xs
xsm
sm
md
lg

จีนโพ้นทะเลในศตวรรษที่ 21

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสไปร่วมประชุมกับหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง หัวข้อของการประชุมมีเรื่องที่เกี่ยวกับบทบาทของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมอยู่ด้วย ตอนหนึ่งของการประชุม มีผู้เข้าบางท่านได้แสดงข้อวิตกกังวลต่อบทบาทของจีน

ข้อวิตกที่ว่ามีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องหนึ่ง เกิดจากการได้เห็นมีเรือสินค้าของจีนจอดอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงมากกว่าที่จะเป็นเรือของฝ่ายไทย อีกเรื่องหนึ่ง เกิดจากที่ได้พบว่าปัจจุบันนี้มีชาวจีนหลบหนีเข้ามาเมืองไทยเป็นจำนวนมาก

อันที่จริงทั้งสองเรื่องดังกล่าวอาจรวมเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ หรืออาจแยกกันก็ได้ กล่าวคือว่า ถ้าชาวจีนหลบหนีเข้าเมือง ก็ย่อมเป็นไปได้ที่ส่วนหนึ่งจะหลบหนีมากับเรือที่ว่า ซึ่งทำได้ในฐานะนักท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็อาจหลบหนีเข้ามาโดยไม่ผ่านทางเรือก็ย่อมได้เช่นกัน คือหนีเข้ามาด้วยการเดินด้วยเท้า หรืออาจในรูปของนักท่องเที่ยวเช่นกัน แต่มาทางเครื่องบิน พูดง่ายๆ คือมาแล้วไม่กลับออกไป

กล่าวสำหรับยุคโลกาภิวัตน์เช่นทุกวันนี้ เรื่องที่ว่าต่างก็น่าชวนวิตกสำหรับรัฐไทยได้ทั้งสิ้น เพราะถ้าเป็นเรื่องการค้าซึ่งเป็นเรื่องซื้อมาขายไปธรรมดาๆ ที่ใครๆ เขาก็ทำกันนั้น ผู้ที่ควรวิตกไม่ใช่เจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้องกับการค้าเท่านั้น หากยังมีผู้ที่ถูก "รุก" ทางการค้าที่เป็นเกษตรกรไทยรวมอยู่ด้วย แต่ถ้าเป็นเรื่องหลบหนีเข้าเมืองก็แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะปัจจุบันนี้คงไม่มีชาติไหนที่ไม่วิตกในเรื่องนี้

ตอนที่ฟังผู้เข้าร่วมประชุมท่านแสดงความวิตกกังวลดังกล่าวนั้น ผมเองก็รู้สึกคล้อยตามข้อวิตกของท่านอยู่ แต่พอมาคิดได้อีกทีก็นึกขึ้นมาได้ว่า ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้น ไทยเราก็ต้อนรับการค้าที่มีกับเมืองจีนอย่างหนาตาไม่ใช่หรือ คือหนาตาจนกล่าวได้ว่า มีเรือสำเภาจีนจอดเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มไปหมด ซึ่งว่าตามที่มีหลักฐานบันทึกแล้วน่าจะหนาตายิ่งกว่าปัจจุบันที่ริมแม่น้ำโขงด้วยซ้ำ

ส่วนชาวจีนที่เข้ามายังไทยในสมัยนั้นก็เช่นกันที่มีมากมายมหาศาล ส่วนใหญ่ชาวจีนเหล่านี้มักจะเข้ามาที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะกระจายไปยังที่อื่นๆ ของไทย แต่กระนั้นก็ยังคงกล่าวได้ว่า ตัวเมืองหลวงกรุงเทพฯ ก็ยังเป็นที่กระจุกตัวของชาวจีนโพ้นทะเลมากกว่าที่อื่นๆ อยู่ดี

