xs
xsm
sm
md
lg

คำขอโทษที่ไร้ความหมาย?

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ที่ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวคำขอโทษต่อหน้าพี่น้องมุสลิมเกี่ยวกับการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว แทนที่ความรุนแรงจะผ่อนคลายลง ก็กลับทวีมากยิ่งขึ้น

ความรุนแรงที่ทวียิ่งขึ้นสะท้อนให้เห็นได้ตั้งแต่ขอบเขตพื้นที่ของการก่อการที่กว้างขึ้น เป้าหมายของผู้ที่ถูกทำร้ายก็ขยายวงมากขึ้น ดังนั้น ความสูญเสียจึงยิ่งเพิ่มมากขึ้นทั้งทรัพย์สินและชีวิตของผู้คน

มีนักยุทธศาสตร์บางคนมองว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นผลสะท้อนทางด้านจิตวิทยา เพราะเมื่อผู้นำรัฐบาลคนใหม่กล่าวคำขอโทษ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่จะแก้ปัญหาให้ถูกทางที่อาจเรียกได้ว่าเป็นมาตรการเชิงรุกก็ว่าได้ ฝ่ายผู้ก่อการก็ตอบโต้ด้วยความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เห็นว่าคำขอโทษนั้นไม่มีความหมาย

อันที่จริงแล้วการมองเชิงยุทธศาสตร์เช่นนั้นไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตามที เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นการมองที่มีขอบเขตจำกัดอยู่เพียงแค่ยุทธศาสตร์จริงๆ คือเป็นการมองที่มุ่งไปสู่เป้าหมายของการแพ้ชนะเป็นหลัก

การมองเช่นนั้นอาจใช้ได้ในทางยุทธศาสตร์จิตวิทยา แต่ก็ไม่อาจทำให้ข้ามพ้นคำถามสำคัญที่แฝงอยู่ในการตอบโต้คำขอโทษด้วยความรุนแรงของผู้ก่อการไปได้

นั่นคือ คำถามที่ว่า เหตุใดคำขอโทษจึงไม่อาจนำไปสู่นิมิตหมายหรือความหวังให้แก่ผู้ก่อการในอันที่ยุติหรือแม้แต่ผ่อนคลายปฏิบัติการของตนได้แม้แต่น้อย

ตรงกันข้าม ปฏิบัติการที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นกลับทำให้เห็นได้ต่อไปอีกว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หมักหมมมาช้านานนั้น ได้ถูกฝังรากลึกลงไปเกินกว่าที่คำขอโทษจะมีความหมายได้อีกต่อไป

ไม่เพียงเท่านั้น ความไร้ความหมายนี้อาจกินความไกลไปถึงจุดที่ว่า ต่อให้รัฐบาลลงโทษผู้ที่เคยก่อกรรมทำเข็ญกับพี่น้องมุสลิมเมื่อก่อนหน้านี้ (ที่ไม่เฉพาะแต่ในยุครัฐบาล คุณทักษิณ ชินวัตร) หรือสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและจริงใจขึ้นมา ฯลฯ บางทีก็อาจไม่ช่วยให้ความรุนแรงทุเลาเบาบางลงได้?

ถ้าเช่นนั้นแล้ว กลุ่มผู้ก่อการเหล่านี้ต้องการอะไรกันแน่? นี่คือสิ่งที่ไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนในตัวมันเอง เพราะว่าผู้ก่อการจะต้องการแยก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรัฐอิสระ ต้องการความเป็นธรรมจากรัฐไทย ต้องการแก้แค้นทางการไทยที่มาข่มเหงเข่นฆ่าพี่น้องมุสลิม ฯลฯ ต่างล้วนเป็นความต้องการที่ขัดแย้งกับการแสดงออกจนจับทางไม่ถูก

แต่ที่แน่ๆ เรื่องหนึ่งก็คือ หลายครั้งที่ปฏิบัติการของผู้ก่อการได้แสดงให้เห็นในชั้นหลังๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการฆ่าผู้บริสุทธิ์ตาย (ทั้งที่ตายด้วยการถูกปลิดชีวิตทันที หรือตายเพราะถูกทรมานหรืออย่างโหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนา) บ่อยครั้งผู้ก่อการมักจะทิ้งข้อความหนึ่งเอาไว้ว่าด้วย ข้อความนี้มักจะออกมาในทำนองว่า “มึงฆ่าผู้บริสุทธิ์ของกู 1 คน กูก็จะฆ่าผู้บริสุทธิ์ของมึง 1 คน” ประมาณนี้

ผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่า กูกับมึง หรือของกูกับของมึงในที่นี้นั้นหมายถึงใคร
ข้อความทำนองข้างต้นไม่ได้ปรากฏแต่แรกเมื่อเหตุการณ์ปะทุขึ้นหลังมีการปล้นปืนเมื่อปี 2547 ในทันทีทันใด แต่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไปแล้วระยะหนึ่ง

พูดอีกอย่างคือ หากจะมีการปะทะกันก็ดี หรือมีการฆ่ากันก็ดี เป้าหมายของการเข่นฆ่าของผู้ก่อการมักจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ที่ทำงานให้กับรัฐเป็นหลัก ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นเช่นนี้มาตลอด แต่หลังเหตุการณ์ปล้นปืนผ่านไปไม่นาน การฆ่าผู้บริสุทธิ์จึงเกิดขึ้น และเป็นที่มาของข้อความดังกล่าว

สิ่งที่น่าตกใจก็คือว่า นับแต่ที่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547 จนถึงสิงหาคมปีนี้ (2549) หรือรวมแล้วประมาณ 3 ปีนั้น มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 1,730 คน ปรากฏว่า มีผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวไทยพุทธ 679 คน แต่เป็นชาวไทยมุสลิม 1,051 คน

