xs
xsm
sm
md
lg

ใช่แต่ทหาร..อาจารย์กฎหมายและนักรัฐศาสตร์ก็ไม่รู้เรื่อง

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

พลโทฤกษ์ดี ชาติอุทิศ ส่งดิสก์บทความมาให้อีก แต่ผมเปิดอ่านมิได้เพราะไวรัสเต็มไปหมด

ผมโทร.ถามว่าข้อใหญ่ใจความที่อยากสั่งสอนผมคืออะไร คำตอบที่โป้งออกมาอย่างไม่เกรงใจก็คือ พี่ผมว่าทุกวันนี้ไอ้อาจารย์กฎหมายและนักรัฐศาสตร์ปริญญาสูงๆ มันไม่เข้าใจประชาธิปไตย

ถ้าเป็น การุณ ใสงาม คงคิดในใจว่า “เอ๋ มันว่ากูรึเปล่านี่” แต่ผมก็โพล่งตอบไปโดยไม่ต้องคิดเลยว่า “เออจริง” เพราะผมเห็นด้วยจริงๆ แต่ขอแถมทหารเป็นหัวข้อบทความนี้ด้วย

ก็คงไม่เป็นไรหรอกถ้าพวกนั้นจะไม่สะเออะมาร่างรัฐธรรมนูญให้เรา

ผมเพิ่งค้านอดีต รมว.อุตสาหกรรม ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ไปหยกๆ ว่า ไม่จริงหรอกที่ว่าจะต้องมีชนชั้นกลางมากๆ ประเทศจึงจะเป็นประชาธิปไตยได้ ดูตัวอย่างประเทศอินเดีย ระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังยากจนด้อยการศึกษา แต่อินเดียก็เป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งยั่งยืนได้ แล้วชนชั้นกลางของอินเดียก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผมบอกไชยวัฒน์ว่า คนไทยจบชั้น ป.4 ก็สามารถเข้าใจและมีส่วนสร้างประชา ธิปไตยได้ ไม่ต้องคอยด็อกเตอร์ด็อกตีนที่ไหนหรอก ข้อสำคัญขอให้มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันให้ถูกต้อง ชาวนาจบ ป.4 อาจเป็นผู้เลือกที่สามารถ มิใช่เป็นผู้ร่าง หากมีการให้ข้อมูลกันอย่างซื่อสัตย์ทั่วถึงถูกต้อง นอกจากชาวนาจะเลือกรัฐธรรมนูญเป็น ในตอนให้สัตยาบันแล้ว ก่อนที่จะร่างเสร็จ ชาวนาก็ยังสามารถบอกรัฐบาลและผู้ร่างได้อีกด้วยว่าร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรจึงจะดีสำหรับชาวนา

อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์โนเบลสัญชาติอินเดีย ยิ่งใหญ่ขนาดที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเคมบริดจ์ยื้อแย่งกันไปมา อธิบายว่าเหตุผลข้อหนึ่งที่ประชาธิปไตยอินเดียเข้มแข็ง ก็เพราะแขกไม่ว่าจะเป็นผู้ดียาจก ผู้ชายหรือผู้หญิงต่างก็มีวัฒนธรรม และนิสัยที่ชอบเถียงกันไม่ตกฟาก สนใจอ่านดูได้ในหนังสือชื่อแขกชอบเถียงหรือ The Argumentative Indians

ผมเติมเหตุผลให้อีกข้อหนึ่งว่า เป็นเพราะชนชั้นนำของอินเดียเป็นผู้รับฟังที่ดี มีสำนึกและพฤติกรรมเป็นประชาธิปไตยอีกต่างหาก

ชนชั้นนำของเมืองไทยนั้นตรงกันข้าม เมื่อไม่นานมานี้ตลอด 5 ปี มีคนพูดอยู่ในที่ประชุม ครม.คนเดียว คนอื่นถ้าไม่เป็นนักฟังชั้นเลิศ ต่างก็เป็นใบ้

