเอกอุ ส่วนสุวรรณภูมิในความหมายที่มองผ่านความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ ทรัพยากร ชนชาติพันธุ์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ฯลฯ ก็คงมีแต่ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ หรือ “พี่จิตต์” ของผมเท่านั้นแหละครับ (ฮา) ซึ่งก็ไม่ใช่ความหมายที่กระฎุมพีต้องการ

และที่ “หัวเราะมิออก ร่ำไห้มิได้” ก็คือว่า เมื่อหันกลับมามองสนามบินสุวรรณภูมิอันเป็นต้นกระแสของโฆษณาต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุวรรณภูมิแล้ว เราก็จะพบว่า สนามบินแห่งนี้กลายเป็นทรัพยากรอันแสนจะอุดมสมบูรณ์ที่บรรดากระฎุมพีทั้งที่เป็นนักการเมืองและนักธุรกิจต่างรุมทึ้ง เหตุฉะนั้น ตลกร้ายจึงกลายเป็นว่า ภาพอันอลังการของสนามบินสุวรรณภูมิที่สามารถเห็นได้จากภายนอกจึงเป็นได้แค่ “ภาพลักษณ์” เท่านั้น แต่กับภายในแล้วกลับ “เหม็นหึ่ง”

อย่างน้อยก็จากส้วมที่ไม่พอใช้แหละครับ (ไม่ฮา)
สุวรรณภูมิจากที่ผมว่ามาจึงเป็นอะไรที่ออกจะมีราคาสำหรับกระฎุมพี เพราะตราบใดที่ยังใช้สนามบินแห่งนี้มาโฆษณาให้คนไทยภูมิใจได้ด้วยรูปแบบต่างๆ นานเท่าไร กระฎุมพีก็มีแต่กำไรเท่านั้น แต่ก็เพราะการโหนกระแสสุวรรณภูมิเช่นนี้เอง ที่ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะต้องคิดถึงโฆษณาอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในกระแสไม่ต่างกันนั่นคือ โฆษณาที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่พอเพียง

โฆษณากลุ่มหลังนี้ไม่ได้ “ขี้จุ๊” เท่ากลุ่มแรก แต่กระแสที่ถูกโหมกระพือขึ้นมาได้ในระดับที่พอๆ กับโฆษณาสุวรรณภูมินั้น ทำให้ผมไม่แน่ใจนักว่า เมื่อถึงที่สุดแล้วกระแสไหนจะสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจของคนไทยได้ในที่สุด

ว่ากันว่า ดินแดนสุวรรณภูมินั้นเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องของพระมหาชนก และเรื่องราวของพระมหาชนกก็เกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องของความเพียร และเรื่องของความเพียรก็เกี่ยวเนื่องด้วยการใช้ชีวิตที่พอเพียง และชีวิตที่พอเพียงก็ถือเป็นจริยธรรมข้อหนึ่งที่มนุษย์พึงยึดถือปฏิบัติ โฆษณาในกระแสสุวรรณภูมิกับชีวิตที่พอเพียงจึงมีแหล่งที่มาที่สัมพันธ์กัน แต่เนื้อหากลับมุ่งไปกันคนละทิศคนละทาง

ประทานโทษเถิดครับ ว่ากันถึงตรงนี้ผมก็คิดอะไรไม่ออกแล้วละครับ พี่น้อง....
กำลังโหลดความคิดเห็น