xs
xsm
sm
md
lg

รุมค้านไอเดียประธาน คมช. ให้กำนัน-ผญบ.อยู่ 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รุมค้านแนวคิดประธาน คมช.ที่จะให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งได้ 10 ปี ระบุเป็นการชี้นำการร่างรธน. จะทำให้การเมืองถอยหลังไป 20 ปี และจะกลายเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ แนะต้องกระจายอำนาจให้ประชาชนคุมผู้แทนท้องถิ่นให้ได้ หวั่นเป็นระเบิดเวลาทางการเมือง

นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)กล่าวถึง กรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)ไปกล่าวที่ จ.เชียงใหม่ เสนอให้มีการต่ออายุกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจาก 5 ปีเป็น 10 ปี ว่า บทบาทและอำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะผู้นำท้องถิ่นและในฐานะเป็นมือไม้ของมหาดไทยนั้นหมดไปแล้ว นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 มีผลใช้บังคับได้ 2 ปี ที่เหลืออยู่ เป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ของสถาบันเก่าแก่ ซึ่งมีมากว่า 100 ปี รวมทั้งความเคารพนับถือกันเป็นส่วนตัว ที่ชาวบ้านยังให้ความเชื่อถือและพึ่งพาได้เท่านั้น

หากดูตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จะเห็นได้ว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไม่มีส่วนในทางการบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)หรือเทศบาล เรียกว่า อยู่วงนอกของการปกครองส่วนท้องถิ่นคงจะไม่ผิด ดังนั้น การที่ประธาน คมช.เสนอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านดำรงตำแหน่งได้ 10 ปี จึงดูเหมือนเป็นการชี้นำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปโดยไม่รู้ตัว เพราะการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดำรงตำแหน่ง 10 ปี จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น และกฎหมายว่าด้วยการบริหาราชการส่วนภูมิกาค โดยไปเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด ที่สำคัญ ต้องไปเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีสภาพถอยหลังไปอีก 20 กว่าปี

"เชื่อว่าประชาชนคงรับไม่ได้แน่ และอาจเป็นชนวนให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดนคว่ำตอนออกเสียงประชามติได้ จนในที่สุดก็อาจถูกโยงไปเป็นประเด็นของการต่อสู้กันในสงครามการเมือง ระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คมช. กับกลุ่มที่ไม่เอา คมช.อย่างรุนแรง ถึงขั้นจลาจลนองเลือดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผนวกเข้ากับประเด็นอันตรายคือนายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. และ ส.ว. ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งเข้าด้วยแล้ว เรื่องอาจบานปลายไปถึงขั้นต้องปฏิวัติตัวเอง หรือไม่ก็ถูกปฏิวัติซ้อนอีกจนได้"

นายคณิน กล่าวฝากไปถึงว่าที่ ส.ส.ร. กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งใครก็ตามที่มีบทบาททางอำนาจและทางสื่ออยู่ในขณะนี้ว่า อย่าแสวงหาความดัง หรือเกียรติยศชื่อเสียงของตนเอง หรือเพื่อเป็นการประจบเอาใจ คมช. โดยการหยิบยกเอาประเด็นบางประเด็นในรัฐธรรมนูญมาเหยียบย่ำเป็นบันไดพาดไปสู่การสนองความต้องการของตนเอง โดยการชี้ว่ารัฐธรรมนูญปี 40 มีข้อบกพร่องหรือตึงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี และประเด็นการตรวจสอบนายกรัฐมนตรี รวมทั้งที่มาของ ส.ส.

"ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ พอผู้พูด พูดขึ้นมาเมื่อไรก็จะเข้าตำราอ้าปากเห็นลิ้นไก่คือ พูดเพื่อประจบเอาใจ คมช. เพื่อเอาตำแหน่ง ซึ่งมีแต่จะสร้างความสับสนวุ่นวายและเป็นปัญหาต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ และการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการหยิบเอามาเล่นเพียงบางประเด็นให้เป็นเรื่องใหญ่โตและพูดกันสั้น ๆ ห้วน ๆ พอเอามัน โดยไม่เข้าใจหลักการ โครงสร้างและกลไก รวมทั้งความเชื่อมโยงของร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศและความสันติสุขของประชาชน” นายคณิน กล่าว

ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนไม่ทราบว่าที่พล.อ.สนธิ เสนอเช่นนี้ด้วยเหตุผลอันใด เพราะไม่ควรเอาระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาเป็นเรื่องสำคัญที่จะพิจารณาเป็นเบื้องต้น อีกทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนั้นมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นหากต้องอยู่ในอำนาจถึง 10 ปี คงเป็นระยะเวลาที่นานเกินไป ปัจจุบันระยะเวลา 5 ปี ก็น่าจะเหมาะสมแล้ว

ทั้งนี้ อยากให้พล.อ.สนธิ คำนึงถึงการทำหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมากกว่าว่าทำอย่างไรช่วยให้เขาทำหน้าที่โดยไม่ขัดแย้งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศไทย หรือให้พวกเขาทำงานให้พื้นที่ ท้องถิ่น ตำบล หมู่บ้านให้ได้ดีกว่าที่ผ่านมา ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นส่วนสำคัญมากกว่าการกำหนดเรื่องระยะเวลาของการดำรงตำแหน่ง

