xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าข้าเอ๊ย ขุนศึกขุนนางอำมาตยาธิปไตยมาแล้วจ้า

เผยแพร่:   โดย: การุณ ใสงาม

อาทิตย์นี้มีเรื่องที่น่าติดตามก็คือ อนาคตสภาร่างรัฐธรรมนูญและหน้าตาของรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรและไปในทิศทางไหน

เพราะจากรายชื่อผู้ที่สมควรเป็นสมาชิกสภาร่างฯ จำนวน 200 คน เป็นภาครัฐ 74 คน ภาคเอกชน 54 คน ภาคสังคม 38 คน และภาควิชาการ 34 คน เราลองคิดเป็นสัดส่วน พบว่า ภาครัฐมากที่สุดถึง 37 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นภาคเอกชน 27 เปอร์เซ็นต์ ภาคสังคม 19 เปอร์เซ็นต์ และภาควิชาการ 17 เปอร์เซ็นต์

เมื่อเราพิจารณารายชื่อตลอดจนคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาพบว่าส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ หรือเป็นพวกขุนศึกขุนนางค่อนข้างมาก เพราะตัวแทนภาคสังคมหรือภาควิชาการส่วนใหญ่ต่างก็เป็นข้าราชการ บางคนเป็นอธิการบดี อาจกล่าวได้ว่ามีตัวแทนของพวกขุนน้ำขุนนาง เกือบ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องไปนับรวมตัวแทนชาวบ้านหรือนิสิตนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาน้อยมาก

ผมเปิดดูประวัติของว่าที่สมาชิกสภาร่างฯ แต่ละท่านล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบ้าง อาจารย์ข้าราชการมหาวิทยาลัย ข้าราชการเกษียณ บางคนเป็นตัวแทนขององค์กรอิสระ ส่วนใหญ่เคยผ่านระบบราชการมาแล้วทั้งนั้น

มิต้องแปลกใจที่เป็นเช่นนี้ เพราะเริ่มต้นตั้งแต่มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติที่มีการกำหนดโควตาตัวแทนส่งเข้ามาก็เจอคนที่มาจากหน่วยงานของรัฐทั้งนั้น

ทำให้ผมอดนึกไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คงมีพวกอำมาตยาธิปไตยเข้ามาครอบงำอย่างแน่นอน และจะเข้าสู่วังวนของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เคยมีจุดอ่อนในเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งขององค์กรอิสระที่บังคับว่าต้องเคยมีตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่าอธิบดี หรือตำแหน่งทางราชการสูงๆ อื่นๆ จนเป็นการจำกัดบุคคลอยู่ในวงแคบๆ

ผมมิได้ปฏิเสธว่าข้าราชการไม่ดี แต่อาจเป็นเพราะระบบต่างหากที่ยึดติดกับสายการบังคับบัญชาหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Hirarchy ที่ทำให้วิธีการคิดระบบคิดเป็นแบบการสั่งการแบบบนลงล่าง ขาดการมีส่วนร่วมหรือการรับฟังความคิดเห็น

ยิ่งได้เห็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ลงนามวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวร ที่มีอาจารย์วิทยากร เชียงกูลเป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการทั้งสิ้นจำนวน 47 คน ที่จะต้องทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วยิ่งน่าหนักใจ

รายชื่อ 47 คนนี้ เป็นตัวแทนจากภาคประชาชนจริงๆประมาณ 11-12 คนเท่านั้น นอกนั้นก็เป็นปลัดกระทรวง อธิบดี นายกสมาคมต่างๆ ประธานหน่วยงานต่างๆ เป็นพวกขุนนางอีกตามเคย นึกไม่ออกว่าจะทำงานได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นของประชาชนและมาจากประชาชนอย่างแท้จริง

คำสั่งฉบับนี้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการจัดทำและเสนอแนะกรอบแนวทางและแผนงานของรัฐบาลที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเฉพาะกิจที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีการเลือกตั้งของสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ผมตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งคณะกรรมการอำนวยการฯ ชุดนี้เป็นการซ้ำซ้อนกับการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเชื่อขนมกินได้เลยกรรมการชุดนี้ทำงานกันในห้องประชุมและจบลงในห้องประชุม

เพราะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2549 มาตรา 26 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว สภาร่างฯ ต้องทำคำชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 ในเรื่องใด พร้อมด้วยเหตุผลในการแก้ไขส่งไปยังสมาชิกสภาร่างฯ และ 12 องค์กร เเช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี เป็นต้น

อีกทั้งยังกำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารชี้เแจงให้ประชาชนทั่วไปทราบ ตลอดจนส่งเสริมและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และมาตรา 30 ยังระบุไว้ชัดว่า คณะกรรมาธิการฯ ต้องดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับแต่วันที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ

แล้วหน้าที่ของกรรมการชุดนี้มีความชัดเจนหรือไม่

เพราะจากการประชุมครั้งแรกประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รักษาการนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอลาออกจากคณะกรรมการอำนวยการฯ ชุดนี้ โดยให้เหตุผลว่า การแต่งตั้งดังกล่าวไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพราะการจะรับตำแหน่งใดต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่สังกัดอยู่

นอกจากนี้ ยังพบว่าประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการครั้งแรก แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของกรรมการ ดังนั้น ทั้ง 3 สมาคม จึงมีความเห็นตรงกันและมีมติให้ประธานและนายกสมาคมลาออกจากการเป็นกรรมการ

