xs
xsm
sm
md
lg

ใช้งบร่วม 3 พันล.พัฒนาโครงข่ายทางหลวง รับ 'ท่าเรือปากบารา - ท่าเรือสงขลา 2 '

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา วางแผนรองรับการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ใช้งบประมาณร่วม 3,123.5 ล้านบาท พัฒนาระบบโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางบก รองรับท่าเรือปากบารา เชื่อมท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ในขณะที่โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่งยังไร้ข้อสรุป พร้อมศึกษาเส้นทางรถไฟสายใหม่รองรับการขนส่งสินค้าด้วย ด้านกลุ่มพัฒนาจังหวัดสตูลแจกซีดี 2 พันชุด จี้รัฐเร่งสร้างท่าเรือ

นายชิษณุ อัมพรายน์ ผู้เชี่ยวชาญการวางระบบคมนาคมขนส่ง บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งของจังหวัดสงขลา เพื่อรองรับทิศทางการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของประเทศ ซึ่งปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในก้าวแรกของการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ เช่น หากซื้อของราคา 100 บาท พบว่าในราคาดังกล่าวถูกหักเป็นค่าใช้จ่ายในการขนส่งถึง 20 บาท แต่สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพียง 7-10 บาท ประเทศไทยจึงยังไม่สามารถแข่งขันทางด้านนี้กับประเทศอื่นๆ ได้

"สภาพัฒน์ได้กำหนดให้ลอจิสติกส์เป็นแผนพัฒนาสำคัญทั่วประเทศ โดยในส่วนของภาคใต้ตอนล่างได้กำหนดให้พื้นที่จังหวัดสงขลาและสตูลรองรับแผนยุทธศาสตร์นี้ โดยให้เป็นจุดเดินทางของสินค้าต่างๆ เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นแนวเดินเรือสากล ขณะนี้การขนส่งสินค้าจากไทยไปประเทศคู่ค้าต้องอาศัยท่าเรือของประเทศสิงคโปร์ หรือท่าเรือปีนังของมาเลเซีย เพื่อขนส่งสินค้าต่อไปยังประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และยุโรป รัฐบาลจึงมีแนวคิดในการก่อสร้างท่าเรือปากบารา เพื่อขนสินค้าสู่เส้นทางเดินเรือสากลโดยไม่ต้องจ่ายภาษีให้ต่างประเทศ" นายชิษณุ กล่าวและว่า

ปกติการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือน้ำลึกสงขลานั้น มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 33,100 บาท/ตู้ ท่าเรือปีนัง 25,000 บาท/ตู้ แต่เมื่อมีท่าเรือปากบาราเกิดขึ้นผู้ประกอบการจะจ่ายค่าขนส่งเพียง 21,000 บาท/ตู้ เท่านั้น โดยตามแผนแม่บทนั้นได้กำหนดให้มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทางฝั่ง จ.สงขลา แห่งที่ 2 ขึ้นมาเชื่อมการขนส่ง ในวงเงินงบประมาณก่อสร้างมูลค่า 2,800 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2552 เนื่องจากท่าเรือสงขลาที่มีอยู่แล้วไม่สามารถรองรับได้ ซึ่งในส่วนของท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 นั้นอยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ โดยคาดว่าจะใช้พื้นที่ อ.จะนะ และ อ.เทพา

นอกจากท่าเรือแล้ว ได้มีการกำหนดให้พัฒนาเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางบก ตามแผนปี 2549-2552 ให้พัฒนาโครงข่ายคมนาคมโดยรอบกรุงเทพมหานครภายในรัศมี 250 กิโลเมตร จำนวน 10 สายทาง โดยโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงที่สนับสนุนท่าเรือปากบารา จ.สตูล และท่าเรือสงขลา โดยงานก่อสร้างที่กำลังดำเนินการคือ 1.ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4052 ละงู - ปากบารา จ.สตูล ระยะทาง 6 กิโลเมตร งบประมาณ 75 ล้านบาท 2.ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 408 สายสงขลา (สี่แยกน้ำกระจาย) - เกาะยอ - สิงหนคร ระยะทาง 32 กิโลเมตร เป็น 4 ช่องจราจร งบประมาณ 811 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการที่จะดำเนินการอีก คือ ก่อสร้างทางหลวงเข้าท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ระยะทาง 8.81 กิโลเมตร งบประมาณ 462.50 ล้านบาท ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 416 บ้านฉลุง - อ.ละงู ระยะทาง 37 กิโลเมตร เป็น 4 ช่องจราจร งบประมาณ 560 ล้านบาท ก่อสร้างทางหลวงเชื่อมโยงท่าเรือปากบารา - ทางหลวงสายแยกคูหา - ควนเนียง บรรจบทางหลวงหมายเลข 408 ระยะทาง 32 กิโลเมตร งบประมาณ 1,200 ล้านบาท รวมทั้งมีการสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือปากบารา จ.สตูล กับท่าเรือสงขลา งบประมาณ 15 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเส้นทาง

"ในส่วนของการเดินทาง ได้มีการเสนอให้เชื่อมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีอาร์ที 3 เส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน การสร้างถนนยกระดับเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง การทำฮับ สร้างสะพานลอยตามจุดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และการขยายผิวถนนเส้นเดิม ให้ประชาชนสัญจรไปมาได้สะดวก เนื่องจากในอนาคตหากท่าเรือปากบาราและท่าเรือสงขลาเกิดแล้ว การคมนาคมตามเส้นทางที่กล่าวมาจะมีความหนาแน่นมากขึ้น อย่างแน่นอน" นายชิษณุ กล่าว

สำหรับความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล นั้น ขณะนี้บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาได้จัดทำโครงการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดกรมการท่าเรือได้ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบอร์ด ทำให้ต้องชะลอโครงการออกไปอีก นอกจากนี้ยังพบว่ามีการโยกงบประมาณบางส่วนไปใช้ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 5 สาย ในกรุงเทพมหานคร ทำให้โครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา จึงยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ โดยโครงการนี้จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 9,300 ล้านบาท

ด้านนายนาวี พรหมทรัพย์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวถึง การผลักดันโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ว่า การชะลอโครงการใหญ่และมีความสำคัญต่อ จ.สตูล ครั้งนี้ ไม่มีเหตุผลอันควร เพราะเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ ไม่ใช่จะส่งผลต่อ จ.สตูล เพียงแห่งเดียวเท่านั้น และโครงการดังกล่าวนี้ เกิดจากการรวมตัวของภาคประชาชน ที่ต้องการพัฒนาความเจริญของท้องถิ่นและประเทศชาติ

ขณะนี้ได้มีการจัดทำแผ่นซีดี จำนวน 2,000 ชุด มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสำคัญและประโยชน์ของการจัดสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกแห่งนี้ มอบให้สถานศึกษา ประชาชน และสื่อมวลชน ในการประชาสัมพันธ์โครงการ

นายนาวี กล่าวอีกว่า แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะต้องชะลอไปโดยไม่มีกำหนด แต่กลุ่มพัฒนาจังหวัดสตูล ก็ไม่ย่อท้อ จะยังติดตามดำเนินการต่อไป และมั่นใจว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะเป็นโครงการที่องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และนักลงทุนทั่วไป ได้เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น