xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ลาวหลายหมื่นรับเสด็จพระเทพฯ เปิดสะพานโขง 2 เชื่อม “ขนส่ง การค้า ท่องเที่ยว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ประชาชนสองฝั่งโขงหลายหมื่นคน ร่วมรับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดสะพานข้ามน้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต "สุรยุทธ์" มั่นใจสะพานฯเป็นแลนด์บริดจ์สำคัญ เชื่อมโยงขนส่ง-การค้าในภูมิภาค ทั้งเปิดเส้นทางคมนาคมสู่นานาประเทศ ขณะที่ฝ่ายลาวเผยสะพานฯช่วยปลดลาวออกจาก Land locked

วานนี้ (20 ธ.ค.) ตั้งแต่ก่อนเวลา 07.00 ที่บริเวณด่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีประชาชนชาวมุกดาหารและจังหวัดใกล้เคียงและชาวสะหวันนะเขต ทยอยมา เฝ้ารอรับและส่งเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นองค์ประธานฝ่ายไทย ในพิธีเปิดสะพานฯ และฝ่ายลาวมีนายบุญยัง วอละจิด รองประธานประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประธานฝ่ายลาว โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยประชาชนที่เฝ้าฯ รอรับเสด็จฯ ครั้งนี้หลายหมื่นคน

สำหรับพิธีเปิดสะพานอยู่ที่กึ่งกลางสะพานฯ โดย มีพิธีเปิดเวลาประมาณ 10.45 น. มีนายคัตสุฮิโต ฮาซาโนบัว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น และนายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีประเทศไทย กราบบังคมทูลฯ รายงาน

พลเอกสุรยุทธ์ กล่าวว่า การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 นี้เป็นผลจากความสำเร็จในการเปิดสะพานมิตรภาพหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้การคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาวมีความสะดวกมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้เชื่อมความสัมพันธ์ทั้ง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย จึงได้มีความคิดที่จะก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ขึ้นอีกแห่งหนึ่งบริเวณจังหวัดมุกดาหารของไทยและแขวงสะหวันนะเขตของ สปป.ลาว

สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่2 สร้างขึ้น เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบโครงข่ายถนนเชื่อมระหว่าง 4 ประเทศ คือ พม่า ไทย ลาว และเวียดนามเข้าด้วยกัน ตามแผนพัฒนาแนวพื้นที่ตะวันออก สู่ตะวันตก และเป็นการเปิดการพัฒนาเส้นทางคมนาคมสู่ประเทศอื่นๆ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น บังกลาเทศ และอินเดีย ต่อไป

หน่วยงานที่รับผิดชอบในการก่อสร้างสะพานฯของไทย คือ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ส่วนฝ่ายลาว คือกระทรวงคมนาคมขนส่งไปรษณีย์และก่อสร้าง รวมระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 36 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.46 สะพานมีความยาว 1,600 กว้าง12 เมตร เป็นคอนกรีตอัดแรงเช่นเดียวกับสะพานมิตรภาพแห่งแรก โครงสร้างเชิงลาดคอสะพานฝั่งไทยมีความยาว 250 เมตร และที่ฝั่งลาวมีความยาว 200 เมตร รวมเป็นความยาวทั้งสิ้น 2,050 เมตร

เงินทุนการก่อสร้างสะพานฯได้รับความช่วยเหลือเป็นเงินกู้ 8,090 ล้านเยน จากธนาคารเพื่อความร่วมมือประเทศญี่ปุ่น โดยฝ่ายไทยและลาวรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดคนละครึ่ง กรรมสิทธิ์โครงการของแต่ละประเทศอยู่ที่จุดกึ่งกลางสะพาน

สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นเส้นทางที่เชื่อมเส้นทางต่างๆตามแผนพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตกแล้ว ยังจะเชื่อมโยงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาคและเอื้ออำนวยให้แต่ละประเทศสามารถให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทุกๆด้านบนพื้นฐานของความเป็นมิตรที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นอีกด้วย

ด้านนายบัวสอน กล่าวว่า การก่อสร้างสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ถือเป็นการสนองตอบความต้องการของทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายลาวที่ต้องการพัฒนาการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ให้ก้าวหน้า โดยเฉพาะการติดต่อค้าขาย การขนส่งสินค้า ระหว่างมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังจะช่วยพัฒนาและส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องการขนส่งผ่านแดน การท่องเที่ยวในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้น

"สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 นี้มีบทบาทสำคัญต่อลาวมากที่จะเปิดเส้นการขนส่งหรือการติดต่อการค้ากับมิตรประเทศทางทะเลได้สะดวก เพราะลาวเป็นประเทศที่ไม่มีชายแดนติดกับทะเล" นายบัวสอน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสนี้ทางการ สปป.ลาว ต้องขอแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างสะพานเมื่อเดือนก.ค. 2548 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย จึงขอแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตมา ณ ที่นี้ด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเสร็จสิ้นพิธีเปิดสะพานฯแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังแขวงสะหวันนะเขต ทรงทอดพระเนตรการสาธิตการเรียนการสอนที่โรงเรียนสาธารณสุขแขวงสะหวันนะเขต และเสวยพระกระยาหารกลางวันที่แขวงสะหวันนะเขต

สำหรับเส้นทางตะวันออกและตะวันตก(East-West Economic Corridor:EWC) มี ความยาวประมาณ 1,600 กิโลเมตร เริ่มต้นที่เมืองริมหาด หรือ เมาะละแหม่ง ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 2,000 ปี ในพม่า ต่อไปยังเมียวดี เมืองซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดน แล้วข้ามเขตมายังประเทศไทยในจังหวัดตาก เมืองหน้าด่านที่สำคัญทางตะวันตกในอดีต ก่อนจะมุ่งสู่พิษณุโลกจังหวัดซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ต่อไปยังขอนแก่น ที่ซึ่งปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา ว่าเป็นดินแดนเจริญรุ่งเรืองมาก เมื่อครั้งอดีตเรื่อยไป จนถึงมุกดาหาร ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนที่มีภูหินรูปร่างแปลกตามากมาย

จากนั้นสะพานมิตรภาพ 2 จะเปิดเส้นทางสายนี้ ต่อกับทางหลวงหมายเลข 9 ไปยังสะหวันนะเขต เมืองขนาดใหญ่และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 2 ของสปป.ลาว เส้นทางเส้นทางตะวันออกและตะวันตก(East-West Economic Corridor:EWEC) นี้ ยังมุ่งต่อเข้าสู่ประเทศเวียดนาม ผ่านเมืองเว้ จดด่าหนัง เมืองท่าชายฝั่งทะเล ที่สำคัญของเวียดนามซึ่งถือเป็นจุดหมายปลายทาง

เมืองทั้งสองแห่งนี้ยังสามารถนำผู้มาเยือนไปสู่ทางหลวงหมายเลข 1 ที่ตรงเข้าสู่ดองฮาและลาวบาว เมืองชายแดนที่ถือว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญแห่งหนึ่งอีกด้วย

แม้ว่าปัจจุบันถนนที่เชื่อมสู่เส้นทางคมนาคมสายหลักนี้จะยังไม่สะดวก หากก็มีการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานสำคัญอย่างสะพานมิตรภาพ 2 ได้ส่งสัญญาณอันดี และมองเห็นภาพของความสะดวกในการคมนาคมเพื่อพัฒนาศักยภาพของภูมิภาคนี้ให้ดียิ่งขึ้น

ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียได้เล็งเห็นและคาดการณ์ไว้ว่า การขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณไปจนถึงปี 2553 และจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกราว 10 ปี หลังจากนั้น และยังคาดการณ์ว่าเมื่อเส้นทางสายนี้เสร็จสมบูรณ์ ประชาชนผู้อาศัยอยู่สองข้างทางตลอดทางหลวงหมายเลข 9 จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ โอกาสในการทำงานการศึกษา และสาธารณสุข เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีพิธีเปิดสะพานฯอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ก็ยังไม่อนุญาตให้มีการสัญจรผ่านสะพาน เนื่องจากอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการร่วมไทย -ลาว เพื่อร่างระเบียบข้อกำหนด ว่าด้วยการใช้และการบริหารสะพาน คาดว่าประมาณต้นปีหน้า จะสามารถเปิดให้ใช้งานได้ทั้งรถส่วนบุคคลและรถขนสินค้า

สำหรับค่าธรรมเนียมผ่านสะพานข้ามแม่โขงแห่งนี้ รถยนต์แบ่งออกเป็น 7 ประเภท โดยจะเก็บค่าธรรมเนียมต่ำสุด 50 บาทและสูงสุด 500 บาท ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมจะสูงกว่าที่สะพานมิตรภาพไทย -ลาว จ.หนองคาย






กำลังโหลดความคิดเห็น