ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แผนยุทธศาสตร์ประเทศ หวังยกหาดใหญ่ - สงขลา เป็นหัวเมืองหลักของภาคใต้อย่างแท้จริง สู่มหานครที่มีความพร้อมในทุกด้าน รองรับการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ เชื่อมอันดามัน - อ่าวไทย ภายใต้งบประมาณสำหรับการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท
ปี 2549 จังหวัดสงขลาโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ขึ้น เพื่อนำนครสงขลาและนครหาดใหญ่ สู่การเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคใต้ในระดับ 'มหานคร' เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการพัฒนาทุกๆ ด้านของภาคใต้ ตามแผนยุทธศาสตร์หลักของประเทศ ที่ต้องการกระจายการพัฒนาออกจากกรุงเทพฯ ที่มีความแออัด สู่หัวเมืองในภูมิภาคต่างๆ โดยผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาถือเป็นผังเมืองรวมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร มี บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการ
นายนวพล บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา(อบจ.) กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า สืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติกำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 มาตรา 17 ที่ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นตนเองและประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ประกอบกับกระทรวงมหาดไทย ได้เร่งรัดให้มีการถ่ายโอนภารกิจการวางผังเมืองรวมจังหวัดให้แก่ อบจ.
"ประชาชนชาวสงขลา ส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีการปรับตัวรองรับการประกาศใช้ผังเมืองที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะในบางเรื่องจะมีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่ และในเรื่องผังเมืองนี้ถือว่าเราเสียโอกาสมามากแล้ว เพราะเราสร้างเมืองก่อน แล้วมาวางผังทีหลัง ทำให้เกิดความยากลำบากขึ้น แต่หลังจากนี้จะเป็นที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะนักลงทุน จะมีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นว่าจะลงทุนตรงจุดไหนได้บ้าง เช่น ในเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ หากสงขลาซึ่งเป็นเมืองหลวงของภาคใต้ ไม่สามารถกำหนดผังที่ชัดเจนได้ ก็จะไม่มีความชัดเจนในการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ในอนาคต"
สำหรับผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาที่ อบจ.สงขลา ได้จัดทำขึ้นได้กำหนดวิสัยทัศน์ของผังคือ "สงขลาเมืองอยู่ดีมีสุข เป็นศูนย์กลางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมของภาคใต้ตอนล่าง ภายใต้การบูรณาการที่สมดุลด้านการพัฒนาเมืองและชนบท" และมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.การจัดการด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานอย่างบูรณาการ 2.การเชื่อมโยงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่ง 3.การบริหารจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 4.การส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างครบวงจร
สำหรับการพัฒนาระดับอำเภอ ได้มีการจัดแบ่งกลุ่มการพัฒนาออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย อ.ระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ และสิงหนคร 2.กลุ่มบริการด้านการขนส่งสินค้า ประกอบด้วย อ.สิงหนคร รัตภูมิ ควนเนียง และบางกล่ำ 3.กลุ่มศูนย์กลางเศรษฐกิจหลัก ประกอบด้วย อ.หาดใหญ่ คลองหอยโข่ง นาหม่อม และสะเดา 4.กลุ่มพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ประกอบด้วย อ.จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
พร้อมกันนี้ได้มีการจัดทำแผนงาน โครงการเพื่อพัฒนาตามผังเมืองรวม รวมทั้งสิ้น 215 โครงการ ใช้งบประมาณทั้งหมด 50,985 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การจัดการด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานอย่างบูรณาการ จำนวน 125 โครงการ ใช้งบประมาณ 22,146.80 ล้านบาท 2.การเชื่อมโยงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่ง 36 โครงการ 11,171.50 ล้านบาท 3.การบริหารจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 37 โครงการ 11,787 ล้านบาท 4.การส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างครบวงจร 17 โครงการ 5,880.50 ล้านบาท
