xs
xsm
sm
md
lg

"บ้านเอื้ออาทร"ทุกข์ 3 เท่า ปัญหาเพียบเอ็นพีแอลพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการ เอกชน ประชาชน สับเละโครงการบ้านเอื้ออาทร อยู่แล้วมีแต่ทุกข์มากกว่าสุขถึง 3 เท่า เหตุเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ปัญหาตามมาอื้อ แถมผู้อยู่อาศัยเริ่มผ่อนไม่ไหวเป็นเอ็นพีแอลเพียบ กคช.เล็งขอวงเงินซื้อคืนเพิ่มจากแบงก์ธอส.จาก 300 เป็น 700 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ(กคช.)จัดงานเสวนาภาคีพัฒนาที่อยู่อาศัย เรื่อง“สุข-ทุกข์ และทิศทางบ้านเอื้ออาทร”โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับบ้านเอื้ออาทร ทั้งจากวิศวกร สถาปนิก สิ่งแวดล้อม สถาบันการเงิน การปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้อยู่อาศัย

ดร.เอนก นาคะบุตร ที่ปรึกษา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบแก้ไขของโครงการบ้านเอื้ออาทรมี 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1.เรื่องการเงิน ทั้งกคช. ผู้ประกอบการรับเหมา และผู้อยู่อาศัย ซึ่งจะต้องมีการศึกษาในเรื่องของขนาดความต้องการและสินค้า ซึ่งหากไม่สำรวจสิ่งเหล่านี้อาจทำให้ทุกฝ่ายกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ได้ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่ซื้อบ้านอยู่ในระหว่างผ่อนส่งเป็นหนี้เอ็นพีแอลจำนวนเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ภาระผ่อนชำระรายเดือนเพิ่มขึ้นตาม รวมไปถึงเมื่อประชาชนเข้าอยู่อาศัย ระบบการบริหารจัดการภายในโครงการไม่ดีพอ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายตามมา ดังนั้นควรดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้การช่วยเหลือร่วมกัน 2 ในเรื่องนโยบายโครงการบ้านเอื้ออาทร จากปัญหาต่างๆมากมาย ทำให้ต้องปรับการขบวนการทำงานใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดรับหรือแก้ไขปัญหาต่างๆได้ทันท่วงที

"ทำอย่างไรให้หน้าที่ของการเคหะกลายเป็นวาระแห่งชาติ แทนที่จะเป็นหน่วยงานสร้างบ้านให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย และเป็นหน่วยงานแห่งชาติจริง แทนการเป็นหน่วยงานแห่งพรรคการเมือง หรือเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลแต่ละยุคสมัย"ดร.เอนก กล่าว

นายฐิตานนท์ พิบูลนครินทร์ รองผู้ว่าการ กคช. เตรียมขอขยายวงเงินกู้หมุนเวียนจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ จาก 300 ล้านบาท เพิ่มเป็น 700 ล้านบาท เพื่อเตรียมไว้รองรับการซื้อบ้านเอื้ออาทรที่ลูกค้าไม่สามารถผ่อนดาวน์ต่อไปได้ และนำกลับมาขายต่อ เนื่องจากวงเงินเดิมขณะนี้มีการใช้ไปกว่า 200 ล้านบาท จากยูนิตที่ส่งมอบ 47,000 ยูนิต และคาดว่าหากมีการโอนบ้านเพิ่มขึ้น ตัวเลขดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นตาม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น ทำให้ภาระการผ่อนชำระรายเดือนเพิ่ม หรือกรณีลูกค้าบางรายมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการผ่อนชำระรายเดือน

หากพิจารณาจากราคาบ้านเอื้ออาทรจำนวน 390,000บาท /ยูนิต กับเม็ดเงินที่กคช.ซื้อบ้านคืนจากลูกค้า กว่า 200 ล้านบาท จะพบว่ามีตัวเลขเอ็นพีแอลสูงมาก เพราะบางรายได้ผ่อนชำระไปแล้วบางส่วน