และที่ว่ามากมายมหาศาลนั้นหมายถึงมีมากกว่าร้อยละ 22 ของคนกรุงเทพฯ ฝรั่งบางคนวิเคราะห์ว่า ตัวเลขที่ว่านี้บางทียังต่ำกว่าที่เป็นจริงด้วยซ้ำไป แต่ที่ยอมรับเหมือนๆ กันคือ ส่วนใหญ่ของชาวจีนจะกระจุกตัวอยู่ย่านการค้าของกรุงเทพฯ และเมื่อกระจายตัวไปยังเมืองใหญ่อื่นๆ ก็ยังกระจุกตัวในลักษณ์นั้น

กล่าวเฉพาะในกรุงเทพฯ แล้ว ฝรั่งคนหนึ่ง (ในสมัยนั้น) บันทึกเอาไว้ว่า ทุกๆ สองคนที่พบตามถนนหนทางในเมืองหลวงล้วนแต่ไว้หางเปีย ในขณะที่ฝรั่งอีกคนหนึ่งบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ สิ่งที่ต้องการประการแรกก็คือ อยากจะพบชาวสยาม และสิ่งที่ผิดหวังประการสุดท้ายเมื่อจากไปก็คือ ไม่พบชาวสยามเลย บันทึกชิ้นหลังแม้จะหยอดอารมณ์ขันลงไป แต่ผมก็คิดว่า นั่นคือการฉายภาพที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงอยู่ด้วย

ประเด็นคำถามที่ผมตั้งมาข้างต้นนั้น ไม่ใช่เป็นไปเพื่อต้องการลบล้างข้อวิตกกังวลดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะถามต่อไปว่า การค้ากับจีนก็ดี จำนวนชาวจีนก็ดี ที่ต่างก็ดูว่ามีขนาดใหญ่และมากมายมหาศาลนั้น ชนชั้นปกครองไทยในขณะนั้นไม่วิตกบ้างเชียวหรือ?

คำตอบคือ วิตกน่ะวิตกแน่ แต่ก็ไม่วิตกมากเท่ากับการเข้ามาของตะวันตก และการที่วิตกต่อบทบาทของจีนน้อยกว่าตะวันตกนั้น เหตุผลข้อหนึ่งเป็นเพราะชนชั้นปกครองไทยยังให้การยกย่องความเจริญและภูมิปัญญาของจีน และไม่ได้เห็นว่าพื้นฐานวัฒนธรรมหรือโลกทัศน์ของไทยกับของจีนจะแตกต่างกันมากนัก

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือว่า การค้ากับจีนก็ดี การรับเอาชาวจีนเข้ามามากมายก็ดี ต่างล้วนเป็นกำไรของชนชั้นปกครองไทยทั้งสิ้น เพราะในแง่การค้าผู้ที่ผูกขาดหาใช่ใครที่ไหน หากคือชนชั้นปกครองไทย และที่รับชาวจีนเข้ามานั้นก็เพื่อนำมาเป็นแรงงานแทนไพร่ที่เป็นชาวไทย ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่า แรงงานจีนมีต้นทุนในการดูแลถูกกว่าไพร่มากมายนัก

และถ้ากล่าวเฉพาะการรับเอาชาวจีนเข้ามาเป็นแรงงานนับเป็นแสนคนแล้ว ก็ใช่ว่าชนชั้นปกครองจะไม่มีวิธีการบริหารจัดการเสียเลยทีเดียว และระบบการจัดการที่ใช้ในตอนนั้นก็คือ การผูกปี้ คือการเอาด้ายขาวมาผูกข้อมือแรงงานจีนเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่าจีนผู้นั้นเข้ามาอย่างถูกต้อง และได้เสียค่าธรรมเนียมรายปีแก่ทางการไทยถูกต้องเช่นกัน (จะเห็นได้ว่า แรงงานจีนที่เข้ามาไม่ได้เข้ามาเปล่า แต่ต้องเสียเงินด้วย)

ควรกล่าวด้วยว่า การบริหารจัดการกับชาวจีนในเวลานั้นยังมีมากกว่าที่ผมยกมา แต่โดยรวมแล้วผมต้องการจะเน้นว่า การที่ชนชั้นปกครองไทยไม่ค่อยวิตกกังวลต่อชาวจีนมากนักก็เพราะมีวิธีการบริหารนั่นเอง

