xs
xsm
sm
md
lg

ปิดทางไอทีวีถ่วงเวลา สปน.ยันยื้อจ่าย-เลิกสัมปทาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปน.ยันค่าปรับแสนล้านไอทีวี “ไม่เว่อร์”ระบุมี 3 แนวทางเลิกสัมปทาน-คิดค่าปรับไปเรื่อย และฟ้องบังคับหากไอทีวีไม่จ่ายภายใน45วัน ส่วนเงินค้างค่าสัมปทานต้องจ่ายทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ขณะที่“ไอทีวี”ดิ้นหนีค่าปรับ อ้างม.15 ยื่นอนุญาโตฯ ชี้ขาด ฝ่ายพนักงาน ร่อนแถลงการณ์ โวยคำสั่ง “สปน.” สร้างเงื่อนไข “ล้มสัมปทาน” กดดันสารพัด เพิ่งสำนึกอยากรักษาเจตนารมณ์แรกก่อตั้ง อ้อน “ภาคประชาชน” ระดมสมองร่วมกำหนดทิศทาง ด้าน “สุรยุทธ์”ไม่รับปากเอาข้อพิพาท“ไอทีวี”เข้าถกครม.สัปดาห์หน้า ส่วน“มาร์ค”ชี้รัฐเร่งปฏิรูปไอทีวีดีกว่าสนใจค่าปรับ

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ทางสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะนำข้อพิพาทไอทีวี เข้าสู่ที่ประชุมครม.ในวันอังคารที่ 19 ธ.ค.นี้ว่า คงจะต้องรอจากทางหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบก่อน เรื่องการเข้าครม.หรือไม่นั้น เรื่องยังไม่มาถึงตน ซึ่งตามปกติเป็นเรื่องที่นายกฯต้องเซ็นอนุมัติว่าเรื่องใดที่สมควรจะเข้าในการพิจารณาของครม.หรือไม่ แต่เรื่องยังไม่มาถึง จึงยังตอบไม่ได้ว่าสมควรจะมีการพิจารณาในวันอังคารนี้หรือไม่ อย่างไร

ส่วนเรื่องค่าปรับที่มีจำนวนสูงมากนั้น ก็คงต้องดูแนวทางที่เสนอมาก่อน การจะพูดไปก่อนคงไม่ดี เดี๋ยวจะบอกว่านายกฯใช้อำนาจชี้ช่อง ชี้แนวทาง เมื่อถามต่อว่า สปน.ระบุว่าจะเสนอเรื่องปรับลดให้ครม.พิจารณา พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นเรื่อง ขอให้ถึงวันที่มีการส่งเอกสารมาถึงก่อน ซึ่งจะมีการศึกษาหารือกัน ว่ามีทางเลือกอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะนำเข้าครม.

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะยึดหลักอะไรเป็นที่ตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องแรกคงยึดหลักการที่ศาลได้ตัดสินมาแล้ว อันดับต่อไปคงเป็นความมุ่งหมายของไอทีวีเองที่จะกลับไปเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีสาระข่าว 70 เปอร์เซ็นต์ อย่างที่เริ่มแต่แรก และมีบันเทิง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดำรงในส่วนนั้นไว้ ส่วนการหาทางแก้ไขนั้นมันเป็นช่องทางมีโอกาสที่จะพูดคุยกันก่อน ก็ไม่ทราบว่าจะมีโอกาสที่จะได้พูดคุยกับผู้บริหารไอทีวีบ้างหรือไม่ อย่างไร คิดว่าเป็นเรื่องที่ผู้บริหารไอทีวี จะประสานกับปลัดสำนักนายกฯ ที่เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้

เมื่อถามว่า จะพูดคุยกับนายกฯได้เลยหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า คงจะข้ามขั้นตอนไปนิดหนึ่ง ตนอยากให้คุยกับปลัดสำนักนายกฯก่อน และตนพร้อมที่จะรับฟัง อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่า เราคุยกันได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม เรายินดีที่จะรับฟังความคิดเห็น รับฟังปัญหาต่างๆถ้าในสังคมของเรารับฟังกันบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์