ขณะที่ อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของภาคใต้ ได้มีการจัดทำผังเมืองรวมเทศบาลนครหาดใหญ่ แยกออกไปต่างหาก ภายใต้การกำกับดูแลของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมีบริษัท คอนซัลแตนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เป็นบริษัทที่ศึกษาโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเทศบาลนครหาดใหญ่
ทั้งนี้ ได้เน้นให้นครหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจหลัก และเน้นการใช้ประโยชน์ที่ดินในด้านต่างๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมเป็นสำคัญ ซึ่งมีการระบุไม่ให้ใช้พื้นที่ลุ่มสำหรับก่อสร้างอาคารและที่อยู่อาศัย โดยในส่วนของการป้องกันน้ำท่วมนั้น มีโครงการขุดคลองระบายน้ำ 6 สาย เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2550
ในส่วนที่มีความสำคัญต่อการวางผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาในครั้งนี้ คือการเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมขนส่งรองรับยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ ส่งเสริมการแข่งขันทางด้านการค้าในภูมิภาค หลายเส้นทาง รองรับการเกิดขึ้นของท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ในฝั่งอันดามันและท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่ จ.สงขลา ฝั่งอ่าวไทย อันเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการขนส่งสินค้าและพลังงาน ตามยุทธศาสตร์ โลเวอร์ แลนด์บริดจ์ ของประเทศ
นายชิษณุ อัมพรายน์ ผู้เชี่ยวชาญการวางระบบคมนาคมขนส่ง บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้กำหนดให้ลอจิสติกส์เป็นแผนพัฒนาสำคัญทั่วประเทศ โดยในส่วนของภาคใต้ตอนล่างได้กำหนดให้พื้นที่จังหวัดสงขลาและสตูลรองรับแผนยุทธศาสตร์นี้ โดยให้เป็นจุดเดินทางของสินค้าต่างๆ เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นแนวเดินเรือสากล ขณะนี้การขนส่งสินค้าจากไทยไปประเทศคู่ค้าต้องอาศัยท่าเรือของประเทศสิงคโปร์ หรือท่าเรือปีนังของมาเลเซีย เพื่อขนส่งสินค้าต่อไปยังประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และยุโรป รัฐบาลจึงมีแนวคิดในการก่อสร้างท่าเรือปากบารา เพื่อขนสินค้าสู่เส้นทางเดินเรือสากลโดยไม่ต้องจ่ายภาษีให้ต่างประเทศ
ปกติการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือน้ำลึกสงขลา มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 33,100 บาท/ตู้ ท่าเรือปีนัง 25,000 บาท/ตู้ แต่เมื่อมีท่าเรือปากบาราเกิดขึ้นผู้ประกอบการจะจ่ายค่าขนส่งเพียง 21,000 บาท/ตู้ เท่านั้น โดยตามแผนแม่บทนั้นได้กำหนดให้มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทางฝั่ง จ.สงขลา แห่งที่ 2 ขึ้นมาเชื่อมการขนส่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2552 เนื่องจากท่าเรือสงขลาที่มีอยู่แล้วไม่สามารถรองรับได้
สำหรับท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 อยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ โดยมีการศึกษาทั้งหมด 4 จุด ประกอบด้วยชายฝั่งบริเวณอ่าวแฝงเภา อ.ขนอม และบริเวณเขาไพรดำ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช บริเวณปากน้ำปัตตานี และบริเวณ อ.จะนะและ อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเลือกใช้พื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นจุดก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ใช้งบในการก่อสร้างประมาณ 2,800 ล้านบาท