อย่างไรก็ตามจากการติดตามข่าวก็ยังไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมพล.อ.สนธิ จึงต้องการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งถึง 10 ปี

"มีการวิจารณ์ในเรื่องนี้ว่าพล.อ.สนธิ พูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการเอาใจกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อดึงมาเป็นฐานมวลชน เพราะมองว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นฐานของฝ่ายการเมือง ซึ่งผมขอเรียนว่า การพยายามหาเสียงสนับสนุนการทำงานของท่านนั้นควรเป็นเสียงที่เกิดจากความพึงพอใจในการทำงานของคมช. หรือรัฐบาล มากกว่าที่จะสร้างเสียงสนับสนุนเทียมขึ้นมาเพราะมันไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายส่วนยังมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงาน การทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ตนไม่อยากให้นำเรื่องเหล่านี้มาเป็นข้อที่จะทำให้การพัฒนาองค์กรส่วนท้องถิ่นหยุดชะงัก การกระจายอำนาจเป็นหัวใจสำคัญอีกส่วนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่อยากให้ละเลย แล้วหันมาเพียงเพื่อหวังความนิยมชั่วคราว หรือความนิยมเทียม จากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เท่านั้น"

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่ นายองอาจ กล่าวว่า ตนไม่มองไกลถึงขนาดนั้น คิดว่าเป็นเพียงความพยายามที่จะสร้างความนิยมของคมช. รัฐบาล หรือกระบวนการของภาครัฐในขณะนี้มากกว่า หรือเป็นความพยายามดึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาสนับสนุนการทำงานมากกว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องคลื่นใต้น้ำ เพราะมีอีกหลายวิธีที่จะทำให้คลื่นใต้น้ำเบาบางลง

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)กล่าวว่า แนวคิดของพล.อ.สนธิ ในเรื่องนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณอันตรายต่อทิศทางการเมืองไทยในปี 50 เพราะประเด็นสถานภาพและวาระกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ผ่านมาการเปลี่ยนจากเกษียณอายุ 60 ปี มาเป็น 5 ปีต่อ วาระ และมาจากการเลือกตั้งนั้น ถือเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วย และเป็นทิศทางการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ

แนวคิดของ คมช.และรัฐบาลตั้งแต่การตัดงบอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจาก 35 เปอร์เซ็นต์เหลือ 24 เปอร์เซ็นต์ ต่อปีนั้น เริ่มเห็นภาพชัดเจนว่า กรอบคิดของ คมช.และรัฐบาลสวนทางกับแนวทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่พยายามให้ประชาชนเข้าถึงอำนาจมากขึ้น การจะเพิ่มบทบาทกำนันผู้ใหญ่บ้านและลดบทบาท อบต.หรือพยายามทำให้สังคมเข้าใจผิดว่ากำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นพลังบริสุทธิ์แต่ อบต.เป็นพลังของกลุ่มผลประโยชน์การเมือง เพราะข้อเท็จจริงอาจไม่ต่างกันหรืออาจไม่ได้แล้วร้ายไปทั้งหมด ต้องดูนโยบายและวาระซ่นเร้นของฝ่ายการเมืองด้วย

ทั้งนี้ เหตุที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีประสิทธิภาพเพราะแนวทางกระจายอำนาจที่ผ่านมาไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มใจจากรัฐบาลและอำนาจส่วนกลาง โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลทักษิณ พยายามตัดตอนอำนาจท้องถิ่นตลอดเวลาด้วยการผูกขาดอำนาจและใช้ระบบซีอีโอเข้ามาคุมท้องถิ่น และใช้ท้องถิ่นเป็นเพียงหัวคะแนน จนทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงอำนาจท้องถิ่นและไม่สามารถควบคุมผู้แทนระดับท้องถิ่นได้

ดังนั้น ถ้าประธาน คมช.อยากให้บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านและ อปท.มีประสิทธิภาพและช่วยงาน รัฐบาลกลางได้ต้องให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งต้องผลักดันให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นจริง เพราะเมื่อคมช.และรัฐบาลชุดนี้หมดวาระไป นักการเมืองและพรรคการเมืองก็เข้ามาคุมอำนาจแทน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ก็จะถูกคุมโดยกระทรวงมหาดไทยและพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งปัญหาก็จะวนกลับไปที่เดิม เพราะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านหรือ อปท.ไม่ถูกคุมโดยประชาชนเป็นการขโมยเอาอำนาจท้องถิ่นไปอยู่ในอุ้งมือของนักเลือกตั้งเหมือนในอดีต

หากประธาน คมช.ผลักดันแนวคิดนี้จริงจะเกิดแรงต้านจากประชาชนอย่างมหาศาล เพราะเป็นแนวคิดที่หลุดยุคสมัย และอาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่านี่เป็นแผนสืบทอดอำนาจอีกทางหนึ่งของ คมช.และรัฐบาลชุดนี้

สัญญาณแบบชี้นำจากประธาน คมช.ครั้งนี้ จะทำให้เสถียรภาพทางการเมืองปีหน้ามีปัญหาแน่นอน โดยเฉพาะกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแทนที่จะเป็นเวทีสมานฉันท์ของคนในชาติ อาจเป็นชนวนความขัดแย้งจนกลายเป็นระเบิดเวลาทางการเมืองก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น