xs
xsm
sm
md
lg

อำลา-อาลัย “ธวัช มกรพงศ์”: แบบอย่างของข้าราชการนักสู้ผู้รักชาติ-รักแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: ศิษย์ธรรมศาสตร์

ข่าวการเสียชีวิตอย่างสงบของ “ดร.ธวัช มกรพงศ์” อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย และข้าราชการมหาดไทยผู้เป็นแบบอย่างในการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน ยืนหยัดต่อสู้และพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างถึงที่สุด “ดร.ธวัช มกรพงศ์” ถือเป็นแบบอย่างที่งดงามของบุคคลผู้ทำงานรับใช้สังคมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยืนหยัดแน่วแน่ในอุดมการณ์และมุ่งมั่นให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม “ดร.ธวัช มกรพงศ์” เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ว่าฯ ตงฉินที่โดดเด่นและสง่างามที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย “ดร.ธวัช มกรพงศ์” จากพวกเราไปแล้ว พิธีพระราชทานเพลิงศพเพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันเสาร์ที่ 16 ธ.ค.นี้ ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจทั้งในหมู่มวลมิตรสหาย ลูกศิษย์-ลูกหาและปวงประชาชนผู้รักชาติรักความเป็นธรรมทั่วประเทศ

ดร.ธวัช มกรพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2475 ที่อำเภอสีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นลูกชาวบ้านธรรมดา บิดาชื่อนายบู่ มารดาชื่อนางนาง มกรพงศ์ เรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนไทยวัฒนาประชารัฐ ระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนสวัสดิ์ผดุงวิทยา จากนั้นมาเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ สอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และจบปริญญาตรีเกียรตินิยม ในปี พ.ศ. 2498

ดร.ธวัช มกรพงศ์ เป็นอาจาร์ยสอนในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พักหนึ่ง แล้วสอบได้ทุนฟุลไบร์ท ไปเรียนจบปริญญาโท รัฐศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา กลับมาไทยในช่วงสั้นๆ ได้ทุนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปเรียนปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ และจบปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา

ชีวิตราชการเริ่มต้นโดยเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2505 อันเป็นปีแรกที่เพิ่งก่อตั้งคณะนี้ ด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจของ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ลูกศิษย์ที่เรียนคณะศิลปศาสตร์ รุ่น 1 ยังจดจำคำสอน ดร.ธวัช มกรพงศ์ ได้ชัดเจน และลูกศิษย์หลายคนเป็นนักการเมืองระดับชาติที่ ดร.ธวัช มกรพงศ์ เอ่ยถึงด้วยความชื่นชมอยู่เสมอ เช่น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี, นายสุทัศน์ เงินหมื่น รวมทั้งนายประจวบ ไชยสาสน์

พ.ศ. 2507 ดร.ธวัช มกรพงศ์ โอนมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประจำกรมการปกครอง ช่วยงานเร่งรัดพัฒนาชนบทที่นครพนมแล้วย้ายไปเชียงราย

พ.ศ. 2509-2511 ดร.ธวัช มกรพงศ์ เป็นปลัดที่กาฬสินธุ์, สตูล, ชัยนาท แล้วย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นหัวหน้ากองการข่าวและการต่างประเทศ สำนักปลัดมหาดไทย
พ.ศ. 2515 เป็นรองผู้ว่าฯ เชียงราย แล้วขยับขึ้นเป็นผู้ว่าฯ ที่จังหวัดนี้ในปี พ.ศ. 2517 จากนั้นย้ายไปเป็นผู้ว่าฯ พังงา, ลำพูน พอสั่งปิดเหมืองแม่วะที่ปล่อยน้ำเสียทำลายต้นน้ำลำธารและทำให้เกษตรกรเดือดร้อนก็โดนย้ายเข้าประจำกระทรวงในปี พ.ศ. 2519

พ.ศ. 2519 เป็นช่วงที่บ้านเมืองเกิดการฆ่าฟันกันนองเลือดเมื่อวันที่ 6 ต.ค. และเป็นช่วงที่ ดร.ธวัช มกรพงศ์ บอกว่า “เบื่อหน่ายสุดขีด มองไม่เห็นอนาคต” จึงขอลาออกจากราชการ