นอกจากท่าเรือแล้ว ได้มีการกำหนดให้พัฒนาเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางบก ตามแผนปี 2549-2552 ให้พัฒนาโครงข่ายคมนาคมโดยรอบกรุงเทพมหานครภายในรัศมี 250 กิโลเมตร จำนวน 10 สายทาง โดยโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงที่สนับสนุนท่าเรือปากบารา จ.สตูล และท่าเรือสงขลา โดยงานก่อสร้างที่กำลังดำเนินการคือ 1.ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4052 ละงู - ปากบารา จ.สตูล ระยะทาง 6 กิโลเมตร งบประมาณ 75 ล้านบาท 2.ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 408 สายสงขลา (สี่แยกน้ำกระจาย) - เกาะยอ - สิงหนคร ระยะทาง 32 กิโลเมตร เป็น 4 ช่องจราจร งบประมาณ 811 ล้านบาท
"นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะดำเนินการอีกคือ ก่อสร้างทางหลวงเข้าท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ระยะทาง 8.81 กิโลเมตร งบประมาณ 462.50 ล้านบาท ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 416 บ้านฉลุง - อ.ละงู ระยะทาง 37 กิโลเมตร เป็น 4 ช่องจราจร งบประมาณ 560 ล้านบาท ก่อสร้างทางหลวงเชื่อมโยงท่าเรือปากบารา - ทางหลวงสายแยกคูหา - ควนเนียง บรรจบทางหลวงหมายเลข 408 ระยะทาง 32 กิโลเมตร งบประมาณ 1,200 ล้านบาท รวมทั้งมีการสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือปากบารา จ.สตูล กับท่าเรือสงขลา งบประมาณ 15 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเส้นทาง
ในส่วนของการเดินทาง ได้มีการเสนอให้เชื่อมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีอาร์ที 3 เส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน การสร้างถนนยกระดับเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง การทำฮับ สร้างสะพานลอยตามจุดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และการขยายผิวถนนเส้นเดิม ให้ประชาชนสัญจรไปมาได้สะดวก เนื่องจากในอนาคตหากท่าเรือปากบาราและท่าเรือสงขลาเกิดแล้ว การคมนาคมตามเส้นทางที่กล่าวมาจะมีความหนาแน่นมากขึ้น อย่างแน่นอน"
ในส่วนของผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในปี 2550 ซึ่งเมื่อประกาศใช้แล้ว จะทำให้พื้นที่ทำเลทองสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใน อ.หาดใหญ่ ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผังเมืองไม่อนุญาตให้สร้างบ้านที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ หรืออาคารพาณิชย์ กีดขวางทางน้ำไหล ทำให้ที่ดินบริเวณที่ลุ่ม ซึ่งเป็นทำเลทองในการก่อสร้างบ้านจัดสรรและอาคารพาณิชย์ต่างๆ จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
ในขณะที่พื้นที่บริเวณโคก หรือเนิน จะกลายเป็นทำเลทองแทน เนื่องจากผังเมืองกำหนดไว้ชัดเจนให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแหล่งใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอุทกภัยส่วนพื้นที่ในโซนที่เป็นเขตอุตสาหกรรมใหม่ คาดว่าจะสามารถดึงเงินลงทุนเข้าพื้นที่ได้ร่วมแสนล้านบาท โดยขณะนี้ได้มีกลุ่มทุนระดับชาติมากว้านซื้อที่ดินไว้แล้วกว่า 2 พันไร่
ด้านความคืบหน้าในโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ในส่วนของฝั่งอันดามันสามารถกำหนดพื้นที่ได้แน่ชัดแล้ว บริเวณ ต.ปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ใช้งบประมาณ 9,300 ล้านบาท แต่ฝั่งอ่าวไทยยังไม่มีข้อสรุป แต่คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเลือกสร้างที่ชายฝั่ง อ.จะนะ จ.สงขลา เนื่องจากมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน และยังอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าสงขลา
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่ชัดจากรัฐบาลว่าจะลงมือดำเนินการทั้ง 2 โครงการให้เกิดเป็นรูปธรรมได้เมื่อใด เนื่องจากติดปัญหาทางด้านงบประมาณเมกะโปรเจกต์ที่โยกส่วนหนึ่งไปใช้ในโครงการรถไฟฟ้า 5 สาย ในกรุงเทพฯ
ในส่วนของการพัฒนาเชื่อมโยงทางหลวงรองรับท่าเรือ ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วหลายเส้นทาง รวมทั้งสะพานเติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นสะพานแฝดที่ยาวที่สุดในประเทศ รองรับยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ ได้เปิดใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรวมแล้วคาดว่ารัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาทสำหรับยกระดับจังหวัดสงขลาสู่การเป็นมหานครของภาคใต้อย่างแท้จริง