xs
xsm
sm
md
lg

คลื่นใต้น้ำ

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายนเรื่อยมา เราคงได้เห็นจุดเปลี่ยนประการหนึ่งที่มีนัยสำคัญต่อการเมืองไทยก็คือ การมีต้นทุนที่ต่ำเอามากๆ ของคณะรัฐประหาร เพราะไม่ว่าคณะรัฐประหารจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ตาม ก็ดูจะมีอุปสรรค ถูกตั้งคำถาม หรือถูกสงสัยไปหมด

กล่าวคือ ถ้าเป็นสมัยที่ระบอบทักษิณยังเรืองอำนาจ แม้ระบอบนี้จะละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการฆ่าตัดตอนในปัญหายาเสพติด หรือจากกรณีกรือเซะและตากใบอย่างไร แต่ด้วยเพราะเป็นระบอบที่มาจากการเลือกตั้ง การประณามพฤติกรรมที่ว่าจึงค่อนข้างแคบ มิหนำซ้ำสังคมในอีกข้างหนึ่ง (ที่มีจำนวนไม่น้อย) กลับสนับสนุนการละเมิดดังกล่าวอย่างออกนอกหน้า แถมยังเป็นเดือดเป็นแค้นเอากับนักสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

ฉะนั้น ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ (อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง) แล้วว่า การเชิดชูประชาธิปไตยที่แคบเฉพาะลัทธิเลือกตั้งนิยม (Electionism) ที่สนใจแต่รูปแบบ (การเลือกตั้ง) มากกว่าเนื้อหา (เสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพ) จากที่ผ่านมานั้นได้ฝังเข้าไปในสำนึกของคนไทยจำนวนไม่น้อยพอสมควร

ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า สมมติถ้าหาก คมช. หรือรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ เกิดทำตามสัญญาที่ให้ไว้ได้จริง เช่น ไม่สืบทอดอำนาจ มีร่างรัฐธรรมนูญที่ดีเสมอหรือดีกว่าฉบับปี 40 หรือสามารถเอาคนโกงมาลงโทษได้ตามหลักกฎหมายเป็นที่ยอมรับกันได้ ฯลฯ แล้ว สถานะหรือต้นทุนของคณะรัฐประหารจะดีขึ้นหรือไม่

หรือจะจบแค่ 1 สัปดาห์แรกของการรัฐประหาร แล้วจากนั้นก็จะไม่ต่างกับการรัฐประหารจากที่ผ่านมา นั่นคือ ถึงที่สุดแล้วการรัฐประหารก็ยังเชื่อถือไม่ได้เหมือนเดิม

หลายท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะแย้งผมว่า ไม่จริงที่คณะรัฐประหารมีต้นทุนต่ำ เพราะผมพูดเองอยู่แหมบๆ ว่า 1 สัปดาห์แรกของการรัฐประหารนั้นมีคนไปให้กำลังใจกันมากมาย หรือบางท่านอาจจะแย้งผมด้วยการยกเอาโพลของสำนักต่างๆ ที่ชี้ว่าประชาชนยังนิยม คมช. และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ สูงอยู่

จะแย้งอย่างนั้นผมก็ไม่เถียงหรอกครับ แต่ผมก็อยากตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า โพลจากที่ผ่านๆ มานั้นสำรวจทีไร ก็จะพบว่ามักมีแนวโน้มที่จะนิยม คุณชวน คุณทักษิณ มาโดยตลอด (ในสมัยที่ทั้งสองยังเป็นผู้นำรัฐบาลอยู่) ถึงแม้ในช่วงปลายๆ คะแนนนิยมจะลดลงบ้างก็ตาม แต่นั่นก็เป็นธรรมชาติของโพลอยู่แล้ว คือเป็นเหมือนกันแทบทั่วโลก จนผมอดคิดไม่ได้ด้วยซ้ำไปว่า คนที่ตอบแบบสอบถามของโพลนั้น ชะดีชะร้ายอาจมีกลุ่มคนที่จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “พวกกลางตกขอบ” รวมอยู่ด้วยไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม การที่คณะรัฐประหารมีต้นทุนที่ต่ำ แล้วก็พลอยทำให้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมีต้นทุนต่ำไปด้วยนี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “คลื่นใต้น้ำ”