แต่พอในปี 2521 ดร.ธวัช มกรพงศ์ ก็กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง เป็นอาจารย์สอนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, ปี พ.ศ. 2522 ได้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต่อมาเส้นทางชีวิตทำให้หวนกลับไปเป็นผู้ว่าฯ สมุทรปราการ, มหาสารคาม, อุตรดิตถ์, พิจิตร สลับมาเป็นผู้ตรวจราชการมหาดไทยช่วงสั้นๆ แล้วโยกไปเป็นผู้ว่าฯ สุโขทัย, ชลบุรี โดยเกษียณอายุที่ชลบุรี

• ดร.ธวัช มกรพงศ์ ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาการปกครอง จากคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

• ได้รับรางวัลผู้บริหารดีเด่นครุฑทองคำ จากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

• ได้รับรางวัลข้าราชการซื่อสัตย์สุจริต จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.)

ประวัติของนักปกครองผู้นี้ โลดแล่นอยู่ในสายงานปกครองเกือบตลอดชีวิตและการเป็น “พ่อเมือง” ก็ไม่ได้ทำให้เขาติดยึดอยู่กับยศถาบรรดาศักดิ์ ตรงกันข้ามเขายังติดดินเป็นผู้ว่าฯ ของประชาชนผู้ทุกข์ยาก...เป็นผู้ว่าฯ ที่นั่งอยู่ในหัวใจประชาชนจริง ๆ

อุปนิสัยส่วนตัว ดร.ธวัช มกรพงศ์ เป็นคนนอบน้อมถ่อมตัว สุภาพอ่อนโยน และจริงใจกับสุจริตชน แต่เมื่อใดก็ตามที่เห็นความไม่เป็นธรรม พบเห็นร่องรอยการทุจริตคดโกง ดร.ธวัช มกรพงศ์ ไม่เคยรั้งรอที่จะใช้อำนาจหน้าที่ฟาดฟันโดยไม่เห็นแก่หน้าใคร

ผลงานเด่น ๆ ซึ่งเป็นผลงานที่มีผู้ระบุว่า “เป็นการกระทำโดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทำเพื่อต่อต้านการทุจริตคดโกงในสังคมไทย” สรุปได้ดังนี้

1. ขณะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้ร่วมกับนักศึกษาและประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลสมัยนั้น (รัฐบาลชุด ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี) เพิกถอนประทานบัตรบริษัทเท็มโก้ ซึ่งได้มาโดยผิดระเบียบผิดกฎหมายของบริษัทต่างชาติที่เข้ามายึดครองน่านน้ำไทยผูกขาดการขุดแร่ในทะเลอันดามัน ทั้งนี้ เพราะแร่อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เป็นสมบัติของแผ่นดินไทยไม่สมควรยกให้ต่างด้าวผูกขาดทำ แต่ควรเปิดเสรีให้คนไทยมีสิทธิ์หาแร่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดอย่างเท่าเทียมกัน

การต่อสู้ครั้งนี้ประสบความสำเร็จและเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่จารึกอยู่ในความทรงจำของประชาชนทั่วประเทศตราบจนถึงปัจจุบัน

2. สั่งปิดเหมืองแร่พลวงแห่งหนึ่งสมัยเป็นผู้ว่าฯ ในภาคเหนือจังหวัดหนึ่ง สาเหตุเป็นเพราะเหมืองแร่แห่งนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ได้ละเมิดทำเหมืองแร่โดยพลการ มีการปล่อยน้ำเสียลงไร่นาราษฎรจนเพาะปลูกพืชไม่ได้ผล และน้ำเสียยังทำลายแหล่งต้นน้ำลำธารที่เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตเกษตรกรจำนวนนับหมื่นนับแสนคน

