xs
xsm
sm
md
lg

อัด"อุ๋ย"ไล่ทุนนอก ทำ ศก.พัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนาถ! ครม.สุรยุทธ์แก้ไขนิยามกฎหมายต่างด้าว ให้เหตุผลลงโทษบริษัทที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติมีสิทธิออกเสียงมากกว่าคนไทย 4 หมื่นบริษัท “เกริกไกร” ขึงขังสั่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจสอบ หากจับได้ทีหลังเจอเล่นงานหนักแน่ ประธานแก้กฎหมายเผยรู้ว่าเงินต้องไหลออก "หม่อมอุ๋ย"ถกต่างชาติวันนี้ "เกียรติ สิทธีอมร" ข้องใจเจตนา หวั่นแผนฟอกคดีนอมินี"กุหลาบแก้ว"บนความเสียหายของเศรษฐกิจชาติ ตะเพิด"อุ๋ย"พ้น ครม.ก่อนชาติล่ม ชี้ผิดพลาดซ้ำรอยมาตรการ 30% และซ้ำเติมเหตุบึ้มทำต่างชาติหนีไทย ปตท.โวยกระทบแผนระดมเงิน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยแก้ไขใน 2 ประเด็นหลักให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น คือกรณีการใช้สิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้นต่างชาติเกิน 50% และการถือหุ้นโดยชาวต่างชาติรวมทั้งการถือหุ้นแทนโดยคนไทยเกิน 50%

ซึ่งกรณีที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติมีสิทธิออกเสียงเกิน 50% นั้นธุรกิจที่มีรายชื่อตามบัญชีแนบท้ายบัญชีที่ 1 คือธุรกิจสงวนสำหรับคนไทย และบัญชีที่ 2 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติซึ่งรวมธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม จะต้องแจ้งแก่กรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ภายใน 1 ปี และดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในเวลา 2 ปี ส่วนธุรกิจตามบัญชีที่ 3 ธุรกิจบริการทั่วไป ให้แจ้งภายใน 90 วันแล้วสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติต่อไป

ส่วนกรณีต่างชาติรวมทั้งการถือหุ้นแทนโดยคนไทยถือเกิน 50% นั้น ในบัญชีที่ 1 และ 2 จะต้องแจ้งภายใน 90 วัน และดำเนินการแก้ไขภายใน 1 ปี ส่วนธุรกิจตามบัญชีที่ 3 ธุรกิจบริการทั่วไป ให้แจ้งภายใน 90 วันแล้วสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติต่อไป

“การดำเนินการดังกล่าวจะยังไม่มีผลในทันทีเป็นเพียงความเห็นชอบของครม.ที่จะอยากให้การดำเนินธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นไปอย่างถูกต้องตรมกรอบกฎหมาย ซึ่งต้องนำเสนอเข้าสู่การกลั่นกรองกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วต่อไปก็เป็นการพิจารณากฎหมายนี้ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งในขั้นตอนทั้งสองดังกล่าวก็ไม่แน่ใจว่าจะผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาหรือสนช.ตามที่เสนอกฎหมายนี้ไปหรือไม่” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายที่เกิดขึ้นนี้เนื่องจากมีการร้องเรียนเข้ามามากหลังจากเกิดกรณีของบริษัทกุหลาบแก้วและซีดาร์ โฮลดิ้ง ทำให้นักธุรกิจชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้วเกิดความไม่มั่นใจและต้องการความชัดเจนจากรัฐบาล เนื่องจากหากกฎหมายยังมีความไม่ชัดเจนต่อไปก็อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนได้ ทางรัฐบาลจึงได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ชัดเจนหากมีการดำเนินการผิดกฎหมายก็จะให้โอกาสในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง

“กฎหมายที่เราเสนอให้แก้ไขนั้นได้หารือข้อมูลกับทางภาคเอกชน นักวิชาการและมีการพูดคุยกับนักธุรกิจ เพราะถ้าไม่แก้ไขกฎหมายฉบับนี้ธุรกิจที่ถูกร้องเรียนก็จะอกสั่นขวัญแขวนว่าธุรกิจของตัวเองจะโดนเอาผิดเมื่อไร เขาต้องการความชัดเจนและแน่นอนของกฎหมายถ้ายังคลุมเครืออยู่อย่างนี้นักลงทุนใหม่ก็จะไม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นต้องการทำให้กฎหมายเป็นกฎหมายปิดช่องการใช้ลูกเล่นของการทำให้บริษัทต่างประเทศมาเป็นบริษัทไทย”

