xs
xsm
sm
md
lg

สมัชชายุง..ยุ่งไหมหนอ

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

อาจารย์ศาสตรา โตอ่อน แห่งภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นไว้อย่างคมคายว่า ความจริงควรจะเรียกสมัชชาแห่งชาติว่า สมัชชายุง เพราะมีชีวิตแค่ 7 วัน น้อยกว่าชีวิตของยุงเสียอีก

ด้วยอายุอันสั้น ยุงสามารถบั่นทอนชีวิตมนุษยชาติและสร้างความทุกข์ทรมานให้กับโลกอย่างแสนสาหัส

ขออย่าให้ สมช.(ย) เป็นเหมือนยุงเลย จงไปสู่ที่ชอบๆ เถิด อย่าทิ้งมาเลเรียการเมืองไว้เป็นมรดกให้กับชาติไทยเลย

ความยุ่งและในที่สุดความเสียหายของบ้านเมืองไทย บางครั้งก็ไม่น่าจะเกิด หากผู้มีอำนาจสามารถหรือเต็มใจที่จะตั้งคำถาม ก่อนที่จะตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ วัฒนธรรมการเมืองไทย มีส่วนผสมผสานกันระหว่าง (1) การอมภูมิวางก้ามของผู้มีอำนาจ (2) ความยึดถือผู้ใหญ่ตะพึดตะพือ และ (3) ความหลงเชื่อในฝีมือวิชาชีพ (เช่น กฎหมาย) ของผู้อื่น เป็นต้น

ผมไม่แน่ว่า คมช.บกพร่องข้อใด (1) (2) หรือ (3) 2 ข้อหรือทั้งหมด

ความจริงถ้ามีการตั้งคำถามหรือการค้นคว้าหาความรู้สักหน่อย คมช.ในชื่อย่อเดิมซึ่งผมจำไม่ได้แล้ว คมช.ไม่น่าจะปล่อยให้รัฐธรรมนูญชั่วคราวหลุดออกมา หรือถึงจะหลุดออกมาก็ไม่น่าจะมีบัญญัติว่าด้วยสมัชชายุงนี้เลย เพราะคิดจนหัวจะแตกก็ยังมองไม่เห็นว่ามีประโยชน์อันใด นอกจากความยุ่ง

เรื่องสมัชชายุงนี้ เป็นนวัตกรรมที่ตลกและไร้สาระของรัฐธรรมนูญปัจจุบันแท้ๆ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมาชวนกันตั้งคำถามใหม่ เพื่อจะช่วยหาคำตอบที่เป็นทางออกให้บ้านเมืองว่า สมัชชายุง ยุ่งไหมหนอ

คำตอบที่ซื่อสัตย์ก็คือ ยุ่งจริงหนอ ยุ่งมาแล้วและจะยุ่งต่อไปหนอ

คำถามต่อไป ก็คือ แล้วจะทำอย่างไรดีหนอ

คำตอบก็คือ ส่วนหนึ่งไม่ต้องทำอะไรหนอ เพราะอีก 7 วัน สมัชชายุงก็จะสิ้นชีวิตตักษัย

แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือต้องพยายามแก้ไข เพื่อมิให้สมัชชายุงใช้บล็อกโหวต เลือกแต่ยุงที่เป็นแม่เชื้อมาเลเรีย เอามาต่ออายุเผด็จการหรืออนากี้ให้กับบ้านเมืองได้

ถามว่าจะแก้ไขได้ไหมหนอ ตอบว่ามิได้ดอก ถ้าหากจะหวังให้แก้ภายในสมัชชายุงด้วยตนเอง หรือในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คงจะต้องใช้อำนาจนอกสมัชชาหรืออำนาจนอกสภา เช่น การใช้มาตรการทางการบริหาร การใช้อำนาจของประชาชน หรืออำนาจรัฐาธิปัตย์ชั่วคราวของ คมช. บีบบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ก็ขึ้นกับเงื่อนไขและเงื่อนเวลาว่าต่อมคิดของ คมช.มีหรือไม่ และจะกล้านำเอามาใช้เมื่อได