ไหนคนไทยอ้างตนว่าเป็นพุทธ คนไทยทุกคนควรจะรู้จักมิลินทปัญหาและกาลามสูตรมิใช่หรือ

ใครเล่าทำให้คนไทยเป็นเบื้อ ไม่กล้าถาม ไม่กล้าคิด

ตอบแบบครอบจักรวาล ก็ระบบการศึกษาและการครอบงำของชนชั้นปกครองอำนาจนิยมนั่นเอง

ผมเขียนเรื่องสมัชชายุงไปเมื่อวันอาทิตย์ กว่าจะเสร็จก็บ่ายแก่ ลงไม่ทันวันจันทร์ แต่ท่านผู้อ่านก็คงทราบแล้วถึงความโกลาหล และไม่ชอบมาพากลของสมัชชายุงในการเลือกตั้ง

คนที่สมควรได้รับความเลื่อมใสยกย่อง ไม่ถูกตราหน้าเป็น “คนมันชุ่ย:คมช.”ทำอะไรก็ควรจะรอบคอบแยบยลทั้งเบื้องต้นเบื้องกลางและเบื้องปลาย อย่ามักง่าย คิดว่ากูมีอำนาจ อยากทำอะไรก็ได้

มอ.สงขลาโดย พญ.รัชนี บุญโสภณ และนายประสาท มีแต้ม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ ประณามพฤติการณ์เลือกตั้งสมัชชายุงว่าไม่สมควร น่าละอายและไม่เป็นประชาธิปไตย

ผมทราบดีว่าคณาจารย์ทั้งหลายย่อมมีความรู้ดีว่าอะไรไม่เป็นประชาธิปไตย ต่างกับผู้เชี่ยวชาญตาบอดคลำช้างที่ไม่รู้จักแม้กระทั่งใบไม้ในกำมือตนเอง อย่างที่พลโทฤกษ์ดีวิจารณ์

ประชาธิปไตยนั้นต่างกับเผด็จการหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือความสามารถที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตได้ สมัชชาแห่งชาติมีมานานแล้ว มิใช่ของใหม่ ของที่เกิดภายหลังถึง 33 ปีจะต้องดีกว่าของเก่า ยิ่งในยุคปฏิวัติข้อมูลและการสื่อสารของสังคมความรู้ ยังปล่อยให้ยุ่งยาก และแย่ เลวกว่าเดิม ผู้รับผิดชอบน่าจะเอาหัวไปมุดหางหมาตาย

ผมขอเรียกร้องให้นักวิชาการ สื่อ และผู้รับผิดชอบคณะ “คนไม่ชุ่ย” รีบทำการศึกษาบทเรียนเปรียบเทียบระหว่างสมัชชาสนามม้ากับสมัชชายุงโดยด่วน อาจารย์รัฐศาสตร์ที่สอนวิชาว่าด้วยคะแนนเลือกตั้ง ลองเอาแบบและน้ำหนักของคะแนนทั้ง 2 สมัชชาไปเปรียบเทียบวิเคราะห์เชิงทฤษฎีและสถิติดู ว่าคะแนนดิบจากผู้ที่ลงคะแนนทั้งหมด สูงสุดได้เท่าไร กลางและต่ำสุดได้เท่าไร คะแนนจับกลุ่มกันอยู่อย่างไรและมีความหมายอะไร

สมมติว่ามีผู้ลงคะแนน 1,900 กว่าราย คะแนนเท่าใดจึงจะถือว่ามีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ มีความเป็นตัวแทน ฯลฯ ผมทราบแต่ว่าคะแนนของสมัชชายุงผู้ได้คะแนนสูงสุด 55 ต่ำกว่าคะแนนสูงสุดของสมัชชาสนามม้าหลายร้อย และต่ำกว่าคะแนนต่ำสุดหลายสิบ คะแนนต่ำสุดของผู้ที่ได้รับเลือกคือ 7 คะแนนมีถึง 16 คน ผู้ที่ได้คะแนนต่ำกว่า 1% คือ 19 คะแนนลงมามีถึง 160 คน หากจะยืนหยัดว่านี่คือประชาธิปไตยแบบไทย ผมคงพูดอะไรไม่ออกนอกจากคำว่า อนิจจา!

