xs
xsm
sm
md
lg

โบอิ้ง 787 เครื่องบินแห่งอนาคต

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

บริษัทโบอิ้งได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำอุตสาหกรรมการบินของโลก จากการที่ได้ทุ่มเทเงินทองมากมายในการวิจัยและพัฒนาเครื่องบินโบอิ้ง 707 นับเป็นเครื่องบินเจ็ตขนาดใหญ่ 180 ที่นั่ง ซึ่งเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2501 โดยสายการบินแพนแอมในเส้นทางจากนครนิวยอร์คมายังกรุงปารีส โดยใช้เวลาเพียง 9 ชั่วโมง นับเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมการบินของโลก เนื่องจากช่วยลดระยะเวลาเดินทางลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องบินแบบใบพัด

บริษัทโบอิ้งยังได้เปิดตัวเครื่องบินเครื่องบินโบอิ้ง 737 เมื่อปี 2510 เป็นเครื่องบินขนาดประมาณ 130 ที่นั่ง นับว่าเหมาะสำหรับการขนส่งผู้โดยสารระยะใกล้ โดยเป็นเครื่องบินโดยสารที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมการบินของโลก นับถึงปัจจุบันจำหน่ายไปแล้วมากกว่า 4,000 ลำ

ในปี 2512 บริษัทโบอิ้งได้สร้างตำนานอันยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งโดยเปิดตัวเครื่องบินแบบ 747 ซึ่งมีฉายาว่า “จัมโบ้” ขนาด 410 ที่นั่ง นับเป็นเครื่องบินโดยสารใหญ่ที่สุดในโลกนับถึงทุกวันนี้ สร้างกำไรมากมายแก่บริษัท การเปิดตัวของเครื่องบินโบอิ้ง 747 ยังทำให้ เครื่องบิน DC-8 และ DC-10 ของบริษัทคู่แข่ง คือ บริษัท McDonnell Douglas ล้าสมัยไปโดยทันที

ต่อมาในปี 2537 ได้มีการปฏิบัติครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเมื่อเปิดตัวเครื่องบินโบอิ้ง 777 แม้มีเพียง 2 เครื่องยนต์ แต่สามารถบรรทุกผู้โดยสารมากถึง 360 ที่นั่ง ประหยัดน้ำมันกว่าเครื่องบินโบอิ้ง 747 มากถึง 18% ทำให้กลายเป็นเครื่องบินขายดีตราบจนถึงปัจจุบัน

สำหรับเครื่องบินของโบอิ้งที่ได้รับความสนใจจากสายการบินอย่างมากในปัจจุบัน คือ โบอิ้ง 787 ที่มีฉายาว่า “ดรีมไลเนอร์” แม้ว่ากำลังอยู่ระหว่างออกแบบ ยังไม่ได้ผลิตออกมาจำหน่ายเชิงพาณิชย์ก็ตาม โดยกำหนดส่งมอบลำแรกแก่สายการบินแอลนิปปอนแอร์ไลน์ในเดือนพฤษภาคม 2551

บริษัทโบอิ้งมีเป้าหมายพัฒนาเครื่องบินโบอิ้ง 787 ขึ้นเพื่อทดแทนเครื่องบินโบอิ้ง 757 และโบอิ้ง 767 ที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน โดยเป็นเครื่องบินที่มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก สามารถขนส่งผู้โดยสาร 210 - 330 คน

เดิมบริษัทโบอิ้งมีแผนสร้างเครื่องบิน Sonic Cruiser ซึ่งสามารถบินได้ด้วยความเร็วสูงมาก โดยได้ทำการวิจัยเรียบร้อยแล้ว แต่ในที่สุดก็ไม่ได้สร้างเพราะต้นทุนสูงมาก แต่การลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนาไม่ได้สูญเปล่าแต่อย่างใด โดยนำมาใช้พัฒนาเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 787 ให้ทันสมัยทั้งในส่วนอะไหล่ ปีกเครื่องบิน ระบบคอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยมีนวัตกรรมหลายประการ

ประการแรก บริษัท GE ก็ได้พัฒนาเครื่องยนต์แบบ GEnx โดยพัฒนาขึ้นมาจากเครื่องยนต์แบบ GE90 สำหรับใช้กับเครื่องบินโบอิ้ง 787โดยเฉพาะ ช่วยให้ประหยัดน้ำมันมากกว่าเครื่องยนต์แบบเก่ามากถึง 16%

ประการที่สอง ลำตัวเครื่องบินทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ มีข้อดี คือ น้ำหนักเบากว่าเหล็ก แต่มีความแข็งแกร่งมากเป็น 10 เท่า นับเป็นเครื่องบินโดยสารแบบแรกของโลกที่ใช้วัสดุคอมโพสิตทั่วทั้งโครงสร้างของเครื่องบิน ทำให้เครื่องบินมีน้ำหนักเบา ช่วยลดความสิ้นเปลืองน้ำมัน