เริ่มต้นก็ไม่สวยเสียแล้วครับ แล้วยิ่งมาเห็นรายชื่อหรือตำแหน่งกรรมการคนอื่นๆ อีก ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่าหรือบ้านเมืองเรา ทำอะไรก็ตามก็ต้องยึดติดกับตำแหน่ง ฐานะ เกียรติยศ โดยมีความเชื่อว่าถ้าบุคคลที่มีซีสูงๆ มีตำแหน่งใหญ่โต ยิ่งเป็นหลักประกันว่าจะสามารถทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมืองได้ แล้วประชาชนตาดำๆ ที่มีใจรักชาติ ที่ต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาการเมืองแต่ติดขัดด้วยว่าเขาไม่มีตำแหน่ง ไม่เคยเป็นศาสตราจารย์ มีตำแหน่งทางวิชาการจะมีโอกาสบ้างไหม

อย่างนี้ละมั้ง คนถึงชอบอวยพรให้ลูกหลานเป็นเจ้าคนนายคน

เมื่อเห็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไปแล้วนั้น ยิ่งทำให้ผมมีความมั่นใจไปอีกว่า รัฐธรรมนูญนี้ต้องออกมาเป็นรัฐธรรมนูญขุนศึกขุนนางอำมาตยาธิปไตยอย่างแน่นอน เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้แต่ต้น

เพราะอะไรหรือครับ

การเลือกกรรมาธิการยกร่าง 35 คนครั้งนี้ ฝ่ายบริหารคือฝ่ายรัฐบาลได้เข้าไปแทรกแซงการบริหารจัดการภายในของฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะเดียวกันก็เป็นกระบวนการวิธีพิจารณาของนิติบัญญัติด้วย ต่อไปอาจจะมีการก้าวล่วงไปถึงการแทรกแซงการร่างรัฐธรรมนูญเพราะเท่ากับกำหนดตัวบุคคลของคณะกรรมาธิการยกร่างเสร็จสรรพ

เพราะตามมาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ได้กำหนดให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 25 คน ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ต้องคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและภาควิชาการ ภาคละไม่น้อยกว่า 2 คน ส่วนที่เหลือให้คำนึงถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำหรือศาสตราจารย์พิเศษ ทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสน์ หรือนิติศาสตร์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการร่างกฎหมายตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกรัฐสภาหรือเป็นหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา หรือตุลาการศาลปกครองสูงสุดหรืออัยการสูงสุด

ประชาชน ชาวบ้านที่ติดเข้าไป 100 คน หมดสิทธิที่จะเป็นกรรมาธิการยกร่างก็ตรงมาตรานี้

แล้วประชาชนไม่ต้องไปคาดหวังกับโควตาของกรรมาธิการยกร่างฯ อีก 10 คนที่ส่งตรงมาจากประธาน คมช.อีก

ถ้าพิจารณาให้ดี จะเห็นว่าการเขียนกฎหมายฉบับนี้มีการหมกเม็ดไว้ เพราะคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นกรรมาธิการยกร่างตามพระราชกฤษฎีกานี้มีความแตกต่างจากคุณสมบัติของผู้มาเป็นสมัชชาแห่งชาติหรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เช่น คุณสมบัติของผู้มาเป็นสมัชชาแห่งชาติหรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อายุกำหนดไว้ว่าไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ได้เขียนเรื่องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไว้ แต่ในพระราชกฤษฎีกา กำหนดว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ และต้องไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

และประการสำคัญในมาตรา 19 ของ รธน. ฉบับชั่วคราว 2549 ได้กำหนดข้อห้ามของสมาชิกสภาร่างว่าต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในสองปีก่อนวันที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และต้องไม่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะเดียวกัน แต่ในพระราชกฤษฎีกา ไม่ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามในเรื่อง กรรมาธิการต้องไม่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะเดียวกัน ดังนั้น เราอาจเห็นคุณบวรศักดิ์ คุณวิษณุเข้ามาเป็นกรรมาธิการได้

แล้วอย่างนี้จะเสียเงินเสียเวลาไปทำไมกับการคัดเลือกสมาชิกสมัชชาหิ่งห้อย เอ๊ย สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 1,982 คน ทำไมไม่ตั้งบุคคลที่อยู่ในใจออกมาเสียเลยก็ได้ ประชาชนและสมาชิกสมัชชาฯ ที่ไม่ได้ผ่านเข้ารอบมา 200 คน จะได้ไม่เสียความรู้สึกเช่นนี้

แล้วนี่รายชื่อ 100 คนที่จะเป็นสภาร่างตัวจริงก็ยังไม่ประกาศ กลับมีการล็อกตัวกรรมาธิการยกร่างกันเสียแล้ว

คงไม่ต้องมาเสียเวลาพูดเรื่อง นายกฯ จะมาจากไหน จากสภาหรือไม่ วาระในการดำรงตำแหน่งต้องกี่ปี ส.ว. ควรมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง

ผมเชื่อว่าคำตอบมีไว้หมดแล้ว

คอยดูเถอะ สุดท้ายประชาชนก็จะไม่ได้อะไร

นี่เรายังไม่ต้องไปนึกถึงการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันเลยครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น