ผมพูดแล้วว่า ผมมองไม่เห็นความแตกต่างในเป้าหมายของสมัชชายุงกับของบรรดาหัวหน้าพรรคทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะทั้งสองฝ่ายได้ทำใจแล้วว่า ถ้าหากถูกอำนาจการเมืองกินหัวกินหางกินกลางตลอดตัวเมื่อไร ก็ขอพึ่งรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 เป็นสรณะ

บรรดาอาจารย์กฎหมายและนักรัฐศาสตร์ที่รับใช้ประเทศชาติตามบัญชาของ คมช.อยู่ขณะนี้ ไม่ว่าจะใน สนช. หรือสมช .(ย) รวมทั้งบรรดาทหารหาญเพื่อนพ้องน้องพี่ของพลโทฤกษ์ดี ก็ไม่ต่างกันเลยใช่หรือไม่

ช่างเป็นความจริงที่น่าเศร้าเสียนี่กระไร เพราะว่าในนั้นมีผู้คนที่ผมรักใคร่นับถือและเคารพในคุณความดีและวิชาความรู้อยู่มากมาย

ผมจึงจำจะต้องอธิบายเสียให้แจ่มแจ้งอีกครั้งว่า อุปสรรคในการปฏิรูปการเมือง และการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นอุปสรรคด้านโครงสร้าง มิใช่อุปสรรคเรื่องตัวบุคคล ตัวบุคคลถึงจะแสนดีหรือแสนเก่งอย่างไร ก็ไม่อาจทำอะไรได้ ถ้ามองไม่เห็นและไม่เข้าใจอภินิหารของโครงสร้าง

โครงสร้างที่สำคัญยิ่งยวดในที่นี้คือ โครงสร้างทางความคิด โครงสร้างทางความคิดที่ครอบงำการเมืองไทยอยู่จนทุกวันนี้ เป็นโครงสร้างที่เกิด เติบโตและมั่นคงต่อเนื่องกันมาตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งเป็นวันที่กองทัพกระทำการรัฐประหาร ยุติการพัฒนาการทางการเมืองไทยอันเป็นแนวคิดใหม่ (New Paradigm เมื่อเทียบกับแนวคิดเก่าOld Paradigm ที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณจนกระทั่งถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475)

รัฐประหารได้นำเอาแนวความคิดเก่าแบบอำนาจนิยมกลับมาใช้ เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้ใช้จากพระมหากษัตริย์มาเป็นทหาร ข้ออ้าง คือ ความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ ความจำเป็นที่จะร่วมมือกับอภิมหาอำนาจใหม่คืออเมริกัน ความเต็มใจที่จะเป็นเบี้ยในหมากรุกสงครามเย็น เพื่อจะพัฒนาประเทศให้เจริญขึ้นทางวัตถุ ปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจกี่ครั้งๆ ก็อีหรอบเดียวกัน

ผมนึกว่าคราวนี้จะเปลี่ยน เพราะเป็นการปฏิวัติที่ผมเฝ้าคอย และหวังว่าจะต่างจากเดิม

ผมลืมไปว่า ทหาร นักกฎหมาย นักวิชาการ ข้าราชการ ล้วนแต่เกี่ยวก้อยกันเติบโตขึ้นมาอย่างมีเอกภาพในระบบเดิมทั้งสิ้น ทั้งหมดเป็นผู้รับใช้ที่มีฝีมือแห่งสถานภาพเดิม (Status Quo) ทั้งสิ้น

การจะปฏิรูปการเมืองหรือการพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็น Paradigm ใหม่ ยังไม่เคยทดลองอย่างจริงจัง และไม่อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จหรือเคยมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาเลย

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะเป็นไปได้ยากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าหากไม่มีความเข้าใจ และไม่มีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแบบใหม่ที่เรียกว่า ราชประชาสมาสัย