เมื่อถามว่า ดูเหมือนว่า สปน.จะยึดคำสั่งศาลเป็นการสิ้นสุดขั้นตอน และปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ส่วนการพิจารณาจากนี้ให้ครม.เป็นผู้พิจารณา พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ตนคิดว่ายังไม่สิ้นสุด เพียงแต่ว่าสิ้นสุดในส่วนของศาล แต่ในส่วนของ สปน.ยังอีกยาว และยังไม่ถึงขั้นที่ครม.จะต้องตัดสิน หากครม.ตัดสินก็หมายถึงว่า จะต้องพิจารณาทางเลือกต่างๆ อย่างรอบคอบ และนำเสนอข้อดีข้อเสียในทุกด้าน ซึ่งส่งเข้าไปเพียงว่า ศาลยังตัดสินไม่ครบถ้วน

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าทางเลือกต่างๆ สปน.ต้องเป็นผู้นำเสนอครม.ใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะเป็นเจ้าของเรื่อง เมื่อถามว่า การให้นโยบายเช่นนี้ไม่กลัวถูกมองว่าเป็นเกี้ยเซียะ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า เรายืนอยู่บนความถูกต้องเป็นธรรมอยู่แล้ว อะไรที่สามารถพูดุคุยกันได้ เพราะการทำงานดีที่สุดคือ การเจรจาตกลงกันได้ จุดที่สมดุล จุดที่พอดี เป็นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการทำงานของรัฐบาลนี้ด้วย

**สปน.แจ้งหากพ้น 45 วันมี 3 ทางเลือก

นายพุทธิสัตย์ นามเดช ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) กล่าวชี้แจงถึงขั้นตอนการเรียกเก็บค่าปรับไอทีวี ว่า ในส่วนของค่าปรับจากการปรับผังรายการจำนวน 9.7 หมื่นล้านบาท ต้องจ่ายภายใน 45 วัน ถ้ายังไม่จ่ายเราจะแจ้งอีกครั้งโดยจะกำหนดวันให้มาชำระ ถ้ายังไม่จ่ายอีกก็มี 3 แนวทางคือยกเลิกสัมปทาน คิดค่าปรับไปเรื่อยๆ และฟ้องร้องฐานผิดสัญญา สำหรับค่าสัมปทานค้างจ่าย 2.6 พันล้านนั้น ต้องจ่ายภายใน 45 วันโดยไม่มีเงื่อนไข ถ้าไม่จ่ายก็ถือว่าผิดสัญญา อย่างไรก็ตามเมื่อผิดสัญญาแล้วจะยกเลิกสัมปทานหรือไม่ก็เป็นอำนาจการตัดสินใจของครม.

ทั้งนี้ อำนาจในการฟ้องร้องอยู่ที่อัยการเพราะเป็นผู้ทำหน้าที่แทนรัฐซึ่งอาจจะต้องรอ 45 วัน กระทั่งไอทีวีผิดสัญญาก่อนจึงจะดำเนินการฟ้องได้

พร้อมกันนี้ยังกล่าวถึงกรณีที่คำนวณค่าปรับไอทีวีเกือบแสนล้าน ทั้งที่ไอทีวีมีทุนจดทะเบียนเพียง 3 พันล้านบาทเท่านั้น ว่า ประชาชนอาจจะมองว่าเราเรียกเก็บมากเกินไปจนโอเว่อร์ แต่ความจริงแล้วทุกอย่างเป็นไปตามสัญญา ต้องเข้าใจว่าจำนวนมูลค่าสัญญา กับค่าปรับที่จะเรียกเก็บเมื่อมีการผิดสัญญานั้นเป็นคนละส่วนกัน ข้อสัญญาข้อ 11 เขียนไว้ชัดเจนว่าให้คิดค่าปรับร้อยละ 10 ของค่าตอบแทนที่ชำระในปีนั้นๆโดยคิดเป็นรายวัน ซึ่งต่างกับข้อ 5 ในกรณีที่ชำระค่าตอบแทนล่าช้า จะคิดค่าปรับร้อยละ 15 ต่อปี

