xs
xsm
sm
md
lg

สู้ต่อไป...สมัชชาหิ่งห้อย

เผยแพร่:   โดย: การุณ ใสงาม

วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ผมได้ไปทำหน้าที่สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ โดยทำการเลือกบุคคลจาก 1,982 คน ให้เหลือ 200 คน เพื่อไปทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ใครเป็นใคร ใครสอบได้สอบตกทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้ว

การมีสมาชิกสมัชชาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของ ประเทศไทย แต่เดิมเราเคยมีสมัชชาแห่งชาติมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2516 สมัยนั้นเรียกว่า สภาสนามม้า เนื่องจากใช้สนามม้านางเลิ้งเป็นสถานที่ประชุม ผิดกับการประชุมคราวนี้ที่ใช้ หอประชุมกองทัพเรือป็นสถานที่ประชุม

สภาสนามม้าสมัยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้มีการคัดเลือกบุคคลจากทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทุกสาขาอาชีพได้รายชื่อมาทั้งหมด 2,347 คน และให้ที่ประชุมคัดเลือกกันเองให้เหลือ 299 คน ตามคะแนนเสียงมากไปหาน้อยเพื่อทำหน้าที่เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ

วิธีการคัดเลือกในสมัยก่อนให้สมาชิกสามารถลงคะแนนเสียงได้คนละ 99 เสียง หรือใช้หลักเกณฑ์ 1 ใน 3 สมาชิกสมัชชาที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดคราวนั้นอันดับหนึ่งคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คนที่สองคือ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สมาชิกในยุคนั้นทำการร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้ระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี จึงได้รัฐธรรมนูญ 2517 ที่ถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีฉบับหนึ่งของประเทศไทย

มาดูสมาชิกสมัชชาแห่งชาติยุคปัจจุบันกันบ้างจากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ จำนวน 1,982 คน มีตัวแทนจากภาครัฐ 574 คน ภาคเอกชน 545 คน ภาคสังคม 538 คน และภาควิชาการ 325 คน

เราลองมาวิเคราะห์ดูว่า การเลือกสมาชิกฯ ครั้งนี้จะสามารถตอบโจทย์ที่สังคมต้องการ คือ การให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างแท้จริงหรือไม่

เริ่มต้นตั้งแต่ที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ที่กำหนดให้กระบวนการคัดเลือกสมาชิกสมัชชาแห่งชาติมีปัญหามาตั้งแต่ต้น คือการที่กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาที่กำหนดให้มีโควตาบุคคลกลุ่มต่างๆ เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแต่ละจังหวัดที่มีกลุ่มอำนาจเดิมแฝงตัวเข้ามาเป็นจำนวนมาก แล้วยังมีตัวแทนจากภาครัฐเข้ามามากจนอาจเกิดสภาข้าราชการได้

การที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ออกประกาศสมัชชาแห่งชาติที่เป็นลักษณะเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นการให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธานสมัชชาแห่งชาติ มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติ โดยเฉพาะประกาศข้อ 7 ที่ห้ามมิให้มีการแสดงความคิดเห็นหรืออภิปรายในการประชุมสมัชชาแห่งชาติ ข้อ 8 ห้ามมิให้มีการหาเสียงหรือชักชวนให้ลงคะแนนเสียงให้ผู้หนึ่งผู้ใดในบริเวณที่ประชุม และข้อ 21 เมื่อมีการประกาศผลการนับคะแนนแล้ว ห้ามมิให้มีการคัดค้านผลการนับคะแนน

เหมือนกับนายมีชัย จะรู้ตั้งแต่ต้นว่าการเลือกสมาชิกฯ วันนี้จะมีปัญหามากมาย เริ่มต้นตั้งแต่การที่เจ้าหน้าที่ได้มอบบัตรลงคะแนนให้กับสมาชิกสมัชชาฯ ขณะที่มาลงทะเบียนตอนเช้า ก่อนเวลาที่จะลงคะแนน คือเวลา 9.30 น. ทำให้มีสมาชิกฯ บางคนล็อบบี้ จับกลุ่มกันลงคะแนนล่วงหน้านอกคูหา บางคนถือบัตรลงคะแนนเป็นปึก

เหตุการณ์วุ่นวายนำไปสู่ความไม่พอใจของบรรดาสมาชิกฯ เนื่องจากเห็นว่าการลงคะแนนวันนี้ไม่สุจริต จนนำไปสู่การยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานสมัชชาแห่งชาติ โดยเรียกร้องขอให้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ ศรัทธาของสมาชิกสภาร่างฯ และขอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ พร้อมทั้งเตรียมยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศาลปกครองในข้อหาการจัดการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

นายมีชัย ควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุของความวุ่นวายเกิดจากการที่นายมีชัยไม่เคยรับฟังคำท้วงติงของใคร มีการออกระเบียบปิดกั้นการท้วงติงทุกอย่าง

เราต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 2 เมษายน 2549 ที่ผ่านมา การหันหลังออกนอกคูหาสามารถมองเห็นการลงคะแนนได้ ถือว่าเป็นโมฆะด้วยเหตุว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่

ดังนั้นการเลือกสมาชิกสมัชชาฯ คราวนี้จะใช้กรณีการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อ 2 เมษายน เทียบเคียงได้หรือไม่