รัฐธรรมนูญแบบราชประชาสมาสัยมิใช่สิ่งลึกลับอะไร มีความคิดปรารถนาและการพูดถึงกันมาแล้วอย่างน้อย 33 ปี รัฐธรรมนูญแบบราชประชาสมัยก็คือ การผนึกพลังแผ่นดินเข้ากับพลังแผ่นฟ้า อันได้แก่ การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางแท้จริงของประชาชนกับการสถาปนาพระราชอำนาจตามระบอบรัฐธรรมนูญ และนิติราชประเพณี ให้ปกป้องไพร่ฟ้าประชาชนและประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง

ราชประชาสมาสัยนี้ หากสามารถเกิดขึ้น และดำรงอยู่จนกลายเป็นวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญอาจจะไม่จำเป็น หรือมี แต่ไม่ต้องเขียนขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนอังกฤษก็ได้

แต่ถ้าหากจะเขียนขึ้น จำจะต้องให้สอดคล้องกับหลักการหรือหัวใจของประชาธิปไตย นั่นก็คือ รัฐธรรมนูญจะต้องครอบคลุมหลัก 3 ประการ คือ (1) การจำกัดอำนาจรัฐบาล โดยระบุให้ชัดแจ้งว่ารัฐบาลมีอำนาจอะไรบ้าง นอกจากนั้นรัฐบาลทำไม่ได้ (2) การค้ำประประกันสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานของราษฎร นอกจากนั้นไม่จำเป็นต้องบรรจุสิทธิต่างๆลงไปรุงรัง เพราะหลักรัฐธรรมนูญ(Constittutionalism) ถือว่าอำนาจที่มิได้ระบุว่ามอบให้รัฐบาลกับสิทธิเสรีภาพที่มิได้ระบุไว้ ต่างก็ถือว่าให้สงวนไว้ให้เป็นอำนาจของประชาชนทั้งสิ้น (3) การวางผังและสร้างกลไกของรัฐเพื่อให้มีดุลยภาพระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสาม และให้เป็นหลักประกันความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ตามหลักข้อ (1)และ (2)

สำหรับประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์อันประเสริฐอย่างไทย ก็เติมหลักราชประชาสมาสัยเข้าไปเป็นหลักที่ (4) ด้วย ทั้งนี้ ไม่จำเป็นจะต้องยืดยาดยาวเยื้อยอย่างรัฐธรรมนูญปี 2540

อุปสรรคที่ทำให้ราชประชาสมาสัยเป็นไปไม่ได้ ก็เพราะระบบอำนาจนิยม การกีดกันพระราชอำนาจ ความหวาดกลัวไม่ไว้ใจพลังของประชาชนหรือตัวแทน ตลอดจนลัทธิติดยึดการเขียนรัฐธรรมนูญตามแบบฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแบบที่ทั้งโลกทราบแล้วว่ามีข้อบกพร่อง แก้ไม่ตก ครั้งแล้วครั้งเล่า ยุคแล้วยุคเล่า และเป็นประโยชน์แก่เผด็จการ

บังเอิญคนที่ติดยึดและบังคับให้สังคมไทยติดยึดไปด้วย ก็คือ ทหาร อาจารย์กฎหมายและนักรัฐศาสตร์ บรรดาอัศวินแห่งสถานภาพเดิม ผู้สร้างและรักษาวัฏจักรน้ำเน่าและวงจรอุบาทว์ให้พวกเราตลอดมา

เราจะทำอย่างไรกันดี ยอมเสียตัวให้สมัชชายุงอีกสักครั้ง ไหนๆ ก็ไหนๆ หรือจะไปตายดาบหน้าตามคำทำนายของจรัญ ภักดีธนากุลว่านี่จะมิใช่การร่างครั้งสุดท้าย

ใครจะยอม ก็เชิญ ผมคนหนึ่งล่ะที่จะสู้ ใครจะเอากับผมบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น