ผมไม่ได้ยกตัวเลขดังกล่าวมาแสดงเพื่อชี้ว่า ยังไงๆ ไทยพุทธก็ยังตายน้อยกว่าไทยมุสลิม หรือเพื่อชี้ว่า การเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ของผู้ก่อการพึงเป็นการกระทำที่เข้าใจได้

แต่ที่ยกมานั้นก็เพื่อต้องการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของตัวเลขกับข้อความข้างต้นของผู้ก่อการ ว่ามีนัยที่เกี่ยวข้องกันอย่างไรหรือไม่

เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวอย่างไรนั้น ผมคิดว่าคำพูดของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธานของ คมช. เมื่อเร็วๆ นี้ที่เปิดเผยว่า ครั้งหนึ่งทางการมาเลเซียเคยให้ความร่วมมือกับทางการไทยด้วยการส่งผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการมาให้ทางไทยรับไปดำเนินคดี

แต่พอมีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่ชายแดนไทยเท่านั้นก็ปรากฏว่า ทางไทยก็เด็ดชีพผู้ต้องสงสัยรายนั้นต่อหน้าต่อตาเจ้าหน้าที่มาเลย์ทันที จนเป็นเหตุให้ทางการมาเลเซียไม่ไว้ใจไทยแต่นั้นมา

แม้ที่ พล.อ.สนธิ พูดมานั้นจะมีประเด็นอยู่ที่ความร่วมมือไทย-มาเลเซียก็จริง แต่ก็สะท้อนตัวอย่างให้เห็นถึงการเด็ดชีพผู้บริสุทธิ์ (มุสลิม) เช่นกัน

ที่สำคัญคือ ผมไม่รู้ว่าเรื่องที่ พล.อ.สนธิ พูดนั้นจริงเท็จแค่ไหน แต่ผมได้ยินเรื่องนี้มานานแล้ว พอมาฟังท่านพูดอีกครั้งด้วยฐานะที่ต่างกับผมอย่างลิบลับ แล้วจะให้ผมคิดอย่างไรล่ะครับ? แต่ก็ด้วยเหตุที่ท่านได้พูดออกมานี้เอง ผมก็ย่อมเชื่อว่าท่านต้องรู้อะไรมากกว่าที่ผมรู้แน่ๆ

เช่นรู้ว่า หลังเหตุการณ์ปล้นปืนผ่านไปโดยที่ฝ่ายรัฐจับมือใครดมไม่ได้ หลังจากนั้นจึงได้มีการใช้วิธีการแบบซีอีโอมาเป็นมาตรการในการแก้ปัญหา

คือให้เห็นผลโดยรวดเร็วทันใจพร้อมกับที่มีการคาดโทษผู้ปฏิบัติว่า หากไม่ได้ผลภายในเวลานี้เวลานั้นแล้วละก็จะมีการถูกปลดบ้างย้ายบ้าง (ซึ่งก็เหมือนกับมาตรการซีอีโอ “ขี้หมา” ทั้งหลายที่ล้วนแต่เหลวเป๋วทั้งสิ้น ยกเว้นก็ต่อเมื่อใช้ในทางเศรษฐกิจการค้าเท่านั้น เพราะผู้ใช้สันทัดอยู่แล้วในการหา “กำไร” เข้ากระเป๋าของตน) โดยที่ตัวเองในฐานะหัวหน้าหรือผู้นำไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งนั้น

เจอวิธีซีอีโอ “ขี้หมา” เข้าเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติจึงจำใจต้องสร้างผลงานด้วยการอุ้มหายผู้ต้องสงสัย ซึ่งก็คือผู้บริสุทธิ์เพื่อเอาตัวเองให้รอด จนกลายเป็นตัวเลขผู้สูญหายในเวลาต่อมา และเป็นที่มาของการฆ่าผู้บริสุทธิ์มาจนทุกวันนี้

ก็อย่างที่ผมได้บอกไปแล้วว่า เรื่องที่ผมได้ยินมานี้ผมไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหนอย่างไร ต้องรอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองท่านตอบ แต่ถ้าจริง ผมบอกได้คำเดียวว่า ปัญหาในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องของการแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่เรื่องของความไม่เป็นธรรมในอดีต หรือเรื่องของการเมืองการปกครองอีกต่อไป

แต่เป็นเรื่องของการล้างแค้นแบบ “เลือดต้องล้างด้วยเลือด” ล้วนๆ และลงว่าเป็นอย่างนี้แล้วก็หวังได้ยากว่าปัญหาจะจบได้ง่ายๆ เพราะเรื่องของการล้างแค้นย่อมหาที่ยืนให้กับสิ่งที่เรียกว่า “อภัยธรรม” ได้ยากมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ปัญหาก็คือว่า การเมืองที่กลายเป็นเรื่องความแค้นนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ก่อการเท่านั้น หากในอีกด้านหนึ่งยังอยู่ในความเชื่อของพี่น้องมุสลิมอีกไม่น้อยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ก่อการอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นภาพมวลชนมุสลิมเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้แก่ผู้ก่อการในบางพื้นที่ จนนำมาสู่การรุมทำร้ายนายทหาร 2 นายและครูจูหลิงอย่างอำมหิต

และจนแยกไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วกลุ่มผู้ก่อการนี้คือกลุ่มใดใน 3 กลุ่มต่อไปนี้ คือ หนึ่ง กลุ่มแบ่งแยกดินแดน สอง กลุ่มที่ยึดถือศาสนาอย่างสุดขั้ว หรือสาม กลุ่มที่ก่ออาชญากรรม???
กำลังโหลดความคิดเห็น