โดยในวันนี้(10 ม.ค.) นักธุรกิจชาวต่างชาติและหอการค้าต่างประเทศจะเข้ามาหารือเพื่อของความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อไป

**หอการค้าต่างประเทศผิดหวัง

นายปีเตอร์ จอห์น แวน ฮาเรน ประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย กล่าวว่า ผิดหวังที่ ครม.เห็นชอบหลักการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่ยังต้องขอดูรายละเอียดระหว่างการหารือร่วมกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรในวันนี้ โดยจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่นักลงทุนต่างชาติจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจุดที่เป็นห่วงมากที่สุดคือ เรื่องสิทธิในการออกเสียงบริหาร โดยหวังว่ารัฐบาลจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงแก้ไขในประเด็นดังกล่าวที่จะต้องลดสัดส่วนภายใน 2 ปี และแม้จะยอมรับว่ารัฐบาลไทยมีความต้องการกำหนดรายละเอียดในประเด็นดังกล่าว แต่ยังหวังว่าจะแก้ไขรายละเอียดได้บ้าง โดยเฉพาะกรณีบัญชีแนบท้าย 2 และ 3

**"แฉมี 4 หมื่นบริษัทเป็นต่างด้าว

นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เนื้อหาสาระที่มีการแก้ไข ได้มีการปรับนิยาม “คนต่างด้าว” ใหม่ ซึ่งจากเดิมพิจารณาความเป็นคนต่างด้าวจากสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าว โดยได้เพิ่มสิทธิออกเสียง หากคนต่างด้าวมีสิทธิออกเสียงตั้งแต่กึ่งหนึ่งขึ้นไปให้ถือว่าบริษัทนั้นเป็นคนต่างด้าว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการออกหุ้นบุริมสิทธิ์ให้คนต่างด้าวที่ลงทุนน้อยกว่าคนไทยมีสิทธิออกเสียงมากกว่าคนไทย

ทั้งนี้ หลังมีการแก้ไขนิยามคนต่างด้าว จะทำให้ผู้ที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้วและกลายเป็นบริษัทต่างด้าว ซึ่งจะผ่อนปรนให้ทำธุรกิจต่อไปได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ธุรกิจที่อยู่ในบัญชี 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ และขณะนี้มีการจดทะเบียนโดยมีคนต่างด้าวถือหุ้นไม่เกิน 49.99% ประมาณ 3 หมื่นราย ต้องมาแจ้งให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับรอง และจะสามารถทำธุรกิจต่อไปได้

ส่วนธุรกิจในบัญชี 1 และ 2 เป็นธุรกิจที่กระทบต่อความมั่นคง ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้มีการแจ้งจดทะเบียนโดยมีคนต่างด้าวถือหุ้นไม่เกิน 49.99% ประมาณ 9 พันราย ให้มาแจ้งภายใน 1 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ และสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อีก 2 ปี โดยในระหว่างนี้ต้องปรับโครงสร้างภายในให้ถูกต้อง หากไม่ดำเนินการปรับตัว ก็จะทำให้ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้

“ทุกบริษัทที่ปัจจุบันคนต่างด้าวถือหุ้นไม่เกิน 49.99% และมีฐานะเป็นบริษัทไทย แต่หลังจากปรับนิยามคนต่างด้าวใหม่ อาจกลายเป็นบริษัทต่างด้าว หรือเป็นอยู่เดิมจากการมีสิทธิ์ออกเสียงมากกว่า หรือจ้างคนไทยเป็นนอมินี ขอให้มาแจ้ง ใครที่รู้ว่าทำผิดให้มาแจ้ง และต้องปรับตัว ถ้าจับได้ทีหลังจะมีโทษ เพราะสามารถตรวจสอบได้ โดยขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำลังตรวจสอบอยู่ ซึ่งดูได้ไม่ยากว่าเป็นหรือไม่เป็น เพราะดูได้จากโครงสร้างผู้ถือหุ้น และข้อบังคับของบริษัท หากให้สิทธิหุ้นบุริมสิทธิมากกว่า และนับแล้วเกิน 49.99% ก็ถือว่าเป็นบริษัทต่างด้าว”

