xs
xsm
sm
md
lg

5 ปีของจีนกับองค์การการค้าโลก

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เดือนธันวาคมปีนี้ (2006) นับเป็นเวลาที่ครบ 5 ปีเต็มที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization, WTO) อย่างเป็นทางการ เวลา 5 ปีของจีนนี้หากไม่ใช่เพราะจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก (ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 1,300 ล้านคน) แล้ว ก็คงไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นพอที่จะให้พูดถึง แต่ด้วยขนาดประชากรที่ว่า ที่ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ เวลา 5 ปีจึงดูมีความหมายพอสมควร

หากเราย้อนกลับไปดูเหตุการณ์แวดล้อมเมื่อ 5 ปีแล้ว จะพบว่า จีนได้ใช้ความพยายามเป็นอย่างสูงในอันที่จะเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรแห่งนี้ให้ได้ คือใช้เวลานานนับสิบปี

สาเหตุสำคัญที่ทำให้จีนต้องใช้เวลานานขนาดนั้นก็เพราะว่า จีน (ในเวลานั้น) ยังไม่สามารถปรับตัวปรับใจให้ยอมรับบางประเด็นในกฎระเบียบขององค์การการค้าโลกได้ และที่ทำไม่ได้ก็เพราะจีนยังไม่สามารถจะสลัดกลไกสังคมนิยมที่มีอยู่เดิมของตนไปได้ทั้งหมด ซึ่งไปด้วยกันไม่ได้กับกฎระเบียบที่ตั้งอยู่บนฐานคิดทุนนิยมเสรี กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จีนยังไม่มีความพร้อมนั่นเอง

ความไม่พร้อมดังกล่าวยังรวมถึงการที่ว่าหากจีนต้องการเข้าเป็นสมาชิกแล้ว จีนก็ต้องยอมเปิดธุรกิจในบางภาคที่จีนไม่เคยเปิดหรือมีประสบการณ์มาก่อนอีกด้วย ฉะนั้น เมื่อพิจารณาว่าจีนเพิ่งเปิดประเทศมาได้ไม่กี่ปีประกอบเข้าด้วยกันแล้ว จีนเองก็คงรู้ตัวเองดีว่า หากต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวตามที่องค์การการค้าโลกเรียกร้อง จีนก็คงประสบกับปัญหาไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่กระนั้น จีนก็รู้ดีเช่นกันว่า การเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าวในด้านหนึ่งก็คือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนอยู่ด้วย เช่น ผลประโยชน์ที่จีนจะได้รับจากการที่ชาติสมาชิกอื่นๆ จะต้องเปิดตลาดให้แก่สินค้าบางประเภทให้แก่จีน (ซึ่งหากไม่เป็นสมาชิก จีนจะไม่ได้รับสิทธิผลประโยชน์ตรงนี้) ความไม่พร้อมดังกล่าวของจีนจึงถูกแสดงออกมาด้วยการต่อรอง

คือต่อรองกันระหว่างการรักษาความไม่พร้อมในการเปิดธุรกิจในบางภาคเอาไว้ กับการทำให้ตนได้ผลประโยชน์อันเนื่องมาจากการเข้าเป็นสมาชิกให้ได้ ซึ่งหากพูดจาภาษาการค้าการขายแล้ว ประเด็นต่อรองเช่นนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อคู่ต่อรองของจีนคือ สหรัฐอเมริกา ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนมาช้านานไม่เฉพาะแต่เรื่องการค้า หากยังมีเรื่องการเมืองอีกด้วย

แต่ไม่ว่าเบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร หากมองอย่างเป็นธรรมแล้วทั้งสองฝ่ายก็ไม่ต่างกับ "ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่" กล่าวคือ สหรัฐฯ เห็นจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ของตน และในขณะที่ตนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ การที่สามารถทำให้จีนเปิดตลาดได้กว้างกว่าที่เป็นอยู่ ในด้านหนึ่งจึงย่อมต้องเป็นโอกาสของสหรัฐฯ ไปด้วย ส่วนจีนนั้นก็รู้อยู่เต็มอกว่า หากตนเปิดตลาดของตนกว้างออกไปจากเดิมหรือจากข้อเรียกร้องขององค์การการค้าโลกแล้ว ไม่เฉพาะสหรัฐฯ เท่านั้นหรอกที่เตรียมรุกเข้ามา หากประเทศสมาชิกอื่นๆ ต่างก็รอคอยโอกาสนี้ไม่แพ้กันเช่นกัน การต่อรองจึงใช้เวลานานอย่างที่เห็นและต่างฝ่ายต่างก็ "ลุ้น" ฐานะการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีนบนฐานผลประโยชน์ที่แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการต่อรองดังกล่าว จีนได้เป็นฝ่ายยอมรับเงื่อนไขหรือกฎกติกาขององค์การการค้าโลกอย่างช้าๆ และยอมรับไปทีละประเด็นที่ตนแน่ใจว่าตนพร้อม ส่วนที่ยังไม่พร้อมก็เจรจาต่อรองกันต่อไป จนกระทั่งได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเมื่อเดือนธันวาคม 2006 ไปในที่สุด ซึ่งหากกล่าวโดยสรุปแล้ว การเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าวของจีนนั้น จีนจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กรนี้ 3 ระดับด้วยกันคือ

