xs
xsm
sm
md
lg

จี้คืนไอทีวีเป็นของประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ญาติวีรชนพฤษภา 35 เรียกร้องคืนไอทีวีกลับมาเป็นของประชาชน ซัดบทบาทของคนไอทีวี ในช่วงที่ผ่านมา ยอมโอนอ่อนผ่อนตามอำนาจทุน และอำนาจการเมือง จนเป็นที่เคลืบแคลงของสังคม ด้านผอ.ทีดีอาร์ไอ แนะรัฐสร้างความชัดเจน กรณีสัมปทานไอทีวี

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ ยุติการบิดเบือนเจตนารมณ์ ทีวีเสรี และให้คืนไอทีวีกลับสู่ประชาชน โดยแถลงการณ์ ระบุถึงข้อพิพาท กรณีสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่พนักงานไอทีวีออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนค่าปรับ ที่ไอทีวีต้องจ่ายให้ภาครัฐกว่า แสนล้านบาท โดยพนักงานเห็นว่า จำนวนค่าปรับมากเกินไปและอาจเกินข้อเท็จจริงนั้น ทางคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้ติดตามปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวมาโดยตลอด มีความเห็นและข้อเรียกร้องกับทุกฝ่ายดังนี้

1. คณะกรรมการญาติวีรชนฯ ได้เคยแสดงจุดยืนต่อต้านคัดค้านทั้งความพยายามของฝ่ายการเมือง และกลุ่มทุนธุรกิจ ที่พยายามเข้ามาครอบงำไอทีวี จนเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของการก่อตั้งไอทีวี ที่เป็นผลพวงจากการต่อสู้และเสียสละของวีรชนและขบวนการประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม 35 ที่ผ่านมาคณะกรรมการญาติวีรชนฯ ได้เคยเรียกร้องให้รัฐบาลทักษิณ โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขายหุ้นของบริษัทในเครือชินคอร์ป ซึ่งเป็นของครอบครัวชินวัตรทิ้ง จากบริษัทไอทีวี และให้รัฐบาลซื้อหุ้นคืน เพื่อนำเอาไอทีวีกลับมาเป็นของรัฐ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยสนองตอบ ซ้ำร้ายได้แปรรูปไอทีวีเป็นเครื่องมือทางการเมือง รับใช้นโยบายของรัฐบาลและสนองผลประโยชน์ทางการเมืองและทางธุรกิจของครอบครัวตนเอง จนสถานีโทรทัศน์ไม่หลงเหลือจิตวิญญาณเสรี หรือความเป็นสื่อที่พิทักษ์รักษาความเป็นอิสระและผลประโยชน์ของประชาชน

2. กรณีค่าปรับไอทีวี อันเนื่องจากการกระทำผิดสัญญาของทางไอทีวีนั้น คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาเห็นว่าทุกฝ่ายควรรอผลคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด นอกจากนี้ ปัญหาค่าปรับของไอทีวียังถือเป็นปัญหาปลายเหตุ หรือเป็นปัญหารอง เพราะต้นเหตุแห่งปัญหาคือ การที่กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองมีเจตนาแปรรูปไอทีวีเป็นสื่อสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจ และการเมืองด้านเดียว ละเลยพันธะสัญญาที่ปรากฏในสัมปทานซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าสถานีโทรทัศน์ไอทีวี จะต้องเป็นสื่อที่มุ่งเน้นข่าวสารและสาระมากกว่าบันเทิง ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องแสวงหามาตรการเพื่อทวงคืนไอทีวีกลับมาเป็นสื่อของประชาชนต่อไป

3. แม้คณะกรรมการญาติวีรชนฯ จะเห็นใจและเข้าใจในความพยายามของพนักงานและคนข่าวในสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่ดิ้นรนเรียกร้องเพื่อให้ภาครัฐทบทวนค่าปรับนั้น แต่พนักงานไอทีวี ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านสังคมคลางแคลงใจกับบทบาทของพนักงานและคนข่าวไอทีวี ที่ไม่ได้แสดงความพยายามต่อต้านขัดขวางการแทรกแซงของอำนาจทุน และอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลทักษิณครองอำนาจ ได้ปรากฏว่ามีพฤติกรรมครอบงำแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของคนข่าวหลายระดับ แต่สังคมก็ไม่ได้เห็นพนักงานและคนข่าวลุกขึ้นมาร่วมกันต่อต้านคัดค้านพฤติกรรมที่มิชอบของผู้มีอำนาจแต่อย่างใด

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง กรณีข้อพิพาทสถานีโทรทัศน์ไอทีวีกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่า รัฐควรหาทางออกด้วยการเปิดเจรจากับกลุ่มเทมาเส็ก โดยรัฐควรผ่อนผันค่าปรับให้กับเทมาเส็ก เพราะเชื่อว่า กลุ่มเทมาเส็ก คงไม่ต้องการถอนหุ้นออกจากไอทีวี เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีกำไร หากรัฐกำหนดค่าปรับสูง และคิดค่าสัมปทานมาก ก็ไม่มีทางที่ไอทีวีจะอยู่รอด ขณะเดียวกันไม่ควรประนีประนอมความผิดการถือหุ้นแทน หรือนอมินี ซึ่งรัฐควรส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า หากมีการยึดสัมปทานไอทีวีคืน ไม่ว่ากรณีใดๆ จะมีการนำไอทีวีมาดำเนินการเป็นโทรทัศน์สาธารณะ หรือจะนำมาแก้ไขสัมปทานและเปิดประมูลใหม่ เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อการเป็นสถานีโทรทัศน์ โดยเฉพาะความมั่นคงที่เกิดกับพนักงาน เนื่องจากการเป็นโทรทัศน์สาธารณะ ไม่ควรมีธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ถ้ากำหนดให้เป็นโทรทัศน์เพื่อธุรกิจ รัฐบาลก็ต้องตัดใจว่ารายการเพื่อสาธาณะอาจจะมีน้อย

นายสมเกียรติ กล่าวด้วยว่า ในฐานะนักวิชาการ ยังเห็นว่าเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากขณะนั้นสื่อถูกแทรกแซงอย่างมาก จึงต้องการสื่อที่มีความเป็นเสรี แต่ขณะนี้จะเห็นว่ามีปัญหาเรื่องสัมปทานอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลควรกำหนดบรรทัดฐานการออกใบอนุญาตที่ดี และกำหนดทิศทางของสัมปทานให้ชัดเจนว่าต้องการให้มาดำเนินกิจการใด เนื่องจากธุรกิจย่อมมีการแข่งขัน เพราะหากไม่ชัดเจนจะทำให้เกิดปัญหาทุกเรื่อง ซึ่งรวมถึงกรณีบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น