ต่อมาคือกำหนดวิธีการลงคะแนนที่สมาชิก 1 คน เลือกได้ไม่เกิน 3 รายชื่อ โดยมาจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่ผู้ที่กำหนดไม่เคยให้เหตุผลว่าทำไมต้องเลือก 3 คน จะเป็นไปด้วยเหตุผลดังเช่นสภาสนามม้าในอดีตที่กำหนด 1 ใน 3 ก็ไม่ใช่ เพราะ ถ้าใช้สูตรเดิมก็จะทำการเลือก 66 รายชื่อ

ท่านอาจจะคิดว่าเป็นจำนวนที่มากถ้าต้องทำการเลือกสมาชิกฯ แต่การเลือกโดยใช้จำนวนที่มากนี้จะป้องกันการบล็อกโหวตได้เพราะถ้ามีการซื้อคะแนนจริงคนที่จะลงทุนต้องใช้เงินจำนวนมากอาจไม่คุ้มค่า และวิธีการเลือกแบบนี้จะได้บุคคลที่เป็นคนดี คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีความรู้ความสามารถเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญได้

เพราะนอกจากที่ท่านจะเลือกตัวท่านเองแล้ว ท่านยังสามารถเลือกบุคคลที่ท่านคิดว่ามีบุญคุณเพราะเรายอมรับกันมานานแล้วว่าสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ และเมื่อคะแนนมิได้จำกัด 3 คะแนน ที่จะทำให้ท่านต้องเลือกตัวท่านเองและเฉพาะคนใกล้ชิด

ก็จะทำให้ท่านสามารถพิจารณาเลือกคนที่ท่านคิดว่าเป็นคนดี และสามารถช่วยประเทศชาติได้อย่างแท้จริง เพราะการเลือกที่มากจะทำให้ท่านหลุดจากรายชื่อคนที่ใกล้ชิดและคนที่มีบุญคุณ

เมื่อทุกคนทำเช่นนี้ทุกคนก็จะได้กลุ่มคนดีคนเก่งเข้ามาทำหน้าที่

เพราะเมื่อรวมคะแนนแล้วกลุ่มคนดีคนเก่งของทุกคนที่พวกท่านเลือกกันท้ายสุดนี่แหล่ะจะกลายเป็นกลุ่มคนที่มีคะแนนสูง และเป็นบุคคลที่สังคมยอมรับ

มิใช่เป็นดังกลุ่มคนที่ท่านเห็นรายชื่อแล้วต้องมาตั้งคำถามกันต่อว่า คนนี้เป็นใคร มาจากไหน และทำอะไรมาบ้าง


รายชื่อผู้ที่สมควรเป็นสมาชิกสภาร่างฯ จำนวน 200 คน เป็นภาครัฐ 74 คน ภาคเอกชน 54 คน ภาคสังคม 38 คน และภาควิชาการ 34 คน เมื่อเราลองคิดเป็นสัดส่วน พบว่า ภาครัฐมากที่สุดถึง 37 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นภาคเอกชน 27 เปอร์เซ็นต์ ภาคสังคม 19 เปอร์เซ็นต์ และภาควิชาการ 17 เปอร์เซ็นต์

นี่เป็นเพียงแค่เริ่มต้น ว่าที่สมาชิกสภาร่างฯ นี้จะต้องผ่านด่านของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่จะต้องพิจารณาหรือมีบางท่านบอกว่า คมช.ต้องใส่ตระแกรงร่อนให้เหลือเพียง 100 คน ทำให้เรายังนึกภาพหน้าตาของสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ออก ว่าจะพ้นจากการเป็นนอมินีของ คมช. ไปได้อย่างไร

ยังมีคณะกรรมาธิการที่ยกร่างอีก 35 คน ที่จะมาจากสมาชิกสภาร่าง 25 คน และ คมช. ส่งมา 10 คน จะหน้าตาแบบไหน แล้วยังต้องผ่านการลงประชามติของประชาชนทั้งประเทศอีก

เราต้องยอมรับว่า บุคคลแต่ละท่านล้วนเป็นคนดี เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์มากมาย แต่ที่ต้องมามัวหมองกับกระแสการบล็อกโหวตเป็นเพราะ ตำแหน่งมีจำกัด และเป็นธรรมชาติของมนุษย์เมื่อลงแข่งทุกคนก็หวังจะชนะ ทำให้คะแนนออกมากระจัดกระจาย และมีลักษณะคะแนนของการจัดตั้ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นเพราะการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เปรียบเหมือนการติดกระดุมที่ผิดเม็ด เมื่อเริ่มต้นผิดก็ผิดไปทั้งหมด

และประเด็นสำคัญ ผมคิดว่าผมไม่มีความจำเป็นต้องตอบหรือเฉลยว่า การเลือกสมาชิกครั้งนี้ บล็อกโหวตหรือไม่บล็อกโหวต

คะแนนที่ออกมาชัดแล้วครับ คนสุดท้ายได้ 7 คะแนน

ท้ายสุด ผมอยากเห็นสมาชิกที่เหลืออยู่ทั้งหมดได้ร่วมกันกับพี่น้องประชาชนแสดงพลังของการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อเข้าร่วมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปการเมืองครั้งประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งในครั้งนี้ ก็จะเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวง

กำลังโหลดความคิดเห็น