สำหรับ ดร.ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ ตัวแทนจากผู้ประกอบการและผู้รับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของผู้รับเหมาบ้านเอื้ออาทร คือระยะเวลาในการก่อสร้างสั้น ต้องผลิตในปริมาณมาก และจากปัจจัยลบที่ผ่านมาส่งผลให้โครงการมีความล่าช้า รวมไปถึงปัญหาสัญญาการจ้างงานแบบเดียวกับผู้รับเหมา แต่รูปแบบการดำเนินงานเป็น ระบบเทิร์นคีย์ ซึ่งต้องมีผู้ร่วมทุนบางรายเป็นชาวต่างชาติ ทำให้เกิดข้อยุ่งยาก หรือรูปแบบเอกสารไม่ตรงกัน ดังนั้นควรปรับสัญญาให้เข้ากับสถานการ์ในปัจจุบัน

"ต้องยอมรับว่าโครงการบ้านเอื้ออาทร มีการคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ แต่สามารถป้องกันได้"ดร.ยอดเยี่ยม กล่าว

รศ.ดร.เอกรินทร์ อนุกูลยุทธธน ตัวแทนจากกลุ่มวิชาชีพ กล่าวว่า ปัญหาของบ้านเอื้ออาทร มาจากการเน้นปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ส่งมอบได้เร็ว ผู้รับเหมาจึงมองข้ามเรื่องคุณภาพของบ้านที่สร้างออกมา สุดท้ายผู้ที่เข้าอยู่อาศัยต้องก้มหน้ารับภาระไป นอกจากนี้ การที่การเคหะฯล็อกสเปกบ้านเอื้ออาทรมากจนเกินไป ทำให้ไม่เกิดนวัฒกรรมใหม่ๆในการก่อสร้างบ้านให้ได้คุณภาพและรวดเร็ว ใช้วัสดุก่อสร้างที่คิดค้นขึ้นมากใหม่เพื่อความประหยัด

ทั้งนี้ การเร่งการก่อสร้างจนขาดคุณภาพ ไม่สามารถขยายบ้านได้ เมื่อครอบครัวมีการขยาย ประชาชนก็ทิ้งบ้านย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น นอกจากนี้การหาที่ดินที่อยู่ไกลจากเมืองออกไป โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายผังเมือง เพื่อให้ได้ที่ดินราคาถูก เมื่อประชาชนเข้าอยู่อาศัยจริง กลับเป็นการเพิ่มภาระเพราะเดินทางไกล ระบบขนส่งมวลชนเข้าไปไม่ถึง หรือมีจำนวนไม่เพียงพอต่อผู้ใช้บริการ เพราะ กคช.ไม่ได้มีการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กทม.เพื่อช่วยในเรื่องขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องของโรงเรียน สถานพยาบาลที่อยู่ห่างไกล เด็กๆหาที่เรียนลำบาก ก็เกิดปัญหาตามมาในที่สุด

ด้านนางสมสุข บุญญะบัญชา ตัวแทนจากผู้อยู่อาศัยและผู้จองสิทธิบ้านเอื้ออาทร กล่าวว่า โดยสรุปแล้วการอยู่อาศัยภายในโครงการบ้านเอื้ออาทร มีความทุกข์มากกว่าความสุขประมาณ 3 เท่า เนื่องจาก กคช.มีการดูแลชุมชนไม่ดีพอ เมื่อมีคนมาอยู่อาศัยชุมชนละหลายร้อยครอบครัว ก็จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ทั้งในเรื่องของการไม่เข้าใจการอยู่อาศัยรวมกัน จนเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง

นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อโครงการสร้างเสร็จกลับมีประชาชนเข้าอยู่อาศัยจริงเพียงไม่กี่ราย ดังนั้นกคช.ควรเข้าไปสำรวจว่าในแต่ละโครงการมีคนอยู่อาศัยจริงจำนวนเท่าใด และส่วนที่ยังไม่ย้ายเข้าไปอยู่อาศัยมาจากสาเหตุอะไร เพื่อจะได้ทำการแก้ไขหรือหาผู้อยู่อาศัยใหม่แทน
กำลังโหลดความคิดเห็น