ระดับแรก เป็นระดับที่จีนจะต้องปฏิบัติก่อนที่จะได้เข้าเป็นสมาชิก การปฏิบัติในระดับนี้มีขึ้นในช่วงที่มีการเจรจาต่อรองกันนั่นเอง และก็บรรลุผลในบางประเด็นเป็นระยะๆ การปฏิบัติในระดับนี้ก็เช่น การที่จีนต้องเปิดธุรกิจภาคบริการบางภาค เช่น ธุรกิจบันเทิงบางลักษณะ เป็นต้น

ระดับที่สอง เป็นระดับที่จีนจะต้องปฏิบัติทันทีที่เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกไม่ว่าจีนจะมีความพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม ในระดับนี้จะว่าไปแล้วจีนกำลังวัดอัตราเสี่ยงก็คงจะได้ เพราะถ้าหากทำไม่ได้หรือทำแล้วก็ผิดพลาดอะไรขึ้นมา ผลกระทบย่อมตกแก่จีนทั้งสิ้น ฉะนั้น การที่ยอมรับในระดับนี้ย่อมถือเป็นความกล้าหาญของจีนด้วย คือกล้าที่จะเสี่ยง การปฏิบัติในระดับนี้ก็เช่น การที่จีนต้องยอมลดพิกัดภาษีศุลกากรให้แก่สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนตร์ เป็นต้น

ระดับที่สาม เป็นระดับที่จีนจะต้องปฏิบัติโดยมีเงื่อนเวลามากำกับ การปฏิบัติในระดับนี้จีนใช้เวลาในการต่อรองค่อนข้างยาวนาน และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การเข้าเป็นสมาชิกของจีนล่าช้ากว่าที่ตั้งใจ การปฏิบัติโดยมีเงื่อนเวลากำกับในที่นี้หมายความว่า ธุรกิจในภาคใดที่จีนยังไม่พร้อมที่จะปฏิบัติในวันที่เข้าเป็นสมาชิก องค์การการค้าโลกจะยังให้เวลากับจีนไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้จีนการเตรียมการหรือปรับตัวปรับใจ การปฏิบัติในระดับนี้ที่สำคัญที่สุดก็คือ การเปิดเสรีในภาคการเงินการธนาคาร ซึ่งเงื่อนเวลาที่จีนได้รับมาจะหมดในสิ้นปี 2006 นี้

5 ปีที่จีนเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจีนอย่างมากมายและรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่จีนต้องพยายามเร่งให้ภาคการผลิตต่างๆ ของตนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติให้ได้

ที่เห็นชัดๆ ก็เช่น จีนต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของตนให้ได้ อย่างน้อยก็ให้เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับคุณภาพของต่างชาติให้ได้ หาไม่แล้วสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จีนผลิตเองก็จะสู้ต่างชาติไม่ได้ซึ่งจะทำให้ภาคการผลิตนี้ของจีนได้รับผลกระทบ โดยก่อนหน้านี้ที่ไม่กระทบก็เพราะสินค้านี้ของจีนมีราคาต่างกับของต่างชาติเกือบเท่าตัว แต่พอจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก จีนต้องลดภาษีสินค้านี้ให้แก่ต่างชาติตามเงื่อนไข ราคาจึงต่างกันไม่มาก ซึ่งย่อมมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของชาวจีนอย่างแน่นอน ฉะนั้น คุณภาพสินค้าของจีนจึงมีความสำคัญด้วยเหตุนี้