ปรากฏการณ์ของคลื่นใต้น้ำในการเมืองไทยนั้นเริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงๆ จังๆ หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และเท่าที่ผมลองแยกดูแล้วพบว่า ตอนนั้นคลื่นใต้น้ำมีอยู่ 2 พวก พวกหนึ่ง เป็นพวกฝ่ายซ้ายที่อยู่ในเมือง พวกนี้เป็นพวกเดียวกับพวกที่อยู่ในป่าหรือ พคท. และที่ต้องแยกออกจากพวกในป่าก็เพราะพวกในป่านั้นเขาไม่นับเป็นคลื่นใต้น้ำ แต่เรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย” ที่ต่อสู้กับรัฐบาลอย่างเปิดเผยตามชนบท ไม่เหมือนกับพวกที่อยู่ในเมืองที่สู้ (ก่อกวน) รัฐบาลอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ อันเป็นศูนย์กลางของการปกครอง

อีกพวกหนึ่ง เป็นพวกฝ่ายขวาที่ไม่พอใจรัฐบาลฝ่ายขวาด้วยกันเอง และคอยจ้องที่จะล้มรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่การก่อกวนเล็กๆ แบบตอดเล็กตอดน้อย ไปจนถึงการใช้กำลังทหารเข้าโค่นล้ม ซึ่งก็คือ การรัฐประหารนั่นเอง

ผมจำได้ว่า คลื่นใต้น้ำในเวลานั้นมีคนแอบเอาใจช่วยอยู่ไม่น้อย เพราะต่างก็ไม่ชอบการปกครองที่เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จของรัฐบาลขณะนั้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่แปลกใจและออกจะชอบใจไม่น้อยเมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เปลี่ยนชื่อคอลัมน์ของตนมาเป็น “คลื่นใต้น้ำ” ให้เข้ากับสถานการณ์ตอนนั้นจนเป็นที่เฮฮากัน

หลังจากนั้นมา คลื่นใต้น้ำก็กลายเป็นปรากฏการณ์ปกติสำหรับการเมืองไทยไป คือทุกครั้งที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นก็จะมีคลื่นใต้น้ำตามมา ทั้งนี้ยังสังเกตได้ว่า คลื่นใต้น้ำมักจะถูกแยกออกจากการเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลที่เป็นไปตามวิถีปกติ เช่น ถ้าจะล้มรัฐบาลผ่านรัฐสภา อย่างนี้จะไม่ค่อยเรียกว่าคลื่นใต้น้ำ

ในทางตรงข้าม คลื่นใต้น้ำจึงเป็นปรากฏการณ์ของการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารโดยแท้ไปด้วย ในแง่นี้จึงอาจมองได้ว่า สังคมไทยจะพัฒนาประชาธิปไตยลุ่มๆ ดอนๆ หรือดีๆ ชั่วๆ ยังไง การเกิดขึ้นของคลื่นใต้น้ำในด้านหนึ่งจึงเท่ากับเป็นการปฏิเสธการรัฐประหารไปด้วยในตัว ถึงแม้จะเห็นอยู่ว่า คลื่นใต้น้ำบางลูกก็ไม่น่าเสน่หาพอๆ กับคณะรัฐประหารก็ตาม

ที่ผมเล่าความหลังเรื่องคลื่นใต้น้ำอย่างย่อๆ ข้างต้นนี้ก็เพื่อจะชี้ว่า คลื่นใต้น้ำที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารวันที่ 19 กันยายนเรื่อยมานั้นออกจะแตกต่างไปจากคลื่นใต้น้ำเมื่อก่อนหน้านี้อย่างมาก คือต่างกันตรงที่คลื่นใต้น้ำเมื่อก่อนหน้านี้นอกจากจะก่อกวนรัฐบาลด้วยการออกใบปลิวโจมตีแล้ว หากจะวางระเบิดบ้าง ระเบิดนั้นก็มีขอบเขตเพียงแค่ต้องการสร้างความตื่นตระหนกแก่สาธารณชนเท่านั้น ไม่ถึงกับหมายเอาชีวิต