นายเกริกไกรกล่าวว่า ที่ผ่านมา กฎหมายดูแค่สัดส่วนการถือหุ้น แต่การปรับปรุงครั้งนี้ ดูสิทธิการออกเสียงด้วย ถ้ามีอำนาจในการควบคุม โดยเพิ่มสิทธิของหุ้นบุริมสิทธิ แม้จะถือหุ้นน้อยกว่า แต่ออกเสียงได้มากกว่า จะถือเป็นบริษัทต่างด้าว และยอมรับว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมทำตามกฎหมาย แต่ถามว่าทำไมไม่ไปตรวจสอบ เป็นเพราะมีคนไทยส่วนหนึ่งร่วมมือ ขณะที่การตรวจสอบของข้าราชการทำได้ยาก เพราะมีคนน้อย ทำให้หลุดรอดไป หรือไม่มีเรื่อง ก็ไม่มีการตรวจสอบ จนทำให้มีการอาศัยช่องว่างของกฎหมายเกิดขึ้นมากมาย

“การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ ไม่กระทบการลงทุน แต่ทำเพื่อให้กฎหมายเป็นกฎหมาย ต้องการให้มีการเคารพกฎหมายอย่างแท้จริง และจะได้มีการล้างไพ่กันซักที”นายเกริกไกรกล่าวและว่า การปรับปรุงบัญชีธุรกิจ ได้ยกเลิกธุรกิจที่มีกฎหมายหรือมีหน่วยงานอื่นดูแลอยู่แล้ว และหน่วยงานดังกล่าวได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกการควบคุมธุรกิจนั้น ได้แก่ ธุรกิจนำเที่ยว ซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าเฉพาะที่ไม่มีการส่งมอบสินค้า และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจหลักทรัพย์ อนุพันธ์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน เครดิตฟองซิเอร์

ส่วนธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ กำหนดให้เป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตทั้งหมด จากเดิมกำหนดไว้ว่าหากมีการลงทุนเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไปไม่ต้องขออนุญาต

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มบทลงโทษปรับและปรับรายวันให้สูงขึ้นจากเดิม 5 เท่า จากเดิมปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงหนึ่งล้านบาท เป็นห้าแสนถึงห้าล้านบาท และปรับรายวันจากวันละหนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท เป็นปรับวันละห้าหมื่นบาทถึงสองแสนห้าหมื่นบาท ส่วนโทษจำคุกให้เป็นไปตามเดิม โดยผู้ที่กระทำความผิดก่อนหน้านี้จะให้มีระยะเวลาปรับตัวเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยให้แจ้งภายใน 90 วัน และให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 1 ปี

**ปชป.จี้ยกเลิกก่อนเศรษฐกิจพัง

นายเกียรติ สิทธีอมร แกนนำทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไขนิยาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะในส่วนของเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาล โดยเฉพาะ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล ทางออกในเรื่องนี้คือต้องหยุดมติ ครม. และรัฐบาลควรจะปรับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรออกจาก ครม.ก่อนประเทศจะเสียหายมากไปกว่านี้

"กฎหมายเดิมระบุชัดเรื่องความผิดของนอมินี วิธีการก็คือลงโทษกุหลาบแก้ว เรื่องก็จบ แต่กลับมาแก้ไขนิยาม โดยไปรื้อสิทธิผู้ถือหุ้นซึ่งในต่างประเทศผู้ถือหุ้นมีสิทธิ อยากถามว่า ครม.แก้นิยามเพื่ออะไร นอกจากประเทศจะไม่ได้อะไรแล้ว ยังเสียหายเหมือนกับตอนที่ออกมาตรการ 30% ซึ่งต่างชาติไม่ไว้ใจมาแล้ว มาครั้งนี้เงินทุนต่างชาติทั้งในภาคอสังหาฯ อุตสาหกรรมบริการจะหนีเมืองไทย เพราะที่ลงทุนอยู่ก็เพิ่มทุนหรือขยายกิจการไม่ได้ ที่ยังไม่มาก็เลิกหวังได้เลย เชื่อว่าจีดีพีปีนี้ไม่ถึง 4% แน่นอน"