ทั้งนี้ หากสปน.ไม่คิดค่าปรับเท่านี้คู่ประมูลที่แพ้ไอทีวีก็จะกลับมาฟ้องสปน.อีก เพราะเขาก็คิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้เขาก็เสนอราคาสูงๆมาก่อน เมื่อได้สัมปทานก็มาทำผิดสัญญาแล้วจ่ายเงินเล็กน้อย มาแก้ไขสัญญาทีหลัง

“อย่ามองว่าทำไมมูลค่าในสัญญาแค่นี้แต่ค่าปรับมหาศาล เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน ยกตัวอย่างสัญญาก่อสร้างหรือการลงทุนธุรกิจอะไรสักอย่าง สัญญาจะกำหนดค่าปรับไว้สูง ถ้าไม่ดำเนินการตามสัญญาแล้วปล่อยให้ระยะเวลาล่วงพ้นไป ค่าปรับก็จะเดินไปข้างหน้าทุกวันๆ บางครั้งมูลค่าสัญญานิดเดียว แต่พอละเมิดสัญญาค่าปรับท่วมเลย จนบริษัทล้มละลายเลยก็มี กรณีอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยแต่บังเอิญครั้งนี้มีมูลค่าสูง ค่าปรับทุกแห่งจะไม่มองย้อนมูลค่าของสัญญา”ผ.อ.สำนักกฎหมาย สปน. กล่าว

นายพุทธิสัตย์ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนนี้ทางอัยการสูงสุดก็ต้องหารือเรื่องค่าปรับกับสปน.และสปน.ต้องส่งเรื่องหารือกับคณะรัฐมนตรีต่อไป สุดท้ายขึ้นอยู่กับศาลจะตัดสินว่าค่าปรับจะเป็นเท่าไหร่ ศาลอาจจะเห็นว่ามากเกินไป โดยศาลจะคิดถึงค่าความเสียหายที่เป็นจริง เป็นเรื่องของอนาคต

นายพุทธิสัตย์ ยืนยันว่า ระบบอนุญาโตตุลาการยังมีความจำเป็นสำหรับสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชน เพราะเป็นระบบสากลที่สร้างความมั่นใจและให้หลักประกันกับเอกชน

ส่วนกรณีของความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกสัมปทาน แล้วคืนไอทีวีให้กับรัฐนั้น ผ.อ.สำนักกฎหมาย สปน. กล่าวว่า มันเร็วเกินไปที่จะตอบ ขณะนี้ขอแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าให้ยุติก่อน เรื่องนี้ต้องใช้เวลา และต้องดูนโยบายจากทางรัฐบาลด้วยว่าจะเป็นอย่างไร

**ไอทีวีดิ้นสู้อ้าง ม.15 ยื่นอนุญาโตฯชี้ขาด

ในส่วนของความเคลื่อนไหวของบริษัทไอทีวี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร ได้ส่งหนังสือถึงสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) เรื่องการเสนอข้อพิพาทเรื่องค่าปรับกรณีผังรายการต่อคณะอนุญาโตตุลาการ มีเนื้อหาว่า ตามที่สปน.ได้แจ้งให้ไอทีวี นำค่าปรับ จากการที่บริษัทมิได้ดำเนินการเรื่องผังรายการให้เป็นไปตามสัญญาเข้าร่วมงานฯข้อ 11 วรรค 1 จำนวน 75,960 ล้านบาท ไปชำระให้แก่สปน.ซึ่งบริษัทเคยโต้แย้งว่าการคำนวณค่าปรับในอัตราร้อยละ 10 ของค่าตอบแทนเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสัญญาเข้าร่วมงานฯและบริษัทมิได้ผิดสัญญาพร้อมทั้งได้ขอให้สปน.ปฎิบัติตามสัญญาเข้าร่วมงานฯข้อ 15 โดยเสนอประเด็นพิพาทดังกล่าวต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อทำการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งดังกล่าว