แล้วทำไมจึงไม่คิดกันมาให้รอบคอบเสียก่อนหนอ

ผมได้ตอบคำถามนี้ไปบางส่วนแล้ว แต่อาจจะยังไม่หมด ที่จำจะต้องกล่าวย้ำให้ช้ำใจ ก็คือ คมช. ไม่รู้จักคิดหรือไม่กล้าถามว่านักร่างรัฐธรรมนูญอำนาจนิยมมรดกของ รสช.นั้นมีเหตุผลอย่างไร จึงต้องรีบและล็อกรัฐธรรมนูญชั่วคราวไว้เสียหมด รวมทั้งบทบัญญัติเรื่องสภายุงก็ไม่ยอมเปลี่ยน ทั้งๆที่ประธาน คมช.ได้สอบถามนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแล้วทำท่าจะคล้อยตามว่าอยากได้อย่างตามที่นักวิชาการเสนอ แต่ในที่สุดก็ไม่กล้าท้วงติง ยอมรับสมัชชายุงและยอมสละอำนาจรัฐาธิปัตย์ของตน กลายเป็นทาสของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแต่โดยดี

ผมเคยพูดว่า ความคิดเรื่องสมัชชาแห่งชาตินี้ เป็นความคิดใหม่ในสมัยเก่า ที่นำเอามาใช้ผิดกาละเทศะ

ที่ว่าเป็นความคิดใหม่ในสมัยเก่าก็คือในหลวงเคยทรงพระราชทานสมัชชาแห่งชาติมาแล้วครั้งหนึ่งแล้วในปี พ.ศ. 2516 มีลักษณะต่างกับสมัชชายุงปัจจุบันในสาระสำคัญคือ

1. มีจำนวนมากกว่า (3 พันคน) 2. มีความหลากหลายประกอบด้วยบุคคลอาชีพต่างๆ มากกว่าแต่ละอาชีพมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน 3. การประกาศและการแต่งตั้งมีระบบรอบคอบมิดชิด ไม่มีการวิ่งเต้นเล่นพวก 4. อาศัยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยไม่ต้องอิงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด 5. มีการเลือกระหว่างกันเองขึ้นเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ผ่านกฎหมายและพิจารณารัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคณะเล็กๆ แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอร่างขึ้นมา

ผมเป็นผู้รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังเรื่องนี้ค่อนข้างดี เพราะผมเป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการเสนอความคิดและจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้น

ผมมีความผิดหวังอย่างลึกซึ้งในสมัชชาแห่งชาติครั้งนั้น 2 เรื่องด้วยกัน คือ (1) เรื่องบล็อกโหวตและการรวมกลุ่มผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลที่ใกล้ชิดหรือรู้จักกันมาก่อน อันมีผลทำให้ความก้าวหน้าและการมีส่วนร่วมประชาสังคมน้อยไป ตีจากอิทธิพลของอำนาจนิยมและทุนนิยมไม่สำเร็จ (ครั้งนี้ผมแน่ใจว่าจะยิ่งกว่าเก่า) (2)รัฐธรรมนูญที่ออกมา (ซึ่งผมมีส่วนในคณะกรรมการร่างแต่มาเปลี่ยนแปลงมากมายในสภานิติบัญญัติ) มีลักษณะเป็นอภิชนนิยม มีภยาคติต่อผู้แทนราษฎรและกีดกันพัฒนาการของระบบพรรคการเมืองและประชาธิปไตยที่แท้จริง ผมเองไม่สามารถโหวตให้ผ่านได้ เพื่อนนักวิชาการของผมคือ ดร.ธวัช มกรพงศ์ ขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาถึงกับโหวตไม่เห็นด้วยร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย

หันมามองสมัชชายุงอีกครั้ง ผมว่า (1) การเอาจำนวนบุคคลเกือบ 2 พันคนมาจากหลายๆอาชีพแล้วอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย เป็นเรื่องชวนหัวและผิด (2) ที่ว่าผิดนั้นเพราะไม่มีเหตุผลใดที่จะยกจำนวนดังกล่าวมาอ้างได้ นอกจากกลุ่มและตัวแทนที่ถูกคัดออกจะมีมากกว่าแล้ว เหตุผลและวิธีการคัดเลือกยังไม่ถูกต้อง ซ้ำมัวคำนึงถึงผลในทางปิดปากและการประชาสัมพันธ์เสียมากกว่า (3) การร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นความชำนาญเฉพาะจะต้องเป็นเรื่องของผู้ที่รู้เรื่องและเข้าใจจริงๆจำนวนน้อย รัฐธรรมนูญที่ดีๆ นั้นมีผู้ร่างไม่กี่คน (4) เพื่อแก้ไขข้อจำกัดในข้อ (3) จำเป็นจะต้องกำหนดเงื่อนเวลาเงื่อนไขและขั้นตอนในการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งที่เป็นกลุ่มอาชีพหรือประชาชนทั่วไปอย่างเป็นระบบและทั่วถึง สามารถนำเอาหลักและข้อมูลข้อเท็จจริงตลอดจนสมมติฐานต่างๆ มาเปรียบเทียบกันได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง (5) สมัชชายุงครั้งนี้มิได้มีมาตรการเช่นนั้น ซ้ำมีบทบั่นทอนไว้ว่า หากกระทำการไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ให้นำเอารัฐธรรมนูญเก่าฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับใช้ (6) การเลือกกันเองของสมัชชายุงนอกจากจะหนีบล็อกโหวตไม่พ้นอย่างที่ว่าแล้ว เหตุผลว่าทำไมและทำอย่างไรจึงจะเลือกลงมาเหลือ 200 และ 100 ล้วนแต่เป็นเรื่องตลกไร้สาระทั้งสิ้น (7) นอกจากนั้น คมช.ยังมิได้แสดงความสามารถในการเลือกและแต่งตั้งสมาชิก สนช.และสมช.(ย)ให้ครบ โดยเอาเหตุผลของคนมักง่ายมาอ้างว่าไม่ครบก็ไม่เป็นไร

ผมไปอยู่ต่างเมืองเสียร่วมอาทิตย์ไม่ได้ฟังข่าวจากเมืองไทยมากนัก นอกจากข่าวว่าบรรดาผู้นำพรรคต่างๆ พากันเสนอแนะให้เอารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาเป็นหลัก ผมอยากให้ดร.ธวัช มกรพงศ์มีชีวิตอยู่เหลือเกิน ถึงดร.ธวัชจะจากไปแล้ว ดร.อมร จันทรสมบูรณ์กับผมก็ยังอยู่

ผมมีความเห็นมาแต่ต้นและเขียนคัดค้านไปหลายครั้งแล้ว ว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่อัปลักษณ์มากที่สุดในทัศนะของผม แต่กลับเป็นรัฐธรรมนูญที่เย้ายวนและเป็นที่พึงปรารถนาของพรรคการเมืองทั้งปวง เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคในประเทศไทยยังมีลักษณะและพฤติกรรมเป็นแก๊งเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ประโยชน์แก๊งเลือกตั้งมากที่สุด จึงยังพากันติดใจไม่หาย ถึงแม้ว่าครั้งหนึ่งแก๊งเหล่านี้จะถูกสยบโดยนักผูกขาดการเมืองที่มีอำนาจเงินและความสามารถสูงกว่า เมื่อหมดบุคคลดังกล่าวแล้ว พรรคการเมืองจึงกลับมาฝันหวานที่จะเป็นแก๊งเลือกตั้งต่อไป

ผมว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และจะสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริงได้ จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญแบบราชประชาสมาสัยที่กำจัดระบบพรรคการเมืองแบบแก๊งเลือกตั้งให้สิ้นซากจากเมืองไทย

ผมเกรงว่าพันธมิตรระหว่างสมัชชายุงกับพรรคการเมืองที่มีอยู่คงจะพากันขัดขวางรัฐธรรมนูญราชประชาสมาสัยอย่างแน่นอน

เป็นหน้าที่ของประชาชนจะต้องติดตามดู และไม่ยอม
กำลังโหลดความคิดเห็น