นายเกียรติกล่าวด้วยว่า ที่มาของการแก้กฎหมายครั้งนี้ เป็นเพราะตนได้ไปยื่นเรื่องต่อกระทรวงพาณิชย์ให้ตรวจสอบบริษัท กุหลาบแก้ว กรณีให้คนไทยถือหุ้นแทนต่างด้าว (นอมินี) ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์สอบสวนจนมีหลักฐานและสรุปว่า เป็นนิติกรรมอำพรางเพื่อหวังผลทางธุรกิจของตระกูลชินวัตร โดยให้นักธุรกิจไทยถือหุ้นในนามกองทุนเทมาเส็ก เพื่อให้บริษัทกุหลาบแก้วเป็นนิติบุคคลไทย แทนที่จะลงโทษตามกฎหมาย กระทรวงพาณิชย์ภายใต้รัฐบาลชุดนี้กลับไปแก้คำนิยาม

"ตอนแรกผมคิดว่าการแก้กฎหมายอาจจะหวังผลลบล้างความผิดให้กุหลาบแก้ว แต่กระแสต่อต้านรุนแรงจึงแก้ไขนิยาม สุดท้ายก็เข้าทางกุหลาบแก้วอยู่ดี อาจจะพ้นผิดไปด้วย" นายเกียรติย้ำและว่า การดำเนินคดีบริษัทกุหลาบแก้ว จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

นายเกียรติกล่าวว่า ระยะเวลาที่ที่ผ่านมาเกือบ 4 เดือนของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ เศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายจากนโยบายที่ผิดพลาด ได้แก่ มาตรการกันสำรองเงินนำเข้า 30% ซึ่งครั้งนั้นต่างชาติไม่แน่ใจว่ารัฐบาลส่งสัญญาณไม่ต้องการเงินทุนต่างชาติหรือไม่ กระทั่งครั้งนี้ ครม.ก็เห็นชอบการแก้นิยาม พ.ร.บ.ต่างด้าว เป็นการตอกย้ำและแน่ใจให้ต่างชาติ และเป็นการซ้ำเติมความเชื่อมั่นของประเทศให้ลดลงต่อเนื่องจากเหตุระเบิด 8 จุดใน กทม. ตนไม่เข้าใจว่ารัฐบาลนี้มีเจตนาอย่างไรกันแน่ สิ่งที่ต้องรีบดำเนินการในขณะนี้คือต้องออกมาแถลงนโยบายเกี่ยวกับเงินทุนต่างประเทศให้ชัดเจนโดยด่วน

**รู้ล่วงหน้าทุนนอกต้องไหลออก

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ฯ ระบุว่า พ.ร.บ.ที่แก้ไขใหม่เป็นหลักการที่สอดคล้องกับแนวทางที่ประเทศคู่ค้ากับไทยใช้อยู่ ไม่ขัดกับกฎเกณฑ์องค์การการค้าโลก แต่จะทำให้การประกอบธุรกิจในประเทศไทยถูกจัดระเบียบและโปร่งใสชัดเจน และไม่ได้เป็นการลงโทษนักธุรกิจรายเก่าเพราะให้เวลาในการปรับตัว ธุรกิจรายใหม่ก็ต้องเข้าตามกฎเกณฑ์ หลัง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เชื่อว่าต่างชาติน่าจะพอใจ

ส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะทำให้เงินลงทุนของต่างชาติในประเทศไทยไหลออกไป ก็อาจจะเกิดขึ้น เพราะความเข้าใจไม่ครบถ้วนแต่เชื่อว่าในอนาคตการลงทุนของต่างชาติในไทยจะยังคงเติบโตต่อไป สำหรับกรณีดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง ไม่น่าจะมีสาเหตุมาจากการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ แต่มีปัจจัยอื่น ๆ เกี่ยวข้องหลายอย่าง

 นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดบริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สิ่งสำคัญ เจ้าหน้าที่รัฐเองต้องควบคุมให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและต้องมองภาพรวม ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ตั้งใจจริง ส่วนการลงทุนแล้วจะถอนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าต่างชาติถอนการลงทุนจริงก็เสียหาย น่าจะมีวิธีการประนีประนอม