3. การต่อสู้กับการทุจริตและประพฤติมิชอบในการสอบคัดเลือกครูสังกัดสำนักงานประถมศึกษาในจังหวัดภาคอีสานแห่งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะมีการทุจริตเป็นกระบวนการใหญ่ใช้อุบายเรียกเงินจากผู้สมัครกว่า 300 คน คนละ 30,000 บาท โดยหลอกลวงว่าจะช่วยทำให้สอบได้ ดร.ธวัช มกรพงศ์ ในฐานะผู้ว่าฯ ทำลายแผนการของ “เหลือบ” โดยสั่งยกเลิกการสอบ และให้จัดให้มีการสอบใหม่เพื่อความยุติธรรม

4. ต่อสู้กับการจัดซื้อ, จัดจ้างของทางราชการในจังหวัดภาคอีสานแห่งหนึ่ง เพราะสืบพบว่ามีการรวมหัวกันทุจริต โดยสั่งทบทวนการจัดซื้อ, จัดจ้างใหม่ เป็นผลให้ทางราชการประหยัดเงินได้ถึง 81 ล้านบาท

5. สมัยเป็นผู้ว่าฯ จังหวัดภาคเหนือแห่งหนึ่งได้ต่อสู้กับกระบวนการทุจริตเรื่องการจัดซื้อ, จัดจ้างของทางราชการเช่นกัน เป็นผลให้สามารถประหยัดเงินแผ่นดินได้ 19 ล้านบาท

6. ต่อสู้กับการทำลายป่าไม้ในจังหวัดภาคเหนือ โดยสู้อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงหมาป่าที่มีทั้งพวกพ่อค้าและผู้อยู่ในเครื่องแบบราชการด้วยกันรุมเล่นงาน

ดร.ธวัช มกรพงศ์ ต่อสู้กับระบบการทำงานที่ล้าหลังในวงราชการ สู้กับอำนาจอิทธิพลของกลุ่มที่เห็นแก่ประโยชน์และพวกพ้องในแต่ละจังหวัดอย่างกล้าหาญ แม้กระทั่งต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีเพราะการทำหน้าที่โดยไม่เห็นแก่หน้าใครซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดน้อยคนนักที่จะกล้าหาญเช่นนี้

ดร.ธวัช มกรพงศ์ มีภริยาคู่ทุกข์คู่ยาก คือแพทย์หญิงประไพพักตร์ มกรพงศ์ ซึ่งหลังจากท่านปลดเกษียณ เป็นข้าราชการบำนาญ พักอยู่บ้านเช่าหลังเล็กๆ ในย่านเมืองใหม่ ชลบุรี สิ่งที่ท่านได้รับจากระบบราชการก็คือเงินบำนาญแค่เดือนละ 13,000 บาท ที่ได้น้อยก็เพราะเคยลาออกจากราชการช่วงหนึ่ง แล้วกลับเข้ารับราชการใหม่อายุงานจึงสะดุดลง และมีรายได้จากภริยาแพทย์หญิงประไพพักตร์คอยเสริมอีกแรงหนึ่ง ทรัพย์สินอย่างอื่นท่านก็บอกว่ายังพอมีอยู่บ้าง

ดร.ธวัช มกรพงศ์ ป่วยด้วยโรค Motor Neuron Disease (มอเตอร์ นิวโรน ดิซีส) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดกับคนในระหว่าง 50-60 ปี มีอาการกล้ามเนื้อลีบทั้งตัวเพราะระบบประสาทจากกระดูกสันหลังไม่ทำงาน การเคลื่อนไหวร่างกายตั้งแต่ช่วงคอลงมาเป็นอัมพาต และในปี พ.ศ. 2537 ท่านหายใจไม่ได้ ต้องส่งเข้ารักษาพยาบาลในห้องไอซียู ที่โรงพยาบาลชลบุรี ใช้เครื่องช่วยหายใจ จนกระทั่งต้องให้อาหารผ่านทางสายยางแทนการป้อนใส่ปากให้รับประทาน เนื่องจากไม่อาจรับประทานได้เหมือนเดิม

ณ วันนี้...“ดร.ธวัช มกรพงศ์” ได้จากพวกเราไปก็แต่เพียงร่างกาย แต่คุณงามความดี วีรกรรมที่รักชาติ รักแผ่นดิน และอุดมการณ์ในการต่อสู้กับทรชนคนโกงชาติโกงแผ่นดินอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของท่านจักได้...รับการสืบทอด เชิดชู และสดุดี ตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น