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยังอยู่ที่การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกดังกล่าวนับว่าได้มีส่วนในการขยายบทบาททางด้านเศรษฐกิจการค้าให้แก่ภาคเอกชนของจีนไม่น้อย (ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อให้เสรีทางการค้าแก่ต่างชาติแล้ว เอกชนจีนก็ย่อมได้เสรีนั้นด้วย) ภาคเอกชนจีนจึงคึกคักเป็นอย่างยิ่ง พร้อมกันนั้นสิ่งที่ชาวตะวันตกหรือแม้แต่ชาวจีนเองก็ไม่คาดคิดมาก่อนก็คือ การเกิดขึ้นของเศรษฐีใหม่ของจีน

เราไม่รู้ว่า เศรษฐีใหม่จีนเหล่านี้สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ตนเองขึ้นมาอย่างไร รู้แต่ว่า หลังจากที่สินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ หลั่งทะลักเข้าจีนอย่างมาก (อันเป็นผลจากการลดพิกัดภาษีศุลกากร) ก็ปรากฏว่า สินค้าฟุ่มเฟือยเหล่านั้นต่างขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ที่เห็นได้ชัดก็คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงรถญี่ปุ่นราคาไม่กี่แสนที่คนชั้นกลางไทยสามารถหาซื้อได้ง่ายจนเห็นกันเกลื่อนในเมืองไทย หากแต่เป็นรถที่มีเครื่องหมายการค้าดังๆ และหรูหราราคาแพงทั้งจากยุโรปและสหรัฐฯ ที่มีราคานับสิบล้านบาทจนถึงร้อยล้านบาท

เพียงไม่กี่วันที่มาตั้งขายในปี 2002 (หลังจีนเข้าองค์การการค้าโลกไปไม่นาน) ก็ถูกเศรษฐีใหม่จีนซื้อหรือจองไปหมด ส่วนคนที่ซื้อไม่ทันหรือคิดได้ทีหลังก็ใช้วิธีสั่งจองล่วงหน้าจากตัวแทนจัดจำหน่าย สหายจีนคนหนึ่งถึงกับกล่าวด้วยภูมิใจว่า คิวการสั่งจองถึงกับทำให้โรงงานถลุงเหล็กที่ยุโรปผลิตเหล็กกล้าไม่ทันป้อนโรงงานผลิตรถยนต์กันเลยทีเดียว

ไม่เพียงแต่เศรษฐีใหม่เท่านั้น หากแม้แต่ชนชั้นกลางของจีนก็ยังเกิดเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ผลจากการสำรวจของสภาสังคมศาสตร์จีนเมื่อปีที่แล้ว (2005) พบว่า มีชนชั้นกลางจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 ของคนทำงานทั่วประเทศ โดยกลุ่มคนที่ถูกจัดว่าเป็นชนชั้นกลางนั้นจะใช้เกณฑ์รายได้ 5,000 หยวนต่อเดือน (หรือประมาณ 25,000 บาท) จบปริญญาตรีหรือสูงกว่า และมีอาชีพเป็นข้ารัฐการ ผู้จัดการบริษัท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือเจ้าของกิจการส่วนตัว

จะมีก็แต่ชนชั้นล่างของจีนเท่านั้นที่ดูน่าเป็นห่วง เพราะจากการสำรวจของรัฐบาลพบว่า ในทศวรรษที่ 80 นั้น จีนสามารถทำให้คนยากจนที่มีอยู่นับร้อยล้านคนลดลงเฉลี่ยปีละ 13.7 ล้านคน ทศวรรษที่ 90 ลดลงเฉลี่ยปีละ 6.4 ล้านคน แต่พอมาถึงช่วง 4 ปีแรกของศตวรรษที่ 21 นี้ หรือก่อนและหลังจากจีนเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกกลับปรากฏว่าคนยากจนลดลงเฉลี่ยปีละ 1.5 ล้านคนเท่านั้น

พูดในทางกลับกันก็คือว่า คนยากจนคงที่ในอัตราที่เพิ่มขึ้น และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการพัฒนาหลังการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีนที่เน้นไปทางด้านเทคโนโลยีและธุรกิจที่ใช้เงินทุนมากกว่า การพัฒนาในลักษณ์นี้มีผลไม่น้อยในทำให้ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทที่แต่เดิมก็ห่างอยู่แล้ว กลับห่างมากขึ้น

ฉะนั้น 5 ปีของการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกสำหรับจีนแล้ว ใครจะดีใจก็ดีใจไป แต่กับคนยากคนจนแล้วคงดีใจไม่ออก
กำลังโหลดความคิดเห็น