xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมชวนบริโภค

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หลายปีมานี้ หากใครติดตามข่าวสารตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่างๆ ของไทยเราแล้วจะพบเห็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งคือ การเปิดเนื้อที่ให้กับคอลัมน์แนะนำร้านอาหาร ซึ่งความหมายในด้านกว้างแล้วยังรวมถึงของกินประเภทขนมนมเนยหรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มอีกด้วย

ปรากฏการณ์ที่ว่าจะว่าเป็น "กระแส"ที่สื่อสิ่งพิมพ์ "ห้ามตก" เลยก็ว่าได้ จนตัวผมเองอดไม่ได้ที่จะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าวัฒนธรรมชวนบริโภค

วัฒนธรรมชวนบริโภคนี้ผมเดาเอาว่าน่าจะเกิดขึ้นที่ตะวันตกก่อน แล้วจากนั้นจึงค่อยๆ แพร่หลายไปยังทั่วโลก แต่ก็ไม่ทุกประเทศหรอกครับ โดยเฉพาะในประเทศที่ถูกฝรั่งจัดให้เป็นสังคมด้อยพัฒนาหรือยากจนข้นแค้น

การที่วัฒนธรรมชวนบริโภคไม่ปรากฏในสังคมด้อยพัฒนานี้น่าคิดนะครับ เพราะในด้านหนึ่งได้บอกความจริงบางประการให้เราได้เห็นได้รู้ด้วย

ความจริงข้อแรกคือ การที่ไม่ปรากฏวัฒนธรรมชวนบริโภคในสังคมด้อยพัฒนานั้น ไม่ได้หมายความว่า สังคมด้อยพัฒนาจะไม่มีของดีของอร่อยกินกันนะครับ จริงๆ คือมีอยู่ แต่เขาก็ทำกินและรู้กันเองในหมู่คนในชาติเดียวกัน และจะด้วยความด้อยพัฒนาหรืออะไรก็ตาม อาหารการกินของสังคมเหล่านี้จึงไม่ได้ถูกแนะนำให้ใครมาลิ้มลอง

ที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมด้อยพัฒนามักจะมีสิ่งหนึ่งเคียงคู่ตามมาเสมอ นั่นคือ การไม่มีสื่อที่มีพลังเพียงพอที่จะแนะนำในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วถือว่าเป็นเรื่องเล็กเอามากๆ ด้วยซ้ำไป เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาที่ใหญ่โตกว่าของสังคมแบบนี้ เช่น ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ที่สำคัญกว่าเรื่องอาหารการกินเป็นไหนๆ แต่ก็ไม่ได้ถูกสื่อสารให้แก่โลกภายนอกได้รับรู้อย่างกว้างขวาง

การที่วัฒนธรรมชวนบริโภคไม่ค่อยเกิดในสังคมด้อยพัฒนานี้สัมพันธ์กับข้อที่สอง นั่นคือ ในข้อที่สองนี้ชี้ให้เห็นว่า แม้จะไม่เกิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อาหารการกินในสังคมนี้จะไม่ถูกแนะนำให้โลกภายนอกรับรู้ไปอย่างสิ้นเชิงไม่ เป็นอยู่แต่ว่า คนที่แนะนำนั้นไม่ใช่คนพื้นเมืองที่เป็นเจ้าของประเทศ หากแต่เป็นพวกคนต่างชาติที่ซึ่งยังไงเสียมักหนีไม่พ้นพวกฝรั่งอยู่ดี

ใครที่ดูสารคดีของฝรั่งบ่อยๆ คงจะเคยเห็นนะครับ ว่าหลายเรื่องนอกจากจะแนะนำแหล่งท่องเที่ยวในสังคมด้อยพัฒนาแล้ว เขายังแนะนำอาหารการกินอีกด้วย ซึ่งดูจากที่เห็นแล้วก็น่ากินไม่น้อยเลยทีเดียว