"ที่ผ่านมาไทยถือเป็นประเทศที่รับฟังความเห็นจากนักลงทุนอยู่แล้ว และต้องคำนึงเศรษฐกิจด้วย เพราะคนไทยทำธุรกิจกับคนต่างชาติก็มีเยอะ"

นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ประธานกรรมการ บริหารบริษัทเอกรัฐวิศวกรรม กล่าวเห็นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาการทำธุรกิจของนักลงทุนต่างประเทศมีลักษณะที่มีการถือหุ้นโดยเป็นลักษณะนอมินีซึ่งการปรับปรุงจุดนี้จะทำให้การทำธุรกิจทั้งคนไทยและต่างชาติมีความโปร่งใสมากขึ้น

“ผมคิดว่าถ้าต่างประเทศให้โอกาสนอมินีไทยเองก็คงจะต้องให้คงต้องย้อนถามกลับไปมากกว่า เพราะที่ผ่านมาการลงทุนซึ่งมีขอส่งเสริมเพื่อรับสิทธิประโยชน์ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อขอลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องจักร ผมว่าสิ่งนี้ต่างชาติก็มีวิธีการที่จะได้รับประโยชน์ค่อนข้างมากแล้วทุกอย่างเล่นตามกติกาสากลจะดีกว่า”

นายกรกต ผดุงจิตต์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท. ) กล่าวว่า ในฐานะนักธุรกิจไทยนักลงทุนต่างประเทศขณะนี้ก็ได้รับสิทธิประโยชน์ที่บางครั้งอาจจะได้มากกว่านักลงทุนเสียด้วยซ้ำไปโดยพิจารณาจาก พ.ร.บ.หลายฉบับล้วนแต่เอื้อทุนนอกเข้ามา ซึ่งการปรับปรุงส่วนนี้ก็เพื่อให้เกิดความโปร่งใสไม่ใช่การเข้ามาเป็นนอมินี

“ประเทศไทยลักปิด ลักเปิด การลงทุนควรจะเน้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ใช่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายทุนได้ง่าย และการลงทุนต้องคำนึงถึงสังคมไม่ใช่เอาแต่ผลประโยชน์ด้านเดียวเสร็จแล้วก็เคลื่อนย้ายหนีอย่างนี้ก็ต้องดูเหมือนกัน ดังนั้นเราก็ต้องวางสมดุลของการลงทุนที่เน้นความตั้งใจเข้ามาลงทุนอย่างแท้จริง” นายกรกตกล่าว

ปตท.โวยกระทบแผนระดมเงิน

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า การสกัดกั้นค่าเงินบาทกระทบต่อแผนระดมทุนใช้ขยายธุรกิจทั้งกลุ่ม 6 แสนล้านบาท ใน 5 ปี เป็นการกู้ยืม 1 แสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของปตท.2 แสนล้านบาท กู้ยืม 5 หมื่นล้านบาท แต่จะไปกู้เงินหรือระดมทุนออกบอนด์ต่างประเทศทำให้ปตท.มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้นในปี 50 หากต้องการใช้เงินทุนเท่าไรก็จะไปเจรจากับธปท.และกระทรวงการคลังเป็นคราวๆไป ซึ่งการรีไฟแนนซ์ของบริษัทในกลุ่มก็มีความจำเป็นต้องไปชี้แจงเพื่อขอผ่อนผันกับทางการโดยการรีไฟแนนซ์ถือว่าเป็นการนำเงินนอกมาชำระเงินกู้เดิม ซึ่งทั้งสองส่วนไม่ได้มีเจตนาที่ต้องการเก็งกำไรค่าเงินแต่อย่างใด เชื่อว่าทางการจะเข้าใจ ถ้าทางการไม่ผ่อนผัน หากเราต้องใช้เงิน 100 บาทเราต้องมีภาระถึง 130 บาท เพื่อเอา 30 บาทมาไว้กับแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แล้วบริษัทต้องแบกภาระไว้ในการกู้ยืมเงิน ทั้งนี้คาดว่ารายได้ในปี 50 จะเติบโต 5-10% จากปี 49 ที่คาดว่าจะมีรายได้ 1.2-1.3 ล้านล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น