“ดังนั้นเพื่อให้ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวสามารถหาข้อสรุปเป็นที่ยุติ บริษัทจึงขอใช้สิทธิตามสัญญา เข้าร่วมงานข้อ 15 ในการนำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อทำการวินิจฉัยชี้ขาด โดยบริษัท จะได้เสนอประเด็นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรมต่อไป”หนังสือของไอทีวี ระบุ

ขณะที่พนักงานไอทีวีได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 มีเนื้อหาว่า คำสั่งของสปน.เป็นคำสั่งที่เห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่งว่ามีเจตนาให้เกิดการปิดตายในหนทางแก้ปัญหาและเงื่อนไขที่กดดันให้บริษัทไอทีวี ต้องคืนสัมปทานให้รัฐเนื่องจากการคิดค่าปรับที่สูงเกินจริงและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการลงทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชน และเป็นคำสั่งซึ่งมีผลกระทบถึงสถานภาพและเสถียรภาพในการทำหน้าที่สื่อมวลชนของพนักงานไอทีวี 1,070 คน

“กลุ่มพนักงานไอทีวีขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีและสปน.ทบทวนและแสดงความชัดเจนในการแก้ปัญหาโดยคำนึงผลกระทบต่อการทำหน้าที่สื่อของพนักงานไอทีวี เพื่อป้องกันมิให้บุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดแสวงหาหรือฉกฉวยประโยชน์จากการแก้ปัญหานี้ และรักษาไอทีวีให้เป็นสถานีข่าวตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงไอทีวีไปในลักษณะใดก็ตาม ขอให้มีการเปิดเวทีสาธารณะระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ องค์กรภาคประชาชน และประชาสังคมเพื่อให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเป็นสื่อมวลชนที่รับใช้สังคมอย่างแท้จริง”แถลงการณ์ ระบุ

**คุณหญิงระบุไม่ต้องพึ่งอนุญาโตฯ แล้ว

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) กล่าวถึงการนำรายงานของสปน.เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม. ว่า จะเข้ามาเป็นวาระเพื่อทราบนำเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะ ซึ่งครม.คงต้องการทราบข้อมูลด้วย แต่จะยังไม่มีการพิจารณาค่าปรับ

นอกจากนั้นยังเห็นว่า เรื่องค่าปรับ ที่ สปน.จะดำเนินการเรียกเก็บจากไอทีวี ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาอีกแล้ว ซึ่งหลักการทำงานของ สปน.จะยึดถือความถูกต้อง เป็นธรรมตามกฎหมาย และทุกอย่างต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนจะยึดไอทีวีกลับมาเป็นของรัฐหรือไม่ คงต้องรอให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน จึงบอกไม่ได้ขณะนี้

นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสปน. กล่าวว่า ตอนนี้ถือว่าหน้าที่ของ สปน.เป็นที่สิ้นสุดแล้ว ส่วนจะตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมาไกล่เกลี่ยอีกรอบหรือไม่ก็สุดแท้แต่อัยการสูงสุด ซึ่งการแต่งตั้งก็มี 2 ระดับ คือ การที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าให้ตั้ง แต่ถ้าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมก็ตั้งไม่ได้ ดังนั้นขั้นตอนจึงจะไปอยู่ที่ศาล แต่ตอนนี้ทาง สปน.ยังไม่มีความเห็นว่าให้ได้หรือไม่เป็นหน้าที่ของครม. แต่สิ่งเดียวที่ สปน.ทำได้คือ การส่งอัยการสูงสุดให้ฟ้องบังคับคดี เพราะถ้าทำช้า คดีขาดอายุความจะยุ่ง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้เสนอทางออกหลายทาง ซึ่งเราก็รับไว้พิจารณาและจะทำเท่าที่ทำได้ โดยข้อเสนอที่คนเสนอมากที่สุดก็คือ การหากรัฐยกเลิกสัญญาสัมปทานก็ควรเข้าไปดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับไอทีวีในลักษณะที่ไม่กระทบพนักงาน รวมทั้งข้อเสนอการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาดำเนินการเพื่อนำไอทีวีกลับมาเป็นของรัฐ โดยข้อเสนอเหล่านี้ตนก็จะนำเสนอต่อที่ประชุมครม.เพื่อให้รับทราบ ส่วนรัฐมนตรีจะนำเสนอแนวทางออกอย่างใดก็สุดแล้วแต่