ถึงตรงนี้เราก็คงถามได้ทันทีว่า แล้วใครกันเล่าที่จะดั้นด้นไปกินตามที่เขาแนะนำได้ ถ้าหากไม่ใช่พวกกระฎ์มพีที่อยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก นัยยะในข้อที่สองนี้อยู่ตรงที่มันให้เราได้รู้ว่า เอาเข้าจริงแล้ว วัฒนธรรมชวนบริโภคนี้เป็นถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทุนนิยมนั่นเอง ส่วนมันจะแผ่ไปกว้างแค่ไหนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความแรงของพลังทุนนิยมว่าแก่กล้าแค่ไหน

พูดง่ายๆ ก็คือ ทุกสังคมในโลกใบนี้ต่างก็มีอาหารการกินที่ชวนให้บริโภคกันทั้งนั้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกสังคมเสมอไปที่จะมีวัฒนธรรมชวนบริโภค และที่ทำให้มีหรือไม่มีนั้นก็คือ ระบบทุนนิยม ที่มีพวกกระฎุมพีคอยกำหนดอีกชั้นหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน ความจริงข้างต้นยังบอกให้เรารู้อีกว่า การที่สังคมด้อยพัฒนามีอาหารการกินที่ชวนบริโภคอยู่ด้วยนั้น แสดงว่า สังคมของเขาไม่ได้ "ด้อยพัฒนา" จริง

ทั้งนี้ก็เพราะเป็นที่รู้กันว่า สังคมใดก็ตามที่สามารถประดิษฐ์คิดค้นอาหารการกินของตนให้มีรสชาติชวนรับประทาน มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสีสันที่ชวนสะดุดตา และ (อิอิ...) มีส่วนผสมของสมุนไพรหรือเครื่องเทศ ฯลฯ แล้ว สังคมนั้นย่อมมีระดับวัฒนธรรมที่สูงอยู่ไม่น้อย ซึ่งก็คือ ไม่ได้ด้อยพัฒนาจริง

แต่ที่ถูกมองว่าด้อยพัฒนานั้นก็เพราะฝรั่งใช้มาตรฐานทุนนิยมของตนเองเข้าไปจับ และพอจับเสร็จแล้วก็ลงมือปฏิบัติ สังคมที่ไม่ได้ด้อยพัฒนามาแต่เดิมก็ถูกทำให้ด้อยพัฒนาไปทันที

แต่ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมชวนบริโภคจะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทุนนิยมก็ตาม แต่ผมควรกล่าวด้วยว่า คนที่เป็นนักชวนบริโภคตัวจริงเสียงจริงนั้นไม่ได้เป็นกันง่ายๆ นะครับ สิ่งที่เป็นคุณสมบัติเบื้องต้นคือ ควรมีความรอบรู้ในเรื่องอาหารการกินอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอาหารในเชิงต้นตำรับ (original) จากนั้นจึงเป็นความเข้าใจในเรื่องของการประยุกต์อาหาร ฯลฯ

และสิ่งที่แทบจะขาดเสียมิได้ก็คือ ความซื่อสัตย์ที่จะชวนคนอื่นบริโภค ว่าจะต้องไม่ชวนเพราะรู้จักกับเจ้าของร้านอาหารเป็นอย่างดี แล้วชวนโดยไม่สนใจในรสชาติหรือคุณภาพของอาหาร ประเด็นนี้สามารถแตกรายละเอียดออกไปแล้วแต่มาตรฐานของแต่ละคน

อย่างเช่นเพื่อนผมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขามีเพื่อนที่เป็นนักชวนบริโภคอยู่คนหนึ่งที่ติดข้างจะมีชื่อในทำเนียบระดับนานาชาติ เพื่อนคนนี้จะปกปิดตัวเองอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ หากรู้ว่าร้านอาหารร้านไหนถูกร่ำลือกันในฝีมือแล้ว เขาจะหาโอกาสไปร้านนั้น และเนื่องจากตัวเขาปกปิดตัวเองอย่างเคร่งครัด เขาจึงไม่ลำบากใจในการวางตัวเมื่อยู่ในร้านอาหาร เพราะยังไงเสียก็ไม่มีใครรู้จักเขา

กินเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น และถ้าหากเห็นว่าเข้าท่า เขาก็จะแนะนำ แต่ถ้าไม่ก็จะไม่เขียนถึง และเขาก็จะให้เหตุผลว่าทำไม ซึ่งนับว่ามีความหนักแน่นอยู่ ถึงแม้ใครต่อใครจะชื่นชมอาหารของร้านนี้กันก็ตาม

นั่นเป็นนักชวนบริโภคระดับมาตรฐานที่เชื่อถือได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การที่จะเป็นเช่นนั้นได้ส่วนหนึ่งต้องมี "ต้นทุน" อยู่พอสมควร

คือเป็นทุนที่ต้องลงไปกับการที่จะเป็นนักชวนบริโภค ซึ่งถือว่าเป็นทุนที่สูงไม่ใช่น้อยเลย แต่ก็อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า การชวนบริโภคเป็นวัฒนธรรมของกระฎุมพีที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมทุนนิยม การลงทุนในเรื่องที่ว่าถึงแม้จะมีต้นทุนสูงก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ฉะนั้น ประเด็นคำถามจึงมีต่อไปว่า แล้วที่เราเห็นวัฒนธรรมชวนบริโภคกลายเป็นกระแสที่ขาดไม่ได้ในทุกวันนี้นั้น มีต้นทุนที่สูงอย่างที่ว่าด้วยหรือ?

ดูๆ แล้วไม่น่าจะใช่นะครับ แต่ที่เราเห็นเป็นกระแสที่ขาดไม่ได้นั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นพวกกระฎุมพีไปเสียทั้งหมด ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วถือว่ามีน้อยมาก แต่เป็นกระแสของคนชั้นกลางในเมืองใหญ่เสียมากกว่า

ที่ผมจะต้องระบุว่า "ในเมืองใหญ่" ลงไปด้วยก็เพราะผมไม่เชื่อว่า กระแสนี้จะเข้าไปถึงหมู่บ้านชนบทที่มีอยู่ทั่วประเทศหรอกครับ หาไม่แล้วประชานิยมของระบอบทักษิณคงไม่เฟื่องฟุ้งและแฝงฝังมาจนทุกวันนี้เป็นแน่

แต่ก็ด้วยเหตุที่เป็นกระแสของคนชั้นกลางนี้เอง ผมจึงไม่แปลกที่เพื่อนผมหลายคนจะรู้สึกแปลกแยกกับรสชาติอาหารเมื่อไปกินตามคำแนะนำของนักชวนบริโภคเหล่านี้ บอกตรงๆ ว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับว่ารสนิยมใครรสนิยมมันนะครับ คือมันไม่ได้เรื่องจริงๆ จนอดสงสัยไม่ได้ว่าแนะนำมาได้อย่างไร

แต่กระนั้น เราคงไปตำหนินักชวนบริโภคเหล่านี้คงไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอย่างที่ผมบอกไปแล้วว่า กระแสนี้คนชั้นกลางรับเอามาจากกระฎุมพีอีกทอดหนึ่ง และกระฎุมพีเองก็รับมาจากเจ้านายชั้นสูงในสมัยศักดินาอีกทอดหนึ่งเช่นกัน ซึ่งผมควรกล่าวด้วยว่า อาหารการกินของชนชั้นสูงในสมัยศักดินาแทบทั่วโลกนั้นเขาสงวนเอาไว้เป็นของเขานะครับ ที่จะหลุดลงมาในมือไพร่นั้นยากมาก

ฉะนั้น การที่กระฎุมพีเอามาเผยแพร่จึงถือเป็นคุณูปการอย่างหนึ่งไปด้วย แต่ที่คนชั้นกลางนำเอาวัฒนธรรมชวนบริโภคมาใช้อีกต่อหนึ่งอย่างที่เห็นอยู่นี้ จะถือว่าเป็นคุณูปการด้วยหรือไม่ ผมไม่แน่ใจนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น