และถ้าเป็นอย่างหลังจริงก็จะทำต่างหากออกไป โดยคนที่ถูกหมายเอาชีวิตก็คือ ผู้นำในรัฐบาล หรือถ้าจะทำลายสถานที่ราชการ สถานที่นั้นก็มักจะเป็นกลไกหรือเครื่องมือของการใช้อำนาจรัฐอย่างชัดเจน ไม่เหมือนกับคลื่นใต้น้ำในตอนนี้ ที่วางระเบิดไปทั้งที่รู้ว่าหากระเบิดแล้วจะมีคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่บาดเจ็บล้มตายแน่ๆ หรือถ้าต้องการทำลายสถานที่ราชการ สถานที่นั้นก็ไม่ใช่สถานที่ที่เป็นกลไกในการใช้อำนาจรัฐของคณะรัฐประหารแต่อย่างใด เช่น การเผาโรงเรียน

ว่ากันถึงการเผาโรงเรียนแล้วก็ต้องแยกออกจากการเผาโรงเรียนที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะที่ภาคใต้นั้นเป็นการเผาที่มีประเด็นอุดมการณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง คือเป็นอุดมการณ์ที่กลุ่มผู้ก่อการต้องการบอกเป็นนัยๆ ว่า ตนไม่ต้องการอุดมการณ์นอกศาสนาอิสลาม และการเผานั้นในด้านหนึ่งจึงต้องการบอกว่า ตนต้องการแบ่งแยกดินแดนจริงๆ (ส่วนพี่น้องมุสลิมจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

พูดง่ายๆ ก็คือว่า คลื่นใต้น้ำที่เกิดขึ้นในตอนนี้มุ่งที่จะโค่นล้มรัฐบาลโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ขอแค่ได้บรรลุเป้าหมายเท่านั้นเป็นพอ ใครจะเป็นจะตายยังไงไม่สนใจ

ด้วยเหตุนี้ แม้ผมจะไม่รู้ว่าเอาเข้าจริงแล้วคลื่นใต้น้ำนี้คือใคร หรือเป็นกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างที่รัฐบาลและ คมช.บอกจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ผมก็ไม่เห็นว่าการที่ คุณทักษิณ ออกมาปฏิเสธว่าตนไม่เกี่ยวข้องด้วยจะเป็นประโยชน์อะไรแก่ คุณทักษิณ เอง

เพราะยิ่งพูดไปก็ยิ่งเหมือนกินปูนร้อนท้องอย่างที่เขาว่ากันไปเปล่าๆ ทั้งนี้ก็ คุณทักษิณ ไม่ใช่หรือที่สมัยเมื่อยังเรืองอำนาจอยู่นั้น ได้ทำอะไรต่อมิอะไรโดยมุ่งไปที่เป้าหมายความสำเร็จโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ตอนที่ขายหุ้นโดยไม่เสียภาษี

ยิ่งแถลงว่าตนไม่นิยมความรุนแรงด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ เพราะใครๆ เขาต่างก็เห็นก็รู้ถึงผลงานการแก้ปัญหายาเสพติดและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า คุณทักษิณ คิดยังไงแก้ยังไง

พูดไปก็คล้ายกับว่าผมกำลังกังวลแทน คุณทักษิณ ว่ายิ่งพูดไปก็ยิ่งเปลืองตัว แต่เปล่านะครับ

แต่ที่ยกขึ้นมาพูดก็เพราะผมอดสงสัยไม่ได้ว่า จริงๆ แล้วคนที่รัก คุณทักษิณ (ซึ่งย่อมรักในสิ่งที่ คุณทักษิณ คิดและทำด้วย) มาจนทุกวันนี้นั้น เขาคิดยังไงกับปรากฏการณ์คลื่นใต้น้ำที่เกิดขึ้นในตอนนี้?
กำลังโหลดความคิดเห็น