เมื่อถามว่า หากไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าปรับและค่าสัมปทานที่มีราคาสูงได้ จนทำให้ไปสู่ขั้นตอนของศาล จากนั้นสถานภาพของไอทีวีจะเป็นอย่างไร นายจุลยุทธ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่จะมีการบังคับคดีทางแพ่ง

**จี้รัฐเร่งปฏิรูปไอทีวีดีกว่าสนใจค่าปรับ

นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ“ตรงไปตรงมากับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 101 เมกกะเฮิร์ตซ์ ถึงกรณีที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)มีคำสั่งให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวีต้องจ่ายค่าปรับจากการปรับเปลี่ยนผังรายการเป็นเงินร่วมแสนล้านบาทว่า สิ่งที่ทำให้คนตกใจคือตัวเลขค่าปรับเป็นแสนล้าน และมีเงื่อนไขภายใน 45 วัน ซึ่งคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

แต่ประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญและเป็นเป้าหมายของรัฐบาลและสำคัญกว่าเรื่องค่าปรับก็คือเจตนารมณ์ของการมีไอทีวี คือทำอย่างไรให้ไอทีวีกลับมาเป็นทีวีเสรีตามเจตนารมณ์ตอนที่ก่อตั้ง ซึ่งเป็นผลพวงจากการต่อสู้ของประชาชนสืบเนื่องจากเหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 ที่ต้องการที่จะเห็นสื่อโทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ที่ให้เนื้อหาสาระกับข่าวสารของประชาชนเป็นหลัก ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือนต่อคนทำงานด้วย โดยจะต้องแก้ในเรื่องของส่วนของผู้บริหารและเรื่องของในแง่ของสัญญาและความสัมพันธ์ระหว่างตัวสถานีกับรัฐบาล เงื่อนไขในการให้สัมปทาน

ส่วนที่รัฐอาจจะต้องยึดคืนมาแล้วก็เอามาทำเป็นสื่อสาธารณะนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากใช้คำว่ายึดคืนจะฟังดูน่ากลัว แต่ประเด็นก็คือว่าต้องมาประเมินก่อนว่าทางบริษัทขณะนี้อยู่ในฐานะที่จะปฎิบัติตามสัญญาได้หรือไม่ แต่ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์การผิดสัญญาขึ้นมาจึงเป็นจังหวะหรือเป็นเวลาที่ต้องมาพูดกันว่าแล้วจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์หรือโครงสร้างความเป็นเจ้าของ

เมื่อถามว่า มีนักวิชาการบางคนระบุว่าทางเทมาเส็กอาจจะมาฟ้องศาลแพ่งให้กลุ่มชินคอร์ปฯ และให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัวกลับมาชดใช้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนนี้ไม่ใช่เรื่องของภาครัฐ สมมติเทมาเส็กมีความรู้สึกว่าตอนที่เขามาลงทุนในกลุ่มชินฯไม่ได้รับทราบปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายไปว่ากัน ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลต้องไปเกี่ยวข้องด้วย

ส่วนที่อาจทำให้ต่างชาติมีความกังวลในการทำสัญญากับไทยในเรื่องสัมปทาน เพราะมักจะมีระดับผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาเกี่ยวข้องด้วยนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะบอกว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ของบ้านเมืองไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาทั้งผู้ซื้อผู้ขายก็ยืนยันเป็นเรื่องธุรกิจล้วน ๆ แล้วก็ไม่ควรจะมีเรื่องของตำแหน่งหรือความมีอำนาจในทางการเมืองเข้ามาเป็นปัจจัย ยิ่งถ้าเป็นก็เท่ากับเป็นการทำธุรกิจที่ไม่สุจริต อย่างไรก็ตามหากเกิดมีการฟ้องร้องกันก็ต้องเป็นเรื่องที่ว่ากันไปตามกระบวนการของธุรกิจ และเป็นหน้าที่ของศาลที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในเชิงนโยบาย
กำลังโหลดความคิดเห็น