ฉะนั้น ข้อวิตกกังวลข้างต้นจริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่การได้เห็นเรือสินค้าหรือเรือท่องเที่ยวจีนเข้ามาจอดอยู่เต็มริมโขง หรือได้เห็นสินค้าจีนหลั่งทะลักเข้ามาตีตลาดไทย หรือแม้แต่การได้เห็นชาวจีนแอบหลบหนีเข้ามายังเมืองไทยในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี หากแต่อยู่ที่ไม่ได้เห็นการบริหารจัดการอย่างจริงๆ จังๆ ของรัฐบาลต่างหาก

ตรงกันข้าม การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่เราเห็นนั้น มักจะพุ่งเป้าไปที่แรงงานพม่า เขมร และลาว ทั้งนี้รวมทั้งงานวิจัยเกี่ยวกับแรงงานเคลื่อนย้ายเหล่านี้ด้วยที่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วยังมากกว่างานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องชาวจีนด้วยซ้ำไป

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ผมคิดว่าปัญหานี้คงมีรายละเอียดซับซ้อนมากกว่าที่ผมจะตอบได้ เพราะหากจะตอบจริงก็คงต้องตั้งคำถามข้ออื่นๆ พ่วงมาด้วยอีกเป็นพรวน เช่นถามว่า หรือเป็นเพราะชาวจีนเป็นแรงงานที่มีทักษะหรือฝีมือที่เป็นที่ต้องการของตลาด ชาวจีนเหล่านี้จึงเหมือนกับจงใจถูกทำให้ตกสำรวจ? หรือเป็นเพราะว่าชาวจีนมีเงินจ่ายให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้มากกว่าแรงงานพม่า เขมร และลาว (ซึ่งเป็นแรงงานเข้มข้น) ที่ยังไงเสียก็คงมีปัญญาที่จะจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางได้เท่าชาวจีนอยู่แล้ว? หรือเป็นเพราะชาวจีนมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับใครต่อใครในไทย จึงได้รับการช่วยเหลือดูแลปกป้อง?

จะเห็นได้ว่า คำถามที่ผมยกมา (โดยไม่หวังว่าใครจะตอบได้หรือกล้าตอบ) ล้วนมีจุดร่วมอยู่ข้อหนึ่งคือ ต่างก็สะท้อนให้เห็นว่า ชาวจีนที่เข้ามามากมายในปัจจุบันนั้น ถึงที่สุดแล้วก็มีฐานะที่ไม่ต่างกับชาวจีนในอดีต นั่นคือ ฐานะที่เป็นตัวสร้าง "กำไร" ให้แก่ชนชั้นนำของไทยเราเอง

แค่งานหัตถกรรมหรืองานฝีมืออย่างงานก่อสร้างเพียงอย่างเดียว ก็ไม่รู้ว่าธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับอานิสงส์จากชาวจีนเหล่านี้ไปแล้วกี่มากน้อย ยิ่งภาคบริการยิ่งไม่ต้องพูดถึง

"กำไร" เห็นๆ กันอย่างนี้ คงไม่มีใครคิดที่จะนำชาวจีนเหล่านี้ไปตีทะเบียนแน่ เพราะนั่นหมายถึงรายจ่ายและความยุ่งยากอีกมากมายที่จะตามมา ซึ่งอาจจะมากกว่าปัญหาที่ได้รับจากแรงงานพม่า เขมร และลาวก็ได้ ที่สำคัญคือ ผมเชื่อว่า "กำไร" ที่ว่านี้ก็คงถูกแบ่งๆ กันไปอย่างไม่ถูกต้องอยู่ด้วย

ฉะนั้น ตราบเท่าที่การบริหารจัดการยังไม่เกิด ความวิตกกังวลดังกล่าวก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป และยิ่งดำรงอยู่นานเท่าไหร่ ภาพของชาวจีนก็จะยิ่งหลอกหลอนรัฐไทยมากขึ้นโดยไม่จำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น