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ห้องโดยสารมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้สามารถออกแบบเครื่องบินให้หน้าต่างใหญ่ขึ้น ผู้โดยสารจึงสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ชัดเจน และยังส่งผลดีทำให้สามารถเพิ่มความกดอากาศภายในห้องโดยสารใกล้เคียงกับความกดอากาศบนพื้นผิวโลกยิ่งขึ้น กล่าวคือ เครื่องบินปัจจุบันมีความกดอากาศเท่ากับที่ระดับความสูงประมาณ 2.4 กม. ทำให้เรารู้สึกไม่ค่อยสบายนักขณะนั่งเครื่องบินเนื่องจากมีความกดดันต่ำ

แต่กรณีของเครื่องบินโบอิ้ง 787 สามารถเพิ่มระดับความดันของอากาศมาเป็นที่ระดับความสูง 1.8 กม. ทำให้ผู้โดยสารจึงรู้สึกหายใจคล่องขึ้นมาก เนื่องจากสามารถหายใจเอาออกซิเจนเข้ามายังเลือดได้เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่รู้สึกเมื่อยเมื่อนั่งเครื่องบินระยะทางไกล อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถเพิ่มระดับความดันในห้องโดยสารให้เท่ากับระดับบรรยากาศบนพื้นโลกได้ เนื่องจากจะต้องเพิ่มความแข็งแรงให้กับห้องโดยสารเป็นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้เครื่องบินมีน้ำหนักมาก

ประการที่สาม ปัจจุบันเรานั่งเครื่องบินแล้วไม่ค่อยสบาย เนื่องจากความชื้นของอากาศภายในเครื่องบินต่ำมาก คือ เพียง 4% เท่านั้น เนื่องจากอากาศที่เข้ามายังห้องโดยสารเป็นอากาศที่ดักเอามาจากเครื่องยนต์เครื่องบิน ก่อนที่อากาศนั้นจะผสมกับเชื้อเพลิงและเกิดการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ ดังนั้นอากาศที่เข้ามาจึงมีความชื้นต่ำมาก

กรณีของเครื่องบินโบอิ้ง 787 จะแตกต่างออกไป โดยอากาศจากภายนอกจะเข้ามายังห้องโดยสารโดยตรง ทำให้มีความชื้นสูงกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ระบบยังสามารถปรับความชื้นของอากาศภายในห้องโดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 15% ทำให้เรารู้สึกสบายยิ่งขึ้น

วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์มีข้อดี คือ ไม่มีการสึกกร่อนเหมือนกับกรณีของโลหะ ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของความชื้นภายในห้องโดยสาร ไม่ส่งผลกระทบทำให้โครงสร้างของเครื่องบินสึกกร่อนเพิ่มขึ้นเหมือนกับกรณีของโครงสร้างที่ทำจากเหล็กหรืออะลูมิเนียน

ประการที่สี่ แม้เป็นเครื่องบินขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก แต่เครื่องบินโบอิ้ง 787 สามารถบินได้เร็วถึง 0.85 มัค ซึ่งเป็นระดับความเร็วพอๆ กับเครื่องบินขนาดใหญ่

จากความยอดเยี่ยมข้างต้น เครื่องบินโบอิ้ง 787 จึงได้รับความนิยมมาก ปัจจุบันมีผู้สั่งจองแล้วมากถึง 455 เครื่อง ทำให้กลายเป็นเครื่องบินที่ขายดีเทน้ำเทท่า มีคิวส่งมอบจำนวนมาก โดยหากสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 ในปัจจุบัน กว่าจะได้รับส่งมอบต้องรอคอยยาวนานถึง 7 ปี โดยจะสามารถรับมอบได้ในปี 2556 ทั้งนี้ เดิมบริษัทโบอิ้งมีแผนจะผลิตเครื่องบินแบบนี้ 7 ลำ/เดือน แต่คาดว่าว่าเพิ่มขึ้นเป็น 10 ลำ/เดือน เพื่อให้ทันความต้องการ

อย่างไรก็ตาม ค่ายแอร์บัสไม่ได้ยอมแพ้แต่อย่างใด ได้พยายามแข่งขันกับเครื่องบินโบอิ้ง 787 โดยได้เคยนำเสนอว่าจะผลิตเครื่องบิน A330 มาปรับปรุงใหม่ โดยใช้ชื่อว่า A330-200Lite โดยปรับปรุงทั้งในส่วนการต้านอากาศและเครื่องยนต์ให้ดีขึ้น แต่ไม่ได้รับการสนองตอบจากสายการบินอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ เนื่องจากมีเทคโนโลยีล้าสมัยกว่าเครื่องบินโบอิ้ง 787 อย่างมาก

จากนั้นแอร์บัสได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ คือ พัฒนาเครื่องบินแบบใหม่ คือ A350 โดยดัดแปลงจากเครื่องบิน A330 แต่ปรับปรุงระบบต่างๆ เช่น เครื่องยนต์ ปีก ใช้วัสดุสังเคราะห์เพื่อให้มีน้ำหนักเบา ฯลฯ เมื่อนำเสนอออกไป ไม่ได้รับการสนองตอบจากสายการบินต่างๆ เหมือนเดิม ทำให้มียอดสั่งจองเครื่องบินแบบนี้เพียงแค่ 100 ลำเท่านั้น จึงล้มเลิกโครงการ

ตัวอย่างหนึ่ง คือ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ได้ศึกษาเปรียบเทียบเครื่องบินโบอิ้ง 787 และเครื่องบินแอร์บัส A350 ในที่สุดในเดือนมิถุนายน 2549 ได้ตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 20 ลำ

เพื่อแก้ไขสถานการณ์ เมื่อกลางปี 2549 บริษัทแอร์บัสได้ล้มเลิกแผนงานเดิมทั้งหมด และเปลี่ยนมาออกแบบเครื่องบินใหม่หมดและตั้งชื่อว่า A350 XWD (คำว่า XWD ย่อมาจากคำว่า eXtra Wide Body) ซึ่งจะมีขนาดลำตัวใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยมีขนาดใหญ่กว่าเครื่องบินโบอิ้ง 787 เล็กน้อย แต่ก็เล็กกว่าเครื่องบินโบอิ้ง 777 เล็กน้อย ดังนั้น จะแข่งขันเครื่องบินทั้ง 2 แบบ

เครื่องบิน A350XWB กำหนดจะใช้เครื่องยนต์แบบใหม่ คือ Trent XWD ของบริษัทโรลสรอยซ์ สามารถบรรทุกผู้โดยสาร 270 - 350 คน และประหยัดน้ำมันเช่นเดียวกับเครื่องบินโบอิ้ง 787 โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2555

ภายหลังเปิดตัวเครื่องบินแบบใหม่ไม่นาน สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ก็ได้เป็นลูกค้ารายแรกของเครื่องบิน A350XWB ในทวีปเอเชีย โดยประกาศสั่งซื้อรวดเดียวเป็นจำนวนมากถึง 20 ลำ ส่วนสายการบิน Aeroflot ของรัสเซียก็ประกาศสั่งซื้อทั้งเครื่องบินโบอิ้ง 787 และเครื่องบินแอร์บัส A350XWB จำนวนเท่ากันอย่างละ 22 ลำ

สุดท้ายนี้ แม้ค่ายแอร์บัสตั้งใจจะพัฒนาเครื่องบิน A350XWB เพื่อแข่งขันกับเครื่องบินโบอิ้ง 787 และโบอิ้ง 777 แต่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าอนาคตของเครื่องบิน A350 XWD ของค่ายแอร์บัสไม่ค่อยสดใสนัก เนื่องจากเหตุผลสำคัญหลายประการ

ประการแรก เครื่องบิน A350XWB วางตลาดล่าช้ากว่าเครื่องบินโบอิ้ง 787 เป็นเวลานานถึง 4 ปี นับเป็นโอกาสทองของบริษัทโบอิ้งที่จะกอบโกยกำไรจากการขายเครื่องบินโบบิ้ง 787 จำนวนมากแก่สายการบินต่างๆ ที่ไม่อยากรอคอยเป็นเวลานานเพื่อซื้อเครื่องบินใหม่ของแอร์บัส

ประการที่สอง การปรับขนาดเครื่องบิน A350XWB ให้ใหญ่โตขึ้น จะเปิดโอกาสให้เครื่องบินโบอิ้ง 787 ยึดครองตลาดเครื่องบินขนาด 200 - 250 ที่นั่ง อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งนับเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก เนื่องจากเครื่องบินที่แอร์บัสวางจำหน่ายในตลาดนี้จะมีเทคโนโลยีล้าสมัยกว่าของโบอิ้ง 787 มาก

ประการที่สาม การวิจัยและพัฒนาเครื่องบิน A350XWB จะต้องใช้เงินทุนมากถึง 400,000 ล้านบาท มีปัญหาว่าจะแสวงหาเงินมาจากแหล่งใด เนื่องจากเป็นเงินจำนวนมาก และปัจจุบันแอร์บัสมีฐานะการเงินไม่ค่อยดีนัก

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น